พระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ได้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ พุทธศักราช 2476

ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ได้ปิด
ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖











พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีที่มีมหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นนายก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายคำปรึกษาให้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ และรับสนองพระบรมราชโองการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยมิได้อาศัยอำนาจในรัฐธรรมนูญประการใด ซึ่งทำให้เสื่อมทรามความศักดิ์สิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีใหม่ พร้อมด้วยคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึ่งต้องจัดการให้คณะรัฐมนตรีชุดเก่าลาออก เพื่อเป็นทางที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสภาผู้แทนราษฎร ส่วนมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยคำร้องขอของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และคำร้องขอของสมาชิก ให้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๓๒ แห่งรัฐธรรมนูญ ก็ได้จัดการจนได้เปิดประชุมสภานั้น
บัดนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และดำเนิรการเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ เป็นการสมควรให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ได้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖"
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ได้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้นเสีย
มาตรา ๔ ส่วนพระราชกำหนดกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนบัดนี้ ให้เป็นอันใช้ได้ต่อไป จนกว่าจะได้มีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่นตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม[แก้ไข]
- "พระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ได้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2476". (2476, 28 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 50, ตอน 0 ก. หน้า 374–376.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"
