ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5ฯ พุทธศักราช 2477 (รก.)/ภาคผนวก

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5
สารบาญ


มาตรา
ลักษณะ ๑ การสมรส
หมวด ๑ การหมั้น ๑๔๓๕ ๑๔๔๔
หมวด ๒ เงื่อนไขแห่งการสมรส ๑๔๔๕ ๑๔๕๒
หมวด ๓ สัมพันธ์แห่งสามีภริยา ๑๔๕๓ ๑๔๕๗
หมวด ๔ ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ๑๔๕๘ ๑๔๘๗
หมวด ๕ เพิกถอนการสมรส ๑๔๘๘ ๑๔๙๖
หมวด ๖ การขาดจากการสมรส ๑๔๙๗ ๑๕๑๘
ลักษณะ ๒ บิดามารดากับบุตร
หมวด ๑ บิดามารดา ๑๕๑๙ ๑๕๓๒
หมวด ๒ สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ๑๕๓๓ ๑๕๕๔
หมวด ๓ ความปกครอง ๑๕๕๕ ๑๕๘๑
หมวด ๔ บุตรบุญธรรม ๑๕๘๒ ๑๕๙๓
ลักษณะ ๓ ค่าอุปการะเลี้ยงดู ๑๕๙๔ ๑๕๙๘




มาตรา๑๔๓๕การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และหญิงมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์

ถ้าชายหรือหญิงยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องรับความยินยอมของบิดามารดาก่อนจึงจะหมั้นได้ ถ้าบิดาหรือมารดาตาย ต้องรับความยินยอมจากผู้ที่ยังอยู่

ถ้าชายหรือหญิงอยู่กับบิดาหรือมารดา ต้องรับความยินยอมของบิดาหรือมารดานั้น

ถ้ามีผู้ปกครอง ต้องรับความยินยอมของผู้ปกครอง

มาตรา๑๔๓๖ของหมั้น คือ ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานและประกันว่า จะสมรสกับหญิงนั้น

เมื่อคู่หมั้นได้สมรสแล้ว ของหมั้นย่อมตกเป็นสิทธิแก่หญิง

สินสอด คือ ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรส ชายเรียกคืนได้

มาตรา๑๔๓๗การหมั้นนั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้

ถ้าได้มีคำมั่นไว้ว่า จะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น คำมั่นนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา๑๔๓๘เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน

มาตรา๑๔๓๙ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ดั่งต่อไปนี้

(๑)ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิง

(๒)ทดแทนค่าใช้จ่ายซึ่งคู่หมั้น บิดามารดา หรือผู้ปกครองของผู้นั้นได้ใช้จ่ายไปโดยสุจริตเนื่องในการเตรียมการสมรส

(๓)ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ชายหรือหญิงได้จัดการทรัพย์สินหรือกิจธุระของตนไปโดยมุ่งหมายว่า จะได้สมรส

ในกรณีที่หญิงเป็นผู้เสียหาย ให้ของหมั้นนั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง แต่ศาลอาจชี้ขาดว่า ของหมั้นนั้นเป็นค่าทดแทนเพียงพอแล้วก็ได้

มาตรา๑๔๔๐ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วนของหมั้นนั้น ถ้าหญิงตาย ให้ฝ่ายหญิงคืนแก่ฝ่ายชาย แต่ถ้าชายตาย ไม่ต้องคืนของหมั้น เว้นแต่มีสัญญาไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา๑๔๔๑ถ้าชายไม่ยอมสมรสกับหญิงคู่หมั้นโดยมีเหตุผลสำคัญอันเกิดแต่หญิงนั้น ให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย และชายหญิงจะเรียกค่าทดแทนจากกันไม่ได้

มาตรา๑๔๔๒ถ้าหญิงไม่ยอมสมรสกับชายคู่หมั้นโดยมีเหตุผลสำคัญอันเกิดแต่ชายนั้น หญิงมิต้องคืนของหมั้น และชายหญิงจะเรียกค่าทดแทนจากกันไม่ได้

มาตรา๑๔๔๓ชายคู่หมั้นของหญิงอาจเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นผู้ทำการล่วงเกินหญิงคู่หมั้นในทางประเวณี

มาตรา๑๔๔๔การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามหมวดนี้ ให้ผู้เสียหายเท่านั้นฟ้องได้ ทายาทจะฟ้องหรือรับมฤดกความต่อไปมิได้ เว้นแต่ค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๓๙ (๒)

ห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันผิดสัญญาหมั้น


มาตรา๑๔๔๕การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ

(๑)ชายมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และหญิงมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว

(๒)ชายหญิงมิได้เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา

(๓)ชายหรือหญิงมิได้เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่นอยู่

(๔)ชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน

(๕)ชายหรือหญิงไม่เป็นคนวิกลจริต

หญิงม่ายจะสมรสใหม่ได้เมื่อการสมรสครั้งก่อนสิ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ เมื่อ

(ก)มีบุตรเกิดในระหว่างนั้น

(ข)สมรสกับคู่หย่าเดิม หรือ

(ค)มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้

มาตรา๑๔๔๖ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมนั้นไม่ได้

มาตรา๑๔๔๗ชายหรือหญิงผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะสมรส ให้นำมาตรา ๑๔๓๕ สามวรรคท้าย มาบังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๔๔๘ผู้ให้ความยินยอมจะให้ได้โดย

(๑)ลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส

(๒)ทำเป็นหนังสือระบุนามผู้จะสมรส และลงลายมือชื่อผู้ให้ความยินยอม หรือ

(๓)ถ้ามีเหตุจำเป็น จะให้ความยินยอมโดยแสดงด้วยวาจาต่อหน้าพะยานอย่างน้อยสองคนก็ได้

ความยินยอม เมื่อให้แล้ว ถอนไม่ได้

มาตรา๑๔๔๙การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว

มาตรา๑๔๕๐การสมรสระหว่างคนในบังคับสยาม หรือคนในบังคับสยามกับคนต่างประเทศ จะทำในเมืองต่างประเทศตามแบบที่กำหนดไว้ในกฎหมายสยามหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้

การจดทะเบียนสมรสตามวรรคก่อนนั้น เจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลสยามจะเป็นผู้ทำตามแบบที่กำหนดไว้ในกฎหมายสยามก็ได้

มาตรา๑๔๕๑บุคคลใดจดทะเบียนสมรสแล้ว จะจดทะเบียนอีกไม่ได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การสมรสครั้งก่อนได้หมดไปแล้วเพราะตาย หย่า หรือศาลเพิกถอน

มาตรา๑๔๕๒เมื่อชายหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย ถ้าชายหญิงนั้นได้แสดงเจตนาจะสมรสกัน และถ้าต่อมาได้จดทะเบียนสมรสแล้ว ให้ถือว่า การสมรสนั้นมีผลแต่วันแสดงเจตนา


มาตรา๑๔๕๓สามีภริยาจำต้องอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยา

สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน

มาตรา๑๔๕๔สามีเป็นหัวหน้าในคู่ครอง เป็นผู้เลือกที่อยู่ และเป็นผู้อำนวยการในเรื่องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู

มาตรา๑๔๕๕ถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่อนามัยหรือทำลายความผาสุกอย่างมากของสามีหรือภริยา ฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือความเสียหาย อาจร้องต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้น ๆ ยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งเสียให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤตติการณ์ก็ได้

มาตรา๑๔๕๖ถ้าภริยาประกอบวิชาชีพอยู่แล้วก่อนสมรส ภริยาอาจประกอบวิชาชีพนั้นต่อไปได้โดยมิต้องรับความยินยอมของสามี

มาตรา๑๔๕๗ถ้าศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์โดยอำนาจกฎหมาย

เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยยการร้องขอและถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้


มาตรา๑๔๕๘ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้

ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือว่าให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้น ๆ เป็นโมฆะ

มาตรา๑๔๕๙ข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสไม่มีผลเกี่ยวถึงบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

เมื่อสมรสแล้ว จะเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาลในกรณีประกอบด้วยเหตุผล

มาตรา๑๔๖๐สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ

(๑)ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพะยานอย่างน้อยสองคน

(๒)ถ้าได้ทำขึ้นแล้ว แต่ต่อมามิได้มีการสมรส

มาตรา๑๔๖๑สัญญาใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกัน ในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กะทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา๑๔๖๒ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินบริคณห์

สินบริคณห์ คือ สินเดิมและสินสมรส

มาตรา๑๔๖๓สินเดิมได้แก่ทรัพย์สิน

(๑)ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่แล้วก่อนสมรส

(๒)ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาโดยทางพินัยกรรม์ หรือยกให้โดยเสนหา เมื่อพินัยกรรม์หรือหนังสือยกให้นั้นได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินเดิม

มาตรา๑๔๖๔สินส่วนตัวได้แก่

(๑)ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส และคู่สมรสได้ทำสัญญาก่อนสมรสแยกไว้เป็นสินส่วนตัว

(๒)ทรัพย์สินอันเป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัวตามฐานะหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

(๓)ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาโดยทางพินัยกรรม์ หรือยกให้โดยเสนหา เมื่อพินัยกรรม์หรือหนังสือยกให้นั้นได้แสดงไว้ให้เป็นสินส่วนตัว

(๔)ดอกผลของสินส่วนตัว

(๕)ของหมั้น

มาตรา๑๔๖๕ถ้าสินเดิมหรือสินส่วนตัว

(๑)ได้ขายหรือแลกเปลี่ยน

(๒)ทำลายไปหมด หรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอย่างอื่นมาทดแทนแล้ว

ให้เอาทรัพย์สินใหม่ที่ได้มานั้นแทนสินเดิมหรือสินส่วนตัวอันเก่า แล้วแต่กรณี

มาตรา๑๔๖๖สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินทั้งหมดที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส นอกจากที่ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา ๑๔๖๓ หรือ ๑๔๖๔

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นสินสมรส

มาตรา๑๔๖๗ถ้าทรัพย์สินใดซึ่งรวมอยู่ในสินสมรสเป็นจำพวกที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๕๖ แห่งประมวลกฎหมายนี้หรือที่มีเอกสารเป็นสำคัญ สามีหรือภริยาจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของร่วมกันในเอกสารนั้นก็ได้

มาตรา๑๔๖๘สามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ เว้นแต่ในสัญญาก่อนสมรสจะได้กำหนดให้ภริยาเป็นผู้จัดการหรือให้จัดการร่วมกัน

มาตรา๑๔๖๙สามีมีสิทธิฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษา หรือการใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์และถ้าภริยาจะฟ้องคดีเช่นนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน เว้นแต่สัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และหนี้อันเกิดแต่การฟ้องคดีนั้นต้องใช้จากสินบริคณห์

มาตรา๑๔๗๐แม้สามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ก็ตาม ภริยาก็ยังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวโดยควรแก่อัตภาพ ค่าใช้จ่ายเช่นนี้ย่อมผูกพันสินบริคณห์

ถ้าภริยาจัดการดั่งกล่าวแล้วเป็นที่เสียหายถึงขนาด สามีอาจร้องขอต่อศาลให้ห้ามหรือจำกัดอำนาจนี้เสียได้

มาตรา๑๔๗๑ถ้าสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ จัดการให้เกิดเสียหายถึงขนาด ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินบริคณห์ อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการได้

มาตรา๑๔๗๒เมื่อเกิดพฤตติการณ์ดั่งกล่าวในมาตราก่อน หรือปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำความหายนะให้แก่สินบริคณห์ ฝ่ายที่มีสิทธิจะร้องขอตามมาตราก่อนหรือฝ่ายที่จะได้รับความเสียหายอาจร้องขอให้ศาลสั่งแบ่งสินบริคณห์ออกเป็นส่วนเสียก็ได้

มาตรา๑๔๗๓นอกจากจะมีสัญญาก่อนสมรสไว้เป็นอย่างอื่น สามีมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ได้

แต่ในกรณีต่อไปนี้ สามีต้องรับความยินยอมจากภริยาเสียก่อน คือ

(๑)สินเดิมของภริยา

(๒)โอนโดยมีค่าตอบแทนซึ่งสินสมรสอย่างใดที่ภริยาได้มาโดยทางยกให้หรือพินัยกรรม์

(๓)ให้โดยเสนหา เว้นแต่การให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคม

มาตรา๑๔๗๔ถ้าสินบริคณห์มีเอกสารลงชื่อสามีภริยาตามมาตรา ๑๔๖๗ การจำหน่ายสินบริคณห์นั้น ต้องเข้าชื่อด้วยกันทั้งสองคน

มาตรา๑๔๗๕เมื่อฝ่ายใดต้องให้ความยินยอมหรือลงชื่อกับอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องจัดทรัพย์สิน แต่ไม่ให้ความยินยอมหรือไม่ยอมลงชื่อโดยปราศจากเหตุผล อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้

มาตรา๑๔๗๖การใดที่สามีหรือภริยากระทำซึ่งต้องรับความยินยอมจากกัน และถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

มาตรา๑๔๗๗สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรม์ยกสินบริคณห์ให้ผู้อื่นเกินกว่าส่วนของตน

มาตรา๑๔๗๘ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน ฝ่ายใดจะยึดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เว้นแต่สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ยังมิได้ชำระตามคำพิพากษาของศาล

มาตรา๑๔๗๙ถ้าสามีหรือภริยาต้องใช้หนี้เป็นส่วนตัว ให้ใช้ด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ใช้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น

มาตรา๑๔๘๐ถ้าสามีภริยาต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกัน ให้ใช้จากสินบริคณห์และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

มาตรา๑๔๘๑หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อไว้ก่อนสมรส ให้ใช้จากสินส่วนตัวและส่วนสินบริคณห์ของฝ่ายนั้น

มาตรา๑๔๘๒หนี้ซึ่งก่อขึ้นในระหว่างสมรสดั่งต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน

(๑)หนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูรักษาพยาบาลครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควร

(๒)หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินบริคณห์

(๓)หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

(๔)หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

มาตรา๑๔๘๓ถ้าสามีหรือภริยาถูกยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้ไม่ได้รับใช้หนี้เต็มจำนวน เจ้าหนี้อาจร้องขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของลูกหนี้เพื่อดำเนินการไปตามคำพิพากษาได้

มาตรา๑๔๘๔ถ้าสามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สินบริคณห์ย่อมแยกจากกันโดยอำนาจกฎหมายนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายนั้น

มาตรา๑๔๘๕เมื่อได้แยกสินบริคณห์โดยกรณีใดก็ตาม ถ้าสามีหรือภริยาร้องขอ ศาลอาจสั่งให้รวมกันต่อไปได้

มาตรา๑๔๘๖เมื่อได้แยกทรัพย์สินไว้เป็นสินส่วนตัวโดยความตกลงโดยอำนาจกฎหมาย หรือโดยคำสั่งศาลแล้ว ให้ใช้ข้อบังคับดั่งต่อไปนี้

(๑)สามีหรือภริยาต่างมีกรรมสิทธิ์ มีอำนาจจัดการและจำหน่ายสินส่วนตัวนั้นได้โดยลำพัง

ถ้าภริยาอนุญาตให้สามีจัดการสินส่วนตัวของตน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าภริยาได้ยอมให้สามีเก็บดอกผลจากทรัพย์สินนั้นมาใช้สอยในการบ้านเรือนได้

(๒)ในกรณีที่สินบริคณห์หมดแล้ว สามีหรือภริยาต้องออกค่าใช้สอยสำหรับการบ้านเรือนตามส่วนมากและน้อยแห่งสินส่วนตัวของตน

ถ้าสามีหรือภริยามีหนี้สินล้นพ้นตัว ฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดในหนี้ที่อีกฝ่ายหนึ่งได้ทำขึ้นเนื่องในการใช้สอยสำหรับการบ้านเรือนนั้น

มาตรา๑๔๘๗เมื่อแยกสินบริคณห์แล้ว ส่วนที่แยกออกเป็นของสามีหรือภริยาตกเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น


มาตรา๑๔๘๘บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น

มาตรา๑๔๘๙ถ้าการสมรสผิดบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๔๕ (๑) เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนเสียได้ แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ให้ความยินยอมแล้วจะร้องขอไม่ได้ ถ้าการสมรสนั้นศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนจนชายหญิงมีอายุครบตามมาตรานั้น หรือหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบกำหนด ให้ถือว่าสมบูรณ์มาแต่เวลาสมรส

มาตรา๑๔๙๐การสมรสผิดบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๔๕ (๒) (๓) หรือ (๕) ให้ถือว่า เป็นโมฆะ

มาตรา๑๔๙๑การสมรสผิดบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๔๕ (๔) ให้ถือว่าเป็นโมฆะ

ถ้าความยินยอมบกพร่อง เพราะสำคัญตัวผิด หรือมีการข่มขู่ ให้ถือว่าเป็นโมฆียะ เมื่อผู้ที่ให้ความยินยอมอันบกพร่องนั้นร้องขอ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนเสียได้

อายุความในคดีเช่นนี้ มีกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ทราบว่าสำคัญตัวผิดหรือเมื่อมีโอกาสที่จะฟ้องคดีได้

มาตรา๑๔๙๒เมื่อสมรสแล้ว จะเลิกล้างเสียเพราะเหตุถ้อยคำที่ให้ต่อนายทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๔๕ วรรคสอง ไม่เป็นความจริงนั้นมิได้ แต่บุตรซึ่งเกิดภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่ภริยาขาดจากสามีคนก่อนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นบุตรของสามีคนก่อนนั้น

มาตรา๑๔๙๓ถ้าชายหรือหญิงยังไม่บรรลุนิติภาวะสมรสโดยมิได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือโดยคำสั่งศาล บิดามารดาหรือผู้ปกครองเท่านั้น อาจร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการสมรสได้ เว้นแต่

(ก)ล่วงพ้นหกเดือนนับแต่วันทราบการสมรส

(ข)ชายหรือหญิงมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์แล้ว

(ค)เมื่อหญิงมีครรภ์แล้ว

มาตรา๑๔๙๔เหตุที่การสมรสถูกเพิกถอน ไม่เป็นผลให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้น

ถ้าฝ่ายเดียวทำการสมรสโดยสุจริต ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนได้ ถ้าหญิงเป็นฝ่ายสุจริต อาจเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูได้อีกด้วย

มาตรา๑๔๙๕เหตุที่การสมรสถูกเพิกถอน ไม่เป็นผลให้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาก่อนการเพิกถอนนั้น

มาตรา๑๔๙๖เมื่อมีการเพิกถอนการสมรส ให้นำบทบัญญัติอันว่าด้วยการขาดจากการสมรสโดยการหย่าตามคำพิพากษาของศาลมาบังคับโดยอนุโลม


มาตรา๑๔๙๗ความตายหรือการหย่าเท่านั้นเป็นเหตุให้ขาดจากการสมรส

มาตรา๑๔๙๘การหย่านั้น จะทำได้แต่โดยความยินยอมทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอม ต้องทำเป็นหนังสือและมีพะยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

มาตรา๑๔๙๙เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

มาตรา๑๕๐๐คดีฟ้องหย่านั้น ถ้า

(๑)ภริยามีชู้ สามีฟ้องหย่าได้

(๒)สามีหรือภริยาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพพการีของอีกฝ่ายหนึ่งถึงบาดเจ็บหรือหมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๓)สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินกว่าหนึ่งปี หรือไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง จนอีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจจะอยู่กินเป็นสามีภริยาต่อไป อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๔)สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกฐานลักทรัพย์ วิ่งราวชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด หรือปลอมแปลงเงินตรา หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอย่างอื่นเกินกว่าสามปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๕)สามีหรือภริยาที่ถูกศาลสั่งว่าเป็นคนสาบสูญ และศาลยังไม่เพิกถอนคำสั่งนั้น อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๖)สามีหรือภริยาที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถเพราะเหตุวิกลจริตตลอดมาเกินกว่าสามปีนับแต่วันศาลสั่งและความวิกลจริตนั้นไม่มีทางที่จะหายได้ ทั้งถึงขีดที่จะอยู่กินเป็นสามีภริยากันต่อไปอีกไม่ได้แล้ว อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๗)สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๘)สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคนั้นไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๙)สามีหรือภริยามีอวัยวะส่วนสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ จนมิสามารถจะอยู่ด้วยกันฉันท์สามีภริยาได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา๑๕๐๑ถ้าสามียินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้ภริยามีชู้ตามมาตรา ๑๕๐๐ (๑) หรือสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดตามมาตรา ๑๕๐๐ (๔) จะฟ้องหย่าไม่ได้

มาตรา๑๕๐๒ถ้าสามีภริยาหย่ากันเอง ความตกลงว่าฝ่ายใดจะปกครองบุตรคนไหน ให้ทำเป็นหนังสือ ถ้ามิได้ตกลงไว้เช่นนั้น ให้บิดาเป็นผู้ปกครอง

ถ้าหย่ากันโดยคำพิพากษาของศาลให้ฝ่ายชะนะคดีเป็นผู้ปกครอง เว้นแต่ศาลจะชี้ขาดให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครอง

มาตรา๑๕๐๓ถ้าปรากฏว่าผู้ปกครองตามความในมาตรา ๑๕๐๒ ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤตติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง โดยเพ่งเล็งถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นประมาณ

แม้จะมอบให้ฝ่ายหนึ่งปกครองก็ตาม อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามสมควรแล้วแต่พฤตติการณ์

มาตรา๑๕๐๔เมื่อสามีภริยาหย่ากัน ให้ต่างออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยกำหนดจำนวนไว้ในสัญญาหย่าหรือตามที่ได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาของศาล

มาตรา๑๕๐๕เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันโดยภริยามีชู้ สามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากภริยาและชู้

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามียินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้ภริยามีชู้หรือให้ล่วงเกินภริยาตนไปในทำนองชู้สาว สามีจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

มาตรา๑๕๐๖ในการหย่านั้น ถ้าศาลชี้ขาดว่าฝ่ายใดเป็นผู้ต้องรับผิดแต่ฝ่ายเดียว และอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส ศาลจะสั่งให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดนั้นจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรแก่ฐานะของผู้รับและความสามารถของผู้ให้ก็ได้

มาตรา๑๕๐๗ถ้าหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตของคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตนั้นโดยอนุโลมตามมาตราก่อน

มาตรา๑๕๐๘ถ้าฝ่ายที่รับค่าอุปการะเลี้ยงดูสมรสใหม่ สิทธิรับค่าอุปการะเลี้ยงดูย่อมหมดไป

มาตรา๑๕๐๙สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในอนุมาตรา (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๗) แห่งมาตรา ๑๕๐๐ หรือมาตรา ๑๕๐๕ ย่อมระงับไป เมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้ หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง อย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันเกิดเหตุนั้น

เหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น

มาตรา๑๕๑๐ขณะคดีฟ้องหย่าอยู่ในระหว่างพิจารณา ถ้าฝ่ายใดร้องขอศาลอาจสั่งให้จัดการชั่วคราวตามที่เห็นควร เช่นในเรื่องสินบริคณห์ ที่พักอาศัย การอุปการะเลี้ยงดูสามีภริยาและการพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตรของเขา

มาตรา๑๕๑๑การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนเป็นต้นไป

การหย่าตามคำพิพากษา มีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

มาตรา๑๕๑๒เมื่อหย่ากันแล้ว ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา

แต่ในระหว่างสามีภริยา

(ก)ถ้าเป็นการหย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า

(ข)ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นมีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

มาตรา๑๕๑๓เมื่อหย่ากัน

(๑)ให้คืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย

(๒)ถ้าสินเดิมของฝ่ายใดขาดไป ให้เอาสินสมรสใช้สินเดิมเสียก่อน

(๓)ถ้าไม่มีสินสมรสหรือเอาสินสมรสใช้หมดแล้วสินเดิมยังไม่ครบจำนวน ให้ชักสินเดิมของฝ่ายที่ยังเหลือมากมาเฉลี่ยให้ฝ่ายที่สินเดิมขาดตามส่วนมากและน้อย

มาตรา๑๕๑๔ถ้าฝ่ายใดจำหน่ายสินเดิมของตนเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวโดยมิได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือจงใจทำให้สูญหายไป จะชักสินสมรสหรือเฉลี่ยสินเดิมไม่ได้

มาตรา๑๕๑๕ถ้าฝ่ายใดมิได้รับความยินยอมจากฝ่ายที่เป็นเจ้าของสินเดิม จำหน่ายเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว หรือจงใจทำให้สูญหายไป ให้ชักสินเดิมของฝ่ายนั้นใช้เจ้าของ ถ้าสินเดิมไม่มีหรือมีไม่พอ ให้ชักสินส่วนตัวใช้และฝ่ายนั้นจะชักสินสมรสหรือเฉลี่ยสินเดิมมาใช้ไม่ได้

มาตรา๑๕๑๖เมื่อสามีภริยาขาดกัน และชายมีเรือนหอในที่ดินของฝ่ายหญิง ชายต้องรื้อเรือนนั้นไป แต่ถ้ารื้อไปจะเสียหายเกินกึ่งราคาตลาดของเรือนหอในขณะนั้น ให้นำมาตรา ๑๓๑๐ วรรค ๑ แห่งประมวลกฎหมายนี้ มาบังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๑๗การแบ่งสินสมรสนั้น ให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน เว้นแต่ชายหรือหญิงมีสินเดิมฝ่ายเดียว อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีสินเดิม ก็ให้ชายหรือหญิงฝ่ายที่มีสินเดิมได้สองส่วน ฝ่ายที่ไม่มีสินเดิมได้หนึ่งส่วน

มาตรา๑๕๑๘ในระหว่างสามีภริยา ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนที่จะได้สินสมรส



มาตรา๑๕๑๙เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่ขาดจากการสมรส ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรของชายผู้เป็นสามี

มาตรา๑๕๒๐เด็กตามลักษณะที่ระบุไว้ในมาตราก่อน ชายผู้เป็นสามีจะไม่รับเป็นบุตรของตนก็ได้โดยฟ้องมารดากับเด็กร่วมกันเป็นจำเลย และพิสูจน์ว่า ตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์ คือ ระหว่างร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่อาจเป็นบิดาของเด็กเพราะเหตุไม่สามารถอย่างอื่น

มาตรา๑๕๒๑ถ้าสามีพิสูจน์ได้ว่า เด็กเกิดในระยะเวลาน้อยกว่าร้อยแปดสิบวันภายหลังที่ได้ทำการสมรส ก็ไม่ต้องนำพะยานอื่นมาสืบประกอบอีกในข้อไม่รับเด็กเป็นบุตร

แต่ถ้าปรากฏว่า ก่อนสมรส สามีร่วมประเวณีกับมารดาเด็กในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า สามีเป็นบิดาของเด็กนั้น

มาตรา๑๕๒๒การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่สามีรู้หรือควรรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

มาตรา๑๕๒๓การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ผู้มีสิทธิได้รับมฤดกร่วมกับเด็ก หรือผู้จะเสียสิทธิรับมฤดกเพราะการเกิดของเด็กนั้น อาจฟ้องได้ในกรณีต่อไปนี้

(๑)ถ้าสามีตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก่อนพ้นกำหนดที่สามีจะพึงฟ้องได้

(๒)ถ้าไม่ปรากฏว่า สามียังมีชีวิตอยู่หรือตาย หรือหาที่อยู่ไม่พบ

แต่ห้ามมิให้ฟ้องคดีเช่นนี้เมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียรู้หรือควรรู้ถึงการเกิดของเด็กนั้น

มาตรา๑๕๒๔การอ้างว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ย่อมพิสูจน์ได้จากทะเบียนคนเกิด

ถ้าไม่ปรากฏในทะเบียน พฤตติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นหลักฐานพอแล้ว

พฤตติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น ให้พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันท์บิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้เด็กนั้นใช้นามสกุลของตน หรือโดยเหตุประการอื่น ๆ

มาตรา๑๕๒๕เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น

มาตรา๑๕๒๖เด็กเกิดก่อนสมรส จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา๑๕๒๗บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก เด็กหรือมารดาอาจคัดค้านว่าผู้ร้องไม่ใช่บิดา ในกรณีเช่นนั้นการจดทะเบียนว่า เป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดา ถ้าไม่คัดค้านภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรู้หรือควรรู้แจ้งความนั้น ให้ถือว่า เด็กและมารดายินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาอยู่นอกสยามให้ขยายกำหนดเวลานั้นเป็นหกเดือน

มาตรา๑๕๒๘ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร เพราะเหตุว่าผู้ขอให้จดทะเบียนนั้นมิใช่บิดาก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันที่ทราบการจดทะเบียนนั้น อนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันจดทะเบียน

มาตรา๑๕๒๙การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรให้มีได้แต่ในกรณีต่อไปนี้

(๑)เมื่อมีการข่มขืนทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(๒)เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ ในกรณีหลังต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งบิดาทำไว้

(๓)เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงชัดว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของตน

(๔)เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้

(๕)เมื่อมีพฤตติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

ถ้าปรากฏว่า ในระยะเวลาตั้งครรภ์ หญิงมารดาได้ร่วมประเวณีกับชายอื่น หรือสำส่อนในทางประเวณีเป็นที่รู้กันทั่วไป หรือชายไม่อาจเป็นบิดาเด็กนั้นได้ให้ยกฟ้องเสีย

การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน หรือถ้าเด็กจะฟ้องเองก็ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ

ถ้าเด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตร อนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องคดีเช่นนี้เมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย

มาตรา๑๕๓๐การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล

(๑)ถ้าบิดามารดาสมรสกันภายหลังให้มีผลนับแต่วันสมรส

(๒)ถ้าบิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรให้มีผลนับแต่วันจดทะเบียน

(๓)ถ้ามีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร ให้มีผลนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรตามคำพิพากษาแล้ว

มาตรา๑๕๓๑เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้

มาตรา๑๕๓๒บุตรเกิดระหว่างสมรสซึ่งได้เพิกถอนภายหลังนั้น ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย


มาตรา๑๕๓๓บุตรชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิใช้นามสกุลและรับมฤดกได้

มาตรา๑๕๓๔ผู้ใดจะฟ้องบุพพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรืออาญาไม่ได้ แต่เมื่อผู้นั้นร้องขอ พนักงานอัยยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

มาตรา๑๕๓๕บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา

มาตรา๑๕๓๖บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่ฉะเพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา๑๕๓๗บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา

อำนาจปกครองนั้นอยู่แก่บิดา

มาตรา๑๕๓๘อำนาจปกครองจะอยู่แก่มารดาในกรณีต่อไปนี้ เมื่อ

(๑)บิดาตาย

(๒)ไม่แน่นอนว่า บิดามีชีวิตอยู่หรือตาย

(๓)บิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๔)บิดามีจิตต์ฟั่นเฟือนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

(๕)บุตรเกิดนอกสมรส และบิดามิได้จดทะเบียนว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

(๖)ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่แก่มารดา

มาตรา๑๕๓๙ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ

(๑)กำหนดที่อยู่ของบุตร

(๒)ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

(๓)ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

(๔)เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา๑๕๔๐เมื่อบุคคลใดมีบุตรติดมาได้สมรสกับบุคคลอื่น อำนาจปกครองบุตรอยู่กับผู้ที่บุตรนั้นติดมา

มาตรา๑๕๔๑ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร

ถ้าบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี

มาตรา๑๕๔๒คำบอกกล่าวที่ผู้ใช้อำนาจปกครองแจ้งไปหรือรับแจ้งมา ให้ถือว่า เป็นคำบอกกล่าวที่บุตรได้แจ้งไปหรือรับแจ้งมา

มาตรา๑๕๔๓อำนาจปกครองนั้น รวมทั้งการจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วย และให้จัดการทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำ

มาตรา๑๕๔๔ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำหนี้ที่บุตรจะต้องทำเองโดยมิได้รับความยินยอมของบุตรนั้นไม่ได้

มาตรา๑๕๔๕ถ้าบุตรมีเงินได้ ให้ใช้เงินนั้นเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาก่อน ส่วนที่เหลือผู้ใช้อำนาจปกครองจะเอาใช้ตามสมควรก็ได้

บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับถึงเงินได้ที่เกิดจากทรัพย์สินโดยทางยกให้โดยเสนหาหรือพินัยกรรม์ซึ่งมีเงื่อนไขว่า มิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองได้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ๆ

มาตรา๑๕๔๖นิติกรรมใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของเด็กดั่งต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

(๑)ขาย แลกเปลี่ยน หรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

(๒)ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่าสามปี

(๓)ให้กู้ยืมเงิน

(๔)ประนีประนอมยอมความ

(๕)ให้โดยเสนหา เว้นแต่จะเอาจากเงินได้ของเด็กให้แทนเด็กเพื่อการศาสนา หรือการสมาคมตามประเพณีพอควรแก่ฐานานุรูปของเด็ก

(๖)ไม่รับมฤดกหรือพินัยกรรม์ หรือการให้โดยเสนหา ซึ่งไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน

(๗)รับหรือไม่รับมฤดกหรือพินัยกรรม์ หรือการให้โดยเสนหา ซึ่งมีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน

(๘)มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

มาตรา๑๕๔๗ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตของศาลก่อน จึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้น เป็นโมฆะ

มาตรา๑๕๔๘บุคคลใดจะโอนทรัพย์สินให้ผู้เยาว์ โดยพินัยกรรม์หรือโดยเสนหามีเงื่อนไขว่าให้บุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้จัดการจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะก็ได้ ผู้จัดการนั้นต้องเป็นผู้ซึ่งผู้โอนระบุชื่อไว้ หรือถ้ามิได้ระบุไว้ก็ให้ศาลสั่ง แต่การจัดการทรัพย์สินนั้นต้องอยู่ใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาตรา ๖๐, ๖๑ และ ๖๓

มาตรา๑๕๔๙เมื่ออำนาจปกครองสิ้นไปแล้ว ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการและบัญชีในการนั้นให้เด็ก และถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินนั้น ก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี

มาตรา๑๕๕๐เด็กผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว จะให้สัตยาบันการจัดการทรัพย์สินของตนได้ ก็ต่อเมื่อได้รับมอบทรัพย์สิน บัญชี และเอกสารตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๔๙

มาตรา๑๕๕๑คดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างเด็กกับผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อำนาจปกครองสิ้นไป

ถ้าอำนาจปกครองสิ้นไปขณะเด็กยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ให้เริ่มนับอายุความในวรรคก่อนตั้งแต่เวลาที่เด็กบรรลุนิติภาวะหรือเมื่อมีผู้แทนโดยชอบธรรมขึ้นใหม่

มาตรา๑๕๕๒ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวเด็กโดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติสนิทของเด็กหรือพนักงานอัยยการร้องขอ ให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลายก็ดี หรือจัดการทรัพย์สินของเด็กในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัยก็ดี ศาลจะสั่งตามวิธีในวรรคก่อนให้ถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินเสียก็ได้

มาตรา๑๕๕๓ผู้ถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดนั้น ถ้าเหตุดั่งกล่าวไว้ในมาตราก่อนสิ้นไปแล้วและเมื่อตนเองก็ดี หรือญาติสนิทของเด็กก็ดีร้องขอ ศาลจะสั่งให้มีอำนาจปกครองดั่งเดิมก็ได้

มาตรา๑๕๕๔การที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ไม่เป็นเหตุให้ผู้นั้นพ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กตามกฎหมาย


มาตรา๑๕๕๕บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้

ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจตามมาตรา ๑๕๕๒ จะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินเป็นพิเศษก็ได้

มาตรา๑๕๕๖ผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๕๕ จะตั้งโดยพินัยกรรม์ของบิดาหรือมารดาซึ่งตายทีหลังก็ได้ หรือเมื่อญาติของผู้เยาว์หรือพนักงานอัยยการร้องขอ ศาลจะตั้งก็ได้

มาตรา๑๕๕๗บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วอาจถูกตั้งเป็นผู้ปกครองได้ เว้นแต่

(๑)ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๒)ผู้ล้มละลาย

(๓)ผู้ซึ่งประพฤติชั่วร้ายไม่เหมาะที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์

(๔)ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์หรือญาติสนิทของผู้เยาว์

(๕)ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง

มาตรา๑๕๕๘บุคคลใดจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ก็ตาม ยังมิได้สมรสและศาลสั่งว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถแล้ว ให้บิดามารดาเป็นผู้อนุบาลหรือเป็นผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น

มาตรา๑๕๕๙ผู้ปกครองมีได้คราวหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ในกรณีพิเศษศาลจะตั้งผู้ปกครองหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจให้ไว้ฉะเพาะคนหนึ่ง ๆ ก็ได้

มาตรา๑๕๖๐ความเป็นผู้ปกครองนั้น เริ่มแต่วันทราบคำบอกกล่าวการตั้ง

มาตรา๑๕๖๑ให้ผู้ปกครองรีบทำบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองให้เสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบการตั้ง แต่ผู้ปกครองจะร้องต่อศาลก่อนสิ้นกำหนดขอให้ยืดเวลาก็ได้

บัญชีนั้นต้องทำต่อหน้าพะยานอย่างน้อยสองคนซึ่งต้องเป็นญาติสนิทของผู้อยู่ในปกครอง ถ้าหาญาติสนิทไม่ได้จะให้ผู้อื่นเป็นพะยานก็ได้

มาตรา๑๕๖๒ให้ผู้ปกครองยื่นสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องต่อศาลฉบับหนึ่งภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้ทำบัญชีทรัพย์สินเสร็จแล้ว และศาลจะสั่งให้ผู้ปกครองชี้แจงเพิ่มเติมหรือให้นำเอกสารมาประกอบเพื่อแสดงให้เห็นว่าบัญชีนั้นถูกต้องแล้วก็ได้

เมื่อศาลเห็นว่า บัญชีถูกต้องแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ ถ้าศาลมิได้แจ้งให้ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันยื่นบัญชีหรือวันชี้แจงเพิ่มเติมหรือนำเอกสารยื่นประกอบ ให้ถือว่า บัญชีนั้นถูกต้องแล้ว

ถ้าผู้ปกครองมิได้ทำบัญชีขึ้นภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือศาลไม่พอใจในบัญชีนั้นเพราะเหตุเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่สุจริต หรือเห็นได้ชัดว่า ผู้ปกครองหย่อนความสามารถ ศาลจะสั่งถอนผู้ปกครองนั้นเสียก็ได้

มาตรา๑๕๖๓ก่อนที่ศาลจะยอมรับบัญชีนั้น ผู้ปกครองจะทำกิจการใดมิได้ เว้นแต่จะเป็นการเร่งร้อนและจำเป็น แต่ทั้งนี้ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้

มาตรา๑๕๖๔ถ้ามีหนี้เป็นคุณแก่ผู้ปกครองแต่เป็นโทษต่อผู้อยู่ในปกครอง หรือเป็นคุณแก่ผู้อยู่ในปกครองแต่เป็นโทษต่อผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองแจ้งข้อความเหล่านั้นต่อศาลก่อนลงมือทำบัญชีทรัพย์สิน

ถ้าผู้ปกครองรู้ว่า มีหนี้เป็นคุณแก่ตนแต่เป็นโทษต่อผู้อยู่ในปกครอง และมิได้แจ้งข้อความนั้นต่อศาล หนี้ของผู้ปกครองนั้นย่อมสูญไป

ถ้าผู้ปกครองรู้ว่า มีหนี้เป็นโทษแก่ตน แต่เป็นคุณแก่ผู้อยู่ในปกครอง และมิได้แจ้งข้อความนั้นต่อศาล ศาลจะสั่งถอนผู้ปกครองเสียก็ได้

มาตรา๑๕๖๕เมื่อศาลเห็นสมควรโดยลำพัง หรือเมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยยการร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ผู้ปกครอง

(๑)หาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองตลอดการมอบคืนทรัพย์สินนั้น

(๒)แถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครอง

มาตรา๑๕๖๖ในระหว่างปกครอง ถ้าผู้อยู่ในปกครองได้ทรัพย์สินอันมีค่ามาโดยทางมฤดกหรือยกให้ ให้นำมาตรา ๑๕๖๑ ถึงมาตรา ๑๕๖๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๖๗ให้ผู้ปกครองทำบัญชีทรัพย์สินส่งต่อศาลปีละครั้งนับแต่วันเป็นผู้ปกครอง แต่เมื่อศาลได้รับบัญชีปีแรกแล้ว จะสั่งให้ส่งบัญชีเช่นว่านั้นในระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีก็ได้

มาตรา๑๕๖๘ผู้ปกครองมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา ๑๕๓๖ วรรค ๑ และมาตรา ๑๕๓๙

มาตรา๑๕๖๙ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง

ให้นำมาตรา ๑๕๔๒, ๑๕๔๓, ๑๕๔๔, ๑๕๔๖, ๑๕๔๗ และ ๑๕๔๘ มาบังคับแก่ผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครองโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๗๐เงินได้ของผู้อยู่ในปกครองนั้น ผู้ปกครองย่อมใช้ได้ตามสมควรเพื่อการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของผู้อยู่ในปกครอง ถ้ามีเหลือให้ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ฉะเพาะในเรื่องต่อไปนี้

(๑)ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสยาม

(๒)รับจำนองอสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรก แต่จำนวนเงินที่รับจำนองต้องไม่เกินกึ่งราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น

(๓)ฝากประจำในธนาคารที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยามให้ประกอบกิจการในราชอาณาจักร

(๔)ฝากคลังออมสินของรัฐบาลสยาม

(๕)ลงทุนอย่างอื่นซึ่งศาลอาจอนุญาตเป็นพิเศษ

มาตรา๑๕๗๑ถ้าผู้อยู่ในปกครองรู้จักผิดชอบและมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี เมื่อผู้ปกครองจะทำกิจการใดที่สำคัญ ให้ปรึกษาหารือผู้อยู่ในปกครองก่อนเท่าที่จะทำได้

การที่ผู้อยู่ในปกครองได้ยินยอมด้วยนั้นหาคุ้มผู้ปกครองให้พ้นจากความรับผิดไม่

มาตรา๑๕๗๒ความปกครองสุดสิ้นลงเมื่อผู้อยู่ในปกครองตายหรือบรรลุนิติภาวะ

มาตรา๑๕๗๓ความเป็นผู้ปกครองสุดสิ้นลงเมื่อผู้ปกครองตาย ไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ ลาออกหรือถูกถอนโดยคำสั่งของศาล

มาตรา๑๕๗๔ถ้าผู้ปกครองละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ก็ดี เลินเล่ออย่างร้ายแรงในหน้าที่ก็ดี ใช้หน้าที่ในทางที่ผิดก็ดี ประพฤติมิชอบให้เห็นว่าไม่สมควรแก่หน้าที่อันต้องไว้ใจก็ดี หรือล้มละลายก็ดี ให้ศาลสั่งถอนผู้ปกครองเสีย

ถ้าผู้ปกครองหย่อนความสามารถในหน้าที่ ถึงแม้ว่าจะมิถึงกระทำผิดก็ดี เมื่อประโยชน์ของผู้อยู่ในปกครองน่าจะเป็นอันตราย ศาลจะสั่งให้ถอนผู้ปกครองเสียก็ได้

มาตรา๑๕๗๕การร้องขอให้ถอนผู้ปกครองนั้น ผู้อยู่ในปกครองซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี หรือญาติสนิทของผู้อยู่ในปกครองหรือพนักงานอัยยการจะเป็นผู้ร้องขอก็ได้

มาตรา๑๕๗๖ในระหว่างพิจารณาคำร้องขอให้ถอนผู้ปกครอง ศาลจะตั้งผู้จัดการชั่วคราวให้จัดการทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองแทนผู้ปกครองก็ได้

มาตรา๑๕๗๗ถ้าความปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองสุดสิ้นลง ให้ผู้ปกครองหรือทายาทรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการแก่ผู้อยู่ในปกครอง หรือทายาทหรือผู้ปกครองคนใหม่ และให้ทำบัญชีในการจัดการทรัพย์สินส่งมอบภายในเวลาสองเดือน และถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินนั้น ก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี แต่เมื่อผู้ปกครองหรือทายาทร้องขอ ศาลจะสั่งให้ยืดเวลาก็ได้

ให้นำมาตรา ๑๕๕๐ และ ๑๕๕๑ มาบังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๗๘นับแต่วันส่งมอบบัญชี ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงิน ซึ่งผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองจะต้องคืนให้แก่กัน

ถ้าผู้ปกครองใช้เงินของผู้อยู่ในปกครองนอกจากเพื่อประโยชน์ของผู้อยู่ในปกครองแล้ว ให้เสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินนั้นตั้งแต่วันใช้เป็นต้นไป

มาตรา๑๕๗๙ผู้อยู่ในปกครองมีบุริมะสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ปกครองเพื่อชำระหนี้ซึ่งค้างอยู่แก่ตน

บุริมะสิทธินี้ ให้อยู่ในลำดับที่หกถัดจากบุริมะสิทธิสามัญอย่างอื่นตามมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา๑๕๘๐ผู้ปกครองไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้กำหนดไว้ในการตั้งหรือตามคำสั่งศาล โดยพิเคราะห์ถึงรายได้และความเป็นอยู่ของผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครอง

มาตรา๑๕๘๑ถ้าศาลสั่งให้บุคคลใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๕๗ และ ๑๕๔๑ เป็นคนไร้ความสามารถและเมื่อได้มีผู้อนุบาลแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความปกครองมาบังคับโดยอนุโลม


มาตรา๑๕๘๒บุคคลผู้มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี

มาตรา๑๕๘๓ถ้าผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การรับผู้นั้นเป็นบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดามารดา ถ้าไม่มีบิดามารดา ผู้แทนโดยชอบธรรมจะให้ความยินยอมก็ได้

ถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ผู้นั้นต้องให้ความยินยอมด้วย

มาตรา๑๕๘๔ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสนั้นก่อน เว้นแต่คู่สมรสนั้นวิกลจริต หรือสูญหายไปไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

มาตรา๑๕๘๕การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย

มาตรา๑๕๘๖บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๒ หมวด ๒ แห่งบรรพนี้มาบังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๘๗การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมฤดกของบุตรบุญธรรม

ถ้าบุตรบุญธรรมผู้ซึ่งไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดาน ตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม บรรดาทรัพย์สินที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้ให้แก่บุตรบุญธรรม และซึ่งยังคงรูปเดิมอยู่ ในขณะที่บุตรบุญธรรมตายนั้น ให้กลับคืนมาเป็นของผู้รับบุตรบุญธรรม

มาตรา๑๕๘๘การรับบุตรบุญธรรม จะเลิกโดยความตกลงกันในระหว่างคู่กรณีเมื่อใดก็ได้ และให้นำมาตรา ๑๕๘๓, ๑๕๘๔ และ ๑๕๘๕ มาบังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๘๙คดีฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมนั้น เมื่อ

(๑)ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้าย หรือหมิ่นประมาทในข้อร้ายแรงต่ออีกฝ่ายหนึ่งหรือต่อบุพพการีของเขา อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๒)ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายหลังฟ้องเลิกได้

(๓)ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินกว่าหนึ่งปี ฝ่ายหลังฟ้องเลิกได้

(๔)ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุกเกินกว่าสามปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๕)ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดาอย่างมากตามมาตรา ๑๕๓๖, ๑๕๔๓, ๑๕๔๕, ๑๕๔๖ และ ๑๕๔๗ บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

มาตรา๑๕๙๐ห้ามมิให้ฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้กล่าวหารู้หรือควรรู้ข้อความอันเป็นเหตุให้เลิกการนั้น หรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้น

มาตรา๑๕๙๑บุตรบุญธรรมซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบห้าปีจะฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมมิได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากผู้ที่มีสิทธิให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรม

แต่กรณีจะเป็นอย่างใดก็ตาม พนักงานอัยยการจะฟ้องคดีแทนบุตรบุญธรรมก็ได้

มาตรา๑๕๙๒การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาล ย่อมมีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่ได้จดทะเบียนแล้ว

มาตรา๑๕๙๓เมื่อการรับบุตรบุญธรรมเลิกแล้ว บุตรบุญธรรมย่อมกลับคืนสู่ฐานะอย่างสมบูรณ์ในครอบครัวเดิมของตน แต่ไม่เป็นเหตุเสื่อมสิทธิที่บุคคลภายนอกได้ไว้ก่อนโดยสุจริต


มาตรา๑๕๙๔บุคคลซึ่งมีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องเป็นผู้ไร้ทรัพย์สินและมิสามารถหาเลี้ยงตนเองได้

ในการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้พิเคราะห์ถึงพฤตติการณ์แห่งเรื่องตลอดถึงรายได้ และฐานะของคู่กรณี

มาตรา๑๕๙๕บุคคลไม่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้อื่น เมื่อตนมีหนี้อื่น ๆ ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูได้โดยไม่เป็นภัยแก่การเลี้ยงดูตนเองตามสมควรแก่ฐานะ

มาตรา๑๕๙๖เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงได้ว่า พฤตติการณ์ รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ แล้วแต่กรณี

มาตรา๑๕๙๗ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ให้ชำระเป็นเงินเป็นครั้งคราวตามกำหนด แต่ถ้ามีเหตุพิเศษจะตกลงกันเองหรือจะร้องต่อศาลขอชำระด้วยวิธีอื่นก็ได้

มาตรา๑๕๙๘สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะสละ ยึด หรือโอนมิได้