ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ พ.ศ. 2519/ภาคผนวก

จาก วิกิซอร์ซ




มาตรา๑๔๓๕การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว

การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

มาตรา๑๔๓๖ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(๑)บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

(๒)บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครอง

(๓)ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบิดามารดาหรือมีบิดาหรือมารดาแต่ถูกถอนอำนาจปกครอง

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

มาตรา๑๔๓๗ของหมั้นเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

ของหมั้นให้ตกเป็นสิทธิแก่หญิงเมื่อได้ทำการสมรสแล้ว

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรส ชายเรียกคืนได้

มาตรา๑๔๓๘การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา๑๔๓๙เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่มีของหมั้น ถ้าฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง ถ้าฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชาย

มาตรา๑๔๔๐ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(๑)ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(๒)ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(๓)ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

ในกรณีที่หญิงเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมดหรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่หญิงพึงได้รับ หรือศาลอาจให้ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นก็ได้

มาตรา๑๔๔๑ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ในกรณีที่มีของหมั้น ถ้าหญิงตาย ให้ฝ่ายหญิงคืนแก่ฝ่ายชาย แต่ถ้าชายตาย ไม่ต้องคืนของหมั้น

มาตรา๑๔๔๒ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา๑๔๔๓ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้นทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา๑๔๔๔ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น

มาตรา๑๔๔๕ชายคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งได้ร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้นโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่หมั้นนั้นแล้วได้ เมื่อชายคู่หมั้นได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา ๑๔๔๒ แล้ว

มาตรา๑๔๔๖ชายคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราหญิงคู่หมั้นโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าหญิงได้หมั้นแล้วได้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น

มาตรา๑๔๔๗ค่าทดแทนอันจะพึงชดใช้แก่กันตามหมวดนี้ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๐ (๑) หรือ (๓) มาตรา ๑๔๔๔ มาตรา ๑๔๔๕ หรือมาตรา ๑๔๔๖ นั้นไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือ หรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามความในหมวดนี้ ให้มีอายุความหกเดือน


มาตรา๑๔๔๘การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

มาตรา๑๔๔๙การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา๑๔๕๐ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสาโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทำการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสาโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

มาตรา๑๔๕๑ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้

มาตรา๑๔๕๒ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้

มาตรา๑๔๕๓หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่

(๑)คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น

(๒)สมรสกับคู่สมรสเดิม

(๓)มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ หรือ

(๔)มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้

มาตรา๑๔๕๔ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความในมาตรา ๑๔๓๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๔๕๕การให้ความยินยอมให้ทำการสมรสจะกระทำได้แต่โดย

(๑)ลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส

(๒)ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอมโดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่ายและลงลายมือชื่อของผู้ให้ความยินยอม

(๓)ถ้ามีเหตุจำเป็น จะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนก็ได้

ความยินยอมนั้น เมื่อให้แล้ว ถอนไม่ได้

มาตรา๑๔๕๖ถ้าไม่มีผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอมตามมาตรา ๑๔๕๔ หรือมีแต่ไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมได้ ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลเพื่ออนุญาตให้ทำการสมรส

มาตรา๑๔๕๗การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา๑๔๕๘การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย

มาตรา๑๔๕๙การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกันหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้

ในกรณีที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ให้พนักงานทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับจดทะเบียน

มาตรา๑๔๖๐เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้เพราะชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในภาวะการรบหรือสงคราม ถ้าชายและหญิงนั้นได้แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้บุคคลดังกล่าวจดแจ้งการแสดงเจตนาขอทำการสมรสของชายและหญิงนั้นไว้เป็นหลักฐาน และต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อาจทำการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียนและให้นายทะเบียนจดแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่แสดงเจตนาขอทำการสมรส และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ในทะเบียนสมรส ให้ถือว่าวันแสดงเจตนาขอทำการสมรสต่อบุคคลดังกล่าวเป็นวันจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนแล้ว

ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับถ้าหากจะมีการสมรสในวันแสดงเจตนาขอทำการสมรส การสมรสนั้นจะตกเป็นโมฆะ


มาตรา๑๔๖๑สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา

สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน

มาตรา๑๔๖๒ถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมากของสามีหรือภริยา ฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือความเสียหายอาจร้องต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้น ๆ ยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งเสียให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ก็ได้

มาตรา๑๔๖๓ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้

มาตรา๑๔๖๔ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริต ไม่ว่าศาลจะได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ และคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูฝ่ายที่วิกลจริตตามสมควรก็ดี กระทำการอย่างใดหรือไม่กระทำการตามควรเป็นเหตุให้ฝ่ายที่วิกลจริตตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเป็นภัยทางทรัพย์สิน ทางกาย ทางจิตใจก็ดี บุคคลซึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถตามมาตรา ๒๙ หรือผู้อนุบาลมีอำนาจฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตนั้น และหรือขอให้ศาลมีคำสั่งใด ๆ เพื่อคุ้มครองฝ่ายที่วิกลจริตนั้นได้

ในกรณีดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ถ้ายังมิได้มีคำสั่งของศาลแสดงว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ให้บุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอต่อศาลในคดีเดียวกันนั้นให้ศาลมีคำสั่งว่า คู่สมรสซึ่งวิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ โดยจะขอให้ตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลตามมาตรา ๑๔๖๓ ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือถ้าได้มีคำสั่งของศาลว่าเป็นคนไร้ความสามารถและมีผู้อนุบาลแล้ว จะขอให้ถอดถอนผู้อนุบาลและแต่งตั้งผู้อนุบาลใหม่ก็ได้

ในกรณีที่คู่สมรสซึ่งถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริตนั้นยังไม่ได้ถูกสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากศาลเห็นว่าคู่สมรสนั้นยังไม่เป็นบุคคลที่ควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ให้ยกคำร้องและยกฟ้องคดีเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นเสีย ถ้าเห็นว่าเป็นบุคคลที่ควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แต่ยังไม่สมควรสั่งในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือมีคำสั่งใด ๆ เพื่อคุ้มครองฝ่ายที่วิกลจริตนั้น ก็ให้ศาลสั่งให้คู่สมรสนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ โดยพิพากษายกคำขอค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือคำขอใด ๆ เพื่อคุ้มครองฝ่ายที่วิกลจริต

ความในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจศาลที่จะสั่งตั้งผู้อนุบาลตามมาตรา ๑๔๖๓ และอำนาจสั่งตามมาตรา ๑๕๓๐


มาตรา๑๔๖๕ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้

ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้น ๆ เป็นโมฆะ

มาตรา๑๔๖๖สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้

มาตรา๑๔๖๗เมื่อสมรสแล้วจะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาล

เมื่อได้มีคำสั่งของศาลถึงที่สุดให้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสแล้ว ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนสมรสเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส

มาตรา๑๔๖๘ข้อความในสัญญาก่อนสมรสไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ว่าจะได้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนโดยคำสั่งของศาลหรือไม่ก็ตาม

มาตรา๑๔๖๙สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต

มาตรา๑๔๗๐ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส

มาตรา๑๔๗๑สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(๑)ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

(๒)ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

(๓)ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

(๔)ที่เป็นของหมั้น

มาตรา๑๔๗๒สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว

สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้น เป็นสินส่วนตัว

มาตรา๑๔๗๓สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ

มาตรา๑๔๗๔สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(๑)ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(๒)ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

(๓)ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นสินสมรส

มาตรา๑๔๗๕ถ้าสินสมรสใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๕๖ แห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือที่มีเอกสารเป็นสำคัญสามีหรือภริยาจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นก็ได้

มาตรา๑๔๗๖นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน

มาตรา๑๔๗๗อำนาจจัดการสินสมรสนั้น รวมถึงอำนาจจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันซึ่งสินสมรส และอำนาจฟ้องและต่อสู้คดีเกี่ยวแก่สินสมรสนั้นด้วย

มาตรา๑๔๗๘เมื่อฝ่ายใดต้องให้ความยินยอมหรือลงชื่อกับอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องจัดการทรัพย์สินแต่ไม่ให้ความยินยอมหรือไม่ยอมลงชื่อโดยปราศจากเหตุผล หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอมได้ อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้

มาตรา๑๔๗๙การใดที่สามีหรือภริยากระทำ ซึ่งต้องรับความยินยอมร่วมกันและถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

มาตรา๑๔๘๐ในการจัดการสินสมรส ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่ง นิติกรรมนั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่า ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริต แต่การให้โดยเสน่หาอันมิได้เป็นไปตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคม คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้นย่อมขอให้ศาลเพิกถอนได้เสมอ

ให้นำความในมาตรา ๒๔๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๔๘๑สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้

มาตรา๑๔๘๒ในกรณีจะมีสัญญาก่อนสมรสหรือสัญญาระหว่างสมรสจะระบุให้สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียวหรือไม่ก็ตาม อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวได้

ถ้าสามีหรือภริยาใช้อำนาจจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวเป็นที่เสียหายถึงขนาด อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจนี้เสียได้

มาตรา๑๔๘๓ในกรณีมีสัญญาก่อนสมรสหรือมีสัญญาระหว่างสมรสหรือมีคำสั่งศาลอนุญาตให้สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้จัดการสินสมรสไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ถ้าสามีหรือภริยาซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสนั้นจะกระทำหรือกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดการสินสมรสอันพึงเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายถึงขนาด อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้กระทำการนั้นได้

มาตรา๑๔๘๔ถ้าสามีหรือภริยาซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสตามมาตรา ๑๔๘๓

(๑)จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด

(๒)ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง

(๓)มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส

(๔)ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(๕)มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส

อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว หรือจะร้องขอให้แยกสินสมรสก็ได้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าฝ่ายใดร้องขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรสตามที่เห็นสมควรก่อนก็ได้

มาตรา๑๔๘๕สามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสโดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเข้าร่วมจัดการในการนั้นได้ ถ้าการที่จะทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า

มาตรา๑๔๘๖ในกรณีที่มีสัญญาก่อนสมรส เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงทีสุด ตามความในมาตรา ๑๔๘๓ มาตรา ๑๔๘๔ มาตรา ๑๔๘๕ อันเป็นคุณแก่ผู้ร้องขอ หรือตามมาตรา ๑๔๙๑ ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนสมรสเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส

มาตรา๑๔๘๗ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน ฝ่ายใดจะยึดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เว้นแต่สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าฤชาธรรมเนียมที่ยังมิได้ชำระตามคำพิพากษาของศาล

มาตรา๑๔๘๘ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น

มาตรา๑๔๘๙ถ้าสามีหรือภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

มาตรา๑๔๙๐หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(๑)หนี้เกี่ยวแก่การจัดกิจการอันจำเป็นในครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรโดยควรแก่อัตภาพ

(๒)หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(๓)หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

(๔)หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

มาตรา๑๔๙๑ถ้าสามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกันโดยอำนาจกฎหมายนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายนั้น

มาตรา๑๔๙๒เมื่อได้แยกสินสมรสแล้ว ส่วนที่แยกออกเป็นของสามีหรือภริยาตกเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น

มาตรา๑๔๙๓ในกรณีที่ไม่มีสินสมรสแล้ว สามีและภริยาต้องช่วยกันออกค่าใช้สอยสำหรับการบ้านเรือนตามส่วนมากและน้อยแห่งสินส่วนตัวของตน


มาตรา๑๔๙๔การสมรสจะเป็นโมฆะก็แต่เฉพาะที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

มาตรา๑๔๙๕คำพิพากษาศาลเท่านั้นจะแสดงว่า การสมรสใดเป็นโมฆะ

มาตรา๑๔๙๖การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ มาตรา ๑๔๕๒ และมาตรา ๑๔๕๘ เป็นโมฆะ

มาตรา๑๔๙๗การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะนั้น ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้

มาตรา๑๔๙๘การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

เมื่อมีคำพิพากษาของศาลแสดงว่า การสมรสใดเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มา ไม่ว่าก่อนหรือหลังจดทะเบียนสมรส รวมทั้งดอกผล คงเป็นของฝ่ายนั้น ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้โดยเสน่หา เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่า ให้ทั้งสองฝ่าย ให้แบ่งคนละครึ่ง

มาตรา๑๔๙๙เหตุที่การสมรสเป็นโมฆะ ไม่เป็นผลให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้น ถ้าฝ่ายเดียวทำการสมรสโดยสุจริต ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าฝ่ายที่ทำการสมรสโดยสุจริตนั้นต้องยากจนลงและไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำก่อน มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย

ให้นำความในมาตรา ๑๕๒๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๐๐เหตุที่ศาลพิพากษาว่า การสมรสใดเป็นโมฆะ ไม่เป็นผลให้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต เสื่อมสิทธิที่ได้มาก่อนศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะโดยให้ถือเสมือนไม่มีคำพิพากษาเช่นนั้น


มาตรา๑๕๐๑การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา๑๕๐๒การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา๑๕๐๓เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส เพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๘ มาตรา ๑๕๐๕ มาตรา ๑๕๐๖ มาตรา ๑๕๐๗ และมาตรา ๑๕๐๙

มาตรา๑๕๐๔การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๘ ผู้มีส่วนได้เสียขอให้เพิกถอนการสมรสได้ แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ให้ความยินยอมแล้วจะขอให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้

ถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนชายหญิงมีอายุครบตามมาตรา ๑๔๔๘ หรือเมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบตามมาตรา ๑๔๔๘ ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส

มาตรา๑๕๐๕การสมรสที่ได้กระทำไปโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสำคัญผิดตัวคู่สมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะสำคัญผิดตัวคู่สมรสเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วเก้าสิบวันนับแต่วันสมรส

มาตรา๑๕๐๖ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับในกรณีที่กลฉ้อฉลนั้นเกิดขึ้นโดยบุคคลที่สามโดยคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้เห็นด้วย

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ถึงกลฉ้อฉล หรือเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปี นับแต่วันสมรส

มาตรา๑๕๐๗ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่เป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นจากการข่มขู่

มาตรา๑๕๐๘การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะคู่สมรสสำคัญผิดตัว หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ เฉพาะแต่คู่สมรสที่สำคัญผิดตัว หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่เท่านั้นขอเพิกถอนการสมรสได้

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิขอเพิกถอนการสมรสเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ให้บุคคลซึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถตามมาตรา ๒๙ ขอเพิกถอนการสมรสได้ด้วย แต่ถ้าผู้มีสิทธิขอเพิกถอนการสมรสเป็นคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ บุคคลดังกล่าวจะร้องขอเพิกถอนการสมรสก็ได้ แต่ต้องขอให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถพร้อมกันด้วย ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอเพิกถอนการสมรสของบุคคลดังกล่าวนั้นเสียด้วย

คำสั่งศาลให้ยกคำขอเพิกถอนการสมรสของบุคคลตามวรรคสองไม่กระทบกระเทือนสิทธิการขอเพิกถอนการสมรสของคู่สมรส แต่คู่สมรสจะต้องใช้สิทธินั้นภายในกำหนดระยะเวลาที่คู่สมรสมีอยู่ ถ้าระยะเวลาดังกล่าวเหลืออยู่ไม่ถึงหกเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยก

คำขอเพิกถอนการสมรสของบุคคลดังกล่าวหรือไม่มีเหลืออยู่เลย ก็ให้ขยายระยะเวลานั้นออกไปได้ให้ครบหกเดือนหรืออีกหกเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอเพิกถอนการสมรสของบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี

มาตรา๑๕๐๙การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา ๑๔๕๔ การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา๑๕๑๐การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา ๑๔๕๔ เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา ๑๔๕๔ เท่านั้น ขอให้เพิกถอนการสมรสได้

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์

การฟ้องขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้ให้มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันทราบการสมรส

มาตรา๑๕๑๑การสมรสที่ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนนั้น ให้ถือว่า สิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการเพิกถอนการสมรสนั้นแล้ว

มาตรา๑๕๑๒ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยผลของการหย่าโดยคำพิพากษามาใช้บังคับแก่ผลของการเพิกถอนการสมรสโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๑๓ถ้าปรากฏว่า คู่สมรสที่ถูกฟ้องเพิกถอนการสมรสได้รู้เห็นเป็นใจในเหตุแห่งโมฆียะกรรม คู่สมรสนั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับต่อกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน เนื่องจากการสมรสนั้น และให้นำมาตรา ๑๕๒๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ถ้าหากการเพิกถอนการสมรสตามวรรคหนึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง และไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส คู่สมรสที่ถูกฟ้องนั้นจะต้องรับผิดในค่าเลี้ยงชีพดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๒๖ ด้วย

มาตรา๑๕๑๔การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

มาตรา๑๕๑๕เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

มาตรา๑๕๑๖เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(๑)สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๒)สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก)ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(ข)ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป

(ค)ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๓)สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔)สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๕)สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๖)สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๗)สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๘)สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๙)สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๑๐)สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา๑๕๑๗เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) และ (๒) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑๐) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตามมาตรา ๑๕๑๖ (๘) นั้น ถ้าศาลเห็นว่า ความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้

มาตรา๑๕๑๘สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว

มาตรา๑๕๑๙ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริตและมีเหตุหย่าเกิดขึ้น ไม่ว่าเหตุนั้นจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังการเป็นคนวิกลจริต ให้บุคคลซึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถตามมาตรา ๒๙ มีอำนาจฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งขอให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันและแบ่งทรัพย์สินได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้ายังมิได้มีคำสั่งของศาลแสดงว่า คู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ให้บุคคลดังกล่าวร้องขอต่อศาลในคดีเดียวกันนั้น ให้ศาลมีคำสั่งว่า คู่สมรสซึ่งวิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ

เมื่อบุคคลดังกล่าวเห็นสมควร จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๕๒๖ หรือมาตรา ๑๕๓๐ ด้วยก็ได้

ในกรณีที่คู่สมรสซึ่งถูกอ้างว่า เป็นคนวิกลจริตยังไม่ได้ถูกสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากศาลเห็นว่า คู่สมรสนั้นยังไม่เป็นคนที่ควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็ให้ยกฟ้องคดีนั้นเสีย ถ้าเห็นว่า เป็นบุคคลที่ควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แต่ยังไม่สมควรจะให้มีการหย่า ก็ให้ศาลสั่งให้คู่สมรสนั้นเป็นคนไร้ความสามารถโดยจะไม่สั่งเรื่องผู้อนุบาลหรือจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลตามมาตรา ๑๔๖๓ ก็ได้ คงพิพากษายกแต่เฉพาะข้อหย่า ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะสั่งกำหนดค่าเลี้ยงชีพด้วยก็ได้ ในกรณีที่ศาลเห็นว่า คู่สมรสนั้นวิกลจริตอันควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและทั้งมีเหตุควรให้หย่าด้วย ก็ให้ศาลสั่งในคำพิพากษาให้คู่สมรสนั้นเป็นคนไร้ความสามารถตั้งผู้อนุบาลและให้หย่า

ในกรณีนี้ ถ้าศาลเห็นว่า เหตุหย่าที่ยกขึ้นอ้างในการฟ้องร้องนั้นไม่เหมาะสมแก่สภาพของคู่สมรสซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถที่จะหย่าจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ดี ตามพฤติการณ์ไม่สมควรที่จะให้มีการหย่าขาดจากกันก็ดี ศาลจะพิพากษาไม่ให้หย่าก็ได้

มาตรา๑๕๒๐ถ้าสามีหรือภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันว่า ฝ่ายใดจะปกครองบุตรคนใดเป็นหนังสือ ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ฝ่ายชนะคดีเป็นผู้ปกครอง เว้นแต่ศาลจะชี้ขาดให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครอง

มาตรา๑๕๒๑ถ้าปรากฏว่า ผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๒๐ ประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ปกครองโดยเพ่งเล็งถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นประมาณ แม้จะมอบให้ฝ่ายหนึ่งปกครองก็ตาม อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามสมควร แล้วแต่พฤติการณ์

มาตรา๑๕๒๒ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่า สามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาล หรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

มาตรา๑๕๒๓เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณี

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

มาตรา๑๕๒๔ถ้าเหตุแห่งการหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๓) (๔) หรือ (๖) เกิดขึ้นเพราะฝ่ายผู้ต้องรับผิดชอบก่อให้เกิดขึ้นโดยมุ่งประสงค์ให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจทนได้ จึงต้องฟ้องหย่า อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิด

มาตรา๑๕๒๕ค่าทดแทนตามมาตรา ๑๕๒๓ และมาตรา ๑๕๒๔ นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้

ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย

มาตรา๑๕๒๖ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๙๘/๓๙ มาตรา ๑๕๙๘/๔๐ และมาตรา ๑๕๙๘/๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

มาตรา๑๕๒๗ถ้าหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา ๑๕๑๖ (๗) หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๕๑๖ (๙) คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่เป็นโรคติดต่อนั้นโดยคำนวณค่าเลี้ยงชีพอนุโลมตามมาตรา ๑๕๒๖

มาตรา๑๕๒๘ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป

มาตรา๑๕๒๙สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา ๑๕๑๖ (๑) (๒) (๓) หรือ (๖) หรือมาตรา ๑๕๒๓ ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้างเหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น

มาตรา๑๕๓๐ขณะคดีฟ้องหย่าอยู่ในระหว่างพิจารณา ถ้าฝ่ายใดร้องขอ ศาลอาจสั่งชั่วคราวให้จัดการตามที่เห็นสมควร เช่น ในเรื่องสินสมรส ที่พักอาศัย การอุปการะเลี้ยงดูสามีภริยา และการพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตร

มาตรา๑๕๓๑การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป

การหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

มาตรา๑๕๓๒เมื่อหย่ากันแล้ว ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา

แต่ในระหว่างสามีภริยา

(ก)ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า

(ข)ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

มาตรา๑๕๓๓เมื่อหย่ากัน ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

มาตรา๑๕๓๔สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมายบังคับว่า การจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำลายให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่า ทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา ๑๕๓๓ และถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับส่วนแบ่งสินสมรสไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้ ให้คู่สมรสฝ่ายที่ได้จำหน่ายหรือจงใจทำลายสินสมรสนั้นชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือสินส่วนตัว

มาตรา๑๕๓๕เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน



มาตรา๑๕๓๖เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่บุตรที่เกิดจากหญิงก่อนที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ หรือภายในระยะเวลาสามร้อยสิบวันนับแต่วันนั้น

มาตรา๑๕๓๗ในกรณีที่หญิงทำการสมรสใหม่นั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๓ และคลอดบุตรภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กที่เกิดแต่หญิงนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ และห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา ๑๕๓๖ ที่ว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีเดิม มาใช้บังคับ ทั้งนี้ เว้นแต่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่า เด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่นั้น

มาตรา๑๕๓๘ในกรณีที่หญิงทำการสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ และหญิงนั้นคลอดบุตรภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันทำการสมรส ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีคนใหม่ และห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา ๑๕๓๖ วรรคหนึ่ง ว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีเดิมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ เว้นแต่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่า เด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่นั้น

มาตรา๑๕๓๙เด็กตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๕๓๖ ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะไม่รับเป็นบุตรของตนก็ได้ โดยฟ้องเด็กกับมารดาร่วมกันเป็นจำเลยและพิสูจน์ได้ว่า ตนไม่ได้อยู่ร่วมกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์ คือ ระหว่างร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนเด็กเกิด หรือตนไม่สามารถเป็นบิดาของเด็กได้เพราะเหตุอย่างอื่น

แต่ถ้าในขณะยื่นฟ้องมารดาเด็กไม่มีชีวิตอยู่ จะฟ้องเด็กแต่ผู้เดียวเป็นจำเลยก็ได้ ถ้าเด็กไม่มีชีวิตอยู่ ไม่ว่ามารดาของเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลแสดงว่า เด็กนั้นไม่เป็นบุตรก็ได้ ในกรณีที่มารดาของเด็กหรือทายาทของเด็กยังมีชีวิตอยู่ ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องนี้ไปให้ด้วยและถ้าศาลเห็นสมควร จะส่งสำเนาคำร้องไปให้อัยการพิจารณาเพื่อดำเนินคดีแทนเด็กด้วยก็ได้

มาตรา๑๕๔๐ในกรณีดังกล่าวในมาตรา ๑๕๓๙ ถ้าชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีพิสูจน์ได้ว่า เด็กเกิดในเวลาน้อยกว่าร้อยแปดสิบวันภายหลังวันทำการสมรส ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีไม่จำต้องพิสูจน์อย่างอื่นอีกในข้อไม่รับเด็กเป็นบุตร

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่า ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีได้ร่วมประเวณีกับมารดาเด็กในระยะเวลาตั้งครรภ์ตามมาตรา ๑๕๓๙

มาตรา๑๕๔๑ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีจะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา ๑๕๓๙ ไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าตนเป็นผู้แจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่า เป็นบุตรของตน หรือจัดหรือยอมให้มีการแจ้งดังกล่าว

มาตรา๑๕๔๒การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันเด็กเกิด ถ้าฟ้องภายหลังนั้นจะต้องพิสูจน์ว่า ตนเพิ่งรู้ถึงการเกิดของเด็กและยังไม่พ้นสามเดือนนับแต่วันที่ได้รู้ แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลแสดงว่า เด็กมิใช่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา ๑๕๓๗ หรือมาตรา ๑๕๓๘ ถ้าผู้เคยเป็นสามีเดิมซึ่งต้องด้วยบทสันนิษฐานว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนตามมาตรา ๑๕๓๖ ประสงค์จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ให้ฟ้องคดีภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้ว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก

มาตรา๑๕๔๓ในกรณีที่สามีหรือผู้ที่เคยเป็นสามีได้ฟ้องคดีที่ไม่รับเด็กเป็นบุตรแล้วและตายก่อนคดีนั้นถึงที่สุด ผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็กนั้น จะขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่หรืออาจถูกเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่สามีหรือผู้ที่เคยเป็นสามีก็ได้

มาตรา๑๕๔๔การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็กหรือผู้จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก อาจฟ้องได้ในกรณีต่อไปนี้

(๑)สามีหรือผู้ที่เคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่สามีหรือผู้ที่เคยเป็นสามีจะพึงฟ้องได้

(๒)เด็กเกิดภายหลังการตายของสามีหรือผู้ที่เคยเป็นสามี

การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (๑) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่สามีหรือผู้ที่เคยเป็นสามีตาย การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรในกรณี (๒) ต้องฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันที่เด็กเกิด

มาตรา๑๕๔๕เด็กอาจร้องขอให้อัยการยกคดีขึ้นว่า กล่าวปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๓๖ ของชายผู้เป็นสามีของมารดาของตนได้ถ้าตนมิได้เป็นบุตรสืบสาโลหิตของชายผู้เป็นสามีของมารดา และ

(๑)สามีของมารดาถึงแก่ความตายหรือถือว่าถึงแก่ความตายเพราะมีคำสั่งศาลแสดงว่าเป็นคนสาบสูญ และในขณะที่ถึงแก่ความตายหรือถือว่าถึงแก่ความตายนั้น สามีของมารดายังคงมีสิทธิฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ตามมาตรา ๑๕๔๒

(๒)การสมรสระหว่างสามีของมารดากับมารดาได้สิ้นสุดลงด้วยการหย่า ศาลพิพากษาให้เพิกถอนหรือศาลพิพากษาแสดงว่าเป็นโมฆะ

(๓)สามีของมารดากับมารดามิได้อยู่กินฉันสามีภริยาเกินสามปี และไม่เป็นที่คาดหมายได้ว่าจะกลับมาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาอีก แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่สามีของมารดากับมารดาอยู่ต่างหากจากกันตามคำสั่งของศาลตามมาตรา ๑๔๖๒

(๔)มารดาได้ทำการสมรสกับชายผู้ซึ่งเด็กนั้นเป็นผู้สืบสาโลหิต

(๕)สามีของมารดากระทำผิดต่อหน้าที่ในฐานะเป็นบิดาซึ่งเป็นผลเสียหายแก่เด็กถึงขนาดชอบที่เด็กจะปฏิเสธความสัมพันธ์กับสามีของมารดาในฐานะเป็นบุตรกับบิดา

(๖)สามีของมารดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือดำเนินชีวิตโดยไร้เกียรติหรือผิดศีลธรรม ทั้งนี้ ถึงขนาดชอบที่เด็กจะปฏิเสธความสัมพันธ์กับสามีของมารดาในฐานะบุตรกับบิดา หรือ

(๗)สามีของมารดาเป็นโรคร้ายทางกรรมพันธุ์และมีเหตุอันควรเห็นได้ว่า การที่สามีของมารดาเป็นโรคร้ายเช่นนั้นจะเป็นที่เสียหายแก่ตน ถึงขนาดชอบที่เด็กจะปฏิเสธความสัมพันธ์กับสามีของมารดาในฐานะบุตรกับบิดา

การฟ้องคดีปฏิเสธความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในกรณี (๑) (๒) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องฟ้องภายในสองปีนับแต่วันที่เด็กรู้ว่าตนมิได้เป็นบุตรสืบสาโลหิตของชายผู้เป็นสามีของมารดา และได้รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวใน (๑) (๒) (๔) (๕) หรือ (๖) นั้นแล้ว

มาตรา๑๕๔๖เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น

มาตรา๑๕๔๗เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

มาตรา๑๕๔๘บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดา ถ้ามีการคัดค้านเช่นว่านั้น การจดทะเบียนว่าเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าไม่คัดค้านว่า ผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งความนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้ถือว่า เด็กหรือมารดาเด็กไม่ติดใจคัดค้าน ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทย ให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

มาตรา๑๕๔๙เมื่อนายทะเบียนได้แจ้งการขอจดทะเบียนขอรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไปยังเด็กและมารดาเด็กตามมาตรา ๑๕๔๘ แล้ว ไม่ว่าเด็กหรือมารดาเด็กจะคัดค้านการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา ๑๕๔๘ หรือไม่ ภายในกำหนดเวลาไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันแจ้งการขอจดทะเบียนถึงเด็กหรือมารดาเด็ก เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งให้นายทะเบียนจดบันทึกไว้ได้ว่า ผู้ขอจดทะเบียนไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด

เมื่อได้มีคำแจ้งของเด็กหรือมารดาเด็กดังกล่าวในวรรคหนึ่งแล้ว แม้จะได้มีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา ๑๕๔๘ บิดาของเด็กก็ยังใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดตามที่เด็กหรือมารดาเด็กแจ้งว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนั้นไม่ได้ จนกว่าศาลจะพิพากษาให้บิดาของเด็กใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด หรือกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือมารดาเด็กแจ้งต่อนายทะเบียนว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดนั้น ได้ล่วงพ้นไปโดยเด็กหรือมารดาเด็กมิได้ร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด

ในคดีที่ศาลพิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ศาลจะพิพากษาในคดีเดียวกันนั้นให้ผู้ใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือเป็นผู้ปกครองเพื่อการปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

มาตรา๑๕๕๐การคัดค้านว่า ผู้ซึ่งขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรมิใช่เป็นบิดาตามมาตรา ๑๕๔๘ หรือการแจ้งให้นายทะเบียนบันทึกไว้ว่า ผู้ซึ่งขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดตามมาตรา ๑๕๔๙ ถ้าผู้ซึ่งคัดค้านหรือแจ้งให้นายทะเบียนบันทึกเป็นเด็กมีอายุไม่ถึงสิบห้าปี การคัดค้านหรือการแจ้งนั้น จะต้องได้รับความยินยอมของผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก่อน

มาตรา๑๕๕๑ในกรณีที่มีการคัดค้านว่าผู้ซึ่งขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรมิใช่บิดาของเด็ก เมื่อผู้ซึ่งขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรนำคดีไปสู่ศาลขอให้ศาลพิพากษาว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเป็นบิดาของเด็ก เด็กหรือมารดาเด็กจะขอให้ศาลพิพากษาในคดีเดียวกันนั้นก็ได้ว่า ผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแม้จะเป็นบิดาของเด็ก ก็เป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำความในวรรคสามของมาตรา ๑๕๔๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๕๒ในกรณีที่เด็กไม่มีมารดา หรือมีมารดาแต่มารดาถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ก่อนหน้าที่จะมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร และศาลได้ตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ถ้าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่เด็ก ตนสมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ผู้ขอจดทะเบียนจะร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดโดยให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องร้องขอต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนหรือวันที่ศาลได้มีคำสั่งอันถึงที่สุดให้จดทะเบียน

มาตรา๑๕๕๓ในกรณีที่มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไว้ก่อนที่มีการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ถ้าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเห็นว่า เพื่อประโยชน์แก่เด็ก ตนสมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ให้นำมาตรา ๑๕๕๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๕๔ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเพราะเหตุว่าผู้ขอให้จดทะเบียนนั้นมิใช่บิดาก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้การจดทะเบียนนั้น อนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันจดทะเบียน

มาตรา๑๕๕๕การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายให้มีได้แต่ในกรณีต่อไปนี้

(๑)เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(๒)เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(๓)เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของตน

(๔)เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่า เด็กเป็นบุตรโดยบิดาเป็นผู้จดทะเบียนนั้นเอง หรือการจดทะเบียนนั้นได้กระทำด้วยความรู้เห็นยินยอมของบิดา

(๕)เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้

(๖)เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของชายอื่น

(๗)เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตน หรือโดยเหตุประการอื่น

ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย

มาตรา๑๕๕๖การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้

เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ

ในกรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรอยู่ ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย

ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่พ้นสิบปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย

การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่ผู้สืบสันดานของเด็กเป็นผู้เยาว์ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๕๗การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๔๗ มีผล

(๑)นับแต่วันสมรส ในกรณีที่บิดามารดาสมรสกันภายหลัง

(๒)นับแต่วันจดทะเบียน ในกรณีที่บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร

(๓)นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ทั้งนี้ จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรตามคำพิพากษา

มาตรา๑๕๕๘การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก ถ้าศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

ในกรณีที่ได้มีการแบ่งมรดกไปแล้ว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๕๙เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้ว จะถอนมิได้

มาตรา๑๕๖๐บุตรเกิดระหว่างสมรสซึ่งศาลพิพากษาให้เพิกถอนภายหลังนั้น ให้ถือว่า เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย


มาตรา๑๕๖๑บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา

ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา

มาตรา๑๕๖๒ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

มาตรา๑๕๖๓บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา

มาตรา๑๕๖๔บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา๑๕๖๕การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา ๑๕๖๒ แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

มาตรา๑๕๖๖บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา

อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑)บิดาหรือมารดาตาย

(๒)ไม่แน่นอนว่า บิดาหรือมารดามีชีวิตอยู่หรือตาย

(๓)บิดาหรือมารดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๔)บิดาหรือมารดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน

(๕)ศาลสั่งให้อำนาจการปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา

อำนาจปกครองอยู่กับมารดา ในกรณีที่บุตรเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายและยังมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕๔๗

มาตรา๑๕๖๗ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ

(๑)กำหนดที่อยู่ของบุตร

(๒)ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

(๓)ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

(๔)เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา๑๕๖๘เมื่อบุคคลใดมีบุตรติดมาได้สมรสกับบุคคลอื่น อำนาจปกครองที่มีต่อบุตรอยู่กับผู้ที่บุตรนั้นติดมา

มาตรา๑๕๖๙ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร ในกรณีที่บุตรถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี

มาตรา๑๕๗๐คำบอกกล่าวที่ผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา ๑๕๖๖ หรือมาตรา ๑๕๖๘ แจ้งไปหรือรับแจ้งมา ให้ถือว่า เป็นคำบอกกล่าวที่บุตรได้แจ้งไปหรือรับแจ้งมา

มาตรา๑๕๗๑อำนาจปกครองนั้น รวมทั้งการจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วย และให้จัดการทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำ

มาตรา๑๕๗๒ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำหนี้ที่บุตรจะต้องทำเองโดยมิได้รับความยินยอมของบุตรไม่ได้

มาตรา๑๕๗๓ถ้าบุตรมีเงินได้ ให้ใช้เงินนั้นเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาก่อน ส่วนที่เหลือผู้ใช้อำนาจปกครองต้องเก็บรักษาไว้เพื่อส่งมอบแก่บุตร แต่ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองไม่มีเงินได้เพียงพอแก่การครองชีพตามสมควรแก่ฐานะ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะใช้เงินนั้นตามสมควรก็ได้ เว้นแต่จะเป็นเงินได้ที่เกิดจากทรัพย์สินโดยการให้โดยเสน่หาหรือพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขว่ามิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองได้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ๆ

มาตรา๑๕๗๔นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

(๑)ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก จำนอง ปลดจำนองให้แก่ผู้จำนอง หรือโอนสิทธิจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(๒)ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

(๓)จำหน่ายหรือก่อข้อผูกพันที่จะให้จำหน่ายไปซึ่งสิทธิเรียกร้องที่มุ่งจะก่อตั้งหรือโอนไปซึ่งทรัพยสิทธิในที่ดิน หรือที่จะทำให้ที่ดินปลอดจากสิทธิดังกล่าว

(๔)ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปีหรือให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

(๕)ขาย หรือแลกเปลี่ยนสังหาริมทรัพย์ที่มีทะเบียนแสดงกรรมสิทธิ์หรือเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ผู้เยาว์ได้มาโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หาจากบุคคลอื่นนอกจากบิดามารดา

(๖)ให้กู้ยืมเงิน

(๗)นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๔ (๑) (๒) หรือ (๓)

(๘)ประนีประนอมยอมความ

(๙)ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ หรือการสังคมพอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์

(๑๐)ไม่รับมรดกหรือการให้โดยเสน่หาซึ่งไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน

(๑๑)รับหรือไม่รับมรดก หรือการให้โดยเสน่หา ซึ่งมีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน

(๑๒)มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(๑๓)เข้าเป็นผู้ค้ำประกันหรือเป็นผู้รับเรือน หรือเป็นผู้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือนำเอาทรัพย์สินไปเป็นหลักประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้ชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น

มาตรา๑๕๗๕ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครอง ขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้น เป็นโมฆะ

มาตรา๑๕๗๖ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา ๑๕๗๕ ให้หมายความรวมถึงประโยชน์ในกิจการดังต่อไปนี้ด้วย คือ

(๑)ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วน

(๒)ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด

มาตรา๑๕๗๗บุคคลใดจะโอนทรัพย์สินให้ผู้เยาว์โดยพินัยกรรมหรือโดยการให้โดยเสน่หาซึ่งมีเงื่อนไขให้บุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้จัดการจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะก็ได้ ผู้จัดการนั้นต้องเป็นผู้ซึ่งผู้โอนระบุชื่อไว้ หรือถ้ามิได้ระบุไว้ก็ให้ศาลสั่ง แต่การจัดการทรัพย์สินนั้นต้องอยู่ภายในบังคับมาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓

มาตรา๑๕๗๘ในกรณีที่อำนาจปกครองสิ้นไปเพราะผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะผู้ใช้อำนาจปกครองต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการและบัญชีในการนั้นให้ผู้บรรลุนิติภาวะเพื่อรับรอง

ถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินนั้น ก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชีในกรณีที่อำนาจปกครองสิ้นไปเพราะเหตุอื่นนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่งให้มอบทรัพย์สิน บัญชี และเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินให้แก่ผู้ใช้อำนาจปกครอง ถ้ามี หรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี เพื่อรับรอง

มาตรา๑๕๗๙ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายและมีบุตรที่เกิดด้วยกันและคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะสมรสใหม่ ถ้าคู่สมรสนั้นได้ครอบครองทรัพย์สินอันเป็นสัดส่วนของบุตรไว้อย่างถูกต้องแล้ว จะส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุตรในเมื่อสามารถจัดการก็ได้ หรือมิฉะนั้น จะเก็บรักษาไว้เพื่อมอบให้บุตรเมื่อถึงเวลาอันสมควรก็ได้ แต่ถ้าทรัพย์สินใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๕๖ หรือที่มีเอกสารเป็นสำคัญ ให้ลงชื่อบุตรเป็นเจ้าของรวมในเอกสารนั้น ก่อนที่จะจัดการดังกล่าวคู่สมรสนั้นจะทำการสมรสมิได้

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้คู่สมรสดังกล่าวทำการสมรสไปก่อนก็ได้ คำสั่งศาลเช่นว่านี้ ให้ระบุไว้ด้วยว่าให้คู่สมรสปฏิบัติการแบ่งแยกทรัพย์สินและทำบัญชีทรัพย์สินตามความในวรรคหนึ่งภายในกำหนดเวลาเท่าใดภายหลังการสมรสนั้นด้วย

ในกรณีที่การสมรสได้กระทำไปโดยมิได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่คู่สมรสไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลดังกล่าวในวรรคสอง เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ถอนอำนาจปกครองจากคู่สมรสนั้น หรือจะมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำบัญชีและลงชื่อบุตรเป็นเจ้าของรวมในเอกสารดังกล่าวแทนโดยให้คู่สมรสเสียค่าใช้จ่ายก็ได้

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่า บุตรบุญธรรมของคู่สมรสที่ตายไปและที่มีชีวิตอยู่ทั้งสองฝ่ายเป็นบุตรที่เกิดจากคู่สมรส

มาตรา๑๕๘๐เมื่อผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือเมื่อมีผู้ปกครองคนใหม่ ผู้เยาว์ผู้บรรลุนิติภาวะหรือผู้ปกครองคนใหม่จะให้การรับรองการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้ก็ต่อเมื่อได้รับมอบทรัพย์สิน บัญชี และเอกสารตามมาตรา ๑๕๗๘ แล้ว

มาตรา๑๕๘๑คดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างผู้เยาว์กับผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อำนาจปกครองสิ้นไป

ถ้าอำนาจปกครองสิ้นไปขณะบุตรยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ให้เริ่มนับอายุความในวรรคหนึ่งตั้งแต่เวลาที่ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ หรือเมื่อมีผู้แทนโดยชอบธรรมขึ้นใหม่

มาตรา๑๕๘๒ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

มาตรา๑๕๘๓ผู้ถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดนั้น ถ้าเหตุดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนสิ้นไปแล้ว และเมื่อตนเองหรือญาติของผู้เยาว์ร้องขอ ศาลจะสั่งให้มีอำนาจปกครองดังเดิมก็ได้

มาตรา๑๕๘๔การที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ไม่เป็นเหตุให้ผู้นั้นพ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย


มาตรา๑๕๘๕บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้

ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจตามมาตรา ๑๕๘๒ จะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินเป็นพิเศษก็ได้

มาตรา๑๕๘๖ผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๘๕ จะตั้งโดยพินัยกรรมของบิดาหรือมารดาซึ่งตายทีหลังก็ได้ หรือเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอ ศาลจะตั้งก็ได้

มาตรา๑๕๘๗บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วอาจถูกตั้งเป็นผู้ปกครองได้ เว้นแต่

(๑)ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๒)ผู้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย

(๓)ผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์

(๔)ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ ผู้บุพการีหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดากับผู้เยาว์

(๕)ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง

มาตรา๑๕๘๘ถ้าหากต่อมา ผู้ซึ่งมีส่วนได้เสียหรืออัยการพิสูจน์ได้ว่า บุคคลที่ศาลตั้งหรือที่บิดามารดาตั้งโดยพินัยกรรมเป็นผู้ต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๘๗ ให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งตั้งบุคคลดังกล่าวนั้นเสีย และมีคำสั่งเกี่ยวกับผู้ปกครองต่อไปตามที่เห็นสมควร

การเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ปกครอง ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต เว้นแต่ในกรณีการเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ปกครองที่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๘๗ (๑) การกระทำของผู้ปกครองไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์ ไม่ว่าบุคคลภายนอกจะได้กระทำการโดยสุจริตหรือไม่

มาตรา๑๕๘๙บุคคลใด จะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ก็ตาม ถ้ายังมิได้สมรสและศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถแล้ว ให้บิดาและมารดาเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ถ้ามีบิดาหรือมารดา ให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น

ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ปกครอง บิดา หรือมารดาเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ให้คำสั่งนั้นมีผลเป็นการถอนผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองที่เป็นอยู่ในขณะนั้นด้วย

มาตรา๑๕๙๐ผู้ปกครองมีได้คราวหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ในกรณีที่มีเหตุผลสมควร ศาลจะตั้งผู้ปกครองหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจให้ไว้เฉพาะคนหนึ่ง ๆ ก็ได้

มาตรา๑๕๙๑ความเป็นผู้ปกครองนั้นเริ่มแต่วันทราบคำบอกกล่าวการตั้ง

มาตรา๑๕๙๒ให้ผู้ปกครองรีบทำบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองให้เสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันทราบการตั้ง แต่ผู้ปกครองจะร้องต่อศาลก่อนสิ้นกำหนดขอให้ยืดเวลาก็ได้

บัญชีนั้นต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งต้องเป็นญาติของผู้อยู่ในปกครอง ถ้าหาญาติไม่ได้จะให้ผู้อื่นเป็นพยานก็ได้

มาตรา๑๕๙๓ให้ผู้ปกครองยื่นสำเนาบัญชีทรัพย์สินที่ตนรับรองว่าถูกต้องต่อศาลฉบับหนึ่งภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้ทำบัญชีทรัพย์สินแล้ว และศาลจะสั่งให้ผู้ปกครองชี้แจงเพิ่มเติมหรือให้นำเอกสารมาประกอบเพื่อแสดงให้เห็นว่าบัญชีนั้นถูกต้องแล้วก็ได้

เมื่อศาลเห็นว่า บัญชีถูกต้องแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ ถ้าศาลมิได้แจ้งให้ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันยื่นบัญชีหรือวันชี้แจงเพิ่มเติมหรือวันนำเอกสารยื่นประกอบ แล้วแต่กรณี ให้ถือว่า บัญชีนั้นถูกต้องแล้ว

มาตรา๑๕๙๔ถ้าผู้ปกครองไม่ปฏิบัติเกี่ยวแก่การทำบัญชีทรัพย์สินหรือการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๒ หรือมาตรา ๑๕๙๓ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลซึ่งสั่งตามมาตรา ๑๕๙๓ หรือศาลไม่พอใจในบัญชีทรัพย์สินเพราะทำขึ้นด้วยความเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่สุจริต หรือเห็นได้ชัดว่า ผู้ปกครองหย่อนความสามารถ ศาลจะสั่งถอนผู้ปกครองนั้นเสียก็ได้

มาตรา๑๕๙๕ก่อนที่ศาลยอมรับบัญชีนั้น ห้ามมิให้ผู้ปกครองทำกิจการใดเว้นแต่เป็นการเร่งร้อนและจำเป็น แต่จะยกข้อห้ามดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้

มาตรา๑๕๙๖ถ้ามีหนี้เป็นคุณแก่ผู้ปกครองแต่เป็นโทษต่อผู้อยู่ในปกครองหรือเป็นคุณแก่ผู้อยู่ในปกครองแต่เป็นโทษต่อผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองแจ้งข้อความเหล่านั้นต่อศาลก่อนลงมือทำบัญชีทรัพย์สิน

ถ้าผู้ปกครองรู้ว่า มีหนี้เป็นคุณแก่ตนแต่เป็นโทษต่อผู้อยู่ในปกครอง และมิได้แจ้งข้อความนั้นต่อศาล หนี้ของผู้ปกครองนั้นย่อมสูญไป

ถ้าผู้ปกครองรู้ว่า มีหนี้เป็นโทษต่อตน แต่เป็นคุณแก่ผู้อยู่ในปกครอง และมิได้แจ้งข้อความนั้นต่อศาล ศาลจะสั่งถอนผู้ปกครองก็ได้

มาตรา๑๕๙๗เมื่อศาลเห็นสมควรโดยลำพัง หรือเมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ผู้ปกครอง

(๑)หาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครอง ตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น

(๒)แถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครอง

มาตรา๑๕๙๘ในระหว่างปกครอง ถ้าผู้อยู่ในปกครองได้ทรัพย์สินอันมีค่ามาโดยทางมรดกหรือการให้โดยเสน่หา ให้นำมาตรา ๑๕๙๒ ถึงมาตรา ๑๕๙๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๙๘/๑ให้ผู้ปกครองทำบัญชีทรัพย์สินส่งต่อศาลปีละครั้งนับแต่วันเป็นผู้ปกครอง แต่เมื่อศาลได้รับบัญชีปีแรกแล้วจะสั่งให้ส่งบัญชีเช่นว่านั้นในระยะเวลาเกินหนึ่งปีก็ได้

มาตรา๑๕๙๘/๒ผู้ปกครองมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา ๑๕๖๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๕๖๗

มาตรา๑๕๙๘/๓ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง ให้นำมาตรา ๑๕๗๐ มาตรา ๑๕๗๑ มาตรา ๑๕๗๒ มาตรา ๑๕๗๔ มาตรา ๑๕๗๕ มาตรา ๑๕๗๖ และมาตรา ๑๕๗๗ มาใช้บังคับแก่ผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครองโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๙๘/๔เงินได้ของผู้อยู่ในปกครองนั้น ผู้ปกครองย่อมใช้ได้ตามสมควรเพื่อการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของผู้อยู่ในปกครอง ถ้ามีเหลือให้ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะในเรื่องต่อไปนี้

(๑)ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือพันธบัตรที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน

(๒)รับขายฝากหรือรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรก แต่จำนวนเงินที่รับขายฝากหรือรับจำนองต้องไม่เกินกึ่งราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น

(๓)ฝากประจำในธนาคารที่ได้ตั้งขึ้นโดยกฎหมายหรือที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในราชอาณาจักร

(๔)ลงทุนอย่างอื่นซึ่งศาลอนุญาตเป็นพิเศษ

มาตรา๑๕๙๘/๕ถ้าผู้อยู่ในปกครองรู้จักผิดชอบและมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์เมื่อผู้ปกครองจะทำกิจการใดที่สำคัญ ให้ปรึกษาหารือผู้อยู่ในปกครองก่อนเท่าที่จะทำได้

การที่ผู้อยู่ในปกครองได้ยินยอมด้วยนั้นหาคุ้มผู้ปกครองให้พ้นจากความรับผิดไม่

มาตรา๑๕๙๘/๖ความปกครองสิ้นสุดลงเมื่อผู้อยู่ในปกครองตาย บรรลุนิติภาวะ หรือตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘๙

มาตรา๑๕๙๘/๗ความเป็นผู้ปกครองสิ้นสุดลงเมื่อผู้ในปกครองตาย เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ลาออกหรือถูกถอนโดยคำสั่งของศาล

การลาออกจากความเป็นผู้ปกครองจะกระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล

มาตรา๑๕๙๘/๘ถ้าผู้ปกครองละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ก็ดี เลินเล่ออย่างร้ายแรงในหน้าที่ก็ดี ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดก็ดี ประพฤติมิชอบให้เห็นว่าไม่สมควรแก่หน้าที่อันต้องไว้ใจก็ดี เป็นบุคคลล้มละลายก็ดี หรือมีกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘๘ ก็ดี ให้ศาลสั่งถอนผู้ปกครองเสีย

ถ้าผู้ปกครองหย่อนความสามารถในหน้าที่ ถึงแม้ว่าจะมิถึงกระทำผิดหน้าที่ เมื่อประโยชน์ของผู้อยู่ในปกครองน่าจะเป็นอันตราย ศาลจะสั่งให้ถอนผู้ปกครองเสียก็ได้

มาตรา๑๕๙๘/๙การร้องขอให้ถอนผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๙๘/๘ นั้น ผู้อยู่ในปกครองซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์ หรือญาติของผู้อยู่ในปกครองหรืออัยการจะเป็นผู้ร้องขอก็ได้

มาตรา๑๕๙๘/๑๐ในระหว่างพิจารณาคำร้องขอให้ถอนผู้ปกครอง ศาลจะตั้งผู้จัดการชั่วคราวให้จัดการทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองแทนผู้ปกครองก็ได้

มาตรา๑๕๙๘/๑๑ถ้าความปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองสิ้นสุดลง ให้ผู้ปกครองหรือทายาทรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการแก่ผู้อยู่ในปกครอง หรือทายาทหรือผู้ปกครองคนใหม่ และให้ทำบัญชีในการจัดการทรัพย์สินส่งมอบภายในเวลาหกเดือน และถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินนั้นก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี แต่เมื่อผู้ปกครองหรือทายาทร้องขอ ศาลจะสั่งให้ยืดเวลาก็ได้

ให้นำมาตรา ๑๕๘๐ และมาตรา ๑๕๘๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๙๘/๑๒นับแต่วันส่งมอบบัญชี ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินซึ่งผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองจะต้องคืนให้แก่กัน

ถ้าผู้ปกครองใช้เงินของผู้อยู่ในปกครองนอกจากเพื่อประโยชน์ของผู้อยู่ในปกครองแล้ว ให้เสียดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีในจำนวนเงินนั้นตั้งแต่วันใช้เป็นต้นไป

มาตรา๑๕๙๘/๑๓ผู้อยู่ในปกครองมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ปกครองเพื่อชำระหนี้ซึ่งค้างอยู่แก่ตนบุริมสิทธิ์นี้ให้อยู่ในลำดับที่หกถัดจากบุริมสิทธิสามัญอย่างอื่นตามมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา๑๕๙๘/๑๔ผู้ปกครองไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

(๑)มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมให้ผู้ปกครองได้รับบำเหน็จ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ปกครองได้รับบำเหน็จเท่าที่กำหนดในพินัยกรรม

(๒)ในกรณีที่พินัยกรรมไม่ได้กำหนดบำเหน็จไว้ แต่ไม่มีข้อกำหนดห้ามผู้ปกครองรับบำเหน็จ ผู้ปกครองจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้ ศาลจะกำหนดให้หรือไม่เพียงใดก็ได้

(๓)ในกรณีที่ไม่มีคำสั่งตั้งผู้ปกครองไว้ในพินัยกรรม และไม่มีข้อกำหนดห้ามผู้ปกครองรับบำเหน็จ ศาลจะกำหนดบำเหน็จให้แก่ผู้ปกครองในคำสั่งตั้งผู้ปกครองก็ได้ หรือถ้าศาลมิได้กำหนด ผู้ปกครองจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้ ศาลจะกำหนดให้หรือไม่เพียงใดก็ได้

ในการพิจารณากำหนดบำเหน็จ ให้ศาลพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ รายได้ และฐานะความเป็นอยู่ของผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครอง

ถ้าผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองแสดงได้ว่า พฤติการณ์รายได้หรือฐานะความเป็นอยู่ของผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองได้เปลี่ยนแปลงไปภายหลังที่ได้เข้ารับหน้าที่ผู้ปกครอง ศาลจะสั่งให้บำเหน็จ งด ลด เพิ่ม หรือกลับให้บำเหน็จแก่ผู้ปกครองอีกก็ได้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่มีข้อกำหนดห้ามไว้ในพินัยกรรมมิให้ผู้ปกครองได้รับบำเหน็จด้วย

มาตรา๑๕๙๘/๑๕ภายใต้บังคับมาตรา ๑๕๙๘/๑๖ ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถ และภริยาหรือสามีเป็นผู้อนุบาล ให้ภริยาหรือสามีซึ่งเป็นผู้อนุบาลมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใช้อำนาจปกครอง

มาตรา๑๕๙๘/๑๖ในกรณีดังต่อไปนี้ คู่สมรสซึ่งเป็นผู้อนุบาลของคู่สมรสที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล

(๑)จำหน่าย จำนำ จำนองซึ่งสินส่วนตัว หรือสินสมรสของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

(๒)ให้โดยเสน่หาซึ่งสินส่วนตัวหรือสินสมรสของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่เป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางสมาคม

(๓)ให้เช่าสินส่วนตัวหรือสินสมรสของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเกิน ๓ ปี

(๔)ก่อให้เกิดหรือระงับซึ่งทรัพยสิทธิแก่สินส่วนตัวหรือสินสมรสของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา๑๕๙๘/๑๗ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถ และศาลเห็นไม่สมควรให้คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล และตั้งบิดาหรือมารดาหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้อนุบาล ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้อนุบาลเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่ถ้ามีเหตุสำคัญอันจะเกิดความเสียหายแก่คนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกรณีดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งแยกสินสมรสได้

มาตรา๑๕๙๘/๑๘ในกรณีที่บิดามารดาเป็นผู้อนุบาลบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ในกรณีที่บิดามารดาเป็นผู้อนุบาลบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือในกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือคู่สมรสเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา๑๕๙๘/๑๙บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี

มาตรา๑๕๙๘/๒๐การรับบุตรบุญธรรม ถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ผู้นั้นต้องให้ความยินยอมด้วย

มาตรา๑๕๙๘/๒๑การรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของบิดาหรือมารดาผู้มีอำนาจปกครองที่ยังมีชีวิตอยู่

ถ้าไม่มีบุคคลผู้ให้ความยินยอมดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่ไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมนั้นเป็นไปโดยไร้เหตุผลและเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อสุขภาพความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรมก็ได้

มาตรา๑๕๙๘/๒๒ในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานพยาบาลหรือสถาบันซึ่งทางราชการหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองในการจัดตั้งขึ้นเพื่อรับเลี้ยงดูเด็กหรืออยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลใดมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การรับบุตรบุญธรรมให้กระทำได้โดยได้รับความยินยอมของผู้รับผิดชอบในกิจการสถานพยาบาลหรือสถาบัน หรือของบุคคลดังกล่าว และมิให้นำมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ มาใช้บังคับ

ในกรณีที่มีการปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมโดยไร้เหตุผลและการปฏิเสธนั้นเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ อัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรมก็ได้

มาตรา๑๕๙๘/๒๓บทบัญญัติมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เยาว์มิได้ถูกทอดทิ้งแต่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานพยาบาลหรือสถาบันตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ และบิดามารดาของผู้เยาว์นั้นในกรณีที่มีทั้งบิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดาของผู้เยาว์นั้น ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครอง ได้ทำหนังสือมอบให้ไว้แก่สถานพยาบาลหรือสถาบันดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับผู้เยาว์นั้นเป็นบุตรบุญธรรมด้วย

หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวในวรรคหนึ่งจะถอนเสียมิได้ตราบเท่าที่ผู้เยาว์นั้นยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานพยาบาลหรือสถาบันที่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์นั้น

มาตรา๑๕๙๘/๒๔บุคคลผู้อาจให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ จะรับผู้เยาว์ที่ถูกทอดทิ้งตามมาตรานั้นเป็นบุตรบุญธรรมของตนก็ได้ ในเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของบุคคลดังกล่าว

มาตรา๑๕๙๘/๒๕ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสนั้นก่อน เว้นแต่คู่สมรสนั้นไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครได้รับข่าวคราวประการใดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

มาตรา๑๕๙๘/๒๖ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

มาตรา๑๕๙๘/๒๗การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย

มาตรา๑๕๙๘/๒๘บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๒ หมวด ๒ แห่งบรรพนี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๙๘/๒๙การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการรับบุตรบุญธรรมนั้น

มาตรา๑๕๙๘/๓๐ถ้าบุตรบุญธรรมซึ่งไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดานตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ตนได้ให้แก่บุตรบุญธรรมคืนจากกองมรดกของบุตรบุญธรรมเพียงเท่าที่ทรัพย์สินนั้นยังคงเหลืออยู่ภายหลังที่ชำระหนี้ของกองมรดกเสร็จสิ้นแล้ว

ห้ามมิให้ฟ้องคดีเรียกร้องสิทธิตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของบุตรบุญธรรมหรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปี นับแต่วันที่บุตรบุญธรรมตาย

มาตรา๑๕๙๘/๓๑การเลิกรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้วจะเลิกโดยความตกลงกันในระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมเมื่อใดก็ได้

ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาและให้นำมาตรา ๑๕๙๘/๒๐ และมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมโดยคำสั่งศาลตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ วรรคสอง หรือในกรณีที่ได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมโดยได้รับความยินยอมของผู้รับผิดชอบในกิจการสถานพยาบาลหรือสถาบันหรือของผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ วรรคหนึ่งถ้าผู้เยาว์นั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมให้กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาล โดยคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ

การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย

มาตรา๑๕๙๘/๓๒การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิก เมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๑

มาตรา๑๕๙๘/๓๓คดีฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมนั้นเมื่อ

(๑)ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้าย เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้

(๒)ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอันเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้

(๓)ฝ่ายหนึ่งกระทำการประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อกายหรือจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างร้ายแรงและการกระทำนั้นเป็นความผิดมีโทษอาญาอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้

(๔)ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้

(๕)ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้

(๖)ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินสามปี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๗)ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดา และการกระทำนั้นเป็นการละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๖๔ มาตรา ๑๕๗๑ มาตรา ๑๕๗๓ มาตรา ๑๕๗๔ หรือมาตรา ๑๕๗๕ เป็นเหตุให้เกิดหรืออาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

(๘)ผู้รับบุตรบุญธรรมถูกถอนอำนาจปกครองและเหตุที่ถูกถอนอำนาจปกครองนั้นมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ไม่สมควรเป็นบิดามารดาบุตรบุญธรรมต่อไป บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

(๙)บิดาได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรภายหลังการรับบุตรบุญธรรม และบิดาได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรบางส่วนหรือทั้งหมด ผู้รับบุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

มาตรา๑๕๙๘/๓๔ห้ามมิให้ฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เลิกการนั้นหรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้น

มาตรา๑๕๙๘/๓๕บุตรบุญธรรมซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบห้าปีจะฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมมิได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมของผู้ที่มีสิทธิให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรม แต่กรณีจะเป็นอย่างใดก็ตาม อัยการจะฟ้องคดีแทนบุตรบุญธรรมก็ได้

มาตรา๑๕๙๘/๓๖การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาล ย่อมมีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่ได้จดทะเบียนแล้ว

มาตรา๑๕๙๘/๓๗เมื่อการรับบุตรบุญธรรมเลิกแล้ว บุตรบุญธรรมย่อมคืนสู่ฐานะอย่างสมบูรณ์ในครอบครัวเดิมของตน แต่ไม่เป็นเหตุเสื่อมสิทธิที่บุคคลภายนอกได้ไว้โดยสุจริตก่อนการจดทะเบียน


มาตรา๑๕๙๘/๓๘ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี

มาตรา๑๕๙๘/๓๙เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้

ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียงอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้

มาตรา๑๕๙๘/๔๐ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยวิธีชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น ถ้าไม่มีการตกลงกันและมีเหตุพิเศษ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอและศาลเห็นสมควร จะกำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น โดยจะให้ชำระเป็นเงินด้วยหรือไม่ก็ได้

ในกรณีขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อมีเหตุพิเศษและศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แก่บุตร จะกำหนดให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการใด ๆ นอกจากที่คู่กรณีตกลงกัน หรือนอกจากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอก็ได้ เช่นให้ไปอยู่ในสถานการศึกษาหรือวิชาชีพ โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายในการนี้

มาตรา๑๕๙๘/๔๑สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะสละหรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ปราโมช
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๘ วรรคสอง บัญญัติว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จำต้องแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น