พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

จาก วิกิซอร์ซ
สารบัญ
พระราชบัญญัติ
คำปรารภ
มาตรา
  1. นามพระราชบัญญัติ
  2. วันเริ่มใช้บังคับพระราชบัญญัติ
  3. วันเริ่มใช้บังคับประมวลกฎหมาย
  4. การยกเลิกกฎหมายเดิม
  5. การฝึกอบรมของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
  6. ตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.
  7. การอ้างถึงกฎหมายเดิม
  8. อนุบัญญัติตามกฎหมายเดิม
  9. การห้ามใช้บังคับระหว่างที่ยังไม่มีอนุบัญญัติใหม่
  10. การดำเนินการระหว่างที่ยังไม่มีอนุบัญญัติใหม่
  11. สถานะของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเดิม
  12. การตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายเดิม
  13. คำขอตามกฎหมายเดิม
  14. เอกสารที่ออกให้ตามกฎหมายเดิม
  15. กิจการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเดิม
  16. องค์ประกอบของคณะกรรมการในวาระเริ่มแรก
  17. การจัดการกับกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
  18. ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์และฟื้นฟูสมรรถภาพ
  19. งานตรวจพิสูจน์และฟื้นฟูสมรรถภาพที่ยังค้างอยู่
  20. การบังคับคดีที่ยังค้างอยู่
  21. การใช้บังคับต่อไปของบทสันนิษฐาน
  22. สถานะของศูนย์คัดกรองและศูนย์ฟื้นฟู
  23. กัญชา
  24. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
หมายเหตุ

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๖๔

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔
เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อันจะเป็นประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม รวมถึงเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรม ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และป้องกันการสนับสนุนการกระทำความผิดขององค์กรดังกล่าวในด้านต่าง ๆ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔”

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา  ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป

มาตรา  เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ได้ใช้บังคับแล้ว ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙

(๒) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔

(๓) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓

(๔) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๕

(๕) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒

(๖) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘

(๗) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐

(๘) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓

(๙) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕

(๑๐) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๐

(๑๑) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒

(๑๒) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๖๔

(๑๓) พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓

(๑๔) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ พ.ศ. ๒๕๔๒

(๑๕) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓

(๑๖) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

(๑๗) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔

(๑๘) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓

(๑๙) พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕

(๒๐) พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙

(๒๑) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

(๒๒) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

(๒๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๖/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗

(๒๔) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๖๑ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

มาตรา  ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ รวมถึงการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ตามหลักสูตรการฝึกอบรมที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

มาตรา  ให้ข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแต่งตั้ง เป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือจากคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย และผ่านการฝึกอบรมตามมาตรา ๕ เป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และในการกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้คำนึงถึงภาระหน้าที่ คุณภาพของงาน และการดำรงตนอยู่ในความยุติธรรม โดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมด้วย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

มาตรา  เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ ให้ถือว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างถึงบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน

มาตรา  บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ หรือประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔ ใช้บังคับ

มาตรา  ในกรณีที่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้การลงโทษผู้กระทำผิด หรือการขออนุญาต หรือการอนุญาต หรือการปฏิบัติตามบทบัญญัตินั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ ห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติดังกล่าวจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศนั้นแล้ว

มาตรา ๑๐ ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

(๑) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาต หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง นำผ่าน หรือโฆษณาซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ การผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างของตำรับวัตถุออกฤทธิ์ และการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ โดยนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง นำผ่าน หรือโฆษณาซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ผลิต หรือนำเข้าตัวอย่างของตำรับวัตถุออกฤทธิ์ และการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

(๒) ให้ผู้ได้รับการยกเว้นให้ดำเนินการผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย จำหน่าย หรือมีไว้ ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๓๒ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

(๓) การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต คุณสมบัติและหน้าที่ของผู้รับอนุญาต และ หน้าที่ของเภสัชกร ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙

มาตรา ๑๑ ให้เจ้าพนักงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชกำหนดป้องกันการใช้ สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ แล้วแต่กรณี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๒ บรรดาคดีที่ได้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงาน อัยการ และศาล ดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

มาตรา ๑๓ คำขอใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่า เป็นคำขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ด้วยโดยอนุโลม และถ้าคำขอดังกล่าวมีข้อความหรือเอกสารประกอบคำขอแตกต่างไปจากคำขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขอเพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ได้

มาตรา ๑๔ บรรดาใบอนุญาต ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ หนังสือสำคัญ ใบแจ้งการนำเข้า ใบแจ้งการส่งออก ใบแทนใบอนุญาต ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ และใบแทนหนังสือสำคัญที่ออกให้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ

มาตรา ๑๕ ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ และถ้าประสงค์จะดำเนินกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ก่อนใบอนุญาตเดิมจะสิ้นอายุ

มาตรา ๑๖ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา ๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๑๐๙ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ และคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๗ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง เงินงบประมาณ และรายได้ของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปเป็นของกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๘ ผู้ต้องหาซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ อยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการประจำเขตพื้นที่ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีหน้าที่และอำนาจปฏิบัติงานที่ค้างอยู่ต่อไปจนเสร็จสิ้น

ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการหรืออนุกรรมการตามวรรคหนึ่งว่างลง และมีกรรมการหรืออนุกรรมการที่เหลืออยู่ไม่ครบองค์ประกอบหรือไม่พอที่จะเป็นองค์ประชุม ให้กรรมการหรืออนุกรรมการที่เหลืออยู่ดำเนินการต่อไปได้

ให้สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัว และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีหน้าที่และอำนาจและดำเนินการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ จนกว่าจะดำเนินการตรวจพิสูจน์หรือฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเสร็จสิ้น

มาตรา ๒๐ คดีที่ได้มีการออกหมายบังคับคดีแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ ต่อไปจนเสร็จสิ้น

มาตรา ๒๑ ให้บทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานว่า เป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และเพื่อขายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัตินี้ ยังคงมีผลใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แล้วแต่กรณี จนกว่าคดีถึงที่สุด

คดีซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นอยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงขอสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อขายหรือไม่ แล้วแต่กรณี ก็ให้ศาลสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๒๒ ให้ศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูและศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นศูนย์คัดกรองและศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการจัดตั้งศูนย์คัดกรองหรือศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๓ ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การอนุญาตนำเข้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๓๕ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้นำเข้าได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษา วิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย

(๒) ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นกัญชาติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว

(๓) ผู้ขออนุญาตซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาตามมาตรา ๓๕ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๔ ให้ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของตน

ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของตน

ข้อบังคับ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด รวมถึงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ได้กระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ และการดำเนินการตามกฎหมายแต่ละฉบับเป็นหน้าที่และอำนาจของหลายองค์กร ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความสอดคล้องกัน อีกทั้งบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรรวบรวมกฎหมายดังกล่าวจัดทำเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงและใช้กฎหมายที่จะรวมอยู่ในฉบับเดียวกันอย่างเป็นระบบ พร้อมกันนี้ ได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ จำเป็นต้องกำหนดให้มีระบบอนุญาตเพื่อให้การควบคุมและการใช้ประโยชน์ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรม มีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นการป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติดและการใช้ยาเสพติดในทางที่ไม่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การเสพติดยาเสพติดซึ่งเป็นการบั่นทอนสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพร่กระจายยาเสพติดเข้าสู่กลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งกำหนดให้มีระบบคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคลากรซึ่งมีความหลากหลายจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณากำหนดนโยบายในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด และรวมถึงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"