พระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙
พระราชบัญญัติ
นิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ[1]
พ.ศ. ๒๔๙๙
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐
เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ได้กระทำความผิดฐานกบฏจลาจล และผู้ที่ได้กระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการกระทำการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกบฏหรือจลาจล ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้เจริญยั่งยืนมาครบ ๒๕ ศตวรรษ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙"
มาตรา ๒* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นไป
มาตรา ๓ บรรดาการกระทำของบุคคลใด ๆ ก่อนวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙ หากเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาฐานกบฏภายในราชอาณาจักร ฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร ฐานก่อการจลาจล หรือตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าวแล้ว ก็ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้กระทำความผิดฐานกบฏ ฐานก่อการจลาจล หรือความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ตัวมาเพื่อดำเนินคดีก่อนวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙
มาตรา ๔ บรรดาการกระทำของบุคคลใด ๆ ก่อนวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ อันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกบฏ การก่อการจลาจล หรือการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าว หรือการพยายาม หรือการตระเตรียมกระทำการดังกล่าว หากเป็นความผิดตามกฎหมายใด ๆ ก็ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง
มาตรา ๕ ความผิดตามกฎหมายใดจะถือว่าเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดฐานกบฏภายในราชอาณาจักร ฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร หรือฐานก่อการจลาจลตามมาตรา ๓ หรือมาตรา ๔ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
มาตรา ๖ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หนึ่งนาย อัยการแห่งท้องที่หนึ่งนาย เป็นคณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับนิรโทษกรรมซึ่งถูกศาลพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดแล้วและยังมิได้พ้นโทษไป หรือคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล และส่งรายชื่อต่อศาลหรืออัยการแห่งท้องที่ เพื่อศาลหรืออัยการแห่งท้องที่นั้นออกหมายสั่งปล่อยหรือถอนฟ้อง แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ให้ปล่อยตัวไปตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป
ในกรณีที่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมถูกลงโทษหรือถูกฟ้องความผิดฐานอื่นซึ่งไม่ได้รับนิรโทษกรรมรวมอยู่ในคดีเดียวกันกับความผิดที่ได้รับนิรโทษกรรมด้วย ให้ศาลหรืออัยการออกหมายสั่งปล่อยหรือถอนฟ้องเฉพาะความผิดที่ได้รับนิรโทษกรรม แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่อัยการขอถอนฟ้องตามความในมาตรานี้ ให้ศาลสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ถ้าการตั้งกรรมการบางนายดังกล่าวในวรรคแรกจะไม่สะดวกในการปฏิบัติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตามที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนได้
มาตรา ๗ ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษ โดยศาลทหาร หรือผู้ถูกฟ้องในศาลทหาร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับนิรโทษกรรมซึ่งถูกศาลทหารพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดแล้ว และยังมิได้พ้นโทษไป หรือคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลทหารและส่งรายชื่อต่อศาลทหาร หรืออัยการทหารเจ้าหน้าที่ เพื่อศาลทหาร หรืออัยการทหารเจ้าหน้าที่สั่งปล่อยหรือถอนฟ้อง แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ให้ปล่อยตัวไปตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไปให้นำความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา ๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๘ ผู้ซึ่งจะได้รับนิรโทษกรรมผู้ใดยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการสอบสวนฟ้องร้องผู้นั้นตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ในกรณีที่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมต้องหาว่ากระทำความผิดฐานอื่นซึ่งไม่ได้รับนิรโทษกรรมรวมอยู่ในคดีเดียวกันกับความผิดที่ได้รับนิรโทษกรรมด้วย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการสอบสวนฟ้องร้องเฉพาะความผิดที่ได้รับนิรโทษกรรม
มาตรา ๙ บุคคลผู้ได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ใดถูกเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน หรือถูกถอดจากยศหรือบรรดาศักดิ์ เนื่องจากการกระทำความผิดอันได้รับนิรโทษกรรมนั้น ถ้าประสงค์จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยศหรือบรรดาศักดิ์คืนตามที่ได้รับอยู่เดิม ก็ให้ผู้นั้นแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการขอพระราชทานคืนให้ต่อไป
มาตรา ๑๐ บุคคลที่ได้ระบุไว้ในมาตรา ๙ ถ้าเป็นบุคคลที่เคยได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญมาแล้ว ก็ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามเดิมถ้าบุคคลดังกล่าวเคยเป็นข้าราชการมาก่อน และยังไม่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญ ก็ให้ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญเพราะเหตุทดแทนตาม กฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญที่ใช้อยู่ในขณะที่ออกจากราชการนั้น
การให้เบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ผูกพัน รัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มหรือให้สิทธิใด ๆ เท่าเทียมกับข้าราชการที่ออกจากราชการโดยมิได้กระทำผิดหรือถูกลงโทษในการพิจารณาจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญ ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของกระทรวงการคลังเป็นเด็ดขาด
มาตรา ๑๑ สิทธิในการรับเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามมาตรา ๑๐ ให้เกิดตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้เบิกจ่ายย้อนนับแต่วันที่กล่าวแล้วนี้ได้ แต่ต้องยื่นคำร้องขอรับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๒ ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
+---------------------------------------------------------------------------------------------+
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ ๒๕ ศตวรรษ ทางราชการจะได้บำเพ็ญกุศล เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ การให้อภัยทานถือว่าเป็นกุศลอย่างหนึ่ง นอกจากรัฐบาลจะได้ดำเนินการเพื่อให้มีการอภัยโทษแก่นักโทษทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเป็นการให้อภัยทานในโอกาสนี้แล้ว รัฐบาลเห็นว่าความผิดฐานกบฏจลาจลนั้น เป็นความผิดที่มุ่งร้ายต่อรัฐบาลหรือเกี่ยวกับการปกครองของรัฐบาล จึงน่าจะให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการระงับเวรด้วยการไม่จองเวรตามพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยให้นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏ หรือจลาจลเฉพาะผู้ที่ได้ตัวมาดำเนินคดี หรือผู้กระทำผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการกระทำการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามกบฏ หรือจลาจล หรือการพยายามหรือการตระเตรียมกระทำการดังกล่าว และให้ได้รับสิทธิบางประการที่สูญเสียไป เพื่อให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้ระลึกถึงพระรัตนตรัย และปฏิบัติตนอยู่ในหลักพระธรรมซึ่งจะเป็นผลดีแก่ตนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม ในการนี้จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙ ขึ้นใช้บังคับต่อไป
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ รก. ๒๕๐๐/๑๑/๒๘๓/๒๙ มกราคม ๒๕๐๐
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"