พระราชบัญญัติ ใช้ตราแผ่นดิน ร.ศ. ๑๐๘

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติ

ใช้ตราแผ่นดิน

ร.ศ. ๑๐๘

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งว่า ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินมีอยู่หลายชนิด แต่ที่คงใช้อยู่นั้น คือพระราชลัญจกรไอยราพตและพระครุฑพ่าห์ และมีพระราชลัญจกรพิเศษเป็นที่หมายสำหรับพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้เป็นรูปจักร รูปตรี และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ซึ่งผลัดเปลี่ยนทุกรัชกาลมีปรากฏที่ใช้ในเงินพดด้วงบาท คือ มีรูปจักรดวงหนึ่ง ตราประจำรัชกาลอีกดวงหนึ่ง ตราประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นรูปประทุมอุณาโลม รัชกาลที่ ๒ เป็นรูปครุฑ รัชกาลที่ ๓ เป็นรูปปราสาท รัชกาลที่ ๔ เป็นรูปมงกุฎ แต่ตรารูปจักรนั้น หาได้เปลี่ยนตามรัชกาลไม่ คงใช้ในเงินตราเสมอมา ด้วยเป็นพระราชลัญจกร สำหรับพระบรมราชวงศ์ซึ่งปกครองรัฐสีมามณฑลอยู่ และเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงกษาปณ์สิทธิการขึ้นทำเงินเหรียญบาทแทนเงินพดด้วง พระราชลัญจกรที่หมายใช้ในเงินเหรียญนั้น หน้าหนึ่งก็ยังมีรูปจักรอยู่เหมือนกัน เติมขึ้นแต่รูปช้างเผือกที่ตรงกลาง อีกหน้าหนึ่งเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีเครื่องสูงสองข้าง หมายประจำรัชกาลใช้มาจนตลอดรัชกาลนั้น รูปที่หมายเป็นพระราชลัญจกร สำหรับแผ่นดินก็ดี สำหรับพระบรมราชวงศ์ในปัจจุบันนี้ก็ดี สำหรับประจำรัชกาลทุกรัชกาลมาก็ดี ก็ย่อมเป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นของสูง ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะบังอาจทำใช้เทียมได้ ในรัชกาลที่ ๔ นั้น เมื่อได้ตั้งตำแหน่งทูตและกงสุลสยาม รักษาผลประโยชน์ราชการฝ่ายสยาม ประจำอยู่ในมหานครฝ่ายตะวันตกก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานแกะดวงตราตำแหน่งราชทูต และกงสุลซึ่งประจำราชการอยู่ในมหานครที่มีทางพระราชไมตรีพระราชทานให้ถือตามตำแหน่งราชการทูต และกงสุลนั้นเป็นรูปช้างเผือก หลังช้างมีรูปพระมหามงกุฎ พานพระมหากฐินรอง มีเครื่องสูงสองข้างบ้าง มีธงสองข้างบ้าง ที่เป็นกงสุลซึ่งอยู่ประจำเมืองท่าที่ขึ้นในมหานครนั้น ไม่สู้จะสำคัญ ก็ยกรูปพระมหามงกุฎออกเสีย คงอยู่แต่รูปช้างเผือก และมีอักษรจารึกบอกตามตำแหน่งทูตหรือกงสุลซึ่งตั้งประจำ ณ สถานที่นั้น พระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นแบบลงที่เจ้าพนักงานในตำแหน่งราชการ ได้ใช้รูปพระมหามงกุฎในดวงตราตำแหน่งได้ ด้วยรูปพระมหามงกุฎนั้น มิใช่จำเพาะแต่เป็นที่หมายประจำรัชกาลที่ ๔ อย่างเดียวเป็นเครื่องหมายสูงสุดของประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน ผ่านพิภพเป็นเอกราชด้วย ฝ่ายกรมทหารบกทหารเรือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเป็นเจ้าพนักงานสำหรับราชการเหมือนกันจึงได้รับพระบรมราชานุญาต ให้เครื่องหมายซึ่งเป็นพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน สำหรับพระบรมราชวงศ์ สำหรับประจำรัชกาลมาทำเป็นเครื่องประดับยศ มีหน้าหมวกพู่หมวกดุมกระบี่ สีสะเข็มขัดเป็นต้น ฝ่ายเจ้าพนักงานพลเรือนนั้นเล่า จะใช้ที่หมายพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินเป็นเครื่องประดับได้ก็จำเพาะแต่สิ่งที่ได้รับพระราชทาน มีเครื่องอิสริยาภรณ์และมาลาเป็นต้น และมีชนอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งตั้งการเป็นช่างฝีมือต่าง ๆ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นช่างหลวงแล้ว ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตใช้พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน และประจำรัชกาลให้เป็นเกียรติยศ มีช่างทองและช่างถ่ายรูปเป็นต้น ตราแผ่นดินซึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นายช่างได้ใช้นี้ก็เพื่อเป็นเกียรติยศอย่างเดียว หาได้ให้ใช้เป็นดวงตราหมายยี่ห้อการค้าขาย สำหรับห้างและร้านนั้นไม่ และเครื่องภาชนะทั้งปวงที่มีรูปหมายพระราชลัญจกร สำหรับแผ่นดิน สำหรับพระบรมราชวงศ์ก็ดี สำหรับประจำรัชกาลก็ดี ก็ล้วนเป็นของหลวงใช้ในราชการทั้งสิ้น ครั้นมาในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระราชลัญจกรประจำรัชกาลเป็นรูปจุลมงกุฎ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมที่หมายเครื่องขัตติยราชอิสริยยศ สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน และสำหรับพระบรมราชวงศ์ทั้งตราหลวง สำหรับตำแหน่งราชการรวมประดับร้อยกรองขึ้นเป็นตราแผ่นดิน มีรูปพระมหาพิไชยมงกุฎ จักร ตรี โล่ มีรูปช้างไอยราพต ช้างเผือก กฤช พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ พระสังวาลเครื่องอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และเครื่องสูงเจ็ดชั้นมีราชสีห์คชสีห์ประคอง คาถาภาษิตด้วยเป็นสำคัญ รวมเป็นตราแผ่นดินอย่างน้อยและอย่างใหญ่ เติมฉลองพระองค์ครุยและเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์เข้าอีก สำหรับใช้ในราชการทั่วไป ผิดกันก็แต่มีอักษรบอกตำแหน่งราชการเท่านั้น ตามธรรมเนียมที่เจ้าพนักงานได้ใช้ตราพระมหามงกุฎมาแต่รัชกาลที่ ๔ แล้ว และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชลัญจกร พระบรมราชโองการแก้ไขของเก่าขึ้นอีกดวงหนึ่ง มีเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์นพปฎลเศวตฉัตรและอักษรขอมย่อจารึกว่าพระบรมราชโองการ เป็นพระราชลัญจกรสำหรับพระเจ้าแผ่นดินอย่างเดียวพนักงานอื่นจะใช้พระราชลัญจกรนี้ในราชการไม่ได้ และมีที่หมายเป็นอักษรย่อ พระนามาภิไธย ส.พ.ป.ม.จ. ๕ หรือ จ.ป.ร.สามอักษรเป็นอักษรไขว้กันบ้างลอยตัวบ้าง มีจุลมงกุฎบ้าง ใช้เป็นเครื่องประดับในข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน และเป็นของสำหรับพระราชทานบ้าง ดวงตราที่หมายเป็นพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน สำหรับพระบรมราชวงศ์ สำหรับรัชกาลดังกล่าวมาข้างบนนี้ ก็มีแต่ใช้ในราชการหรือผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น แต่บัดนี้ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่าลูกค้าทำและสั่งตราแผ่นดินเข้ามาจำหน่ายซื้อขายใช้สอย ไม่เฉพาะแต่ใช้ในราชการอย่างเดียว ผู้ที่ไม่เป็นราชการก็ใช้เฝือทั่วไป ที่สุดจนลงทำตรายี่ห้อการค้าขายสำหรับห้าง สำหรับร้านก็มีที่มิได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ เป็นการมิถูกต้องตามพระราชประเพณี ดูไม่สมควรเลย เพราะเป็นการฟั่นเฝือเหลือที่จะกำหนดสังเกตได้ว่า ดวงตราที่ใช้ในราชการ และมิใช่ราชการ และเป็นเหตุให้เสื่อมถอยพระเกียรติคุณและพระเกียรติยศ ของผู้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ ในดวงตราแผ่นดินนั้นไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินี้ไว้ให้ทราบทั่วกันว่า

ข้อ ๑ ให้เสนาบดีว่าการกรมวังเป็นเจ้าพนักงานรักษาการ ที่จะใช้ดวงตราแผ่นดินสืบไปเป็นผู้ที่จะรับการ ขอพระบรมราชานุญาตใช้ตราแผ่นดิน และเป็นผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว เป็นผู้ที่จะออกอนุญาตให้ใช้ตราแผ่นดิน แก่ผู้ที่ขอใช้และจดทะเบียนบัญชีชื่อผู้ที่ขออนุญาต และรูปดวงตราแผ่นดินที่จะใช้ชนิดนั้น อย่างนั้นไว้ให้ถูกต้องเป็นแบบแผนสืบไป

ข้อ ๒ ให้บรรดากรมและกระทรวงต่าง ๆ ที่ประสงค์จะใช้ตราแผ่นดินในตำแหน่งราชการก็ดี หรือจะใช้เป็นเครื่องประดับยศเป็นที่หมายสำหรับบอกหมู่คณะในราชการ ดังเครื่องยศทหาร หรือพลเรือนก็ดี ที่มีอยู่แล้วหรือจะทำขึ้นใหม่ก็ให้เขียนรูปลวดลาย หรือตัวอย่างส่งมายังกรมวัง เพื่อจะได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ในราชการตำแหน่งนั้นกรมนั้นสืบไป และผู้ที่ได้รับตราตั้งเป็นนายช่างหลวง ที่ปรารถนาจะใช้ดวงตราแผ่นดินให้เป็นเกียรติยศ ก็ให้ขออนุญาตต่อเสนาบดีว่าการกรมวัง เมื่อได้รับอนุญาตคำสั่งเป็นสำคัญแล้ว จึงให้ใช้ตราแผ่นดินนั้นได้

ข้อ ๓ ดวงตราซึ่งเป็นรูปหมายพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการนั้น เป็นของห้ามขาดมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเอาไปใช้เป็นเครื่องหมาย และเกียรติยศ หรืออย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด พระราชลัญจกรสำหรับพระบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นรูปดวงจักรเปล่าก็ดี จักรกับตรีศูลไขว้กันก็ดี และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลทั้ง ๕ รัชกาลก็ดี พระราชลัญจกรเหล่านี้ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดใช้เว้นไว้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่เนื่องอยู่ในรัชกาลนั้น ๆ จึงจะใช้ในดวงตราสำหรับพระองค์ได้แต่ให้ขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน

ข้อ ๔ ตราแผ่นดินอย่างน้อย ซึ่งมีรูปพระมหาพิไชยมงกุฎ จักร ตรี โล่ กลางมีรูปช้างไอยราพตสามเศียร ช้างเผือก กฤช พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ และพระสังวาลเครื่องอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า และเครื่องสูง ๗ ชั้น มีราชสีห์ คชสีห์ ประคองและคาถาภาษิตด้วยเป็นสำคัญก็ดี และตราแผ่นดินอย่างใหญ่ ซึ่งเติมฉลองพระองค์ครุย และเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ก็ดี จะใช้ได้ก็แต่ในราชการ หรือผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตเป็นการพิเศษอย่างเดียว ที่ไม่ใช่ราชการและไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่เป็นเอกชนใช้เป็นอันขาด

ข้อ ๕ ดวงตราแผ่นดินที่เป็นรูปไอยราพต มีบุษบกและเครื่องสูงด้วยก็ดี มีแต่รูปไอยราพต ช้างสามเศียรเปล่าก็ดี โล่เปล่ามีแต่รูปไอยราพตอยู่กลางช้างเผือกอยู่ข้างหนึ่ง กฤชข้างหนึ่งก็ดี และดวงตราแผ่นดินซึ่งไปใช้เป็นเครื่องหมายในเครื่องอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ช้างเผือก และมงกุฎสยาม พร้อมทั้งสังวาลด้วยนี้ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเอาไปทำลวดลายใช้ในเครื่องภาชนะ หรือหมายเป็นตรายี่ห้อการค้าขายสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอันขาด ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ทั้งสามอย่างดังกล่าวมานี้ ปรารถนาจะใช้ดวงตราเครื่องอิสริยาภรณ์ ที่ตัวได้รับพระราชทานใช้ในตราสำหรับตัวแล้ว ก็ต้องขออนุญาตต่อเสนาบดีว่าการกรมวังก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงให้ใช้ในดวงตราสำหรับตนได้

ข้อ ๖ ดวงตราที่เป็นเครื่องหมายพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินก็ดี สำหรับพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ก็ดี สำหรับพระราชลัญจกรประจำรัชกาลทั้ง ๕ รัชกาลก็ดี อักษร ส.พ.ป.ม.จ.๕ หรือ จ.ป.ร. ซึ่งเป็นที่หมายพระนามาภิไธยก็ดี ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเอาไปใช้ติดประดับเป็นที่หมายในเครื่องภาชนะใช้สอยสำหรับตัวเป็นอันขาด ใช้ได้ก็เป็นของหลวงสำหรับราชการ หรือเป็นของที่ได้รับพระราชทานอย่างเดียว

ข้อ ๗ ให้เจ้าพนักงานกรมศุลกากรทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ระวังตรวจตรารักษาการ บรรดาลูกค้าที่บรรทุกสิ่งของเข้ามาจำหน่ายซื้อขายที่ในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ถ้าเห็นสินค้าสิ่งใดใช้ตราแผ่นดินดังที่กล่าวมาในข้อข้างบนนั้นเป็นยี่ห้อหมายการค้าขายและเป็นสิ่งของมิใช่สั่งเข้ามาใช้ในราชการ เป็นสินค้าขายในท้องตลาดแล้วก็ให้ยึดของสิ่งนั้น ซึ่งมีตราแผ่นดินไว้ให้เจ้าของผู้บรรทุกเข้ามา ทำลายตราแผ่นดินที่เป็นยี่ห้อเครื่องหมายการค้าขายเสียให้สิ้นลวดลายก่อนแล้ว จึงอนุญาตให้รับไปหรือมิฉะนั้นก็ให้บรรทุกกลับออกไปเสีย อย่ายอมปล่อยให้ไปจำหน่ายซื้อขายได้ต่อไป เว้นไว้แต่เจ้าของผู้ส่งมาได้รับพระบรมราชานุญาตเป็นการพิเศษ มีสิ่งสำคัญอย่างเดียวจึงให้อนุญาตได้

ข้อ ๘ ลูกค้าวานิชซึ่งตั้งห้างร้านทำการค้าขายปรารถนาจะใช้ตราแผ่นดิน ปิดสิ่งของที่ตนสั่งเข้ามาขาย เพื่อการเคารพนับถือหรือเป็นเกียรติยศก็ดี ให้บอกขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานกรมศุลกากรก่อน ส่งตัวอย่างตราแผ่นดินที่จะใช้ไว้ด้วย ให้เจ้าพนักงานกรมศุลกากรแจ้งความมายังเจ้าพนักงาน กรมวังให้ทราบตามลูกค้าที่ปรารถนาจะขอใช้ตราแผ่นดินนั้น เมื่อได้รับอนุญาต สั่งจากเจ้าพนักงานกรมวังแล้ว จึงให้อนุญาตยอมให้ลูกค้าที่ขอนั้นใช้ตราแผ่นดินได้ตามประสงค์

ข้อ ๙ ให้เจ้ากรมกองตระเวนซ้ายขวาในกรมพระนครบาล และกรมการผู้ใหญ่ในหัวเมือง คอยระวังตรวจตราตามท้องตลาดและห้างร้านทั้งปวง ห้ามอย่าให้ลูกค้าซื้อขายใช้สอยสิ่งของซึ่งมีตราแผ่นดิน ที่มิใช้เป็นของสำหรับใช้ราชการหรือที่เจ้าพนักงานอนุญาตให้ทำหรือสั่งตั้งเป็นร้านสำหรับกระทรวงนั้น ถ้าพบปะสิ่งของที่มีตราแผ่นดินซึ่งซื้อขายใช้สอยตามห้างตามร้านตามบ้านตามเรือน ที่มิได้รับอนุญาต หรือเป็นของใช้ราชการหรือของที่ได้รับพระราชทานแล้ว ก็ให้บอกให้เจ้าของทำลายดวงตราแผ่นดินนั้นเสีย และห้ามอย่าให้ซื้อขายใช้สอยสืบไป

ข้อ ๑๐ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนกันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ สืบไป ให้เจ้าพนักงานผู้รักษาหน้าที่และผู้ที่ประสงค์จะใช้รูปหมายลายแผ่นดิน ประพฤติตามประกาศนี้จงทุกประการ


ประกาศไปแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันที่ ๒๐ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ เป็นปีที่ ๒๒ หรือวันที่ ๗๔๖๗ ในรัชกาลปัจจุบันนี้


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"