พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)/ตอน 5

จาก วิกิซอร์ซ
รัชกาลสมเด็จพระราเมศวร (ครั้งที่ ๒)

สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในวัง กุมเอาพระเจ้าทองลันได้ ให้ฆาฏเสียวัดโคกพญา[1]

ศักราชได้ ๗๔๖ ปีชวด ฉศก สมเด็จพระราเมศวรให้เลียบพลยกขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ ตั้งค่ายหลวงไกล[2] คูเมือง ๑๕๐ เส้น ให้นายทัพนายกองตั้งค่ายล้อมแลแต่งการปล้นเอาจงได้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยิงปืนใหญ่ออกมา กำแพงพังกว้างประมาณ ๕ วา พระเจ้าเชียงใหม่ขึ้นยืนถือพัชนีอยู่บนเชิงเทิน ให้ทหารเอาหนังสือแขวนลูกธนูยิงลงมา ในหนังสือนั้นว่า ขอพระราชทานให้งด ๗ วัน จะนำเครื่องพระราชบรรณาการออกไปจำเริญพระราชไมตรี พระเจ้าอยู่หัวจึงปรึกษาด้วยมุขมนตรีว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้หนังสือออกมาดั่งนี้ ควรจะให้งดหรือประการใด มุขมนตรีนายทัพนายกองปรึกษาว่า เกลือกพระเจ้าเชียงใหม่จะเตรียมการมิทัน จึงคิดเป็นกลอุบายมา ขอพระราชทานให้ปล้นเอาเมืองจงได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า เป็นกษัตริย์ขัตติยวงศ์ เขาไม่รบแล้วเราจะให้รบนั้นดูมิบังควร ถึงมาทว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะมิได้คงอยู่ในสัตยานุสัตย์ก็ดี ใช่ว่าจะพ้นมือทหารเรานั้นเมื่อไร ฝ่ายในเมืองเชียงใหม่ตีแต่บัง[3] ที่กำแพงทลายนั้นให้ก่อขึ้น ครั้น ๗ วันแล้ว พระเจ้าเชียงใหม่มิได้เอาเครื่องจำเริญพระราชไมตรีออกมา นายทัพนายกองข้าทหารร้องทุกข์ราชว่า ข้าวในกองทัพทนานละสิบสลึงหาที่ซื้อไม่[4] จะขอพระราชทานเร่งปล้น พระเจ้าอยู่หัวบัญชาตามนายทัพนายกอง ทรงพระกรุณาสั่งให้เลิกกองทัพเสียด้านหนึ่ง ให้เร่งปล้นวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ เพลา ๓ ทุ่ม ๒ บาท เดือนตก เจ้าพนักงานยิงปืนใหญ่น้อยระดมทั้ง ๓ ด้าน เอากระไดหกพาดปีนกำแพงขึ้นไป พระเจ้าเชียงใหม่ต้านทานมิได้ เทครัวหนีออก เพลา ๑๑ ทุ่ม ทหารเข้าเมืองได้ ได้แต่นักส้างบุตรเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งมาถวาย พระเจ้าอยู่หัวตรัสต่อนักส้างว่า พระเจ้าเชียงใหม่บิดาท่านหาสัตยานุสัตย์มิได้ เราคิดว่า จะออกมาหาเราโดยสัตย์ เราจะให้คงราชสมบัติ ตรัสดังนั้นแล้ว ก็ให้นักส้างถวายสัตยานุสัตย์ พระเจ้าอยู่หัวก็ให้แบ่งไพร่พลเมืองไว้พอสมควร เหลือนั้นก็ให้เทครัวอพยพหญิงชายลงมา ให้นักส้างลงมาส่งเสด็จถึงเมืองสวางคบุรี ทรงพระกรุณาให้นักส้างกลับขึ้นไปครองราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าเมืองพิษณุโลก นมัสการพระชินศรีพระชินราช เปลื้องเครื่องต้นทำสักการบูชาสมโภช ๗ วัน เสด็จลงมาพระนคร แลลาวซึ่งต้อนลงมานั้นให้ส่งไปไว้เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองนคร เมืองจันตะบูร แล้วเสด็จออกทรงศีลยังพระที่นั่งมังคลาภิเษก เพลา ๑๐ ทุ่ม ทอดพระเนตรไปโดยฝ่ายทิศบูรพ เห็นพระสาริริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ เรียกปลัดวังให้เอาพระราชยานทรงเสด็จออกไป ให้ตรุย[5] ปักขึ้นไว้ สถาปนาพระมหาธาตุนั้นสูง ๑๙ วา ยอดนภศูลสูง ๓ วา ให้ชื่อ วัดมหาธาตุ แล้วให้ทำพระราชพิทธีประเวศน์พระนครแลเฉลิมพระราชมนเทียร

ขณะนั้น พญากัมพูชายกเข้ามาถึงเมืองชลบุรี กวาดครัวอพยพหญิงชายในเมืองชลบุรีแลเมืองจันตะบูรคนประมาณ ๖–๗ พันกลับไปเมืองกัมพูชาธิบดี พระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวให้พญาไชยณรงค์เปนทัพหน้ายกไปถึงตะพานแยก ชาวกัมพูชาออกมาตีทัพพญาไชยณรงค์ ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ พญากัมพูชาก็แตกฉาน พระเจ้าอยู่หัวให้ตั้งค่ายประจันทัพอยู่ ๓ วัน พระเจ้าอยู่หัวยกเข้าตีแตกฉาน เข้าเมืองได้ พญากัมพูชาลงเรือหนี พระเจ้าอยู่หัวลงจากช้าง ให้ยิงปืนนกสับลงไปต้องหม้อดินเป็นเพลิงลุกขึ้น พญากัมพูชาหนีรอด จับได้พญาอุปราชลูกพญากัมพูชา ให้พญาไชยณรงค์อยู่รั้งเมืองกัมพูชา ไว้ ๕ พัน[6] พระเจ้าอยู่หัวเสด็จคืนพระนครศรีอยุธยา

ครั้นอยู่มา ญวนยกมารบ ถ้ามาน้อย ชาวกัมพูชาเปนใจรบ ถ้ามามาก ก็เรรวนไป พญาไชยณรงค์บอกหนังสือมากราบทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้มีหนังสือตอบไป ให้กวาดครัวอพยพยกมาถึงพระนคร แล้วให้ทำพระราชพิทธีประเวศน์พระนคร แล้วปูนบำเหน็จนายทัพนายกอง

ศักราช ๗๔๙ ปีเถาะ นพศก[7] สถาปนาวัดภูเขาทอง เพลาเย็น เสด็จไป ณ พระที่นั่งมังคลาภิเษก ท้าวมลซึ่งตายแต่ก่อนนั้นมานั่งขวางทางเสด็จอยู่แล้วหายไป สมเด็จพระราเมศวรบรมบพิตรก็เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๖ ปี


  1. ฉบับพันทจันทนุมาศว่า ให้พิฆาฏเสียวัดโคกพระยา ฉบับพระราชหัตถเลขามีความเพิ่มว่า แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ
  2. ฉบับพันทจันทนุมาศว่า ใกล้
  3. ฉบับพันจันทนุมาศว่า ตีแตะบังที่กำแพงหลายนั้นให้ก่อขึ้น
  4.  " " ข้าวในกองทัพทะนานละสิบสลึงหามีที่ซื้อไม่ ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า "นายทัพนายกอง…ร้องทุกข์ราษฎร์ว่า…หาที่ซื้อมิได้…"
  5. ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า กรุย
  6. ฉบับพันจันทนุมาศและฉบับพระราชหัตถเลขาว่า "ไว้คน ๕ พัน"
  7. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๗๕๗ กุรศก