ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502)

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)
พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
พลโท พระยากลาโหมราชเสนา
(เล็ก ปาณิกบุตร)
ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒

คำนำ

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร) กำหนดงานวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๒ ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส หลวงศิริเดชธรรมได้เป็นผู้แทนเจ้าภาพมาแจ้งความแก่เจ้าหน้าที่แผนกค้นคว้า กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ว่า เจ้าภาพประสงค์จะจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แจกเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ เจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้ว จึงแนะนำให้จัดพิมพ์พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เจ้าภาพก็คกลงรับพิมพ์

พระราชพงศาวดา่รต่าง ๆ ที่มีต้นฉบับรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ที่เป็นความเก่าจับเรื่องแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คือ

(๑)พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ มีบานแผนกบอกไว้ดังนี้

“ศุภมัสดุ ๑๐๒๔ ศก วอกนักษัตร ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ทรงพระกรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหราเขียนไว้แต่ก่อน และกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ และเหตุซึ่งมีในพระราชพงศาวดารนั้น ให้คัดเข้าดัวยกันเป็นแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้”

พระราชพงศาวดารฉบับนี้ ความขึ้นต้นแต่แรกสถาปนาพระพุทธรูปพระเจ้าแพนงเชิงเมื่อปีชวด จุลศักราช ๖๘๖ (พ.ศ. ๑๘๖๗) และแรกสร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๑๒ (พ.ศ. ๑๘๙๓) สืบมาจนถึงปีมะโรง จ.ศ. ๙๖๖ (พ.ศ. ๒๑๔๗) ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พิมพ์แล้วอยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑

ต่อมาในชั้นกรุงเก่านั้นเอง เห็นจะเป็นในแผ่นเินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีรับสั่งให้แต่งพระราชพงศาวดารขึ้นอีกฉบับหนึ่ง คือ

(๒)พระราชพงศาวดาร ฉบับจำลอง จ.ศ. ๑๑๓๖ (พ.ศ. ๒๓๑๗) กรมศิลปากรได้ปลีกมาเป็นสมุดไทยเล่ม ๑ เป็นฉบับหลวงเขียนครั้งกรุงธนบุรี ว่าด้วยเรื่องราวตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สำนวนแต่งใกล้เกือบจะถึงสำนวนในฉบับหลวงประเสริฐ พิมพ์แล้วอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔

และ(๓) พระราชพงศาวดาร ฉบับจำลอง จ.ศ. ๑๑๔๕ (พ.ศ. ๒๓๒๖) เป็นฉบับปลีก รวม ๒ เล่มสมุดไทย เขียนครั้งรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ว่าด้วยเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เล่ม ๑ ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา เล่ม ๑ รูปสำนวนเป็นสมัยกรุงเก่า รุ่นเดียวกับฉบับหมายเลข ๒ ยังไม่เคยตีพิมพ์

ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงชำระหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับกรุงเก่า และแต่งเติมที่บกพร่อง คือ

(๔)พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีจำนวนสมุดไทยตามลำดับเป็น ๒๒ เล่ม ขาดในระหว่างบ้างบางเล่ม เริ่มต้นแต่แรกสถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ต่อมาจนสุดรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พิมพ์แล้วในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ และภาคที่ ๖๕

ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสให้ทรงชำระเรื่องพระราชพงศาวดารอีกครั้งหนึ่ง แต่จะชำระในปีใดไม่ปรากฏ คือ

(๕)พระราชพงศาวดาร ฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าฉบับหมอบรัดเล เริ่มความตั้งแต่สร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สุดความลงเพียง จ.ศ. ๑๑๕๔ (พ.ศ. ๒๓๓๕)

(๖)พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ข้อความโดยมากยุติกับฉบับหมอบรัดเล เว้นแต่เรื่องในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ตอนปลายติดต่อกันมา มีแปลกออกไปหลายแห่ง และความไม่จบถึงปลายสมัยอยุธยา คงกล่าวถึงเพียงราวรัชกาลพระเพทราชา แต่ก็ย่อรวบรัดตัดความลงมาก และในที่บางแห่งก็ลักลั่นต่างกับพระราชพงศาวดารฉบับอื่น เช่น พระราชหัตถเลขา และฉบับพันจันทนุมาศ เฉพาะข้อความที่แปลกจากฉบับอื่นได้เคยพิมพ์แล้วอยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘ นอกนั้นยังไม่เคยพิมพ์

ถึงรัชกาลที่ ๔ ราว พ.ศ. ๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กับกรมหลวงวงสาธิราชสนิท ทรงช่วยกันชำระหนังสือพระราชพงศาวดารอีกครั้งหนึ่ง คือ

(๗)พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เคยพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ครบเรื่องเป็นหนังสือ ๓ เล่ม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ หอพระสมุดพิมพ์เล่ม ๑ อีกครั้งหนึ่ง มีคำอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประกอบ และต่อมากรมศิลปากรได้อนุญาตให้บริษัทโอเดียนสโตร์พิมพ์จำหน่ายอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ แบ่งเป็น ๔ เล่มจบ

เฉพาะพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) นั้น ต้นฉบับจารลงในใบลานผูกรวม ๑๗ ผูก มีข้อความส่วนมากยุติต้องกันกับฉบับหมอบรัดเล เว้นแต่เรื่องในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ดังได้กล่าวไว้แล้วในข้อ ๖ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบชำระกับพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับพันจันทนุมาศ ปรากฏว่ามีสำนวนแตกต่างกับฉบับทั้งสองในที่บางแห่ง แต่เรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ คงเหมือนกัน เว้นไว้แต่เรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ตอนปลาย ดังได้ทำคำอธิบายเชิงอรรถกำกับลงไว้ด้วยแล้ว และศักราชในที่บางแห่งที่ผิดแปลกจากฉบับหลวงประเสริฐก็ได้ลงเชิงอรรถไว้ด้วย เพื่อผู้สนใจจะได้เปรียบเทียบทั้งสำนวนเนื้อความและศักราช เป็นการสะดวกในการอ่านหรือการศึกษาค้นคว้าต่อไป ทั้งได้เติมหัวข้อแสดงลำดับรัชกาลลงไว้ด้วยเพื่อสังเกตทราบได้สะดวก อนึ่ง การจัดพิมพ์ครั้งนี้เป็นไปในเวลาจำกัดรีบด่วนมาก จึงไม่อาจจัดทำสารบาญได้ทัน

กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลราศีทักษิณานุปทานซึ่งเจ้าภาพได้บำเพ็ญอุทิศแด่พลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร) ผู้ล่วงลับไปแล้ว และกุศลปณิธานตลอดจนศรัทธาที่ได้ให้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เผยแพร่เป็นหิตานุหิตประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาค้นคว้าวิทยาการทั้งนี้ จงเป็นปัจจัยอำนวยให้พลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร) ได้ประสบแต่อิฐคุณมนุญผลถึงซึ่งสุคติและทิพยสมบัติในสัมปรายภพตามควรแก่ฐานะทุกประการเทอญ.

กรมศิลปากร
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓

สารบัญ

พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
นายพินิจ อู่สำราญ ผู้พิมพ์โฆษณา พ.ศ. ๒๕๐๒

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก