ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) (2502)/บทที่ 9

จาก วิกิซอร์ซ
(๘) รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

สมเด็จพระราเมศวรเจ้าผู้เป็นพระราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามชื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยกวังทำเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เสด็จมาอยู่ริมน้ำ จึงให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตน์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทองค์หนึ่ง[1] แล้วพระราชทานชื่อขุนนางตำแหน่งนา ให้เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม เอาพลเรือนเป็นสมุหนายก เอาขุนเมืองเป็นพระนครบาลเมือง เอาขุนวังเป็นพระธรรมาธิกร เอาขุนนาเป็นพระเกษตรา เอาขุนคลังเป็นโกษาธิบดี ให้ถือศักดินาหมื่น แลที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดีที่พระองค์สร้างกรุงนั้น ให้สถาปนาพระมหาธาตุแลพระวิหารเป็นพระอาราม ให้นามชื่อวัดพระราม

ศักราช ๘๐๒[2] ปีวอกโทศก ครั้งนั้นออกทรพิษตายมากนัก

ศักราช ๘๐๓[3] ปีรกาตรีนิศก แต่งทัพไปเอาเมืองมะละกา

ศักราช ๘๐๔[4] ปีจอจัตวาศก แต่งทัพไปเอาเมืองศรีสพเถิน ครั้งนั้นเสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลบ้านโคน

ศักราช ๘๐๕[5] ปีกุญเบญจศก เข้าเปลือกแพงเป็นทะนานละ ๘๐๐ เบี้ย เบี้ยเฟื้องละ ๘๐๐ เบี้ย[6] เกวียนหนึ่งเป็นเงินสามชั่งกับสิบบาท

ศักราช ๘๐๖[7] ปีชวดฉศก ให้บำรุงพระพุทธศาสนาบริบูรณ์ แลหล่อพระรูปพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ

ศักราช ๘๐๘[8] ปีขาลอัฐศก เล่นการมหรสพฉลองพระ แลพระราชทานสมณชีพราหมณ์แลวรรณิพกทั้งปวง ครั้งนั้นพญาเชลียงคิดกบฏ พาครัวทั้งปวงไปแต่มหาราช

ศักราช ๘๐๙[9] ปีเถาะนพศก พญาเชลียงนำมหาราชมาเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถมิได้ จึงยกทัพเปรไปเอาเมืองกำแพงเพชร เข้าปล้นเมืองถึง ๗ วันมิได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าแลสมเด็จพระอินทราชาเสด็จขึ้นไปช่วยเมืองกำแพงเพชรทัน แลสมเด็จพระอินทราชาเจ้าตีทัพพญาเกียรติแตก ทัพท่านมาปะทัพหมื่นนคร ได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร แลข้าศึกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งช้างเดียว ครั้งนั้นพระอินทราชาเจ้าต้องปืนณพระพักตร ทัพมหาราชนั้นเลิกกลับคืนไป

ศักราช ๘๑๐[10] ปีมะโรงสัมเรทธิศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าสร้างวิหารวัดจุลามณี

ศักราช ๘๑๑[11] ปีมะเส็งเอกศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าทรงพระผนวชวัดจุลามณีได้แปดเดือนแล้วลาพระผนวช

ศักราช ๘๑๓[12] ปีมะแมตรีนิศก ครั้งนั้นมหาท้าวบุญ[13] ชิงเมืองเชียงใหม่แก่ท้าวลูก

ศักราช ๘๑๕[14] ปีระกาเบญจศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ช้างเผือก

ศักราช ๘๑๖[15] ปีจอฉศก สมภพพระราชโอรสท่าน

ศักราช ๘๑๘[16] ปีชวดอัฐศก เสด็จไปเมืองเชลียง

ศักราช ๘๒๑[17] ปีเถาะเอกศก แรกตั้งเมืองนครไทย

ศักราช ๘๒๒[18] ปีมะโรงโทศก พระสีห์ราชเดโชถึงแก่กรรม

ศักราช ๘๒๔[19] ปีมะเมียจัตวาศก พญาลานช้างถึงแก่กรรม พระราชทานให้อภิเษกพญาซ้ายขวา[20] เป็นพญาลานช้าง

ศักราช ๘๒๖[21] ปีวอกฉศก ทรงพระกรุณาให้เล่นการมหรสพฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ ๑๕ วัน

ศักราช ๘๒๘[22] ปีจออัฐศก พระบรมราชาผู้เป็นพระราชโอรสทรงพระผนวช

ศักราช ๘๒๙[23] ปีกุนนพศก สมเด็จพระโอรสเจ้าลาผนวช ประดิษฐานพระองค์ไว้ในที่พระมหาอุปราช

ศักราช ๘๓๐[24] ปีชวดสัมเรทธิศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าไปวังช้างตำบลสำฤทธิบริบูรณ์

ศักราช ๘๓๑[25] ปีฉลูเอกศก มหาราชท้าวลูกพิราลัย

ศักราช ๘๓๒[26] ปีขาลโทศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จยกทัพไปตีเมืองทวาย แลเมืองทวายเสียนั้น[27] เกิดอุบาทว์เป็นหลายประการ โคตกลูกตัวหนึ่งแปดเท้า ไก่ฟักฟองตกลูกตัวหนึ่งเป็นสี่เท้า ไก่ฟักฟองคู่ขอนตกลูกเป็นหกตัว อนึ่ง ข้าวสารงอกเป็นใบในปีนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๓๘ ปี

ศักราช ๘๓๔[28] ปีมะโรงจัตวาศก แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย


  1. ฉบับพันจันทนุมาศไม่มีข้อความที่ว่า “สร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาททององค์หนึ่ง″
  2. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๑๖ จอศก
  3. ศักราช ๘๑๗ กุรศก
  4. ศักราช ๘๑๘ ชวดศก
  5. ศักราช ๘๑๙ ฉลูศก
  6. ฉบับพันจันทนุมาศว่า เบี้ย ๘๐๐ ต่อเฟื้อง เกวียนหนึ่งเป็น ๓ ชั่งกับ ๑๐ บาท
  7. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๒๐ ขาลศก
  8. ศักราช ๘๒๒ มะโรงศก
  9. ศักราช ๘๒๕ มะแมศก
  10. ศักราช ๘๒๖ วอกศก
  11. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๒๙ ระกาศก
  12. ศักราช ๘๓๐ ชวดศก
  13. ฉบับพันจันทนุมาศไม่มีคำว่า ครั้งนั้น
  14. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๓๓ เถาะศก
  15. ศักราช ๘๓๔ มะโรงศก
  16. ศักราช ๘๓๖ มะเมียศก
  17. ศักราช ๘๓๙ ระกาศก
  18. ศักราช ๘๔๑ กุรศก
  19. ศักราช ๘๔๒ ชวดศก
  20. ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า พระราชทานให้อภิเษกพระยาเมืองขวาเป็นพระยาล้านช้าง
  21. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๔๔ ขาลศก
  22. ศักราช ๘๔๖ มะโรงศก
  23. ศักราช ๘๔๗ มะเส็งศก
  24. ศักราช ๘๔๘ มะเมียศก
  25. ศักราช ๘๔๙ มะแมศก
  26. ศักราช ๘๕๐ วอกศก
  27. ฉบับพันจันทนุมาศว่า “แลเมอเมืองทวายจะเสียนั้น″
  28. ฉบับหลวงประเสริฐว่า ศักราช ๘๕๒ จอศก