ข้ามไปเนื้อหา

เรื่องพระราชลัญจกรและตราประจำตัวประจำตำแหน่ง

จาก วิกิซอร์ซ
ตราของกรมศิลปากร
ตราของกรมศิลปากร
เรื่อง
พระราชลัญจกรและตราประจำตัวประจำตำแหน่ง
พระยาอนุมานราชธน
เรียบเรียง
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
พุทธศักราช ๒๔๙๓

คำนำ

ในงานพระเมรุท้องสนามหลวง พุทธศักราช ๒๔๙๓ สำนักพระราชวังแจ้งพระบัญชาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เมื่อทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงมอบภาระการเลือกและการพิมพ์หนังสือสำหรับพระราชทานแจกงานพระบรมศพและพระศพทุกงานมาให้กรมศิลปากรจัดทูลเกล้าฯ ถวาย กรมศิลปากรได้เลือกเรื่องสำหรับพิมพ์ในงานพระบรมศพและพระศพแต่ละงานดังนี้ คือ

๑.งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พิมพ์เรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

๒.งานพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พิมพ์พระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า และพระราชกระแสเรื่องจัดการทหารมณฑลกุรงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๕

๓.งานพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พิมพ์เรื่องพระราชลัญจกรและตราประจำตัวประจำตำแหน่ง ซึ่งพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เรียบเรียง

๔.งานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พิมพ์ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิณกะ (ภาค ๑)

๕.งานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย พิมพ์เรื่องตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา กับพระวิจารณ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เรื่องที่พิมพ์ในสมุดนี้ คือ เรื่องพระราชลัญจกรและตราประจำตัวประจำตำแหน่ง ซึ่งพระยาอนุมานราชธนเรียบเรียง เหตุที่เรียบเรียงเรื่องนี้มีปัจจัยมาจากที่พระยาอนุมานราชธนเห็นตราโบราณคดีสโมสรมีรูปเป็นมังกรเล่นแก้ว ดูเก่ามาก ไม่ทราบว่ามังกรมีความหมายเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องโบราณคดี จึงได้ใช้เป็นตราเครื่องหมายเช่นนั้น คิดไม่เห็น จึงกราบทูลถามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงพระเมตตาตรัสเรื่องให้ทราบ ต่อมาเมื่อเห็นในราชพิพิธภัณฑ์มีพระตราต่าง ๆ ของหลวงตั้งแสดงอยู่ตู้หนึ่ง เห็นที่เป็นพระราชลัญจกรของเก่าก็มี เกิดความสนใจอยากรู้ จึ่งขออนุญาตจำลองตราเหล่านั้นเป็นลายประทับเอามาเก็บไว้ แล้วส่งถวายลายจำลองดวงตราเหล่านั้นไปเป็นคราว ๆ ตามแต่โอกาสเพื่อขอประทานตรัสอธิบาย ก็มีพระกรุณาตรัสเล่าประทานมาเป็นคราว ๆ เมื่อทรงมีเวลาว่าง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ พระยาอนุมานราชธนรวบรวมพระอธิบายตรัสเล่าเหล่านี้ซึ่งกระจัดกระจายปนอยู่ในลายพระหัตถ์หลายฉะบับทำเป็นบันทึกขึ้นแล้วถวายทอดพระเนตร ก็ทรงพระเมตตาแก้ไขทักท้วงข้อความในลางแห่ง คงทำเป็นบันทึกไว้ได้ไม่กี่หน้ากระดาษก็ระงับไป เพราะพระยาอนุมานราชธนปลีกเวลาเพื่อรวบรวมทำให้แล้วเสร็จไม่ได้ จนเวลาล่วงเลยมานาน จึงจับต้นทำใหม่ แต่ความคิดเปลี่ยนไปจากเดิม คือ เรียบเรียงเรื่องขึ้นให้เป็นหมวดหมู่เท่าที่จะรวบรวมได้ แล้วถวายไปเพื่อทอดพระเนตร นับแต่ได้ถวายไปแล้วก็ไม่ได้รับข้อทักท้วงอย่างไรจากเสด็จพระองค์ท่าน คงตรัสแต่เรื่องอื่น ๆ ตลอดมา พระยาอนุมานราชธนก็ไม่กล้ากราบทูลเตือน เพราะทราบดีอยู่ว่า เรื่องต่าง ๆ ที่ทรงทำ พระองค์ท่านไม่ได้ทรงทอดทิ้งแม้แต่เรื่องเดียว หากแต่ยังไม่มีเวลาว่าง หรือเรื่องนั้นยังบกพร่องอยู่ ก็ทรงรอไปก่อน กาลได้ล่วงเลยมานานจนประชวรและสิ้นพระชนม์ลง พระยาอนุมานราชธนก็ระลึกถึงเรื่องพระราชลัญจกรที่ได้เรียบเรียงไว้ว่า ถ้าได้มีโอกาสตีพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นในงานพระราชทานเพลิงพระองค์ท่าน ก็จะเหมาะด้วยประการทั้งปวง เพราะเป็นเรื่องที่ทรงสนพระทัยอยู่มาก พระยาอนุมานราชธนจึงขอร้องหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ โอรสพระองค์ท่าน ให้ช่วยตรวจดูในบรรดาลายพระหัตถ์ว่าจะมีเรื่องพระราชลัญจกรตกค้างอยู่บ้างหรือไม่ หม่อมเจ้ายาใจจึงนำเอาเรื่องพระราชลัญจกรที่พระยาอนุมานราชธานเรียบเรียงและถวายไว้คืนมาให้ดู พร้อมทั้งลายพระหัตถ์ที่ทรงตอบซึ่งทรงค้างไว้ ความจึงปรากฏว่า ได้ทรงตัดเติมข้อความที่พระยาอนุมานราชธนเรียบเรียงไว้อยู่มากแห่ง และในร่างลายพระหัตถ์ยังมีข้อความอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นความรู้หาค่ามิได้ตรัสอธิบายให้ทราบอีกหลายประการ แต่เมื่อรวบยอดแล้วตรัสว่า ที่เรียบเรียงมานั้นก็ดีอยู่ แต่ยังไม่พอพระทัย เพราะขาดการค้นคว้า เรื่องยังมีอยู่มีมากประการ และทรงแนะวิธีค้นและเรียงความเสียใหม่ให้เป็นไปตามลำดับนั้นด้วย ทั้งนี้ นับว่าเป็นพระกรุณาคุณล้นเกล้าฯ แต่ก็ช้าเสียแล้ว เพราะเวลามีเหลืออยู่น้อย จะทำการค้นคว้าตามที่ทรงแนะนำไว้คงไม่ทันกัน ทั้งพระยาอนุมานราชธนก็เสียกำลังใจที่จะทำต่อ เพราะสิ้นพระองค์ท่านซึ่งเป็นที่พึ่งเสียแล้ว ถ้าติดก็ไม่ทราบว่าจะไปถามใคร จึงตกลงใจไม่รื้อโครงในข้อความที่เรียบเรียงไว้แล้ว เป็นแต่ตัดเติมแก้ไขข้อความตามที่ทรงทักท้วงและตรัสเพิ่มเติมมาเท่านั้น คือ เป็นดังเรื่องที่ตีพิมพ์อยู่นี้ แต่ก็ไม่หมดเรื่องทีเดียว เพราะยังมีพระราชลัญจกรกระบวนจีน พระราชลัญจกรเบ็ดเตล็ด และพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรฯ ที่ไม่ได้นำเอามารวมไว้ด้วย เพราะค้นคว้าไปยังไม่ได้ตลอด แม้จะนำเอาเท่าที่ได้มาแล้วมารวมไว้ด้วย ถ้าพระองค์ท่านทรงทราบด้วยพระญาณวิถีใด ๆ ก็คงไม่โปรด เพราะเรื่องยังบกพร่องอยู่มาก จึงงดเสีย พระยาอนุมานราชธนขอน้อมเกล้าฯ อุทิศน้ำพักน้ำแรงที่ได้เรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นถวายแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นพลีบรรณาการด้วยความซาบซึ้งในกตัญญูกตเวที

ขอพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญเป็นส่วนบรมวงศญาติสังคหธรรมนี้จงสำเร็จแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ล่วงลับไป ตามควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพทุกประการ.

กรมศิลปากร
๑๐ เมษายน ๒๔๙๓

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ความเบื้องต้น หน้า
ภาค พระราชลัญจกรลางองค์
ก. พระราชลัญจกรที่เป็นของเก่า
๑. พระราชลัญจกรมหาโองการ
๒. พระราชลัญจกรพระครุฑพาห
๓. พระราชลัญจกรหงสพิมาน
๔. พระราชลัญจกรไอยราพต ๑๒
ข. พระราชลัญจกรที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่ ๑๔
๑. พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ ๑๕
๒. พระราชลัญจกรสยามโลกัคราช ๒๑
๓. พระราชลัญจกรนามกรุง ๒๒
๔. พระราชลัญจกรจักรรถ ๒๓
๕. พระราชลัญจกรอุณาโลมในกลีบบัว ๒๔
ภาค ตราประจำตัวประจำตำแหน่ง ๒๕
ตราเครื่องหมายประจำกระทรวง ๒๖
ตรากระทรวงมหาดไทย ๓๒
ตรากระทรวงกลาโหม ๓๔
ตรากระทรวงการคลัง ๓๔
ตราปักษาวายุภักษ์ ๓๕
ตรากระทรวงการต่างประเทศ หน้า ๓๘
ตรากระทรวงเกษตราธิการ ๓๘
ตรากระทรวงศึกษาธิการ ๔๐
ตรากระทรวงคมนาคม ๔๒
ตรากระทรวงพาณิชย์ ๔๒
ตรากระทรวงยุตติธรรม ๔๓
ตรากระทรวงการอุตสาหกรรม ๔๔
ตรากระทรวงการสาธารณสุข ๔๔


พระราชลัญจกร คือ พระตราสำหรับใช้ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัสอธิบาย ว่า "แต่ก่อนไม่ได้ใช้เซ็นชื่อ ใช้ตราประจำตัวหรือประจำตำแหน่งประทับแทนเซ็นชื่อ เพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินกับทั้งบรรดาคนสามัญซึ่งมีธุระในการหนังสือก็ทำตราขึ้นใช้ประจำตัว เว้นแต่ลางคนลางตำแหน่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดปราน จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระราชลัญจกรไปใช้เป็นตราประจำตัว นับกันเป็นเกียรติยศอันใหญ่ยิ่ง ไม่มีได้อย่างนั้นกันกี่คนนัก ตัวอย่างเช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ได้รับพระราชทานพระราชลัญจกรนารายณ์เกษียรสมุทรไปใช้ เป็นต้น" ตามที่พรรณนามานี้ พอให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ตราสำคัญเพียงไร[1]

"ต้นรากของตรา เห็นว่า อย่างเส้นชาดนั้นมาทางตะวันออก ถ้าจะว่าไป ก็เป็นมาแต่จีน จึงใช้แค่ตราเปล่า เพราะจีนเขาไม่เซ็นชื่อ ส่วนตราครั่งนั้นมาทางตะวันตก มีทางอินเดียเป็นต้น จึงมีคำว่า 'มุทรา' อันแปลว่า แหวนตรา แต่เขาจะเซ็นชื่อด้วยหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่ฝรั่งนั้นเห็นเซ็นชื่อและประทับตราครั่งด้วย ที่ปิดตราดุนนั้นเป็นสมัยใหม่ (ลางทีจะเป็นเก่าก็ได้ จึงมีคำว่า 'ปิดตรา') แต่ก่อนเราใช้ประทับตราและเขียนชื่อบอกตำแหน่งด้วย แต่จะเป็นลายเซ็นใครก็ได้ ดั่งมีตัวอย่างในท้องตราของเก่า"

พระราชลัญจกรซึ่งคงใช้อยู่

พระราชลัญจกรสำหรับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นของเก่าและยังคงใช้ประทับในราชการต่าง ๆ อยู่ มีองค์ที่สำคัญ คือ

๑.พระราชลัญจกรมหาโองการ

๒.พระราชลัญจกรพระครุฑพาห

๓.พระราชลัญจกรหงสพิมาน

๔.พระราชลัญจกรไอราพต

พระราชลัญจกรเก่าสำหรับแผ่นดิน ๔ ดวงนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศนานุวัดติวงศ์ทรงสันนิฐานว่า "หมายเอาองค์เทวราช เดิมทีจะไม่กล้าทำองค์เทวรูป จึงทำแต่เครื่องหมาย คือ 'มหาโองการ' หมายองค์พระอิศวร เอาตาที่สามของพระองค์ซึ่งอยู่กลางหน้าผากมาใช้เป็นเครื่องหมาย 'พระครุฑพาห' ตามความเชื่อควรมีแต่รูปครุฑเปล่า ที่ทำมีรูปนารายณ์ด้วยนั้น เห็นจะทำชั้นหลังที่คลายความนับถือเสียแล้ว 'หงสพิมาน' คงหมายพระพรหม ใช้รูปหงส์พาหนะ และ 'ไอราพต' ที่มีรูปพระอินทร์ด้วย ก็อย่างเดียวกับพระครุฑพาห์"[2]

พระราชลัญจกรองค์นี้เป็นของสำหรับพระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณมาองค์หนึ่ง เป็นตราประจำชาดสำหรับประทับพระราชสาส์นและกำกับพระสุพรรณบัฏดำเนินพระราชโองการตั้งเจ้าประเทศราช (ดู พระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ [พ.ศ. ๒๔๔๖]) ลายในดวงตราเป็นรูปบุษบกมีเกริน บนเกรินตั้งฉัตรขนาบบุษบกอยู่สองข้าง ในบุษบกมีรูปอุณาโลมอยู่เบื้องบน ใต้นั้นมีรูปวงกลม ใต้วงกลมเป็นรูปพาลจันทร์ ใต้พาลจันทร์เป็นตัว "อุ" หนังสือขอม เข้าใจว่า เป็นหนังสือรวมกัน อ่านว่า โอม ได้แก่ โอมการ หรือเปลี่ยนนิคคหิตตามพยัญชนะตัวหลังเป็น โองการ รูปเป็นดังนี้ โองการ ตราดวงนี้เลิกใช้มานาน เพราะใช้ตราพระบรมราชโองการซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ แทน ในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างพระราชลัญจกรมหาโองการประจำชาดใหม่องค์หนึ่ง ลวดลายในดวงตราคล้ายองค์เดิม แต่ย่อกว่า เป็นรูปกลมรี ผิดกับองค์เดิมซึ่งเป็นวงกลม (ดู รูปที่ ๑) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนตามพระบรมราชโองการตรัสสั่ง ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ มีความว่า "ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรมหาโองการประจำชาดองค์หนึ่ง พระครุฑพาหประจำชาดองค์หนึ่ง ขนาดเดียวกับพระราชลัญจกรไอราพตกลาง เหตุว่าพระราชลัญจกรเดิมนั้นใหญ่มาก จะประทับในที่แคบไม่ได้ และเป็นหน้านูน จะประทับกระดาษแข็งไม่สะดวก" ในพระราชบัญญัตินี้ กำหนดการใช้ประทับพระราชลัญจกรมหาโองการไว้ว่า "พระราชลัญจกรมหาโองการประจำชาดองค์กลางสำหรับประทับประกาศใหญ่ อยู่เบื้องซ้ายพระราชลัญจกรไอราพตใหญ่ ประทับประกาศพระราชบัญญัติทั้งปวง และใบกำกับสุพรรณบัฏ หิรัญญบัฏ และประกาศนียบัตรนพรัตนราชวราภรณ์ อยู่เบื้องซ้ายพระราชลัญจกรไอราพตกลาง ประทับสัญญาบัตร อยู่เบื้องซ้าย (ที่ถูกเป็นขวา) พระราชลัญจกรพระครุฑพาห"

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ ความในมาตรา ๒ ซึ่งกำหนดใช้ประทับพระราชลัญจกรมหาโองการประจำชาดองค์กลางยังคงเดิมอยู่ ไม่มีเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นแต่เติมคำว่า กลาง ในที่สุดท้ายของคำว่า พระราชลัญจกรมหาโองการ แสดงว่า ตรามหาโองการที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เป็นองค์กลาง ส่วนองค์ใหญ่คือองค์เดิมที่เลิกใช้มาแต่ในรัชกาลที่ ๔ พระราชลัญจกรมหาโองการลางทีก็เรียกว่า "มหาอุณาโลม" เพราะเปลี่ยนตาที่ ๓ ของพระอิศวรให้เป็นขนหว่างคิ้วของพระพุทธเจ้า (อุณาโลม) เป็นชื่อทีหลัง เรียกตามที่เปลี่ยน (พระราชลัญจกรมหาโองการองค์กลางยังใช้อยู่ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รักษา อนึ่ง เมื่อมีพระราชลัญจกรมหาโองการองค์ใหญ่และองค์กลาง ก็น่าจะมีองค์น้อยหรือองค์เล็กด้วย แต่ไม่ปรากฏมี)

พระราชลัญจกรองค์นี้เดิมเป็นพระราชลัญจกรประจำชาดและประจำครั่ง ว่าสำหรับผนึกพระราชสาส์นและหนังสือสัญญานานาประเทศ (ดู พระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ คำปรารภ ข้อ ๑) ในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพาหประจำชาดขึ้นองค์หนึ่ง (คราวเดียวกันกับที่ทรงสร้างพระราชลัญจกรมหาโองการองค์กลาง) พระราชลัญจกรพระครุฑพาหองค์นี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนทูลเกล้าฯ ถวายตามพระบรมราชโองการ เรียกกันว่า พระครุฑพาหองค์กลาง (ดู รูปที่ ๓) สำหรับใช้ประทับเป็นตราอย่างเดียวกับพระราชลัญจกรมหาโองการ แต่ประทับเบื้องขวาพระราชลัญจกรไอราพต (ดู พระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ มาตรา ๒) พระราชลัญจกรพระครุฑพาหประจำชาดองค์ใหญ่เป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ รูปนอกเป็นวงกลม (ดู รูปที่ ๒) เรียกกันว่า องค์เดิม และมีองค์กลางลายคล้ายกัน แต่ย่อมกว่า รูปกลมรี นอกนี้ ยังมีพระครุฑพาหประจำครั่งอยู่ ๒ องค์ ใหญ่ ๑ เล็ก ๑ จะสร้างขึ้นเมื่อไรไม่ปรากฏ (ตราพระครุฑพาหทั้งหมดที่กล่าวนี้อยู่ในราชพิพิธภัณฑ์)

ต่อมาในรัชกาลเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ตราประทับพระนามด้วยตราอาม ไม่โปรด ตรัสว่า เป็นฝรั่งไป ควรจะใช้ตราพระครุฑพาหประจำตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนถวายใหม่ และทรงพระราชดำริว่า ไม่ควรมีองค์พระนารายณ์ ควรจะมีแต่ครุฑ จึงจะสมด้วยชื่อพระครุฑพาห สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์รับพระบรมราชโองการไปเขียน ทรงพระดำริเห็นว่า รูปครุฑของเดิมเป็นครุฑจับนาค นาคที่ครุฑจับนั้นเป็นอะไร เป็นอาหารครุฑเท่านั้น ดูตะกลามเต็มที จะไปไหนนิดก็ต้องหิ้วของกินไปด้วย จึงทรงเขียนยกนาคออกเสีย มือที่กางอยู่นั้นให้รำตามแบบครุฑนารายณ์ทรงของเขมร (ดู รูปที่ ๔) ทูลเกล้าฯ ถวาย ก็ชอบพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ทำขึ้นใช้ประทับพระปรมาภิไธย ตราดวงนี้อยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยในหนังสือสำคัญทั่วไป (พระราชลัญจกรองค์เดิมที่มีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอยู่จริง ๆ ควรจะเรียกว่า "นารายณ์ทรงครุฑ" เพื่อให้ผิดกันกับพระครุฑพาหองค์ที่ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธย)

มาในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้สร้างตราพระครุฑพาหองค์ใหญ่สำหรับประทับประจำพระนามในรัชกาลขึ้นใหม่ มีลวดลายเอาอย่างพระคุรฑพาหองค์ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๕ แต่ที่ขอบมีหนังสือว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ" แสดงว่า ทรงสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพาหองค์นี้เพื่อเปลี่ยนองค์เก่า คราวเปลี่ยนพระนามมีคำว่า "รามาธิบดี" นำ (ตราพระครุฑพาหองค์นี้ พระเทวาภินิมมิตต์ [ฉาย เทวาภินิมมิต]) เป็นผู้เขียนทูลเกล้าฯ ถวาย ยังอยู่ในราชพิพิธภัณฑ์ ส่วนองค์เก่าที่อ้างถึงจะอยู่ที่ใดไม่ปรากฏ)

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้ใช้ตราพระคุรฑพาหเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินสำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยในหนังสือสำคัญทั่วไป (คือ ตราครุฑที่ใช้กันอยู่ในบัดนี้) ได้มีพระราชปรารภในการที่เปลี่ยนนี้อยู่ในความแห่งพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ว่า พระราชลัญจกรประจำแผ่นดินซึ่งสำหรับประทับกำกับพระบรมนามาภิไธยในหนังสือสำคัญต่าง ๆ และพระราชลัญจกรในพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ต้องสร้างใหม่ทุกคราวที่เปลี่ยนรัชกาล ทรงพระราชดำริว่า พระราชลัญจกรพระครุฑพาหเป็นพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินสืบมาแต่กรุงศรีอยุธยาโบราณ ในครั้งนี้ จะต้องเปลี่ยนพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินตามที่เปลี่ยนรัชกาล สมควรจะใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพาหเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ต่อไป แต่ตามพระราชบัญญัติพระราชลัญจกรซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราไว้แต่วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) นั้น พระราชลัญจกรพระครุฑพาหเดิมสำหรับใช้ประทับเบื้องบนประกาศพระราชบัญญัติต่าง ๆ เมื่อจะใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพาหเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินประทับพระบรมนามาภิไธยก็จะซ้ำกัน จึงทรงพระราชดำริว่า ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชลัญจกรมหาโองการองค์กลางและพระครุฑพาหองค์กลางขึ้นนั้น ก็มีพระราชปรารภจะทรงสร้างพระราชลัญจกรหงสพิมานขึ้นให้ครบพระเป็นเจ้าทั้งสาม แต่ยังหาได้ทรงสร้างขึ้นไม่ ในครั้งนี้ จะใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพาหเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินแล้ว สมควรจะมีพระราชลัญจกรขึ้นใหม่แทนที่ใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพาหองค์กลางขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพาหขึ้นใหม่ ขนาดเท่าพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินของเดิมเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินสืบไป และทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างพระราชลัญจกรหงสพิมานสำหรับใช้แทนที่ประทับพระครุฑพาหองค์กลางในที่ประทับพระราชลัญจกรเบื้องบน ๓ ดวง แต่ในที่ใช้พระราชลัญจกรเบื้องบนแต่สองดวงแล้ว ใช้ประทับพระราชลัญจกรมหาโองการเบื้องซ้าย ประทับพระราชลัญจกรไอราพตเบื้องขวา ส่วนพระราชลัญจกรในพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างขึ้นใหม่เป็นรูปวชิระ (ดู รูปที่ ๕)

พระราชลัญจกรพระครุฑพาหได้เปลี่ยนแปลงรูปและการใช้มาโดยลำดับ เดิมมีลายเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ใช้ประทับประกาศต่าง ๆ อยู่ทางเบื้องขวาของพระราชลัญจกรไอราพต แล้วเปลี่ยนลายให้เหลือแต่ครุฑ ไม่มีองค์พระนารายณ์ สำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยแทนตราอามแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ ส่วนที่ใช้ประทับประกาศต่าง ๆ อยู่ทางเบื้องขวาของพระราชลัญจกรไอราพต เปลี่ยนเป็นใช้พระราชลัญจกรหงสพิมานแทน มาในรัชกาลที่ ๖ ทรงใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพาหเป็นตราประจำรัชกาล แล้วเปลี่ยนมาใช้เป็นตราแผ่นดินตลอดมาจนบัดนี้

พระราชลัญจกรหงสพิมานเป็นตราเก่าองค์หนึ่ง แต่เห็นจะเลิกใช้มาแล้วช้านาน เพราะคำปรารภในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ อ้างว่า "ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชลัญจกรมหาโองการองค์กลางและพระครุฑพาหองค์กลางขึ้นนั้น มีพระราชปรารภจะทรงสร้างพระราชลัญจกรหงสพิมานขึ้นให้ครบพระเป็นเจ้าทั้งสาม แต่ยังหาได้ทรงสร้างขึ้นไม่" ความในพระราชบัญญัติว่า มาในรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงสร้างพระราชลัญจกรหงสพิมานประจำชาดนี้สำหรับใช้แทนที่ประทัพระราชลัญจกรพระครุฑพาหองค์กลางซึ่งโปรดให้โอนไปใช้เป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มาตรา ๓ กำหนดการใช้พระราชลัญจกรหงสพิมานเป็นทำนองเดียวกับที่เดิมใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพาหฉะนั้น พระราชลัญจกรหงสพิมานที่ว่าทรงสร้างในรัชกาลที่ ๖ นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนเป็นรูปหงส์มีบุษบกบนหลัง (ดู รูปที่ ๖) พระราชลัญจกรองค์นี้ทรงเขียนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ หากมาประกาศในรัชกาลที่ ๖ ตราองค์นี้อยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัสอธิบายว่า ตราเก่ามีหงสพิมานอยู่องค์หนึ่ง แต่ไม่ทรงเคยเห็นองค์ตรา เห็นแต่เขียนรูปไว้ที่บานแผละพระทวารพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นหงส์สามตัวอยู่ในวิมานสามช่อง เห็นว่า ใช้ไม่ได้ เอาอย่างพระราชลัญจกรไตรสารเศวต (ดู รูปที่ ๑๕) รู้ได้ว่า ไม่มีใครเห็นเสียนานแล้ว รูปเขียนนั้นเขียนในรัชกาลที่ ๒ ซ่อมเขียนในรัชกาลที่ ๓ แต่เดี๋ยวนี้ทาแดงทับเสียแล้ว จึงได้ทรงเดาเขียนถวายดั่งรูปที่แจ้งมาข้างบนนี้ ลางทีตราพรหมทรงหงส์ของเก่าซึ่งมีอยู่ ๒ องค์จะเป็นตราหงสพิมานก็เป็นได้ (อยู่ในราชพิพิธภัณฑ์ จดไว้ว่า หงสพิมานองค์เดิมดวง ๑ กับจดไว้ในบัญชีว่า พรหมทรงหงส์ดวง ๑ [ดู รูปที่ ๗ และที่ ๘] แต่เห็นไม่ใช่พรหม อาจไม่ใช่ตราหงสพิมาน)

กล่าวมาแล้วว่า ตราประจำตัวหรือประจำตำแหน่งใช้สำหรับประทับแทนเซ็นชื่อ แต่เหตุไฉนพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนจึงมีพระราชลัญจกรประจำพระองค์มากดวง ที่ยังเหลือสืบมาถึงปัจจุบัน คือ พระราชลัญจกร ๔ องค์ดั่งได้กล่าวมาข้างต้น เหตุที่พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมีพระราชลัญจกร ๔ องค์นี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เคยทรงสันนิษฐานและกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แจ้งอยู่ในลายพระหัตถ์ที่กราบบังคมทูล ลงวันที่ ๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ข้อที่ทรงสันนิษฐานไว้นี้ แม้พระองค์ท่านไม่โปรดจะให้นำมากล่าวไว้ในที่นี้ เพราะเป็นเรื่อง "มีความเห็นเถียงกันอยู่มาก ไม่พูดดีกว่า" ก็จริงอยู่ แต่เป็นข้อสันนิษฐานที่น่าฟัง เป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าทางพระราชพงศาวดารมากอยู่ จึงขอนำมาลงไว้ที่นี้ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าไม่โปรด เพื่อไม่ให้ข้อทรงสันนิษฐานนี้ต้องลี้ลับสูญไป ดั่งมีข้อความต่อไปนี้

"วิธีการปกครองแต่ก่อน แบ่งแผ่นดินเป็นสี่ส่วน คือ ส่วนกลางนั้น กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ตั้ง ส่วนตะวันออกนั้น พระนครหลวง (คือ นครธม) เป็นที่ตั้ง ส่วนเหนือนั้น เมืองพิษณุโลกเป็นที่ตั้ง ส่วนตะวันตกนั้น เมืองสุพรรณเป็นที่ตั้ง พระราชาก็มีสี่ คือ พระอินทรราชา หรือพระนครินทรราชา ครองฝ่ายตะวันออก พระธรรมราชา ครองฝ่ายเหนือ พระบรมราชา ครองฝ่ายตะวันตก พระรามาธิบดี หรือราเมศวร หรือพระรามราชาธิราช ครองส่วนกลาง เป็นราชาธิราช ในพระราชพงศาวดารว่า ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนาม พระบรมราชา บ้าง พระอินทรราชา บ้าง นั้นหลง เพราะเห็นที่จดย่อ แท้จริงคงเป็นบรมราชาและอินทรราชาอยู่แล้ว เข้ามาเสวยราชสมบัติเปลี่ยนพระนามเป็นรามาธิบดีทุกพระองค์ พระรามาธิบดีถือตราครุฑ พระอินทรราชาถือตราไอราพต สองดวงนี้แน่ ไม่มีที่สงสัย ธรรมราชาและบรมราชาใครจะถืออะไรนั้นเดายาก หลักมีอยู่หน่อยที่เขาขุดเงินเก่าแขวงนครชัยศรีได้เป็นตรามหาโองการ น่าจะยกให้พระบรมราชาถือตรามหาโองการ โดยเหตุที่กษัตริย์วงศ์สุพรรณคงจะสืบเนื่องมาจากนครชัยศรีนั้นเองเป็นเมืองที่ตั้งก่อน คงได้เลือกเอาเทวราชองค์เอก คือ พระอิศวร ไว้ใช้เป็นตราเสียก่อน กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองตั้งทีหลัง จึงถือเอาเทวราชองค์ถัด คือ นารายณ์ ถ้าความคาดคะเนนี้ถูก ก็เหลือแต่หงสพิมานองค์เดียวต้องตกเป็นของพระธรรมราชา ครั้นต่อมา การปกครองแคบเข้า เกิดจากจลาจล ไว้ใจกันไม่ได้ จึงเลิกตั้งพระราชาครองเมืองภายนอก กวาดเอาตราเข้ามาไว้หมด จึงมารวมกันไว้มาก"

พระราชลัญจกรไอราพตเป็นตราเก่าองค์หนึ่ง เป็นรูปช้างสามเศียร มีอยู่หลายองค์ มีรูปพระอินทร์ทรงก็มี ไม่มีก็มี (ดู รูปที่ ๙ และรูปที่ ๑๐) ใช้สำหรับประทับพระราชสาส์นและประกาศตั้งกรม เดิมเป็นตราประจำชาด ในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างใหม่เป็นตราประจำชาด ๓ องค์ คือ องค์ใหญ่ ๑ องค์กลาง ๑ และองค์น้อย ๑ (ดู พระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ ปรารภ ๓) องค์ใหญ่รูปกลม ทำด้วยโลหะสีเงิน เป็นรูปช้างสามเศียร บนหลังช้างมีบุษบก ในบุษบกมีอุณาโลมแวดล้อมด้วยฉัตร ๔ คัน (ดู รูปที่ ๑๑) ด้ามไม้ดำ แล้วเปลี่ยนเป็นงาช้าง องค์กลางรูปกลมรี ทำด้วยหินโมราสีน้ำผึ้ง แกะสองด้าน ด้านหน้าเป็นรูปไอราพตอย่างที่กล่าวมาข้างต้น (ดู รูปที่ ๑๒) ด้านหลังเป็นหนังสือฝรั่งหลายบรรทัด ด้ามโลหะสีทองกุดั่น มีควงขันคาบโมราไว้ เป็นฝีมือฝรั่งทำ ทั้งสองดวงนี้อยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนองค์น้อยทำด้วยทองคำ รูปกลมรี (ดู รูปที่ ๑๓) ด้ามแก้วขาว อยู่ในราชพิพิธภัณฑ์ นอกจากที่กล่าวมานี้ ในราชพิพิธภัณฑ์ยังมีพระราชลัญจกรไอราพตของเก่าอยู่อีก ๓ องค์ องค์หนึ่งเป็นรูปช้างสามเศียร บนหลังมีบุษบก มีฉัตรขนาบสองข้าง องค์หนึ่งเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมากเศียรอยู่บนวิมาน (ดู รูปที่ ๑๔) อีกองค์หนึ่งเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างสามเศียร มีฉัตรขนาบสองข้าง

ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ กำหนดใช้พระราชลัญจกรไอราพตองค์ใหญ่สำหรับประทับประกาศใหญ่ อยู่ในระหว่างกลางพระราชลัญจกรมหาโองการและพระครุฑพ่าห์ พระราชลัญจกรองค์กลางสำหรับประทับประกาศพระราชบัญญัติทั้งปวง และใบกำกับสุพรรณบัฏ หิรัญญบัฏ และประกาศนียบัตรนพรัตนราชวราภรณ์ อยู่ในหว่างกลางพระราชลัญจกรมหาโองกรและพระครุฑพาห ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) มาตรา ๔ มีข้อความเหมือนที่กล่าวมาข้างต้นนี้ แต่เปลี่ยนพระครุฑพาหเป็นหงสพิมาน เพราะเหตุที่ทรงพระราชดำริว่า ตราพระครุฑพาหใช้เป็นตราประจำรัชกาลและประจำแผ่นดินซ้ำกัน

พระราชลัญจกรไตรสารเศวต

พระราชลัญจกรองค์นี้ (ดู รูปที่ ๑๕) พบประทับกระดาษปลิว สอดไว้ในหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศของเก่า เข้าใจว่า สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๒ หมายถึง พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา พระยาเศวตคชลักษณ์ ซึ่งได้มาในรัชกาลนั้น (จ.ศ. ๑๑๗๙) ใช้เป็นตราประจำพระองค์

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่และยังคงใช้อยู่ คือ

๑.พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ

๒.พระราชลัญจกรสยามโลกัคราช

๓.พระราชลัญจกรนามกรุง

๔.พระราชลัญจกรจักรรถ

๕.พระราชลัญจกรอุณาโลมในกลีบบัว

พระราชลัญจกรองค์นี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แทนพระราชลัญจกรมหาโองการองค์เดิม เป็นดวงตราประจำชาด แกะด้วยงาพระยาช้างเผือก รูปสี่เหลี่ยมรีมุมตัด มีแผ่นงาซ้อนบนหลังตราแต่เล็กกว่าอีกแผ่นหนึ่งเป็นที่จับประทับ เลี่ยมแง่และข้างด้วยทองคำ ขอบมีลายเบญจราชกกุธภัณฑ์ ข้างในตอนบนมีอักษร ๑๒๐ ว่าเป็นอักษรพราหมณ์ อ่านว่า โอม ตอนล่างเป็นตัวหนังสือขอม อ่านว่า พระบรมราชโองการ (ดู รูปที่ ๑๖) พระราชลัญจกรองค์นี้อยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นับได้ว่า เลิกใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่จริงเลิกแล้วแต่เมื่อสร้างพระราชลัญจกรพระมหาโองการกลาง แต่พระราชบัญญัติเก่ายังมีอยู่

ต่อมา โปรดให้สร้างใหม่ขึ้นอีกองค์หนึ่งด้วยทองคำสำหรับแทนองค์ที่แกะด้วยงาพระยาช้างเผือก แต่มีขนาดย่อมกว่า เรียกว่า พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์น้อย พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์ใหญ่ใช้ประทับสัญญาบัตรเจ้าต่างกรม พระราชาคณะ พระครู และข้าราชการทรงตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ ส่วนองค์น้อยใช้สำหรับประทับในการจ่ายเงินคลัง จ่ายดินปืน สั่งถ้อยความ และถอดคนโทษ และอื่น ๆ (ดู ประกาศพระราชลัญจกร ในรัชกาลที่ ๔ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๒๑๖ [พ.ศ. ๒๓๙๗] ซึ่งมีความเป็น ๒ ประการ กล่าวด้วยการสร้างพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์น้อยขึ้นด้วยทองคำ ประการหนึ่ง กับถ้าเป็นการด่วน จะประทับตราพะทำมะรง อีกประการหนึ่ง ในประกาศว่าด้วยพระราชทานสัญญาบัตร [ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ ๔] ว่า พระราชลัญจกรพระบรมมหาโองการทรงประทับนำหน้าพระราชลัญจกรโลโตน้อย พระบรมมหาโองการกับพระบรมราชโองการดูคล้ายกันมาก)

ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ มาตรา ๔ และในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มาตรา ๕ กำหนดไว้ว่า "พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์ใหญ่ประจำชาด สำหรับประทับสัญญาบัตรยศ และสัญญาบัตรตำแหน่ง และหนังสือพระราชทาน ที่ในหว่างกลางองค์เดียว องค์น้อยสำหรับประทับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องสรรพาวุธ และสำเนาหนังสือ และการที่ไม่สำคัญ" (พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์น้อย เวลานี้เห็นจะเลิกใช้ เพราะไม่ปรากฏว่ามีอยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือที่ในราชพิพิธภัณฑ์)

ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนตราพระบรมราชโองการถวายเปลี่ยนใหม่เป็นรูปไข่เพื่อให้เข้ากับตราไอราพตอันมีอยู่แล้ว ทำด้วยโมรา ลายในย้อนกลับไปเอาอย่างตรามหาโองการอีก แต่มีเปลี่ยนบ้าง ยังใช้ประทับในสัญญาบัตร ในรัชกาลที่ ๘ พ.ศ. ๒๔๘๓ โปรดให้แก้พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีลายเบญจราชกกุธภัณฑ์อยู่ภายใน ตอนบนนพปฎลเศวตฉัตร ตอนล่างเปลี่ยนคำว่า "พระบรมราชโองการ" จากอักษรขอมเป็นอักษรไทย ใช้แทนองค์เดิมซึ่งยกเลิก อยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

เหตุที่ตราพระบรมราชโองการแต่เดิมใช้ตัวอักษรขอมนั้น ตัวอักษรที่ใช้ในพื้นเมืองเมื่อก่อน พ.ศ. ๑๘๒๘ ใช้แต่อักษรขอมอย่างเดียว พระเจ้ารามกำแหงมหาราชกรุงสุโขทัยทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๘ แต่นั้นมา หนังสือที่เขียนเป็นภาษาไทยจึงเขียนด้วยอักษรไทย แต่นอกจากนั้น พระไตรปิฎกก็ดี และบรรดาคาถาอาคมเวทมนตร์ทั้งปวงซึ่งเป็นภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตยังใช้เขียนตัวอักษรขอมต่อมาทั้งสมัยกรุงสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมาจนในกรุงรัตนโกสินทรนี้ตอนก่อนรัชกาลที่ ๔ เพราฉะนั้น แม้เรียกว่าอักษรขอมก็จริง แต่ไทยเราไม่ได้ใช้เพราะนับถือเขมร ถือแต่ว่า เป็นตัวอักษรซึ่งเคยใช้มาแต่ดั้งเดิมสำหรับเขียนหนังสืออันเป็นที่นับถือในทางศาสนา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือเก่า เช่น หนังสือมหาชาติคำหลวงแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยาก็ดี หนังสือที่แต่งชั้นหลัง เช่น หนังสือมงคลทีปนีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้แปลก็ดี ในสมุดเล่มเดียวกันที่ตรงอรรถภาษามคธเขียนเป็นตัวอักษรขอม ที่ตรงแปลเขียนเป็นตัวอักษรไทย ลางทีหนังสือเทศน์ที่จารในใบลาน เช่น หนังสือเทศน์มหาชาติความภาษาไทย ก็จารเป็นอักษรขอม เพราะพระสงฆ์ชำนาญอ่านหนังสือขอม เมื่อว่าโดยย่อ ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๒๘ เป็นต้นมา ไทยเราใช้อักษร ๒ อย่างสำหรับเขียนภาษาซึ่งนับถือในทางศาสนาอย่าง ๑ สำหรับเขียนภาษาของเราเองอย่าง ๑ ดังนี้

"พระราชลัญจกรที่มีคำว่า พระบรมราชโองการ เป็นอักษรขอมนั้น เป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงใช้อักษรขอม สันนิษฐานว่า คงทรงพระราชดำริว่า คำ พระบรมราชโองการ เป็นคำภาษามคธและสันสกฤต เข้าเกณฑ์จำพวกคำภาษาอื่นซึ่งนับถือในทางศาสนา จึงทรงใช้อักษรขอม

"ตำนานเรื่องที่แปลงหนังสืออรรถภาษามคธจากอักษรขอมมาใช้ตัวอักษรไทยเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อมีเครื่องพิมพ์ ๆ หนังสือไทยได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใคร่จะทรงพิมพ์หนังสือสวดมนต์และคาถาอื่น ๆ ในพระไตรปิฎกให้แพร่หลาย จะพิมพ์เป็นอักษรขอมไม่ได้ จึงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ์ คิดวิธีเขียนอักษรไทยเป็นภาษามคธ ต้องคิดเครื่องหมายตัวอักษรเพิ่มขึ้นหลายอย่าง คือ เรียกว่า ยามักการ และวัญชการ เป็นต้น แบบนั้นพึงเห็นได้ในหนังสือพระไตรปิฎกฉะบับหลวงซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ ครั้นมาถึงในรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแก้ไขวิธีเขียนให้ใช้จุดแทนยามักการวัญชการ เป็นวิธีเขียนง่ายและสะดวก จึงคงใช้มาจนทุกวันนี้ แบบนี้พึงเห็นได้ในพระไตรปิฎกสยามรัฐที่ตีพิมพ์ไว้ในรัชกาลปัจจุบันนี้[3] แต่ต่อไปภายหน้า หนังสือขอมคงจะเหลืออยู่แต่ที่จารหรือเขียนไว้ในหนังสือโบราณ ในบรรดาหนังสือไม่คงจะใช้แต่อักษรไทยอย่างเดียว ผู้ที่อ่านหนังสือขอมไม่ออก แม้จนมหาบาเรียน เดี๋ยวนี้ก็มีมากขึ้นทุกที เพราะเรียนภาษามคธด้วยตำราซึ่งตีพิมพ์เป็นอักษรไทยอยู่หมดแล้ว การใช้อักษรขอมในประเทศนี้จึงนับได้ว่าเป็นอันเลิกแล้ว" (จาก หนังสือวรรณคดีสมาคม ปีที่ ๑ ฉะบับที่ ๔ หน้า ๒๙–๓๑)

ยังมีตราดุนกระดาษอีกอย่างหนึ่ง เห็นมีพิมพ์อยู่เหนือประกาศพระราชกฤษฎีกาต่าง ๆ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาอยู่เสมอ ตราดวงนี้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตรัสอธิบายว่า "พระราชลัญจกรดุนกระดานั้นทำขึ้นในรัชกาลที่ ๕ นานมาแล้ว เรียกกันว่า กระดาษตราพระบรมราชโองการ สำหรับใช้เขียนพระราชหัตถเลขาอย่างเดียว คิดว่า ดำริเดิมคงจะให้เป็นสองทาง คือ เป็นพระราชหัตถเลขาซึ่งประทับพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการอย่างเก่าก็ได้ หรือเป็นกระดาษตราอย่างธรรมดาข้างฝรั่งก็ได้ โดยที่ดำริอย่างนั้น จึงได้เก็บเอาสิ่งที่มีในพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการของเก่าแต่ละอย่าง และเพิ่มขึ้นใหม่อีกลางอย่าง ผูกเป็นรูปใหม่ให้สมกับที่เป็นตรากระดาษ ในการที่เป็นตรากระดาษอันมีอยู่มากมาย ไม่ได้รักษาไว้ในที่มิดชิด เช่น พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการของเก่านั้น เพราะความสำคัญเลื่อนไปอยู่ที่ทรงเซ็นพระปรมาภิไธยเสียแล้ว แม้ใครจะเขียนอะไรลงไปในกระดาษอันมีพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ แต่ไม่มีลายเซ็นพระปรมาภิไธย ก็ไม่เป็นหลักฐานที่จะพึงฟังได้ว่าเป็นพระบรมราชโองการ"

ตัวอักษร |20 ที่มีอยู่ในตราพระบรมราชโองการตอนบน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า "จะเป็น อ-อุ-ม ตามคาถา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ที่เขาว่าหนังสือพราหมณ์นั้นน่ากลัวจะไม่ถูก เห็นจะทรงพระราชดำริผูกขึ้น ตัวหน้าซึ่งคะเนว่าเป็นตัว อ นั้น เป็นขีดเดียว ต้องกันกับหนังสืออริยกะซึ่งทรงพระราชดำริผูกขึ้นเหมือนกัน ตัวกลางน่าจะทรงพระราชดำริผูกขึ้นเทียบด้วยตัว อุ ตามหนังสือขอมในตราเดิม (คือ ตามตรามหาโองการ) ตัวหลังเป็น ม คือ นิคหิต ไม่มีข้อสงสัย ตรงกับอักษรเดิมที่ใช้ พาลจันทร์หมายเป็นตัว อ นั้นเอาอะไรมา น่าจะฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมทีเดียวเขียนดั่งนี้ โองการ (ทีจะหมายเป็น ม-อ-อุ อย่างเก่า) ดูแต่นิคหิตหนังสือสันสกฤตเถิด เขียนจุดเดียว และหนังสือขอมชะนิดเขียนด้วยปากกากว้าง ซึ่งเรียกกันว่า ขอมย่อ นั้น ก็เขียนจุดเดียว เห็นจะมาแก้เป็นกลางกลวงกันเมื่อเขียนด้วยเหล็กจาร เพราะจะเอาเหล็กแหลมจิ้มลงไปทีเดียวกลัวจะแลไม่เห็น จึงเขียนให้ใหญ่กลายเป็นพินทุ เมื่อนิคคหิตเป็นจุดกลวงไปแล้ว วงเล็บใต้นั้นก็พลอยกลวงเป็นพาลจันทร์ไปด้วย ส่วนอุณาโลมรูปนี้ อุณาโลม น่าจะเป็นของทางไสยศาสตร์ คือ ตาที่สามของพระอิศวรซึ่งประดิษฐานอยู่ตรงหน้าผาก ที่เอามาใส่ไว้เหนืออักขระโอมนั้น ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่า เป็นทางไสยศาสตร์ ตราพระมหาโองการ หมายถึง พระอิศวร ตราครุฑ หมายถึง พระนารายณ์ ตราหงสพิมาน หมายถึง พระพรหม ตราไอราพต หมายถึง พระอินทร์ ฯลฯ แต่ล้วนเป็นทางไสยศาสตร์ทั้งนั้น ที่เรียกว่า อุณาโลม กลัวจะลากเอาเข้ามาสู่พุทธศาสนาทีหลัง ดูไม่เห็นจะเป็นอุณาโลมได้ที่ตรงไหน พระพุทธรูปที่ทำกันในเมืองเราก็เป็นพระนลาฏเกลี้ยง ๆ ไม่มีอุณาโลม มีพระพุทธรูปทางอินเดียเหนือทำมีอุณาโลมอยู่บ้าง แต่ก็ทำเป็นเมล็ดกลมเท่านั้น เป็นสมควรที่สุดที่จะหมายเป็นขนหว่างคิ้ว มีหนังสือท่านอธิบายว่า เป็นขนเส้นยาวขมวดอยู่"

พระราชลัญจกรองค์นี้เป็นตราประจำชาด สร้างในรัชกาลที่ ๔ ทำด้วยทองคำ เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีช้างหมอบอยู่บนหลังตราเป็นที่จับประทับ (จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า ตราช้างหมอบ) ชื่อพระราชลัญจกรดวงนี้ คือ สยามโลกัคราช เทียบเลียนล้อมาจากคำว่า "เสี้ยมโหลก๊กอ๋อง" ในดวงตรามีอักษรขอมอยู่ ๔ บรรทัด (ดู รูปที่ ๑๗) ว่า

  • สฺยามโลกคฺคราชสฺส
  • สนฺเทสลญฺจนํ อิทํ
  • อชฺฌาวาสฺสานุสาสกสฺส
  • วิชเต สพฺพชนฺตุนํ

แปลว่า

  • ใบประทับตรานี้
  • ของอัครราชาโลกสยาม
  • ผู้ปกครองสั่งสอน
  • สรรพชนในแว่นแคว้น

พระราชลัญจกรองค์นี้ ในพระราชบัญญัติซึ่งกล่าวมาแล้วว่า ใช้สำหรับประทับใบพระราชทานที่วิสุงคามสีมาในหว่างกลางองค์เดียว (พระตรานี้อยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)

พระราชลัญจกรองค์นี้ทำด้วยทองคำเหมือนกัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมรี มีรูปช้างยืนอยู่บนหลังตรานั้น (เรียกกันว่า ตราช้างยืน) ลายตราเป็นตัวอักษรขอม อ่านว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุชฌิยา บรมราชธานี" (ดู รูปที่ ๑๘ และ ๑๙) ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ กล่าวว่า พระราชลัญจกรนามกรุงเป็นตราประจำชาด สร้างในรัชกาลที่ ๔ มีสององค์ ใหญ่ ๑ เล็ก ๑ สำหรับประจำวิสุงคามสีมา และใบสำคัญเบี้ยหวัดพระราชวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวช และใบอนุญาตทูลลาบวช ในพระราชบัญญัติที่กล่าวนี้ มาตรา ๖ กำหนดให้ใช้พระราชลัญจกรองค์ใหญ่สำหรับประทับใบถวายเสนาสนะและใบพระราชทานพระบรมราชานุญาตข้าราชการกราบถวายบังคมลาบวช ในหว่างกลางองค์เดียว ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มาตรา ๗ กำหนดการใช้ประทับพระราชลัญจกรนามกรุงคงตามเดิมดั่งข้างต้นอยู่ (พระราชลัญจกรนามกรุงองค์ใหญ่อยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนองค์น้อยอยู่ที่ในราชพิพิธภัณฑ์ เลิกใช้แล้ว)

พระราชลัญจกรองค์นี้ (ดู รูปที่ ๒๐) มีข้อความอยู่ในคำปรารภตอนท้ายแห่งพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ ว่า "และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรจักรรถซึ่งเป็นพระราชลัญจกรสำหรับพระเจ้าแผ่นดินโบราณสำหรับประจำเรือนเลขอีกองค์หนึ่ง ด้วยเหตุว่า จะมิให้ซ้ำกับพระราชลัญจกรอุณาโลมที่ได้มีในองค์อื่นแล้ว สำหรับที่จะได้เป็นพระราชลัญจกรประทับในราชการทั้งปวงสืบไป" พระราชลัญจกรจักรรถที่กล่าวนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนทูลเกล้าฯ ถวาย (พระตราองค์นี้อยู่ที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ มาตรา ๗ และพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มาตรา ๘ กำหนดให้ใช้พระราชลัญจกรจักรรถสำหรับประทับเรือนเลขในหนังสือซึ่งประทับตราพระราชลัญจกรมหาโองการและพระบรมราชโองการ

ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ มาตรา ๘ และฉะบับรัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มาตรา ๙ กำหนดใช้พระราชลัญจกรนี้เป็นตราสำหรับประทับเรือนเลขในหนังสือซึ่งไม่ได้ประทับพระราชลัญจกรมหาโองการและพระบรมราชโองการ พระราชลัญจกรนี้มีปรากฏในประกาศว่าด้วยพระราชทานสัญญาบัตร (ดู ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ ๔) ว่า พระราชลัญจกรอุณาโลมน้อย (ซึ่งคนหมายพระราชลัญจกรองค์นี้) ใช้ประทับจำนวนศักดินา และในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร ฉะบับรัตนโกสินทรศก ๑๓๐ ก็อ้างไว้ว่า พระราชลัญจกรนี้ได้สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ องค์หนึ่ง และในรัชกาลที่ ๕ องค์หนึ่ง แม้พระราชลัญจกรนี้กำหนดให้ใช้อยู่ในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกรที่กล่าวมาข้างต้นก็ดี แต่ไม่ปรากฏว่า ทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีตรานี้ไว้ คงมีอยู่แต่ในราชพิพิธภัณฑ์ ๔ องค์ซึ่งเลิกใช้แล้ว ลางทีอาจเลิกใช้แล้วเมื่อคราวสร้างพระราชลัญจกรจักรรถก็ได้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตรัสว่า ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างพระราชลัญจกรจักรรถขึ้นใหม่ด้วยไม่โปรดตราที่ใช้อยู่เก่า เพราะมีหนังสือจีนว่า อ๊วง อยู่ใต้อุณาโลมภายในดอกบัว (ดู รูปที่ ๒๑) เห็นจะเป็นตราอุณาโลมที่กล่าวมาข้างต้นนี้


ตราประจำตัวประจำตำแหน่ง แต่เดิมมีประเพณีพระราชทานพระราชลัญจกรไปเป็นเกียรติยศ พระราชลัญจกรที่พระราชทานไปนี้เคยเป็นพระตราอันเคยใช้ทรงประทับหรือโปรดให้ทำขึ้นใหม่ก็ได้ เมื่อพระราชทานไปแล้ว ก็ไม่เรียกว่า พระราชลัญจกร จะเรียกจำเพาะแต่ที่ใช้ทรงประทับเท่านั้น ผู้ที่ได้รับตราพระราชทาน ถ้าเป็นตราประจำตัว เมื่อไม่มีตัวแล้ว ก็ส่งคืน ถ้าเป็นตราประจำตำแหน่ง เมื่อเลิกตำแหน่งแล้ว ก็ต้องส่งคืนเช่นเดียวกัน ใครจะเอาไปกดหรือใช้ต่อไปหาได้ไม่ ต่อมา ตราประจำตำแหน่งมักเป็นตราที่สร้างเองและขอพระบรมราชานุญาตใช้ หาใช่เป็นตราที่โปรดพระราชทานเหมือนแต่ก่อนไม่

อนึ่ง เมื่อครั้งยังมีพระราชประเพณีทรงตั้งฐานันดรยศเจ้านายและข้าราชการก่อนมีสุพรรณบัฏ หิรัญญบัฏ และสัญญาบัตร ได้ทราบว่า ใช้หมายสั่งตั้งให้ใครเป็นอะไร จึงทำให้เข้าใจว่า การตั้งเสนาบดีย่อมสำเร็จด้วยพระราชทานพระราชลัญจกรเป็นตราตำแหน่ง เป็นอันเสนาบดีได้รับพระราชทานอำนาจเต็มตามหน้าที่อันมีในกฎพระธรรมนูญ การที่เสนาบดีบังคับบัญชากิจราชการก็สิทธิ์ขาดด้วยท้องตราดำเนินกระแสพระบรมราชโองการเป็นสำคัญสืบมาดั่งนี้ ครั้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ มีพระราชประเพณีทรงตั้งข้าราชการด้วยพระราชทินนามอันจารึกในสุพรรณบัฏ หิรัญญบัฏ และสัญญาบัตรเป็นสำคัญแล้ว ส่วนพระราชลัญจกรสำหรับตำแหน่งเสนาบดีนั้นก็รับมอบกันเสียเอง หาได้พระราชทานพร้อมกับราชทินนามทุกคราวไม่ เพราะเหตุที่ไปรับมอบตราตำแหน่งกันเอาเอง ด้วยตัวเสนาบดีตายไม่มีใครจะถวายตราตำแหน่งคืน เสมียนตราอันมีตำแหน่งได้รักษาตราก็เฝ้าไม่ได้ ความเป็นไปบังคับให้ต้องเป็นเช่นนั้น มาในรัชกาลที่ ๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาไว้ว่า ถ้าและเสนาบดีผู้ใดต้องออกจากตำแหน่งกระทรวงใด ๆ ด้วยการย้ายกระทรวงก็ดี หรือด้วยเหตุอย่างอื่นก็ดี ให้เสนาบดีผู้นั้นนำตราตำแหน่งของตนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อจะได้พระราชทานแก่ผู้ที่รับตำแหน่งใหม่ต่อไป ถ้าเสนาบดีผู้จะต้องออกจากกระทรวงนั้นป่วยหนัก หรือถึงแก่มรณภาพ หรือด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะนำดวงตรามาทูลเกล้าฯ ถวายมิได้ไซร้ ให้เป็นหน้าที่เสนาบดีมุรธาธรเรียกและนำตราตำแหน่งนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย (พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยตำแหน่งเสนาบดี พ.ศ. ๒๔๕๗

ตราเครื่องหมายประจำกระทรวงต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ คือ

สำนักนายกรัฐมนตรี ตราคชสีห์ราชสีห์รักษารัฐธรรมนูญ
กระทรวงมหาดไทย ตราราชสีห์
กระทรวงกลาโหม ตราคชสีห์
กระทรวงการคลัง ตราพระสุริยมณฑล
กระทรวงการต่างประเทศ ตราบัวแก้ว
กระทรวงเกษตราธิการ ตราพระพิรุณทรงนาค
กระทรวงยุตติธรรม ตราพระดุลยพาห
กระทรวงพาณิชย์ ตราพระวิศุกรรม
กระทรวงคมนาคม ตราพระรามทรงรถ
กระทรวงการอุตสาหกรรม ตรานารายณ์เกษียรสมุทร
กระทรวงการสาธารณสุข ตราคบเพลิงมีปีกและมีงูพันคบเพลิง

บรรดาตราที่กล่าวมานี้ เป็นตราเดิมที่ได้รับพระราชทานตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็ดี เป็นตราที่สร้างขึ้นใหม่ก็ได้ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ ตราตำแหน่งเสนาบดีเหล่านี้ไม่ปรากฏว่าใช้ประทับอีกต่อไป นอกจากใช้เป็นตราเครื่องหมายประจำกระทรวง แต่เดิมมา บรรดาตราประจำตำแหน่งมีระบุไว้ในลักษณะพระธรรมนูญใช้ตราในพระราชกฤษฎีกาเดิม ว่าเฉพาะตราเสนาบดี หรือรัฐมนตรีในเวลานี้ ก็มีตราพระราชสีห์ประจำตำแหน่งสมุหนายก ตราพระคชสีห์ประจำแหน่งสมุหพระกลาโหม ถัดมาก็มีตราตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า

"ตราพระราชสีห์เห็นจะมีก่อนอื่นหมด เพราะว่า เดิมเสนาบดีคงมีตำแหน่งเดียว เป็นผู้รองพระเจ้าแผ่นดินในที่ว่าราชการต่าง ๆ แต่การรบคงมากกว่าอย่างอื่น ตามตำแหน่งที่เรียก เสนาบดี ก็หมายความว่า เป็นใหญ่ในเสนา (คือ ทหาร) ให้ใช้ตราราชสีห์ เป็นการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญตามคำที่ใช้เรียกคนกล้าว่า นรสิงห์ ภายหลังการมากขึ้น คนเดียวบังคับไม่ไหว จึงตั้งเติมอีกตำแหน่งหนึ่งแบ่งกันบังคับการ คนหนึ่งให้บังคับพลทหารที่ประจำการสงคราม อีกคนหนึ่งให้บังคับพลเรือน คือ พลที่อยู่เรือน ไม่ไปสงคราม ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นจะให้ใช้ตราอะไรเป็นคู่กัน ก็เลือกได้คชสีห์ แต่ที่จริงคลาดไปหน่อย คำว่า คชสีห์ เห็นจะเป็นคำยกย่องช้างตัวกล้าว่าดุเหมือนราชสีห์ ไต่มาจากคำว่า นรสิงห์ นั้นเอง ทีหลังนี้ท่านทั้งสองนี้ไม่ไหวเข้า จึงเกิดตั้งเสนาบดีขึ้นอีก ๔ ตำแหน่งที่เรียกว่า จตุสดมภ์ สำหรับช่วยบังคับการงาน ท่านทั้งสองก่อนนั้นจึงเลื่อนเกียรติยศเป็นอัครมหาเสนาบดี แต่จตุสดมภ์นั้นน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งของประเทศหนึ่งซึ่งจัดตั้งเสนาบดี ๔ ตำแหน่ง เราเอาอย่างมาแล้วเก่าก็ไม่ทิ้ง จึงตกลงเป็นแย่งกันทำ หน้าที่ก็ก้าวก่ายไป จนในทีหลังเลอะเลือนไปหมด ข้าพระพุทธเจ้าอยากจะกะหน้าที่ให้ใหม่ เสนาบดีเวียงมีหน้าที่รักษาเมืองทั่วพระราชอาณาเขตต์ คือ คุมพลทหารรักษาบ้านเมือง ได้แก่ เสนาบดีกลาโหม เสนาบดีวังมีหน้าที่ตัดสินความทั่วพระราชอาณาเขตต์ เพราะเหตุเดิมเมื่อบ้านเมืองยังไม่กว้างใหญ่ มีแต่ความฎีกา พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชวินิจฉัยด้วยพระองค์เองในท้องพระโรง ภายหลัง บ้านเมืองใหญ่ออกไป ก็ตั้งขุนศาลตุลาการรายไปทำการ แต่คงต้องนำความกราบบังคมทูล เสนาบดีวังเป็นผู้รับสั่ง จึงได้เป็นใหญ่ในการพิพากษาคดี ชื่อยังปรากฏอยู่ว่า เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีคลังมีหน้าที่สำหรับเก็บส่วย จ่ายของ เสนาบดีนามีหน้าที่สำหรับปกครองให้ราษฎรทำกิน คลังและนาทั้งสองตำแหน่งนี้รวมกันได้แก่เสนาบดีมหาดไทย ตราของท่านทั้งสองนี้อยู่ข้างจะยุ่ง คิดแปลไม่ใคร่ออก ตราเสนาบดีวังเป็นเทพยดาทรงพระนนทิการ (ดู รูปที่ ๒๒) นี่เห็นจะพอแปลได้ ในหนังสือนารายณ์สิบปางข้างไทยว่า พระนารายณ์จะฆ่ากรุงพาน พระอิศวรขอไว้เอาไปเป็นนนทรีเฝ้าประตูไกรลาส ในดิกชันนารีเทวดาฮินดูที่ฝรั่งตีพิมพ์ว่า นนทรีนั้นคือโคที่พระอิศวรทรง อีกนัยหนึ่งว่า เป็นอธิบดีกรมวังของพระอิศวร ก็เห็นจะยุติได้ว่า ตั้งใจจะใช้ตัวอธิบดีกรมวังของพระเจ้าเป็นเครื่องหมาย ตราพระยมของเสนาบดีเมือง (ดู รูปที่ ๒๓) นั้นกระไรอยู่ ที่ควรแล้ว ตราพระยมน่าจะเป็นของเสนาบดีเมือง ก็เพราะชื่อว่า เจ้าพระยายมราช แต่ที่จริงก็ซ้ำกับเสนาบดีวัง ธรรมะก็เป็นชื่อพระยมนั่นเอง เวลาที่ตั้งชื่อเสนาบดีเมืองเป็นเจ้าพระยายมราชนั้น คงเป็นเวลาที่เสนาบดีคนนั้นได้ดูแลในการถ้อยความทั้งสิ้น เจ้าพระยาธรรมาเวลานั้นคงจะเหลวไหลไปอย่างไรอย่างหนึ่ง ตราพระยมคงเกิดทีหลังพระนนทิการ ตราบัวแก้วเสนาบดีคลังนี้เหลือแปล จะเป็นตราดอกบัวทำตามบุญตามกรรมอย่างนั้นหรือประการใด หรือจะหมายเป็นกมลาสน์ ถ้ากระนั้นทำไมไม่ทำพรหมนั่งบนดอกบัว นี่เอาเทวดาหน้าเดียวบรรจุลงในเกสรบัว (ดู รูปที่ ๓๒) จะเป็นกมลาสน์ไม่ได้ และถ้าเป็นดอกบัวเปล่าก็ดี หรือเป็นกมลาสน์ก็ดี ควรจะเป็นเครื่องหมายพนักงานคลังได้อย่างไร ตกลงยังแลไม่เห็นในดวงตรานี้ ส่วนตราเสนาบดีกระทรวงนามีถึง ๙ ดวง ช่างเกินต้องการจริง สำหรับใช้ไปเอาอะไรต่ออะไรจำหน่ายออกเปรอะ ที่แท้ตราเสนาบดีเห็นจะเป็นพระพิรุณทรงนาคที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ด้วยเป็นเทวดาผู้เป็นเจ้าน้ำอันต้องการสำหรับเพาะปลูก ตราอื่นอีก ๘ ดวง มีตราพิทยาธรถือดอกจงกลนี ตรานักคลินังคัลถือไถ เป็นต้น ไม่ใช่เทวดา ควรเป็นตราเจ้าพนักงาน เมื่อไม่มีตัวแล้ว เสนาบดีกวาดเอาไปรวมเก็บไว้ ภายหลังก็เลยหลงเป็นตราเสนาบดีไปทั้งหมด ก็อาจจะเป็นได้ (ดูลายของตรา ๙ ดวงนี้ในหนังสือเรื่องประวัติกระทรวงเกษตราธิการ)

"เมื่อสังเกตตามแนวเก่า ท่านย่อมใช้ตราเทวราชสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ตราเทวดาผู้มีหน้าที่สำหรับเสนาบดี ดูก็เป็นการสมควร ตราเก่ามีเอาเทวราชมาทำให้เสนาบดีอยู่ดวงหนึ่ง คือ ตราจักร (ดู รูปที่ ๒๔) คิดด้วยเกล้าฯ ว่า สำหรับเจ้าพระยาจักรี ไม่ใช่สำหรับเสนาบดีมหาดไทย เจ้าพระยาจักรีคนแรกคงเป็นที่ทรงพระกรุณาไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำการต่างพระองค์ถึงประหารชีวิตได้โดยลำพัง จึงตั้งชื่อเป็นนารายณ์ และพระราชทานตราจักราวุธนารายณ์เป็นเครื่องหมาย เป็นการควรแก่ตำแหน่ง เมื่อเจ้าพระยาจักรีว่าที่สมุหนายกด้วย จึงถือตราสองดวง คือ จักร กับราชสีห์ ย่อมปรากฏเห็นได้โดยธรรมเนียมที่บังคับการธรรมดาใช้แต่ตราพระราชสีห์ ถ้าสั่งประหารชีวิตจึงจะประทับตราจักรด้วย สำแดงคำสั่งเจ้าพระยาจักรี เพราะอำนาจสมุหนายกประหารชีวิตคนไม่ได้ ตามความเห็นข้าพระพุทธเจ้า รักจะใคร่ให้เก็บตราจักราวุธเข้ามารักษาไว้ในออฟฟิศหลวงเป็นพระลัญจกร เพราะเป็นตราของปฐมบรมกษัตริย์ต้นราชวงศ์นี้ จนได้ใช้ลงในตราแผ่นดินและอะไร ๆ เป็นอันมาก (ตรีนั้นเกินไป ด้วยไม่รู้หนังสือกรีกับตรี เห็นผิดกันไม่ได้) ไม่สมควรจะให้ผู้หนึ่งผู้ใดถือต่อไป เวลาจะประหารชีวิตคนตามหัวเมือง ให้กระทรวงมหาดไทยนำท้องตรามาประทับพระราชลัญจกรจักราวุธที่ออฟฟิศหลวงเป็นอันสำเร็จกันเหมือนดั่งก่อน ตราเทวราชอีกดวงหนึ่ง ก็คือ นารายณ์เกษียษสมุทร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานกรมหลวงวงศาฯ ใช้ ไม่ทราบเกล้าฯ ว่า พระราชทานเมื่อใด แต่ได้เห็นใช้ประทับในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีต่างประเทศ บางทีจะพระราชทานสำหรับการนั้นเอง ด้วยทรงพระราชดำริเห็นเป็นที่ทำการต่างพระองค์ ใช้ตราเทวราชควรอยู่ ตราเทวราชซึ่งผู้ใช้มิได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน นึกได้หรือได้ทราบเกล้าฯ แต่สามดวงเท่านี้" (ลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๙ กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ต่อมา ในรัชกาลที่ ๕ ทรงจัดระเบียบปกครองใหม่ แบ่งส่วนใหญ่ของราชการออกเป็นกระทรวง มีเสนาบดีบังคับบัญชา ตราพระราชสีห์ประจำตำแหน่งสมุหนายกเดิมจึงมาเป็นตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตราพระคชสีห์ประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ภายหลังเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ จึงนำเอาตราพระคชสีห์และพระราชสีห์นี้มาประกอบเป็นรูปรักษารัฐธรรมนูญใช้เป็นตราเครื่องหมายตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ดู รูปที่ ๒๕)

ตรากระทรวงมหาดไทย คือ ตราพระราชสีห์ดั่งกล่าวมาแล้ว ตราสำหรับกระทรวงมักมีตราใหญ่ดวง ๑ และตราน้อยดวง ๑ ลางกระทรวงมีตรากลางอีกดวง ๑

ตราใหญ่ใช้สำหรับประทับสารตราเจ้าพระยาจักรีดำเนินกระแสพระบรมราชโองการและการใหญ่ ๆ ทั้งปวงอันเกี่ยวข้องอ้างถึงกระแสพระบรมราชโองการ

ตรากลางเดิมใช้ประจำผนึก และสำหรับผู้แทนเสนาบดีประทับหนังสือถึงหัวเมืองในเวลาเสนาบดีไม่อยู่ ภายหลังไม่ใช้ประจำผนึก เพราะใช้ตรากระดาษสีปิดแทน

ตราน้อยใช้ประทับหนังสือรองเสนาบดีถึงหัวเมืองอันไม่ได้อ้างกระแสพระบรมราชโองการ และสำหรับเสนาบดีพาติดตัวไปราชการหัวเมือง และใช้ประทับหนังสือราชการทั้งปวงในเวลาที่ต้องสั่งต้องทำหรือมีใบบอกเป็นการฉะเพาะตัวเสนาบดีนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัสเล่าว่า "อันตราน้อยนั้น เสนาบดีกรมมหาดไทยทำตัวอย่างขึ้นใช้ประทับหนังสือส่วนตัว ตราใหญ่ใช้ประทับท้องตราดำเนินกระแสพระบรมราชโองการ ทีหลังใครที่เป็นคนใหญ่คนโต ถึงจะไม่มีหน้าที่ต้องมีหนังสือส่วนตัว ก็ต้องมีตราน้อย"

ตราพระราชสีห์ตามที่ปรากฏลายประทับอยู่ใน "กฎหมายตราสามดวง" ครั้งรัชกาลที่ ๑ ไม่เหมือนกับตราพระราชสีห์ที่ใช้อยู่ คงจะเป็นเพราะดวงเดิมใช้จนลายตราสึกตื้นขึ้น ต้องแกะรุกใหม่ แต่เห็นจะรุกได้น้อยหน จนต้องทำใหม่ (รุก คือ แกะร่องระหว่างลายให้ลึกลงไป ลายจะได้เด่นขึ้น พิธีรุกตราทำอย่างเดียวกับพิธีแกะตรา คือ มีฤกษ์และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และมีสมโภชตั้งดวงตราในพิธีมณฑล เป็นทำนองเดียวกับพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ จะต่างกันที่พิธีรุกตราไม่มีอาลักษณ์อยู่ด้วยเท่านั้น) ช่างผู้เขียนดวงใหม่จะไม่ได้เลียนดวงเก่า หรือลางทีจะไม่ได้เห็นดวงเก่าเลยก็เป็นได้ จึงได้มีลายไม่เหมือนกัน (พระดำรัสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ต่อมา เมื่อเปลี่ยนการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ ตราพระราชสีห์นี้ยังใช้เป็นตรากระทรวงมหาดไทยอยู่ (ดู รูปที่ ๒๖)

ในลักษณะพระธรรมนูญใช้ตราในพระราชกฤษฎีกาเดิม นอกจากตราพระราชสีห์สำหรับตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี แล้ว ยังมีตราพระราชสีห์สำหรับหลวงอำมาตยาธิบดี ที่มหาดไทยฝ่ายเหนือ ตราดวงนี้จะอยู่ที่ไหนไม่ทราบ แต่ที่ในราชพิพิธภัณฑ์มีตราราชสีห์อยู่ ๒ ดวง เป็นรูปราชสีห์เผ่น อาจเป็นตราพระราชสีห์ที่กล่าวนี้ก็ได้

ตรากระทรวงกลาโหม คือ ตราพระคชสีห์ (ดู รูปที่ ๒๗) ในพระธรรมนูญใช้ตรากล่าวไว้ว่า เป็นตราเจ้าพระยามหาเสนาบดีฯ สมุหพระกลาโหม ตรานี้ยังสืบมาจนปัจจุบัน มีทั้งตราใหม่ ตรากลาง และตราน้อย ในราชพิพิธภัณฑ์มีตราพระคชสีห์อยู่ชุดหนึ่งครบทั้ง ๓ ดวง ลวดลายคล้ายคลึงกับชุดที่เก็บรักษาไว้ที่กระทรวงกลาโหมซึ่งคงทำขึ้นใหม่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริสรานุวัดติวงศ์ตรัสว่า "ขาดตรา 'คชสีห์เดินดง' อันเป็นรูปคชสีห์เดินบุกอยู่ในหมู่ไม้ ไม่ใช่กนก เป็นตราประจำตัวเสนาบดีกรมพระกลาโหมอย่างตราพระราชสีห์น้อยของเสนาบดีมหาดไทย" นอกนี้ ยังมีตราพระคชสีห์ฝ่ายเหนือ ซึ่งในพระธรรมนูญใช้ตราว่า เป็นตราหลวงธรรมไตรโลกเสนาบดีศรีสมุหพระกลาโหม ตราดวงนี้จะอยู่ที่ไหนไม่ทราบ

ในพระธรรมนูญใช้ตรากล่าวว่า "ตราเจ้าพระยาศรีธรรมราชาโกษาธิบดี ใช้ตราบัวแก้ว" ซึ่งบัดนี้เป็นตรากระทรวงการต่างประเทศ แต่ก่อนนี้ การคลังและการต่างประเทศอยู่รวมกัน ในรัชกาลที่ ๕ จัดระเบียบการปกครอง แยกหน้าที่ทั้งสองนี้ออกเป็นคนละส่วน คือ ตั้งเป็นกระทรวงการต่างประเทศ ถือตราบัวแก้ว และกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ถือตราพระสุริยมณฑล (ดู รูปที่ ๒๘ และ รูปที่ ๒๙) ตราพระสุริยมณฑลนี้ทรงพระกรุณาโปรดให้ใช้เป็นตราตำแหน่งเสนาบดีพระคลังมหาสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติแยกเป็นกระทรวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ เป็นระยะเวลาห่างกันถึง ๑๗ ปี ระหว่างระยะเวลาที่กล่าวนี้จะใช้ตราอะไรประจำตำแหน่ง ยังไม่ได้ความแน่ชัด ตราดวงนี้เคยพระราชทานเป็นตราประจำตัวแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ภายหลังพระราชทานให้เป็นตราประจำกระทรวงพระคลังฯ แล้วต่อมาเป็นประจำกระทรวงการคลัง ตราพระสุริยมณฑลจะเป็นพระราชลัญจกรอันได้เคยทรงประทับหรือโปรดให้ทำขึ้นใหม่พระราชทานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์หรืออย่างไรไม่ทราบ ส่วนตราน้อยมีลายผิดกว่าดวงใหญ่

ในพระธรรมนูญใช้ตราว่า ตราปักษาวายุภักษ์เป็นตราของพระยาราชภักดีฯ เจ้ากรมพระจำนวน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากร (ตราดวงนี้ได้แต่ลายตราในท้องตราเก่า [ดู รูปที่ ๓๐] ตัวตราจะเก็บรักษาไว้ที่ใด เห็นจะสูญหายเสียนานแล้ว) ต่อมา เมื่อโปรดให้ตั้งกระทรวงพระคลังฯ และใช้ตราพระสุริยมณฑลแล้ว ตราปักษาวายุภักษ์ก็เลิกใช้ แต่นำเอามาใช้เป็นเครื่องหมายกระทรวงการคลัง แต่รูปนกวายุภักษ์ที่เขียนใหม่ไม่เหมือนนกวายุภักษ์ในตราตำแหน่งพระยาราชภักดีฯ (ดู รูปที่ ๓๑) เรื่องนกวายุภักษ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัสอธิบายไว้ดังนี้

นกวายุภักษ์ ถ้าแปลตามคำก็ว่า นกกินลม ข้อยากในนกนี้เกิดขึ้นในที่ประชุมเสนาบดีสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนผูกตรากระทรวงต่าง ๆ เป็นลายข้อมือเสื้อเครื่องแบบ หากเป็นกระทรวงเก่าซึ่งมีตราประจำกระทรวงอยู่แล้ว จะเอามาใช้ได้ก็ให้ใช้ตราเก่า ที่เป็นกระทรวงใหม่ไม่มีตรามาแต่เดิมจึงคิดผูกขึ้นใหม่ โดยคำสั่งอย่างนี้ กระทรวงใดก็ไม่ยากเท่ากระทรวงคลังซึ่งเดิมพระยาราชภักดีฯ ทำการในหน้าที่เสนาบดีกระทรวงพระคลังถือตรานกวายุภักษ์ รูปนกวายุภักษ์ในตรานั้นก็เป็นนกแบบสัตว์หิมพานต์เหมือนกับนกอินทรีฉะนั้น ไม่ทรงเชื่อว่าถูก จึงได้ทรงรำลึกต่อไป ก็ทรงรำลึกได้ว่า มี ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีความว่า ทรงพระมาลาปักขนนกวายุภักษ์ ก็ทรงค้นหา ก็พบในหมายท้ายหนังสือพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี เมื่อมีคำปรากฏอยู่เช่นนั้น นกวายุภักษ์ก็คือนกการเวก เพราะพระมาลาทุกชะนิดที่ปักขนนกย่อมใช้ขนนกการเวกอย่างเดียวเป็นปรกติ เมื่อทรงพระดำริปรับนกวายุภักษ์กับนกการเวกเข้ากันก็เห็นลงกันได้ โดยทางที่เราพูดกันว่า นกการเวกนั้นมีปรกติอยู่ในเมฆบนฟ้า กินลมเป็นภักษาหาร ตามที่ว่าพิสดารเช่นนั้นก็เพราะนกชะนิดนั้นในเมืองเราไม่มี และที่ว่ากินลมก็เพราะในเมฆไม่มีอะไรนอกจากลม จึงให้กินลมเป็นอาหาร แต่เมื่อปรกติของมันอยู่ในเมฆแล้ว ก็ไฉนเล่ามนุษย์จึงได้ขนมันมาปักหมวก เชื่อว่า เพราะเหตุที่น่าสงสัยเช่นนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตรัสสั่งไปต่างประเทศที่ส่งขนนกชะนิดนั้นเข้ามาให้ส่งตัวนกมาถวาย จึงได้ตัวจริง เป็นนกยัดไส้มีขนติดบริบูรณ์เข้ามา ก็เป็นนกที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า Paradise Bird ซึ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษเช่นนี้นึกว่าแปลมาจากภาษาแขก ความก็ว่าเป็นนกฟ้า เราคงได้ฟังแขกเขาว่า จึงละเมอตามไป เมื่อได้นกยัดไส้เข้ามาแล้ว จึงทรงจัดเอาขึ้นเกาะคอน มีด้าม ให้เด็กถือนำพระยานุมาศในงานสมเด็จเจ้าฟ้าโสกันต์ ตามที่ได้พะยานมาว่า เป็นนกอยู่ในแผ่นดิน ไม่ใช่นกอยู่ในฟ้าเช่นนั้น ใครจะเชื่อกันหรือไม่ก็หาทราบไม่ แม้ราชสีห์เมื่อได้ตัวจริงมาบอกใครว่า นี่แหละราชสีห์ ก็ไม่มีใครเชื่อ ด้วยไม่เหมือนกับที่เราปั้นเขียนกัน ตามที่เราปั้นเขียนกันนั้นขาดสิ่งสำคัญที่ไม่มีสร้อยคออันจะพึงสมชื่อว่า "ไกรสร" หรือ "ไกรสรสีห์ ไกรสรราชสีห์"

เรื่องตรานกวายุภักษ์กระทรวงการคลังมีต้นเหตุดังเล่ามานี้ ต่อมา เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทอดพระเนตรลายตราเก่าปักษาวายุภักษ์ของพระยาราชภักดีฯ แล้ว ตรัสว่า "เห็นรูปนกวายุภักษ์ในตราของพระยาราชภักดีฯ ซึ่งคัดมาไว้ ก็นึกเสียใจว่า ถ้าทำเป็นรูปอย่างเก่า แต่ทำขนเป็นอย่างใหม่ ก็จะดีกว่านั้น ตามที่ทำไว้เป็นธรรมดามากเกินไป"

ตรากระทรวงการต่างประเทศ คือ ตราบัวแก้ว (ดู รูปที่ ๓๒) ซึ่งเดิมเป็นตราประจำตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง ที่โกษาธิบดี ครั้นเมื่อจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ แล้ว ยกกรมพระคลังมหาสมบัติขึ้นเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แยกออกจากกระทรวงการต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ ตราบัวแก้วจึงตกไปเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโดยลำดับมาจนบัดนี้ มีตราใหญ่ ๑ และตราน้อย ๑

นอกจากตราบัวแก้ว ยังมีตราบัวบานประจำตำแหน่งปลัดทูลฉลอง ตราบัวแย้มประจำตำแหน่งสมุหบัญชี ตราบัวผันเป็นตราประจำครั่ง และตราบัวแก้วเป็นกระดาษสีลายดุนสำหรับปิดผนึก ตราเหล่านี้เลิกใช้แล้วนอกจากตราบัวแก้วดุน มีขึ้นเมื่อครั้งเจ้าพระยาภาณุวงศมหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นเสนาบดีในกระทรวงเมื่อครั้งยังเป็นกรมต่างประเทศ

ตราประจำกระทรวงเกษตราธิการ คือ ตราพระพิรุณทรงนาค (ดู รูปที่ ๓๓) ในพระธรรมนูญใช้ตราว่า ตราเจ้าพระยาพลเทพเสนาบดีศรีชัยนพรัตนเกษตราธิการใช้ ๙ ดวง คือ

  1. ตราพิทยาธรถือดอกจงกลนี
  2. ตราพระไพสพราชทรงเครื่องยืนบนแท่น
  3. ตราพระพิรุณขี่นาค
  4. ตราเทพยดาทรงเครื่องยืนบนแท่นถือเส้นเชือก
  5. ตรานัคลินังคัล เป็นรูปพราหมณ์ทรงเครื่องแบกไถ
  6. ตราเทพยดาทรงเครื่องถือไม้กะตักยืนบนแท่น
  7. ตราเทพยดาทรงเครื่องนั่งในบุษบกหลังหงส์
  8. ตราพระกาฬทรงเครื่องขี่นาคราช
  9. ตราดอกจงกลนี

ตราเหล่านี้ใช้ในลักษณะอย่างไร แจ้งอยู่ในพระธรรมนูญใช้ตรานั้นแล้ว ในรายการสมโภชพระราชลัญจกรและตราตำแหน่งเรียกชื่อรวมตราทั้ง ๙ ดวงนี้ว่า "นพมุรธา" เหตุไรเจ้าพระยาพลเทพฯ ที่เกษตราธิการ ถือตราถึง ๙ ดวง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสันนิษฐานไว้ดั่งแจ้งอยู่ข้างต้นนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสไว้ในลายพระหัตถเลขา ลงวันที่ ๙ กันยายน ร.ศ. ๑๐๘ ว่า "ในชั้นหลัง ๆ นี้ ถึงว่ามีตรามาก ก็เป็นแต่มีไว้ตามแบบโบราณ ได้ตกลงกำหนดแต่ครั้งเจ้าพระยารัตนาธิเบศรเป็นเสนาบดี ใช้ตราพระพิรุณเป็นตราใหญ่ ตราพิทยาธรเป็นตราน้อย เห็นว่า ควรจะคงอยู่เท่านั้น ตราอีก ๗ ดวงควรจะรักษาไว้สำหรับกระทรวง จะได้ลงแบบธรรมเนียมเป็นนิทานเก่า" ต่อมา เมื่อ ร.ศ. ๑๑๑ ปรากฏในรายงานกราบบังคมทูลออฟฟิศไปรเวดสิเกรตารีหลวง ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม .. ๑๑๑ ว่า "กระทรวงนายกเลิกใช้ตรา ๙ ดวง ใช้ตราพลเทพทรงไถเป็นตราใหญ่ พระพิรุณทรงนาคเป็นตราน้อย"

ตรา ๙ ดวงของกระทรวงเกษตราธิการคงรักษาอยู่ที่ในนั้นจนบัดนี้ ส่วนตราพลเทพทรงไถ เคยเห็นดวงตราตัวจริง เข้าใจว่า จะยังอยู่ในกระทรวงนั้น

ตรากระทรวงศึกษาธิการ คือ ตราเสมาธรรมจักร (ดู รูปที่ ๓๗) แต่เดิม เมื่อกระทรวงศึกษาธิการยังเป็นกระทรวงธรรมการอยู่ พระราชทานตราบุษบกตามประทีป (ดู รูปที่ ๓๔) ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรเก่า เป็นตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ตราดวงนี้เดิมเป็นตราประจำตำแหน่งหรือประจำพระองค์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเห็นว่า ลายตราที่ประทับและจดชื่อว่า บุษบกตามประทีป เห็นมีแต่ตะเกียงอยู่ในบุษบก ไม่มีดวงประทีป ทรงเกรงว่า จะไม่ใช่ตราบุษบกตามประทีปสำหรับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ตราบุษบกตามประทีปเวลานี้อยู่ที่ราชพิพิธภัณฑ์ และได้เคยผูกลายขึ้นใหม่ตามเค้าเดิมใช้เป็นตราประจำสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ โปรดให้เลื่อนตราบุษบกตามประทีปไปเป็นตราตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ จึงพระราชทานตราพระเพลิงทรงระมาด (ดู รูปที่ ๓๕) ซึ่งเป็นตราเก่าให้เป็นตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการใช้ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการไปในที่ต่าง ๆ คู่กับตราเสมาธรรมจักรซึ่งใช้ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการที่มีถึงพระสงฆ์ (ตราพระเพลิงทรงระมาดบัดนี้อยู่ที่ราชพิพิธภัณฑ์)

ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ยกเลิกตราพระเพลิงทรงระมาด แล้วให้สร้างตราเสมาธรรมจักร เหตุที่ทรงเปลี่ยน โดยที่ทรงพระราชดำริว่า นามเสนาบดีกระทรวงธรรมการก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นไว้ตามนามในตำแหน่งเดิมแล้ว (คือ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีซึ่งในพระธรรมนูญใช้ตรากล่าวว่า ถือตราเสมาธรรมจักร) แต่ตราเก่าเป็นรูปจักราวุธอยู่ในบุษบก แล้วมีใบเสมาขนาบอยู่สองข้าง (ดู รูปที่ ๓๖) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ชอบพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ทำตราเสมาธรรมจักรขึ้นใหม่ ตราเสมาธรรมจักรที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่รูปกลม มีลายเสมาตั้งบนฐาน มีรูปพระธรรมจักร คือ ล้อรถ อยู่กลางใบเสมา มีอักษรขอม ทุ. ส. นิ. ม. หัวใจพระอริยสัจจ์ อยู่ที่ขอบเบื้องบนเสมา (ประกาศตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังและเสนาบดีกระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๕๖)

ตรากระทรวงคมนาคม คือ ตราพระรามทรงรถ (ดู รูปที่ ๓๘) ตราดวงนี้เดิมเป็นตราใหญ่ของกระทรวงโยธาธิการ เดิมกระทรวงนี้ใช้ตราพระอินทร์ทรงช้าง แต่มีขนาดโตไป จึงโปรดให้เปลี่ยนเป็นตราพระรามทรงรถให้เข้าเรื่องตรวจถนนหรือสร้างเมือง ครั้นเลิกกระทรวงโยธาธิการมารวมกันกับราชการส่วนอื่นตั้งเป็นกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมขึ้นในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ตราดวงนี้จึงตกมาเป็นตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ครั้นเมื่อปรับปรุงกระทรวงนี้ขึ้นใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงเศรษฐการ ตราพระรามทรงรถยังใช้เป็นตราตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ภายหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ยุบกระทรวงเศรษฐการแยกเป็นกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม ตราพระรามทรงรถจึงตกไปเป็นตราของกระทรวงคมนาคมมาจนบัดนี้ (ตราพระรามทรงรถมีอยู่ที่ราชพิพิธภัณฑ์ดวง ๑ เห็นจะเป็นตราเดิม เข้าใจว่า จะได้ส่งคืนเมื่อครั้งยุบกระทรวงโยธาธิการ ส่วนดวงที่ใช้อยู่ในเวลานี้จะเป็นสร้างขึ้นใหม่)

ตรากระทรวงพาณิชย์ คือ ตราพระวิศุกรรม (ดู รูปที่ ๓๙) ตราดวงนี้เดิมเป็นตราน้อยของกระทรวงโยธาธิการ สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ. ๑๑๗ เป็นรูปเทวดาหัวโล้น ถือหางนกยูง ยืนแท่นเท้าเดียว เมื่อยุบกระทรวงเศรษฐการและตั้งเป็นกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม ตราอันนี้จึงมาเป็นตราประจำกระทรวงพาณิชย์ แต่เขียนลายและสร้างขึ้นใหม่ผิดกับลายในดวงตราเดิม และเรียกว่า ตราพระวิศุกรรม

ตรากระทรวงยุตติธรรมเดิมใช้ตราจันทรมณฑลซึ่งเป็นตราพระราชทานเป็นตราประจำตัวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ภายหลังพระราชทานเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม มีทั้งตราใหญ่และตราน้อย ตราใหญ่เดิมเป็นรูปรถบุษบก มีอุณาโลมอยู่กลาง และมีรูปกระต่ายอยู่ท้ายรถ (ดู รูปที่ ๔๐) ลางทีจึงเรียกเพี้ยนเป็นตราบุษบกอุณาโลม เข้าใจว่า ภายหลังโปรดให้ทำใหม่ เพราะอุณาโลมนั้นเกินไป จึงเอาอุณาโลมในบุษบกออกเสีย ตราน้อยมีลายเป็นพระจันทร์ดั้นเมฆ (ดู รูปที่ ๔๑) ตราใหญ่และตราน้อยของเดิมอยู่ที่ในราชพิพิธภัณฑ์

มาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ เปลี่ยนตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นตราพระดุลยพาห ตราใหญ่เป็นลายรูปพระแสงขรรค์ กับรูปดุลหรือตราชู ประดิษฐานอยู่เหนือพานสองชั้น (ดู รูปที่ ๔๒) ตราน้อยเป็นลายรูปพระแสงขรรค์กับรูปดุลเฉย ๆ ไม่มีพาน

ตรากระทรวงการอุตสาหกรรม คือ ตรานารายณ์เกษียรสมุทร (ดู รูปที่ ๔๓) ตราดวงนี้สร้างขึ้นใหม่เมื่อตั้งกระทรวงการอุตสาหกรรม เป็นคนละดวงกับตรานารายณ์เกษียรสมุทรของเดิมซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งกรมยุทธนาธิการทหารบก

ตรากระทรวงการสาธารณสุขแปลกกว่าตราของกระทรวงอื่น คือ เป็นรูปคบเพลิงมีปีกและมีงูพันคบเพลิง (ดู รูปที่ ๔๔) อันเป็นไม้เท้าของเทพเมอรคิวรีของชาติโรมัน เรียกชื่อว่า Caduceus ใช้เป็นเครื่องหมายแห่งศานติของฝรั่ง ต่อมาใช้เป็นเครื่องหมายแพทย์หรือพาณิชย์ได้ทั้งสองสถาน ตราดวงนี้เดิมเป็นของกรมสาธารณสุข เมื่อยกกรมสาธารณสุขและกิจการเกี่ยวกับแพทย์ตั้งขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข จึงใช้ตรารูปไม้เท้า Caduceus เป็นตรากระทรวง

  • รูปที่ ๑
  • พระราชลัญจกรมหาโองการ (องค์กลาง)

  • รูปที่ ๒
  • พระราชลัญจกรพระครุฑพาห (องค์เดิม)
  • รูปที่ ๓
    พระราชลัญจกรพระครุฑพาห (องค์กลาง)

  • รูปที่ ๔
    พระราชลัญจกรพระครุฑพาห
  • รูปที่ ๕
  • พระราชลัญจกรวชิราวุธ

  • รูปที่ ๖
  • พระราชลัญจกรหงสพิมาน
  • รูปที่ ๗
  • พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์ (องค์ใหญ่)

  • รูปที่ ๘
  • พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์ (องค์น้อย)
  • รูปที่ ๙
  • พระราชลัญจกรไอยราพต (เก่า) มีรูปพระอินทร์ทรง

  • รูปที่ ๑๐
  • พระราชลัญจกรไอยราพต (เก่า) ไม่มีรูปพระอินทร์ทรง
  • รูปที่ ๑๑
  • พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์ใหญ่)
  • รูปที่ ๑๒
  • พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง)

  • รูปที่ ๑๓
  • พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์น้อย)
  • รูปที่ ๑๔
  • พระราชลัญจกรไอยราพต (เก่า)
  • รูปที่ ๑๕
  • พระราชลัญจกรไตรสารเศวต
  • รูปที่ ๑๖
  • พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ (องค์ใหญ่)

  • รูปที่ ๑๗
  • พระราชลัญจกรสยามโลกัคราช
  • รูปที่ ๑๘
  • พระราชลัญจกรนามกรุง (องค์ใหญ่)

  • รูปที่ ๑๙
  • พระราชลัญจกรนามกรุง (องค์น้อย)

  • รูปที่ ๒๐
  • พระราชลัญจกรจักรรถ
  • รูปที่ ๒๑
  • พระราชลัญจกรอุณาโลมในกลีบบัว
  • รูปที่ ๒๒
  • ตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ

  • รูปที่ ๒๓
  • ตราพระยมขี่สิงห์
  • รูปที่ ๒๔
  • ตราจักร

  • รูปที่ ๒๕
  • ตราราชสีห์คชสีห์รักษารัฐธรรมนูญ
  • รูปที่ ๒๖
  • ตราพระราชสีห์
  • รูปที่ ๒๗
  • ตราพระคชสีห์

  • รูปที่ ๒๗
  • ตราพระสุริยมณฑลใหญ่
  • รูปที่ ๒๙
  • ตราพระสุริยมณฑลน้อย

  • รูปที่ ๓๐
  • ตราปักษาวายุภักษ์ (เก่า)
  • รูปที่ ๓๑
  • ตราปักษาวายุภักษ์ (ใหม่)
  • รูปที่ ๓๒
  • ตราบัวแก้ว
  • รูปที่ ๓๓
  • ตราพระพิรุณทรงนาค

  • รูปที่ ๓๔
  • ตราบุษบกตามประทีป
  • รูปที่ ๓๕
  • ตราพระเพลิงทรงระมาด

  • รูปที่ ๓๖
  • ตราเสมาธรรมจักร (เดิม)
  • รูปที่ ๓๗
  • ตราเสมาธรรมจักร (ใหม่)
  • รูปที่ ๓๘
  • ตราพระรามทรงรถ
  • รูปที่ ๓๙
  • ตราพระวิศุกรรม

  • รูปที่ ๔๐
  • ตราจันทรมณฑลใหญ่
  • รูปที่ ๔๑
  • ตราจันทรมณฑลน้อย
  • รูปที่ ๔๒
  • ตราพระดุลพาห
  • รูปที่ ๔๓
  • ตรานารายณ์เกษียรสมุทร

  • รูปที่ ๔๔
  • ตราคบเพลิงมีปีกและมีงู


พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
นายสนั่น บุณยศิริพันธุ์ เจ้าของ ผู้พิมพ์
ผู้โฆษณา ๒๔๙๓


  1. เรื่องพระราชลัญจกรลางองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตรัสอธิบาย พระยาอนุมานราชธนบันทึก ต่อไปจะจดย่อว่า "บันทึกพระราชลัญจกรลางองค์"
    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงลงชื่อในท้ายท้องตราที่จะมีไปยังหัวเมืองดำเนินพระบรมราชโองการเพื่อเป็นหลักฐานมั่นคงขึ้น แต่ก่อนในท้องตรามีแต่ชื่อเสนาบดีอยู่ข้างต้นและประทับตราอยู่ข้างท้าย ไม่มีเซ็นชื่อ (ดู ประกาศ ลงวัน ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๕๐)
  2. ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๙ กราบบังคมทูลเรื่องพระราชลัญจกร (ต่อไปจะย่อว่า "ลายพระหัตถ์")
  3. หมายถึง รัชกาลที่ ๗

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก