กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา
นายสนิท พลอยน้อย ได้ปรารภกับข้าพเจ้าว่า จะจัดการฌาปนกิจศพมารดา ใคร่จะพิมพ์หนังสือแจกแก่บรรดาท่านผู้ที่เคารพนับถือซึ่งมาในงานฌาปนกิจนี้สักเรื่องหนึ่ง และมอบให้ข้าพเจ้าช่วยจัดการ ข้าพเจ้าได้รับ และพิจารณาทบไปทวนมาอยู่หลายครั้งถึงหนังสือที่จะพิมพ์กับอุปนิสสัยของผู้ตายและท่านผู้ที่จะได้รับแจก ผลที่สุด ตกลงใจว่า จะพิมพ์หนังสือเรื่อง “พระไชยสุริยา” ซึ่งเป็นหนังสือคำกลอนของสุนทรภู่ เห็นว่า เป็นประโยชน์ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรมเจือปนกันอยู่ ส่วนเนื้อความจะเป็นประการใดนั้น หวังว่า ท่านผู้ที่ได้รับแจกคงจะทราบได้ดีจากหนังสือนี้ เมื่อข้าพเจ้าเก็นดีเห็นชอบในเรื่องหนังสือนี้แน่แล้ว จึงได้ขอความกรุณาจากนายทองสืบ ศุภะมาร์ค ผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดต่อกับหอสมุดแห่งชาติขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือเรื่องนี้สนองไวยาวัจจมัยของนายสนิท พลอยน้อย
ขออำนาจแห่งกุศลบรรรทานนี้จงเป็นผลสำเร็จแก่วิญญาณของแม่ทรัพย์ พลอยน้อย ในสถานที่วิญญาณสถิตนั้น ๆ และขออนุโมทนาอุปัฏฐานธรรมของนายสนิท พลอยน้อย มาในที่นี้ด้วย.
๒๒ มีนาคม ๒๔๙๕
ยานี ๑๑ | ||
สะธุสะจะขอไหว้ | พระศรีไตรสะระณา | |
พ่อแม่แลครูบา | เทวะตาในราศี | |
ข้าเจ้าเอา ก ข | เข้ามาต่อ ก กา มี | |
แก้ไขในเท่านี้ | ดีมิดีอย่าตรีชา | |
ระร่ำคำต่อไป | พอฬ่อใจกุมารา | |
ธระณีมีราชา | เจ้าพาราสาวะลี | |
ชื่อพระไชยสุริยา | มีสุดามะเหษี | |
ชื่อว่าสุมาลี | อยู่บูรีไม่มีไภย | |
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา | มีกิริยาอะฌาไศรย | |
พ่อค้ามาแต่ไกล | ได้อาไศรยในพารา | |
ไพร่ฟ้าประชาชี | เชาบูรีก็ปรีดา | |
ทำไร่เขาไถนา | ได้เข้าปลาแลสาลี | |
อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า | ก็หาเยาวะนารี | |
ที่หน้าตาดีดี | ทำมะโหรีที่เคหา | |
ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ | เข้าแต่หอฬ่อกามา | |
หาได้ให้ภริยา | โลโภพาให้บ้าใจ | |
ไม่จำคำพระเจ้า | เหไปเข้าภาษาไสย | |
ถือดีมีข้าไทย | ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา | |
คะดีที่มีคู่ | คือไก่หมูเจ้าสุภา | |
ใครเอาเข้าปลามา | ให้สุภาก็ว่าดี | |
ที่แพ้แก้ชะนะ | ไม่ถือพระประเวณี | |
ขี้ฉ้อก็ได้ดี | ไล่ด่าตีมีอาญา | |
ที่ซื่อถือพระเจ้า | ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา | |
ผู้เฒ่าเหล่าเมธา | ว่าใบ้บ้าสาระยำ | |
ภิษุสะมะณะ | เล่าก็ละพระสะธำม์ | |
คาถาว่าลำนำ | ไปเร่ร่ำทำเฉโก | |
ไม่จำคำผู้ใหญ่ | ศีร์ษะไม้ใจโยโส | |
ที่ดีมีอะโข | ข้าขอโมทนาไป | |
พาราสาวะถี | ใครไม่มีปราณีใคร | |
ดุดื้อถือแต่ใจ | ที่ใครได้ใส่เอาพอ | |
ผู้ที่มีฝีมือ | ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ | |
ไล่คว้าผ้าที่คอ | อะไรฬ่อก็เอาไป | |
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา | มิได้ว่าหมู่ข้าไทย | |
ถือน้ำร่ำเข้าไป | แต่น้ำใจไม่นำพา | |
หาได้ใครหาเอา | ไพร่ฟ้าเศร้าเปล่าอุรา | |
ผู้ที่มีอาญา | ไล่ตีด่าไม่ปราณี | |
ผีป่ามากระทำ | มะระณะกำม์เชาบูรี | |
น้ำป่าเข้าธานี | ก็ไม่มีที่อาไศรย | |
ข้าเฝ้าเหล่าเสนา | หนีไปหาพาราไกล | |
ชีบาล่าลี้ไป | ไม่มีใครในธานี | |
ฉะบัง ๑๖ | ||
พระไชยสุริยาภูมี | พาพระมะเหษี | |
มาที่ในลำสำเภา | ||
เข้าปลาหาไปไม่เบา | นารีที่เยาว์ | |
ก็เอาไปในเภตรา | ||
เถ้าแก่เชาแม่แซ่มา | เสนีเสนา | |
ก็มาในลำสำเภา | ||
ตีม้าฬ่อช่อใบใส่เสา | วายุพยุเพลา | |
สำเภาก็ใช้ใบไป | ||
เภตรามาในน้ำไหล | ค่ำเช้าเปล่าใจ | |
ที่ในมหาวารี | ||
พะสุธาอาไศรยไม่มี | ราชานารี | |
อยู่ที่พระแกลแลดู | ||
ปลากะโห้โลมาราหู | เหราปลาทู | |
มีอยู่ในน้ำคล่ำไป | ||
ราชาว้าเหว่หฤไทย | วายุพาคลาไคล | |
มาในทะเลเอกา | ||
แลไปไม่ปะพะสุธา | เปล่าใจไนยนา | |
โพล้เพล้เวลาราตรี | ||
ราชาว่าแก่เสนี | ใครรู้คะดี | |
วารีนี้เท่าใดนา | ||
ข้าเฝ้าเล่าแก่ราชา | ว่าพระมหา | |
วารีนี้ไซร้ใหญ่โต | ||
ไหลมาแต่ในคอโค | แผ่ไปใหญ่โต | |
มะโหฬาล้ำน้ำไหล | ||
บาฬีมิได้แก้ไข | ข้าพเจ้าเข้าใจ | |
ผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเล่ามา | ||
ว่ามีพระยาสกุณา | ใหญ่โตมะโหฬา | |
กายาเท่าเขาคีรี | ||
ชื่อว่าพระยาสำภาที | ใคร่รู้คะดี | |
วารีนี้โตเท่าใด | ||
โยโสโผผาถาไป | พอพระสุริไสย | |
จะใกล้โพล้เพล้เวลา | ||
แลไปไม่ปะพะสุธา | ย่อท้อรอรา | |
ชีวาก็จะประไลย | ||
พอปลามาในน้ำไหล | สกุณาถาไป | |
อาไศรยที่ศีร์ษะปลา | ||
ฉะแง้แลไปไกลตา | จำของ้อปลา | |
ว่าขอษะมาอะไภย | ||
วารีที่เราจะไป | ใกล้หรือว่าไกล | |
ข้าไหว้จะขอมรคา | ||
ปลาว่าข้าเจ้าเยาวะภา | มิได้ไปมา | |
อาไศรยอยู่ต่อธรณี | ||
สกุณาอาไลยชีวี | ลาปลาจรลี | |
สู่ที่ภูผาอาไศรย | ||
ข้าเฝ้าเล่าแก่ภูวไนย | พระเจ้าเข้าใจ | |
ฤไทยว้าเหว่เอกา | ||
จำไปในทะเลเวรา | พยุใหญ่มา | |
เภตราก็เหเซไป | ||
สมอก็เกาเสาใบ | ทะลุปรุไป | |
น้ำไหลเข้าลำสำเภา | ||
ผีน้ำซ้ำไต่ใบเสา | เจ้ากำม์ซ้ำเอา | |
สำเภาระยำคว่ำไป | ||
ราชาคว้ามืออรไทย | เอาผ้าสะไบ | |
ต่อไว้ไม่ไกลกายา | ||
เถ้าแก่เชาแม่เสนา | น้ำเข้าหูตา | |
จระเข้เหราคร่าไป | ||
ราชานารีร่ำไร | มีกำม์จำใจ | |
จำไปพอปะพะสุธา | ||
มีไม้ไทรใหญ่ใบหนา | เข้าไปไสยา | |
เวลาพอค่ำรำไร | ||
สุรางคะนางค์ ๒๘ |
ขึ้นใหม่ใน กน ก กา ว่าปน ระคนกันไป เอ็นดูภูธร มานอนในไพร มณฑลต้นไทร แทนไพชยนต์สถาน |
ส่วนสุมาลี วันทาสามี เทวีอยู่งาน เฝ้าอยู่ดูแล เหมือนแต่ก่อนกาล ให้พระภูบาล สำราญวิญญาณ์ |
พระชวนนวลนอน เข็ญใจไม้ขอน เหมือนหมอนแม่นา ภูธรสอนมนต์ ให้บ่นภาวนา เย็นค่ำร่ำว่า กันป่าไภยพาล |
วันนั้นจันทร มีดารากร เป็นบริวาร เห็นสิ้นดินฟ้า ในป่าท่าธาร มาลีคลี่บาน ใบก้านอรชร |
เย็นฉ่ำน้ำฟ้า ชื่นชะผะกา วายุพาขจร สาระพันจันทน์อิน รื่นกลิ่นเกสร แตนต่อคล้อร่อน ว้าว่อนเวียนระวัน |
จันทราคลาเคลื่อน กระเวนไพรไก่เถื่อน เตือนเพื่อนขานขัน ปู่เจ้าเขาเขิน กู่เกริ่นหากัน สินธุพุลั่น ครื้นครั่นหวั่นไหว |
พระฟื้นตื่นนอน ไกลพระนคร สะท้อนถอนฤไทย เช้าตรู่สุริยน ขึ้นพ้นเมรุไกร มีกำม์จำไป ในป่าอารัญ |
ฉะบัง ๑๖ | ||
ขึ้นกงจงจำสำคัญ | ทั้งกนปนกัน | |
รำพรรณมิ่งไม้ในดง | ||
ไกรกร่างยางยูงสูงระหง | ตลิงปลิงปริงประยง | |
คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง | ||
มะม่วงพวงพลองช้องนาง | หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง | |
กินพลางเดินพลางหว่างเนิน | ||
เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน | เหมือนอย่างนางเชิญ | |
พระแสงสำอางข้างเคียง | ||
เขาสูงฝูงหงษ์ลงเรียง | เริงร้องก้องเสียง | |
สำเนียงน่าฟังวังเวง | ||
กลางไพลไก่ขันบันเลง | ฟังเสียงเพียงเพลง | |
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง | ||
ยูงทองร้องกะโต้งโห่งดัง | เพียงฆ้องกลองระฆัง | |
แตรสังข์กังสะดาลขานเสียง | ||
กะลิงกะลางนางนวนนอนเรียง | พระยาลอคลอเคียง | |
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง | ||
ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง | เพลินฟังวังเวง | |
อีเก้งเริงร้องลองเชิง | ||
ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง | คางแข็งแรงเริง | |
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง | ||
ป่าสูงยูงยางช้างโขลง | อึงคะนึงผึงโผง | |
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป | ||
ยานี ๑๑ | ||
ขึ้นกกตกทุกข์ยาก | แสนลำบากจากเวียงไชย | |
มันเผือกเลือกเผาไฟ | กินผลไม้ได้เป็นแรง | |
รอน ๆ อ่อนอัษดงค์ | พระสุริยงเย็นยอแสง | |
ช่วงดังน้ำครั่งแดง | แฝงเมฆเขาเงาเมรุธร | |
ลิงค่างครางโครกครอก | ฝูงจิ้งจอกออกเห่าหอน | |
ชะนีวิเวกวอน | นกหกร่อนนอนรังเรียง | |
ลูกนกยกปีกป้อง | อ้าปากร้องซ้องแซ่เสียง | |
แม่นกปกปีกเคียง | เลี้ยงลูกอ่อนป้อนอาหาร | |
ภูธรนอนเนินเขา | เคียงคลึงเคล้าเยาวมาลย์ | |
ตกยากจากศฤงคาร | สงสารน้องหมองภักตรา | |
ยากเย็นเห็นหน้าเจ้า | สร่างโศกเศร้าเจ้าพี่อา | |
อยู่วังดังจันทรา | มาหม่นหมองลอองนวล | |
เพื่อนทุกข์ศุขโศกเศร้า | จะรักเจ้าเฝ้าสงวน | |
มิ่งขวัญอย่ารันจวน | นวลภักตร์น้องจะหมองศรี | |
ชวนชื่นกลืนกล้ำกลิ่น | มิรู้สิ้นกลิ่นมาลี | |
คลึงเคล้าเย้ายวนยี | ที่ทุกข์ร้อนหย่อนเย็นทรวง | |
ยานี ๑๑ | ||
ขึ้นกดบทอัศจรรย์ | เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง | |
นกหกตกรังรวง | สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงง | |
แดนดินถิ่นมนุษย์ | เสียงดังดุจพระเพลิงโพลง | |
ตึกกว้านบ้านเรือนโรง | โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน | |
บ้านช่องคลองเล็กใหญ่ | บ้างตื่นไฟตกใจโจน | |
ปลุกเพื่อนเตือนตะโกน | ลุกโลดโผนโดนกันเอง | |
พิณพาทย์ระนาดฆ้อง | ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง | |
ระฆังดังวังเวง | โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง | |
ขุนนางต่างลุกวิ่ง | ท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลัง | |
พันละวันดันตึงตัง | พลั้งพลัดตกหกคะเมน | |
พระสงฆ์ลงจากกุฏิ์ | วิ่งอุดตลุตฉุดมือเณร | |
หลวงชีหนีหลวงเถร | ลงโคลนเลนเผ่นผาดโผน | |
พวกวัดพลัดเข้าบ้าน | ล้านต่อล้านซานเซโดน | |
ต้นไม้ไกวเอนโอน | ลิงค่างโจนโผนหกหัน | |
พวกผีที่ปั้นลูก | ติดจมูกลูกตาพลัน | |
ขิกขิกระริกกัน | ปั้นไม่ทันมันเดือดใจ | |
สององค์ทรงสังวาส | โลกธาตุหวาดหวั่นไหว | |
ตื่นนอนอ่อนอกใจ | เดินไม่ได้ให้อาดูร | |
ยานี ๑๑ | ||
ขึ้นกบจบแม่กด | พระดาบศบูชากูณฑ์ | |
ผาศุขรุกขมูล | ภูลสวัสดิ์สัตถาวร | |
ระงับหลับเนตรนิ่ง | เององค์อิงพิงสิงขร | |
เหมือนกับหลับสนิทนอน | สังวรศีลอภิญญาณ | |
บำเพ็งเล็งเห็นจบ | พื้นพิภพจบจักระวาฬ | |
สวรรค์ชั้นวิมาน | ท่านเห็นแจ้งแหล่งโลกา | |
เข้าฌานนานนับเดือน | ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา | |
จำศีลกินวาตา | เป็นผาศุกทุกเดือนปี | |
วันนั้นครั้นดินไหว | เกิดเหตุใหญ่ในปะถะพี | |
เล็งดูรู้คะดี | กาลกิณีสี่ประการ | |
ประกอบชอบเป็นผิด | กลับจริตผิดโบราณ | |
สามัญอันธพาล | ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม์ | |
ลูกศิษย์คิดล้างครู | ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน | |
ส่อเสียดเบียดเบียฬกัน | ลอบฆ่าฟันคือตัณหา | |
โลภลาภบาปบคิด | โจทย์จับผิดฤษยา | |
อุระพะสุธา | ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง | |
บรรดาสามัญสัตว์ | เกิดวิบัติปัตติปาปัง | |
ไตรยุคทุกขะตะรัง | สังวัจฉะระอะวะสาน | |
ฉะบัง ๑๖ | ||
ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์ | เอ็นดูภูบาล | |
ผู้ผ่านพาราสาวะถี | ||
ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี | กลอกกลับอัปรี | |
บูรีจึงล่มจมไป | ||
ประโยชน์จะโปรดภูวไนย | นิ่งนั่งตั้งใจ | |
เลื่อมใสสำเร็จเมตตา | ||
เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา | บอกข้ามรณา | |
คงมาวันหนึ่งถึงตน | ||
เบียฬเบียดเสียดส่อฉ้อฉน | บาปกำม์นำตน | |
ไปทนทุกข์นับกัปกัลป์ | ||
เมตตากรุณาสามัญ | จะได้ไปสวรรค์ | |
เป็นศุขทุกวันหรรษา | ||
สมบัติสัตว์มนุษย์ครุธา | กลอกกลับอัปรา | |
เทวาสมบัติชัชวาล | ||
ศุขเกษมเปรมปรีวิมาน | อิ่มหนำสำราญ | |
ศฤงคารห้อมล้อมพร้อมเพรียง | ||
กระจับปี่สีซอท่อเสียง | ขับรำจำเรียง | |
สำเนียงนางฟ้าน่าฟัง | ||
เดชะพระกุศลหนหลัง | สิ่งใดใจหวัง | |
ได้ดังมุ่งมาดปรารถนา | ||
จริงนะประสกสีกา | สวดมนต์ภาวนา | |
เบื้องน่าจะได้ไปสวรรค์ | ||
จบเทศน์เสร็จคำรำพัน | พระองค์ทรงธรรม์ | |
ดันดั้นเมฆาคลาไคล | ||
ฉะบัง ๑๖ | ||
ขึ้นเกยเลยกล่าวท้าวไทย | ฟังธรรมน้ำใจ | |
เลื่อมใสศรัทธากล้าหาญ | ||
เห็นไภยในขันธสันดาน | ตัดห่วงบ่วงมาร | |
สำราญสำเร็จเมตตา | ||
สององค์ทรงหนังพยัคฆา | จัดจีบกลีบชะฎา | |
รักษาศีลถือฤๅษี | ||
เช้าค่ำทำกิจพิธี | กองกูณฑ์อัคคี | |
เป็นที่บูชาถาวร | ||
ปะถะพีเป็นที่บรรจ์ฐรณ์ | เอนองค์ลงนอน | |
เหนือขอนเขนยเกยเศียร | ||
ค่ำเช้าเอากราดกวาดเตียน | เหนื่อยยากพากเพียร | |
เรียนธรรมบำเพ็ญเคร่งครัน | ||
สำเร็จเสร็จได้ไปสวรรค์ | เสวยศุขทุกวัน | |
นานนับกัปกัลป์พุทธันดร | ||
กุมราการุญสุนทร | ไว้หวังสั่งสอน | |
เด็กอ่อนอันเยาว์เล่าเรียน | ||
ก ข ก กา ว่าเวียน | หนูน้อยค่อยเพียร | |
อ่านเขียนผสมกมเกย | ||
ระวังตัวกลัวครูหนูเอ๋ย | ไม้เรียวเจียวเหวย | |
กูเคยเข็ดหลาบขวาบเขวียว | ||
หันหวดปวดแสบแปลบเสียว | หยิกซ้ำช้ำเขียว | |
อย่าเที่ยวเล่นหลงจงจำ | ||
บอกไว้ให้ทราบบาปกำม์ | เรียงเรียบเทียบทำ | |
แนะนำให้เจ้าเอาบุญ | ||
เดชะพระมหาการุญ | ใครเห็นเป็นคุณ | |
แบ่งบุญให้เราเจ้าเอย ฯ |
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก