ข้ามไปเนื้อหา

พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว/บทความ

จาก วิกิซอร์ซ
พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว
ท่านศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี

มีคำกล่าวเป็นสามัญว่า มนุษย์นั้นประกอบเป็นตนขึ้นได้ก็ด้วยมีร่างกายและใจ ร่างกายอาศัยสิ่งมีรูปร่างเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ส่วนใจก็มีอาหารของใจเป็นเครื่องบำรุงเลี้ยง ได้แก่ ศาสนา ความรู้ว่าอย่างทั่วไป และศิลป ว่าโดยเฉพาะศาสนา ถ้าขาดความรู้ ก็ก่อให้เกิดคติความเชื่อที่งมงาย เป็นไปตรงข้ามกับคติธรรมที่สูง ไม่ว่าคติไร ความรู้ ถ้าขาดสิ่งซึ่งค้ำจุนจิตต์ใจ ก็ก่อให้เกิดคติความเชื่อทางวัตถุธรรมว่า มีและเป็นที่สุดเพียงนั้น (โลกายัต) สะพานซึ่งเชื่อมคติความเชื่อทางวัตถุนี้กับทางจิตต์ใจให้ติดต่อถึงกันก็ได้แก่ศิลป เพราะผู้ใดเข้าใจและรู้คุณค่าของศิลป ผู้นั้นก็เข้าถึงสิ่งซึ่งเป็นอนันตะ คือ พรหม สามารถรู้ได้อย่างแน่แก่ใจซึ่งความสุขที่แท้จริง (กิรามิสสุข)

มนุษย์อาจได้รับความบันเทิงใจเพราะมั่งมีทรัพย์สินหรือเป็นที่รักเมตตาแก่เพื่อนผู้เป็นสหาย หรืออาจรู้สึกว่า มีความสุขมากเพราะมีฐานะสูงในสังคม แต่ความสุขชนิดนี้เป็นความสุขที่เห็นแก่ตัวและเป็นปัจจัยก่อให้เกิดคติถือตนเป็นที่ตั้ง (อหังการ) เพราะไม่มีใครอยากให้เพื่อนร่วมเกิดได้รับส่วนในความรักความเมตตาที่ตนได้รับอยู่ ไม่อยากให้ใครร่วมใช้ทรัพย์สินของตน และไม่อยากให้ใครมีส่วนร่วมฐานะสูงในสังคมซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของตน แต่เมื่อว่าทางศิลปแล้ว ก็เป็นเรื่องอยู่กันตรงข้ามทีเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนี้ ความจริง เมื่อเราฟังเสียงดนตรีที่ไพเราะ อ่านหนังสือที่ประพันธ์ดี หรือดูภาพจิตรกรรมที่งาม จะรู้สึกโดยไม่รู้ตัวอยากให้ผู้อื่นได้ร่วมอารมณ์ให้สะเทือนใจไปกับเราด้วย และยิ่งไปกว่านี้ เรายังปรารถนาให้บุคคลเหล่านั้นได้ฟัง ได้อ่าน หรือได้ดูศิลปกรรมอย่างเดียวกับเรา ทั้งนี้ ก็เพราะว่า ถ้ามีความรู้สึกเห็นคุณค่าของศิลปกรรมร่วมกัน ย่อมเพิ่มความสุขสบายใจให้แก่เรายิ่งขึ้น เพราะเหตุดังนี้ ศิลปจึงเป็นปัจจัยนี่เองที่สนับสนุนความสัมพันธ์อย่างเห็นอกเห็นใจกันในระหว่างเพื่อนมนุษย์และอำนวยความสุขความบันเทิงที่แท้และถาวรแก่มนุษยชาติ

อันที่จริง ศาสนาก็ให้ความสุข ไม่ถือตนเป็นที่ตั้งแก่เราเหมือนกัน แต่ความสุขมีสันโดษทางจิตต์ใจนี้ย่อมมีอยู่ตามส่วนสัมพันธ์กับความรู้สึกดีชั่วของเรา เพราะเป็นเรื่องของเอกชน กล่าวคือ เป็นความรู้สึกภายในตัวเรา รู้สึกอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่มีผันแปร แต่เรือนอารมณ์ให้เสทือนใจที่เกิดจากศิลปินมีแปลก ๆ ต่าง ๆ ไม่มีขอบเขตต์เป็นที่สุด และความรู้สึกที่มาจากภายนอกตัว และเราจะเกิดมีอารมณ์ให้เสทือนใจได้แค่ไหนก็แล้วแต่ลักษณะของศิลปกรรมที่มากะทบความรู้สึกของเรา แต่ทว่า ศิลปนั้น เราจะรู้สึกคุณค่าด้วยตนเองไม่ได้ นอกจากได้รับความอบรมทางจิตต์ใจของเราให้เข้าใจ เพราะด้วยเหตุดังนี้ นานาอารยประเทศแทบทั้งหมดจึงให้เด็ก ๆ ในชาติของเราได้รับการศึกษาอบรมทางสุนทรียะที่ในภาษาฝรั่งเรียกว่า Aesthetic Education มาตั้งแต่อายุยังน้อยขณะที่แรกเริ่มรับการศึกษาเล่าเรียน เพื่อปลูกฝังจิตต์ใจให้รู้จักรักความงามไพเราะมาแต่เล็ก

อาจมีลางท่านตั้งกระทู้ถามว่า การศึกษาอบรมอย่างนี้เป็นสิ่งจำเป็นแก่ประเทศชาติหรือไม่ การสร้างศิลปและนิยมชมชอบศิลปจะเป็นคุณเป็นประโยชน์ใช้งานใช้การอะไรให้แก่คนได้บ้าง ถ้าว่าถึงประเทศไทย ก็จะตอบคำถามเหล่านี้โดยยกตัวอย่างมาชี้ให้เห็นได้เป็นจำนวนพัน ๆ คือ ที่วัดวาอาราม ที่พระพุทธรูป ที่ภาพจิตรกรรมและศิลปกรรมอย่างอื่น ๆ ซึ่งบรรพบุรุษของไทยได้มอบไว้ให้เป็นมรดกแก่ชาตินับเป็นเวลามาตั้งพันปีแล้ว ศิลปในสมัยอดีตย่อมสำแดงให้เห็นเป็นพยานอยู่ในพระศาสนา ในวัฒนธรรม และในความเป็นบัณฑิตของชนชาติไทย แต่ถ้าเราจะคิดเห็นเหมือนเช่นที่ลางคนคิดเห็นว่า ศิลปเป็นเรื่องเล่นสนุกในเวลาว่าง ไม่เป็นคุณประโยชน์อะไรแก่การครองชีพ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ปู่ย่าตายายของเราคงไม่จำเป็นต้องมีวัฒนธรรมอะไรยิ่งไปกว่าทำไร่ไถนาเพื่อเลี้ยงชีพทางกาย ทำแล้วก็กิน กินทั้งข้าวและเหล้าให้เมา แล้วก็เข้านอน และลางครั้งคราวก็ต้องคอยป้องกันตนให้พ้นภัยจากศัตรูมารบกวน แต่บุคคลที่เห็นศิลปว่าเป็นของฟุ่มเฟือยจะรู้สึกเห็นว่า น่าประหลาดนักหนาที่ปู่ย่าตายายของเรามีความคิดเห็นในเรื่องความเป็นอยู่แห่งชีวิตสูงไปกว่าเรื่องกิน ๆ นอน ๆ และเรื่องสืบพันธุ์ คือ เห็นความจำเป็นที่ต้องสร้างวัดวาอารามงาม ๆ แล้วประดับประดาด้วยภาพจิตรกรรมและเครื่องตกแต่งที่งดงาม รู้สึกความจำเป็นที่ต้องสร้างพระพุทธรูปไว้กราบไหว้เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจให้ระลึกถึงพระคุณและพระธรรมของพระพุทธองค์ ชะโลมเลี้ยงน้ำใจของตนให้มั่นอยู่ในคุณงามความดี ปู่ย่าตายายของเราเห็นเป็นความจำเป็นที่ต้องมีเครื่องเสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับตกแต่งอลังการอันงาม ซึ่งใครที่เป็นนักเลงสะสมศิลปวัตถุเมื่อได้เห็นแล้วก็ประหลาดใจ ครั้งกระโน้น นาฏศิลปและวรรณคดีของชาติไทยได้บรรลุความเจริญถึงศิลปขั้นเยี่ยม หรือที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า ถึงชั้นคลาสสิค การผลิตการสร้างศิลปกรรมอย่างมากมายในสมัยก่อนเป็นองค์พะยานอย่างแจ่มแจ้งและเป็นอย่างดีสำหรับชี้และตอบเหล่าท่านที่ไม่เข้าใจความสำคัญของศิลป ไม่เห็นประโยชน์แห่งการศึกษาอบรมทางศิลปในสมัยปัจจุบันและการเผยแพร่ศิลปของไทย เพื่อให้บุคคลไม่ว่าใครได้รู้ค่าและรู้รสที่ดีของศิลป

ถ้าปฏิเสธความมีประโยชน์ของศิลป ก็เท่ากับปฏิเสธสิ่งสูงสิ่งที่ดีงามเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เท่ากับปฏิเสธศาสนา ความศรัทธา ความรัก ความเมตตา เท่ากับปิดตาของตนเองต่อความงามของธรรมชาติ ลดระดับฐานะของตนเองให้เท่ากับสัตว์ที่ต่ำกว่าตน แต่อนิจจา ร้ายยิ่งไปกว่านั้นเสียอีก เพราะสัตว์ยังรู้จักรักสวยรักงามและชอบเสียงประสานเสียงไพเราะ หรือกล่าวโดยย่อ คือ รู้ค่าแห่งความงามนี้ก็เป็นธรรมดาอันแท้จริงของธรรมชาติ เพราะไม่ว่าสิ่งไรในสากลจักรวาฬย่อมอยู่ภายใต้กฎแห่งความมีระเบียบเรียบร้อยและความงามเสมอ และทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องประสานเข้ากันเป็นอันหนึ่งอันเดียวอย่างสมบูรณ์ ดั่งที่เรียกกันในภาษาสมัยใหม่ว่า เป็นเอกภาพ และโดยเหตุผลที่คนก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงมีความรู้สึกโดยสัญชาตญาณรู้ค่าแห่งสิ่งงามและอาศัยกำลังความสามารถของตนทั้งในความคิดและความรู้สึก คนจึงประดับประดาและแวดล้อมตนเองได้ด้วยศิลป ซึ่งนำความสุขความบันเทิงมาให้ตน ช่วยยกจิตต์ใจตนขึ้นสู่สภาพที่สูงเหนือสัตว์ทั้งหลาย

ศิลปปัจจุบันยิ่งวันยิ่งเหินห่างจากธรรมชาติและกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์แต่งสร้างมากขึ้นทุกที ทั้งนี้ ก็เพราะมนุษย์ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ แปลก ๆ อย่างน่าประหลาดอัศจรรย์ เลยกระทำให้มนุษย์เองตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งสิ่งเหล่านี้ เรากระตือลือล้นขวนขวายหาเงินทองเป็นกิจประจำวัน เหินห่างและผละจากธรรมชาติซึ่งเป็นบ่อเกิดอันไม่มีหมดแห่งสิ่งที่เป็นเครื่องบรรดาลใจของเรา ซึ่งผู้อาศัยอยู่ในนครในเมืองก็มีแต่เครื่องจักรยนต์กลไกอันมีเสียงกวนปราสาทอินทรีย์แวดล้อมและครอบงำตนอยู่เป็นนิตย์ ความมีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่มนุษย์แต่งสร้างขึ้นในสมัยปัจจุบันย่อมยังผลให้ความรู้สึกและความรู้จักคุณค่าทางจิตต์ใจและปัญญาทุกสิ่งทุกอย่างถึงแก่ความล่มจมลงทั้งยืน หากแต่รู้ตัวทันโดยนำเอาระบอบการศึกษาอบรมและการเผยแผ่ศิลป มีดนตรี วรรณคดี นาฏศิลป จิตรกรรม และศิลปรูปอื่น ๆ มาปลูกฝังและแพร่หลายในจิตต์ใจของประชาชนให้เกิดความนิยม เป็นผลให้ชาวประชานาครของประเทศชาติต่าง ๆ ที่อยู่แนวหน้าแทบทุกชาติ มีอินทรีย์แก่กล้ารู้ค่ารู้รสแห่งศิลป เมื่อมาคำนึงถึงสมัยแต่เก่าก่อน ผู้ที่รู้ค่ารู้รสแห่งศิลปมีจำนวนจำกัดอยู่แต่ในหมู่เจ้านาย ขุนนาง และเอกชนลางคนเท่านั้น แต่มาบัดนี้ คนชั้นกรรมกรก็สามารถมีโอกาสฟังดนตรีคอนเสิตชั้นคลาสสิก เข้าใจดูเข้าใจชมศิลปว่าอย่างทั่วไป และชอบเครื่องแต่งบ้าน เครื่องใช้ไม้สอย และเครื่องประดับตกแต่งที่งาม ๆ นี่ก็คือคุณประโยชน์ที่ได้จากศิลปศึกษา แต่ก็เป็นที่เสียใจอยู่ที่ประเทศชาติต่าง ๆ ซึ่งรับเอาระบอบการปกครองงานบ้านการเมืองและการเศรษฐกิจอย่างสมัยปัจจุบันไม่ใช่ว่าทั้งหมดทุกประเทศที่รู้ตัวได้ทันเวลาทันท่วงทีว่า ระบอบการปกครองอย่างนี้จะปฏิวัติหันเหียนเปลี่ยนส่วนแห่งสังคมและทางปัญญาความรอบรู้กระทำให้วัฒนธรรมและศิลปได้รับความกระทบกระเทือนและถอยหลังสู่สภาพที่ไม่พื้นตัว

ในประเทศไทย ความเจริญก้าวหน้าอย่างเคร่งเครียดและขาดลงห้วน ๆ แห่งการสืบต่อในทางเศรษฐกิจ การเมือง การพานิชย์ และอุตสาหกรรม ย่อมลบล้างศิลปเสียสิ้น ประชานาครที่มีการศึกษาดีเป็นส่วนมากก็มุ่งที่จะให้ประเทศชาติมีความเจริญ แต่คิดไปในแง่เป็นทำนองธุรกิจเท่านั้น และเห็นว่า การอุดหนุนจุนเจือศิลปเป็นการใช้จ่ายคล้ายกับเป็นของฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น รอไว้จนกว่าจะจัดแจงเรื่องทางการเมืองและทางเศรษฐกิจซึงจำเป็นและเร่งด่วนให้เรียบร้อยเป็นปกติเสียก่อนก็ได้ ตรงนี้เองที่เป็นการแปลความหมายผิดในหน้าที่ของศิลปซึ่งมีส่วนแห่งความก้าวหน้าของประชาชน เพราะความจริง ศิลปนั้นมีความหมายไปในทางทำให้ปัญญาความรอบรู้ หรือที่เรียกเป็นคำใหม่ว่า พุทธิปัญญา ก้าวหน้า ศิลปมีความหมายที่จะยกตัวของเราให้สูงขึ้นสู่มาตรฐานเท่าเทียมนานาอารยะชนชาติอื่น ๆ และยึดหยัดได้เสมอไหล่เสมอบ่าในระดับเดียวกัน ศิลปมีความหมาย คือ การกระทำความประพฤติและความคิดความอ่านให้ดีขึ้น เพราะว่า เราอาจรู้ค่าแห่งความงาม และความงามนั้น ก็คือ ความดีนั่นเอง ในภาษาไทยจึงใช้คำว่า ดีงาม หรือ คุณงามความดี ควบคู่กันไป

อันที่จริง ที่เขียนข้อค่อนขอดเป็นเรื่องวิจารณ์ขึ้นนี้ ไม่ได้หมายความว่า มีใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องซึ่งมีฐานะเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง แต่เห็นว่า เป็นหน้าที่ของเราที่จะชี้ให้เห็นว่า อะไรที่ยังไม่ได้จัดทำและอะไรที่ควรจะจัดทำในแนวของเรื่องนี้ เพราะถ้าจะรอจนกว่าสถานการณ์ความเป็นไปของโลกในระหว่างชาติเป็นปกติแล้วจึงค่อยปรับปรุงโครงสร้างแห่งวัฒนธรรมที่เคลื่อนที่คลอนแคลนอยู่ ก็น่าสงสัยว่า จะไม่มีหวังอีก เราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณอย่างนี้อย่างลูกผู้ชาย และก็ยอมรับอยู่ว่า ชีวิตเป็นความเป็นไปแห่งสมัยปัจจุบัน เป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้อย่างหนัก เพื่อยังชีวิตความเป็นอยู่ทางวัตถุและร่างกายของเรา แต่เราจะต้องคิดด้วยว่า อุดมคติแห่งมนุษยธรรม ก็คือ เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางแห่งความงามอันสมบูรณ์ในทางความประพฤติ ความคิด และรูป และเพราะด้วยมีความเชื่อปักใจลงอย่างนี้ว่า เป็นทางที่จะให้ชาติล่วงพ้นภัยจากวิกฤตกาลที่คุกคามและต้องประสพอยู่ทุกวันนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง

ความจริง นักการเมืองย่อมไม่มีเวลาเหลือพอในที่จะเปิดเผยเรื่องวัฒนธรรมหรือเรื่องอื่น ๆ ในทำนองนี้ ก็หาใช่เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยแต่ละหน่วยสาขาแห่งการงานของชาติต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินงานไปเพื่อแบ่งเบาภาระของนักการเมืองโดยไม่ต้องมีกังวลในเรื่องเหล่านี้ ให้ภาระความรับผิดชอบตกอยู่แก่คณะกรรมการในอันที่จะคุ้มครองดูแลสิ่งซึ่งเป็นการแสดงออกมาทางวัฒนธรรมของเก่า ได้แก่ ศิลป เป็นต้น และทั้งให้มีหน้าที่ทะนุบำรุงสิ่งเหล่านี้ที่เป็นของใหม่ให้คลี่คลายมีความเจริญวัฒนา

เพื่อให้เป็นที่เข้าใจดียิ่งขึ้นถึงความเสื่อมทรามแห่งวัฒนธรรมของเรา จำเป็นต้องระลึกถึงเหตุลางประการที่เป็นเครื่องทำให้มีสถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่นี้ แต่ก่อนนั้น การศึกษาเล่าเรียนไม่แพร่หลายทั่วไปเหมือนสมัยปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ผลที่ฉายสะท้อนให้เห็นในเรื่องเป็นผู้รู้ค่าทางสุนทรียะจึงจำกัดอยู่ในหมู่เจ้านาย ขุนนาง และพระภิกษุสงฆ์ลางองค์เท่านั้น ความจริง ชนชั้นสามัญย่อมได้รับความบันเทิงใจจากวัดวาอาราม ได้รับความผ่องแผ้วแห่งจิตต์ใจจากพระพุทธปฏิมากร แต่ประชาชนเหล่านั้นหาได้รู้สำนึกตนไม่ว่า ศิลปนี้เองที่ขัดเกลานิสสัยและยกจิตต์ใจของเขาอย่างลึกซึ้ง แต่ไม่มีตำหรับตำราอธิบายเป็นวิจารณ์ความรู้แก่เขา ที่เขารู้และเข้าใจศิลปก็ด้วยสัญชาติญาณ หาใช่รู้และเข้าใจด้วยปัญญาทางเหตุผลไม่ ถ้าลักษณะการเป็นอย่างเช่นนี้ หากมีเหตุอะไรลางประการอุบัติขึ้นอันทำให้กิจการของศิลปต้องสิ้นสุดลง เรื่องก็ลงเอยกันอยู่แค่นั้น ไม่มีใครเอาใจใส่เหลียวแล เรื่องอย่างนี้ที่เกิดมีอยู่แล้วในประเทศไทยนับได้ประมาณ ๗๐ ปีที่ล่วงมานี้ โดยเหตุที่เรารับอารยธรรมทางตะวันตกมาเป็นของเรา เราก็นำเอาศิลปของชาวตะวันตกเข้ามาด้วย และคิดเห็นว่า ของเขาสูงและดีกว่าของเรา เราก็ทิ้งการสร้างอาคารสถานที่ทางราชการของเราตามแบบเก่าที่สืบต่อเป็นประเพณีกันมาช้านาน เมื่อสถาปัตยกรรมของเราสูญเสียลักษณะของชาติไปแล้ว ศิลปอย่างอื่นก็มีลักษณะพลอยเสียตามไปด้วย เมื่อเป็นดั่งนี้ ศิลปและผู้เชี่ยวชาญศิลปไทยก็หมดกำลังใจ และก็ไม่มีปัญญาและความสามารถที่เป็นหลักจะวิจารณ์สำหรับต่อสู้หรือขอร้องเพื่อประโยชน์แห่งศิลปของตน และทั้งไม่มีปากเสียงกล้าขัดแย้งเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่ ก็ได้แต่ถอยหลังเข้าคลองไปอย่างเงียบ ๆ ศิลปที่สืบต่อเป็นประเพณีกันมาก็ได้เสื่อมและสูญสิ้นชื่อหายตัวไปเอง ความจริงก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ศิลปนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนลักษณะเดิมไปตามความเห็นที่ใหม่ ๆ และตามความจำเป็น ความต้องการ และตามอิทธิพลของชีวิตแห่งความเป็นไปในสมัยปัจจุบัน แต่ที่ทำให้เป็นที่น่าเสียใจอย่างลึกซึ้ง ก็คือ ชีวิตแห่งความเป็นไปอย่างสมัยใหม่นี้ดูดเอาจิตต์ใจของบรรดาผู้ซึ่งเป็นบุคคลอยู่ในแนวหน้าไปเสียสิ้น เป็นเหตุให้ท่านเหล่านั้นกระทำผิดพลาดอย่างใหญ่ที่ไม่ป้องกันอนุสสาวรีย์และศิลปวัตถุของเก่าให้พ้นจากอันตราย ไม่มีใครร่างเป็นประมวลกฎหมายเพื่อแสดงถึงขุมทรัพย์ของชาติ คือ ศิลปกรรมอันดีเยี่ยมและวัดวาอาราม ว่า เป็นสิ่งสมควรจะป้องกันให้พ้นจากการเปลี่ยนแปลง หรือห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่มีความรู้ความชำนาญเป็นผู้แก้ผู้ซ่อม และถึงแม้ว่า จะได้มีการทักท้วงกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ผลสมความมุ่งหมาย เพราะขึ้นชื่อว่าของเก่าแล้ว ใครจะทำอะไรก็ทำได้ตามชอบใจ ส่วนที่ได้จัดทำกันมาแล้วเกี่ยวกับกำหนดคุณค่าและการศึกษาวัฒนธรรมเก่าของไทย ก็ได้อาศัยแต่บุคคลผู้ทรงความรู้ ๒–๓ คนกระตือรือล้นด้วยสนใจ แต่เพราะขาดกำลังการเงิน งานที่ว่านี้จึงดำเนินไปให้กว้างขวางไม่ได้

โดยเหตุที่สถานการณ์เสื่อมโทรม เหล่าท่านผู้ทรงศีลซึ่งเข้าใจคุณค่าของวัดวาอารามและวัตถุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในนั้นและเป็นผู้พิทักษ์สิ่งเหล่านี้ยิ่งวันยิ่งมีจำนวนลดน้อยลงทุกที เป็นสิ่งซึ่งหมายความถึงการเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การพิทักษ์รักษามรดกอันเป็นศิลปเก่าของเรา เมื่อขาดกฎหมายคุ้มครองและขาดความเข้าใจอันดี ใคร ๆ ในวัดก็อาจจะสั่งให้ซ่อมเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขวัดเก่า ๆ โดยไม่ได้หารือขอความเห็นเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญ พระพุทธรูปสวย ๆ งาม ๆ มีค่าหายากในทางศิลปก็ถูกคนใจบาปลักฉกเอาไปได้ไม่ลำบาก เพราะพระสงฆ์ลางองค์ท่านไม่รู้ค่าของสิ่งเหล่านั้น เครื่องสลัก เครื่องไม้ เครื่องลายลดน้ำที่งาม ๆ ก็เก็บหมก ๆ ไว้ ปล่อยให้ผุพังเองไปตามยถากรรม หรือใครชอบใจอะไรก็ขนไปสะสมเป็นสมบัติของตน มีอยู่มากรายเหมือนกันที่ท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้เข้าใจศิลปบอกบุญเรี่ยไรมาใช้จ่ายซ่อมหลังคาและส่วนอื่นของโบสถ์และวิหาร แล้วขอความช่วยเหลือจากทางราชการ แต่กว่าจะได้เงินมาก็พอดีมีฝนหรือมีเหตุอื่นมาทำความเสียหายปู้ยี่ปู้ยำแก่สิ่งที่จะต้องซ่อมซึ่งเป็นศิลปของเก่าให้หมดไป เป็นอย่างนี้ที่เราต้องสูญเสียภาพจิตรกรรมอันหาค่าไม่ได้แทบทั้งหมด ทั้งนี้ ใช่าว่าจะขาดแคลนเรื่องเงินสำหรับบำรุงอนุสสาวรีย์ของเราก็หาไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เมื่อพูดกันง่าย ๆ อย่างตรงไปตรงมา ก็ดุจประหนึ่งว่า บรรพบุรุษของเราสามารถสร้างวัดได้เป็นจำนวนพัน ๆ แต่เราชาวไทยปัจจุบันไม่มีเงินสำหรับซ่อมสำหรับพิทักษ์รักษาวัดเหล่านี้ให้พ้นจากความเสื่อมโทรมเพียง ๒–๓ วัดก็ไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะเราไม่เข้าใจในสิ่งที่ไทยเก่ามอบเป็นมรดกไว้ให้แก่เรานั้นเป็นมณีอันมีค่าหาได้ยาก

พ้นวัดออกมา ผู้ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ก็ดำเนินเรื่องไปในทำนองเดียวกัน และด้วยเหตุผลเป็นทำนองเดียวกัน คือ บกพร่องทางศิลปศึกษา ถ้ามีข้าราชการผู้ใหญ่อะไรคนใดคนหนึ่งเกิดความวิตถารเปลี่ยนแปลงลักษณะพิเศษของอนุสสาวรีย์และภาพจิตรกรรมของเก่าเสียไซร้ ลักษณะพิเศษของเก่าก็เป็นอันตรธานไปไม่มีคืนมาได้อีก และก็เป็นเคราะห์ร้ายเสียด้วยที่ในสมัยของเราไม่มีกฎหมายป้องกันวินาศกรรมอย่างนี้ ก็ใครเล่าเป็นผู้ได้รับติเตียนในเรื่องนี้ ไม่มีใครหามิได้ เพราะคนที่ไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางศิลปก็ไม่มีหน้าที่จะต้องเข้าใจ แม้จะรู้สึกเป็นหน้าที่ว่า ควรมอบภาระนี้ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม ตกลงว่า เราทั้งหมดเป็นผู้ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่สามารถจะประกอบตั้งเป็นองค์การเจ้าหน้าที่สำหรับดำเนินการกับเรื่องวัฒนธรรมเก่าของเรากับทั้งของสมัยปัจจุบันด้วย

นักศึกษาไทยสมัยปัจจุบันที่ได้รับการศึกษาวิชาทั้งในและนอกประเทศอย่างหมดจด ก็คือ วิทยาศาสตร์ แต่เมื่อว่าถึงศิลปแล้ว ก็ดูจะถือเสมือนว่า เป็นเสนียดอย่างที่เรียกว่า "ตาบู" ในภาษาฝรั่งและส่วนมาก เมื่อได้เป็นผู้อยู่ในแนวหน้าแล้ว ก็มักคิดเสียว่า ศิลปเป็นของฟุ่มเฟือย แต่เราทุกคนควรจะคิดว่า ที่เราเป็นไทยไม่ใช่เพราะมีเครื่องจักรยนต์กลไกซึ่งมีอำนาจร้ายแรงยิ่งกว่าของประเทศอื่นที่เขามี แต่เราเป็นไทยเพราะด้วยมีศาสนา และมีวัดวาอารามของเรา มีวรรณคดี มีปฏิมากรรม มีภาพจิตรกรรม และมีศิลปพื้นเมืองของเรา เมื่อกล่าวโดยย่อ เรามีบุคคลิกลักษณะที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแปลกไปจากชาติอื่นก็ด้วยวัฒนธรรมของเรา และโดยเหตุที่วัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในอันที่จะยืนยันรับรองความมีลักษณะพิเศษเป็นเอกเทศของประชาชนในชาติไว้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นจะต้องคุ้มครอง ป้องกัน และเผยแพร่วัฒนธรรมของเรานี้ให้แพร่หลาย โดยเฉพาะในยุคสมัยของเราที่มีวิทยาศาสตร์และเครื่องจักรเครื่องยนต์กลไกกระทำให้สิ่งต่าง ๆ ลงรูปลงรอยเดียวเหมือนกันหมด เป็นเหตุให้สิ่งที่สำแดงออกมาในทางพุทธิปัญญาของนานาประเทศชาติทุกประเทศมีลักษณะซ้ำ ๆ ซาก ๆ น่าเบื่อ

บุคคลผู้มีชื่อเด่นหลายคนรู้ดีว่า ข้อวิจารณ์ที่กล่าวมานี้ถูกต้อง แต่บุคคลเหล่านั้นกล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองไม่ปล่อยโอกาสแก่นักการเมืองให้มีเวลาว่างเพื่อเจียดมาเล่นเรื่องวัฒนธรรม แต่ก็ได้กล่าวมาแล้วว่า รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยไม่ใช่นักการเมืองที่มีหน้าที่ต้องดูแลเอาใจใส่ต่อวัฒนธรรมของชาติ แต่เป็นหน้าที่ขององค์การหนึ่งเป็นพิเศษซึ่งประกอบด้วยบุคคลผู้สามารถเป็นผู้ดำเนินงานชนิดนี้ หากจะถือเอาเรื่องยุ่งยากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเหตุผลว่า ถ้าเรื่องใดไม่มีลักษณะพิเศษเป็นการเมือง ก็ระงับเรื่องดำเนินการอื่น ๆ ทั้งหมดไว้ก่อนได้ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่เหลวไหล

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ เห็นว่า ถึงเวลาจำเป็นแล้วที่จะต้องจัดตั้งสภาวัฒนธรรมและศิลปขึ้นให้มีอำนาจและหน้าที่ทางจิตต์ใจทางกฎหมายและทางการเงินของสภาเอง มีภารกิจโดยหน้าที่จัดทำรายชื่อวัดและศิลปวัตถุซึ่งถือว่าเป็นสมบัติของชาติ คุ้มครองป้องกันสถานที่และวัตถุเหล่านั้น และปฏิสังขรณ์ขึ้นไว้เบื้องปลาย ทำบัญชีสิ่งศิลปวัตถุซึ่งเป็นสมบัติของเอกชนสะสมไว้ ในที่สุด ถ้าเจ้าของประสงค์จะขาย ก็ซื้อไว้ รวบรวมวรรณคดี บทเพลง บทร้อง และระบำชาวบ้านที่เป็นของพื้นเมืองโดยวิธีอัดเสียงและถ่ายเป็นภาพยนตร์ไว้ จัดตีพิมพ์เป็นหนังสือว่าด้วยศิลปของไทย ใช้ภาษาง่าย ๆ เพื่อประโยชน์ไว้สอนตามโรงเรียน และหาทางเผยแพร่ศิลปโดยวิธีต่าง ๆ แก่เหล่าเยาวชน ให้การศึกษาอบรมประชาชนด้วยวิธีแสดงเป็นปาฐกถา บทความทางวิทยุกระจายเสียง การประกวด การแสดง และให้ความสนับสนุนแก่กิจการทุกสาขาที่เกี่ยวกับศิลปและวัฒนธรรมปัจจุบัน จัดตีพิมพ์เป็นบันทึกอย่างย่อ ๆ เรื่องประวัติ ตำนาน และทางโบราณคดีของวัดต่าง ๆ และวัตถุศิลปที่มีอยู่ในวัดนั้น ๆ ให้ถือว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติ แล้วแจกจ่ายบันทึกนี้แก่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อท่านจะได้แจ้งถึงความสำคัญแห่งวัดของท่าน และก่อให้เกิดความสนใจและรักใคร่นับถือในศิลปวัตถุซึ่งอยู่ในความอารักขาของท่าน สิ่งใดชำรุดเสียหาย ให้รายงานแจ้งแก่สภาศิลปอย่านอนใจ และสภาจะต้องดำเนินการทันทีตามแต่ลักษณะพิเศษของสิ่งที่เกิดชำรุดเสียหายขึ้น ในที่นี้ พระสงฆ์ท่านมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบจำกัดเพียงเป็นผู้รายงานให้ทราบเท่านั้น ส่วนสภามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเรื่องซ่อม เรื่องปฏิสังขรณ์ อย่าให้โอ้เอ้ล่าช้า เป็นต้น ตลอดทั้งต้องรับผิดชอบในคุณภาพของงานที่ทำด้วย

อาจจะมีน้อยคนที่รู้สึกซาบซึ้งว่า ศิลปศึกษาย่อมขัดเกลากิเลสอินทรีย์ แม้มั่งมีเงินทอง แต่ไม่สามารถได้เสวยความบันเทิงสุขจากสิ่งซึ่งเกี่ยวแก่จิตต์ใจและปัญญาความรอบรู้ ก็มั่งมีเสียเปล่า หาเป็นเครื่องเพียงพอแก่ชีวิตไม่ เราอาจมีรถยนต์ของตนเองได้มากคัน ได้รับความบันเทิงอย่างใหญ่หลวงในชีวิตที่เป็นวัตถุธรรมปานใดก็ดี แต่ถ้าไม่มีอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงจิตต์ใจของเรา ก็เท่ากับเกิดมาเป็นคนเสียเปล่า อาจเป็นได้หรือไม่ว่า เราชาวไทยสมัยปัจจุบันซึ่งเชื่อตนว่า มีความเจริญศิวิไลก้าวหน้าไปไกล แต่เมื่อว่าถึงจิตต์ใจแล้ว จะต้องยอมรับว่า ทรามกว่าบรรพชนของเรา ขอให้เราปลุกประสาทอินทรีย์ที่เป็นสุนทรียะของเราให้ตื่นเถิด มุ่งหน้าเดินไปในวิถีทางที่บรรพบุรุษของเราได้เดินมาแล้ว

ที่ตั้งชื่อบทวิจารณ์สั้น ๆ ของเรื่องนี้ว่า "พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว" ก็เพราะรู้สึกอนาถใจที่ประสบเห็นความเสื่อมโทรมล้มละลายแห่งมรดกศิลปเก่าของเราอยู่ทุกวัน เห็นสิ่งงาม ๆ มากหลายต้องสูญหายไปแทบทุกเมื่อเชื่อวัน ปราศจากการกระทำให้เป็นล่ำเป็นสันและขาดความเอื้อเฟื้ออารีซึ่งเป็นเหตุให้เราเสียดวงมณีอันมีค่าแห่งวัฒนธรรมเก่าของเราเรื่อยเป็นลำดับมาด้วยประการฉะนี้.


พิมพ์ที่ (ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก) บริษัทไทยหัตถการพิมพ์ จำกัด เลขที่ ๘๒ ถนนจักรเพชร ใกล้โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ พระนคร
ร.ต. ประเสริฐ เหลืองสวัสดิ์ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา ๒๕๐๖ โทร ๒๑๔๗๗