ข้ามไปเนื้อหา

พิธีและคาถาในการทำนา/ตอน 1

จาก วิกิซอร์ซ


ประเทศไทย อาชีพการทำนาเป็นอาชีพสำคัญของชาวไทย พี่น้องชาวนาทุกคนเป็นกระดูกสันหลังของชาวไทย ฉะนั้น การทำนาที่จะให้เกิดผลดีจะต้องประกอบไปด้วยฝนดี, นาดี, พืชพันธ์ที่จะใช้เพาะปลูกดีด้วย แต่โบราณกาลมีพิธีเกี่ยวกับการทำนาไว้ ซึ่งนับเป็นความรู้ที่น่าสนใจยิ่ง จึงขอนำมาเสนอแด่ท่านพี่น้องชาวนา พึงพิจารณาและถือปฏิบัติตามโอกาสและภาวการณ์อันควรต่อไป.

พอฝนตก ฤดูฝนกลางเดือนหก ซึ่งถือว่า เป็นวันปีใหม่ของการทำนา ชาวนะต้องเตรียมตัวสำหรับการไถนา ส่วนวันแรกไถนานั้น โดยมากตามตำรากล่าวไว้ดังนี้:–

แรกนาวันอาทิตย์, วันพุธ ไม่ดี จะเสียผล
แรกนาวันจันทร์, วันพฤหัสบดี จะอุดมสมบูรณ์
แรกนาวันอังคาร, วันศุกร์ สัตว์จะเบียดเบียน
แรกนาวันเสาร์ จะเกิดความทุกข์ทุกเมื่อ

เมื่อถึงวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดีซึ่งถือว่า เป็นวันสิริมงคล ข้าวจะอุดมสมบูรณ์ดี ให้จัดเครื่องสักการะ มีข้าวตอก ดอกไม้, ธูปเทียน, สุรา, น้ำ, แกงส้ม, แกงหวาน จัดไปที่นาพร้อมกับควายและไถ (ควรมีแม่โพสพอัญเชิญไปเป็นประธานในพิธีด้วย) พอไปถึง ก็ให้เอาเครื่องสักการะที่จัดไปวางลงที่นาเลี้ยงเจ้านา, ขอขมาแม่พระธรณี ไหว้วอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อธิษฐานขอให้พืชพันธ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ดี เสร็จแล้ว ลงมือไถเวียนเป็นรูปวงกลมเป็นการไถปทักษิณ

พอไถครบสามรอบแล้ว ให้ปลดคันไถปล่อยควายออกไปหากิน แล้วให้พึงสังเกตดูก้อนดินที่ไถนั้น

ถ้าก้อนดินที่ไถหงาย ตกสมบัติพระอินทร์ ดีนักแล
ถ้าก้อนดินที่ไถคว่ำ ตกสมบัติหม้อแตก ไม่ดี
ถ้าก้อนดินที่ไถหงายครึ่งคว่ำครึ่ง ปานกลาง ไม่ค่อยได้ผลสมตั้งใจ

นาไร่หนึ่ง ๆ เรียกว่า ตาหนึ่ง ตาที่ลงมือไถที่แรกเรียก นาตาแรก นาตาแรกนี้ทำเป็นตาเล็ก ๆ ปักเสาล้อมรั้วไว้ กะพอปักต้นข้าวได้ ๘ ต้น เริ่มลงมือปักก่อนละมือดำนา การปักต้นแรกนี้ก็เลือกเอาวันที่ดีเช่นเดียวกัน โดยมากเลือกเอาวันพฤหัสบดี

นาตาแรกถือว่า เป็นพญานา เป็นเจ้านา ก่อนจะลงมือปักดำ โบราณมีการเลี้ยง คือ จัดเหล้า ข้าว น้ำ ๆ ไปตั้งไว้ที่นาตานั้น แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้ดลบันดาลให้ข้าวกล้าในนางอกงามดี อย่าให้วัวควายปลายเขา นกหนูปูปึก มากัดกิน ด้วยแรงอธิษฐานนี้ บางคนมีนิมิตรดี รู้จักถึงว่า ปีนี้น้ำจะน้อยหรือมาก ข้าวกล้าในนาจะได้ผลดีหรือไม่

ถ้าอยากจะรู้ว่า ปีนี้ฝนจะดีหรือไม่ ให้ดูฝนที่ตกทีแรกหรือตกในระหว่างเดือนสาม ท่านทำนายไว้ดังนี้

ถ้าฝนหัวปีตกแรง ตกอยู่นาน ไม่มีลมพัดไปพัดมา เวลาหยุดก็หยุดหายขาดเม็ดไป ทายว่า ปีนั้น ฝนจะดี น้ำจะงาม ข้าวกล้าจะเขียวดี ข้าวจะถูก

ถ้าฝันหัวปิตกไม่สม่ำเสมอ เวลาฝนตกมีลมพัดสาดเอียงไปเอียงมา ทายว่า ปีนั้น ฝนไม่ดี ทำนานไม่ได้ผล ข้าวปลาอาหารไม่อุดมสมบูรณ์

ถ้าฟ้าสีแดงทางทิศพายัพและปัจจิมต่อกัน ฝนจะพลันตกลงมา ถ้าลมพัดจากเหนือไปใต้ พัดจากใต้ไปเหนือ ฝนจะไม่ตก จะได้ข่าวการศึกสงครามแล

เสียงฟ้าร้องเป็นสัญญลักษณ์บอกเหตุให้รู้ว่า ฝนจะดีหรือไม่ดี โบรารถือว่า เทวดาไขประตู ท่านให้สังเกตฟังเสียงฟ้าร้อง เริ่มแต่เดือนสามออกใหม่ไปจนถึงกลางเดือนสี่ แล้วทำนายไว้ดังนี้:–

ฟ้าร้องทางทิศบูรพา เทวดาไขประตูลม ทายว่า ปีนั้น ข้าวกล้า ถั่ว งา ดี แต่ทว่า คนทั้งหลายจะเจ็บไข้กันมาก

ฟ้าร้องทิศอาคเนย์ เทวดาไขประตูทอง ทายว่า ปีนั้น ฝนจะดี คนทั้งหลายจะอยู่เย็นเป็นสุข ข้าวปลาอาหารผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์ดี

ฟ้าร้องทางทิศทักษิณ เทวดาไขประตูไฟ ทายว่า ปีนั้น คนจะเกิดเดือดร้อน–จะเกิดไข้ทรพิษ หิต ฝี มากนักแล

ฟ้าร้องทางทิศหรดี เทวดาไขประตูศิลา ทายว่า ปีนั้น ฝนจะดี ข้าวปลาจะชุม แต่ว่า คนจะเจ็บไข้ จะเกิดสงครามแล

ฟ้าร้องทิศปัจจิม เทวดาไขประตูเหล็ก ทายว่า ปีนั้น ฝนจะแล้ง ข้าวจะไม่ดี จะเกิดทุกข์ภัยไข้เข็บ จะรบพุ่งเบียดเบียนกัน

ฟ้าร้องทิศพายัพ เทวดาไขประตูเงิน ทายว่า ปีนั้น ฝนไม่ดี ข้าวในนาบางแห่งดี บางแห่งไม่ดี คนทั้งหลายจะตายมาก

ฟ้าร้องทางทิศอุดร เทวดาไขประตูน้ำ ทายว่า ปีนั้น น้ำจะมาก จะทำนาไม่ได้ผล น้ำท่วมหมด

ฟ้าร้องทางทิศอีสาน เทวดาไขประตูดิน ทายว่า ปีนั้น ฝนเสมอต้นเสมอปลาย ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ คนทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุข

ฟ้าร้องบนท้องฟ้า พระพรหมไขประตูสวรรค์ ทายว่า ปีนั้น ฝนจะตกงามหนัก ข้าวกล้าถั่วงาดี ฝูงคนจะอยู่เย็นเป็นสุขทั่วทั้งแผ่นดินแล ฯ

การดูน้ำฝนว่า จะน้อยหรือมากนั้น โบราณให้ดูแบบวัวอุสุภราชซึ่งเป็นตำราเก่าแก่และใช้ได้ผลดี ท่านวางหลักไว้ดังนี้:–

วัน อาทิตย์ เล็บ วัน จันทร์ ข้อ
" อังคาร เข่า " พุธ สีข้าง
" พฤหัสบดี หลัง " ศุกร์ เขา
" เสาร์ หนอก

ให้ดูเดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำว่า เกิดวันอะไร ถ้าเกิดวันไหน ให้ทำนายตามวันนั้นดังนี้

เกิดวันอาทิตย์ ตกเล็บวัว น้ำน้อยนัก
เกิดวันจันทร์ ตกข้อวัว น้ำน้อย
เกิดวันอังคาร ตกเข่าวัว น้ำพอประมาณ
เกิดวันพุฐ ตกสีข้างวัว น้ำดี
เกิดวันพฤหัสบดี ตกหลังวัว น้ำมาก
เกิดวันศุกร ตกเขาวัว น้ำมากเกินไป
เกิดวันเสาร์ ตกหนอกวัว น้ำท่วมทุกหนทุกแห่ง