ข้ามไปเนื้อหา

ภัณฑาคารชาดก

จาก วิกิซอร์ซ

พระศาสดาเมื่อทรงประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกำลังพระปัญญาของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สุณาหิ เม ตํ มหาราช ดังนี้ ความมีอยู่วา วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันอยู่ในโรงธรรมว่า ผู้มีอายุทั้งหลายน่าอัศจรรย์ พระศาสดามีพระปัญญามาก แน่นหนา ว่องไว้ เป็นที่ร่าเริง สอดส่อง คมกล้า ควรแก่การบูชาสักการะของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงให้เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ศีลห้า โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรต อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรต ดังนี้ พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นด้วยทิพยโสต เสด็จออกจากพระคันธกุฎีมายังโรงธรรม ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ถึงในกาลก่อน ตถาคตก็แก้ปัญหาด้วยปัญญาของตน เหล่าเทพยดาและมนุษย์พากันกระทำสักการะบูชาดังนี้แล้ว ก็ทรงนิ่งอยู่ อันภิกษุทั้งหลายกราบทูลวิงวอน จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงว่า ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่าโกรพยราช ครองราชย์อยู่ในมิถิลานคร ในแคว้นวิเทหรัฐ มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าสุมนราชเทวี พระเจ้าโกรพยราชนั้น ทรงตั้งอยู่ในธรรม บำเพ็ญทานรักษาศีล ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากดาวดึงส์เทวโลก มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสุมนเทวี จำเดิมแต่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิแล้วจนครบทศมาส ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาประทับอยู่ในอากาศ ใต้เศวตฉัตรในราตรี ถามปัญหากับพระเจ้าโกรพยราชว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์จงทรงฟังปัญหาของข้าพเจ้า หนึ่งไม่มีสอง สองไม่มีสาม สามไม่มีสี่ สี่ไม่มีห้า ห้าไม่มีหก หกไม่มีเจ็ด เจ็ดไม่มีแปด แปดไม่มีเก้า เก้าไม่มีสิบ และสิบไม่มีสิบเอ็ดได้แก่อะไร ปัญหาที่ข้าพเจ้าถาม พระองค์จงแก้โดยเร็วภายในกำหนดเจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน ถ้าพระองค์ไม่ทราบปัญหาของข้าพเจ้า พระองค์ก็จักสิ้นพระชนม์ ดังนี้แล้ว ก็เสด็จกลับยังทิพยสถานของพระองค์ในทันใดนั่นเอง ฝ่ายพระเจ้าโกรพยาช แม้พระราชดำริอยู่จนสว่าง ก็ยังไม่ทรงทราบความหมายของปัญหานั้น ครั้นเวลาเช้า จึงตรัสถามอำมาตย์ ผู้รักษาเรือนคลัง และผู้รักษาพระทวารพระราชมณเฑียร ชนเหล่านั้นแม้สักคนเดียวก็ไม่ทราบ พระเจ้าโกรพยราชทรงหวาดหวั่นว่า ความตายจะพึงมีแก่เรา ตรัสเรียกพระเทวีมาตรัสถามว่า ดูกรเจ้าผู้เจริญ เราไม่ทราบปัญหาที่เทวดามาถาม เจ้าจงพิจารณาปัญหานั้นเถิด พระเทวีจึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทวราชเจ้า ไฉนเลย มนุษย์ทั้งหลายจะวิสัชนาปัญหาของเทพยดาได้ พระเจ้าโกรพยราชได้สดับถ้อยคำของพระเทวีแล้ว ทรงพิโรธ ตรัสเรียกภัณฑาคาริกอำมาตย์มาสั่งบังคับว่า แน่ะภัณฑาคาริก ท่านจงจับพระเทวีไปประหารชีวิตเสีย ภัณฑาคาริกอำมาตย์คิดว่า เวลานี้สมควรที่เราจะบำรุงพระเทวีไว้ก่อน จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวีผู้เจริญ จำเดิมแต่นี้ไป ขอพระเทวีจงรักษาชีวิตไว้ก่อน ในวันรุ่งขึ้น พระราชเทวีทรงประสูตรเป็นพระราชโอรส พระราชกุมาร มีพระกายดังสีทอง ภัณฑาคาริกอำมาตย์ได้เห็นพระราชกุมารแล้ว ให้ตั้งอยู่ในฐานะบุตร ช่วยอุปถัมภ์พระเทวีและพระราชกุมารด้วยข้าวและน้ำเป็นต้น พระราชเทวีนั้น เพราะอาศัยภัณฑาคาริกอำมาตย์นั้นเลี้ยงพระกุมารจนเติบโต จึงขนานพระนามคล้ายกับภัณฑาคาริกอำมาตย์นั้นว่า ภัณฑาคาริกกุมาร พระราชกุมารีมีชันษาได้เจ็ดปีเจ็ดเดือนเจ็ดวัน ในคราวนั้น ท้าวสักกเทวราชลงมราจากเทวโลก ทวงถามปัญหากับพระเจ้าโกรพยราช พระเจ้าโกรพยราชจึงตรัสว่า ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เจริญ ตั้งแต่ที่ท่านได้ถามปัญหากะข้าพเจ้าไว้ ข้าพเจ้าได้ถามข้าราชบริพารทั้งปวงแล้ว พวกเขาก็พากันไม่ทราบทั้งนั้น พรุ่งนี้ข้าพเจ้าจักถามปัญหากะภัณฑาคาริกอำมาตย์แต่เช้าทีเดียว ครั้นยามเช้า พระเจ้าโกรพยราช จึงตรัสถามภัณฑาคาริกอำมาตย์ว่า ดูกรภัณฑาคาริกอำมาตย์ ท่านเป็นที่พึ่งของเรา เพราะท่านรู้จักคนผู่้มีปัญญามาก ท่านจงให้เขาแก้ปัญหา เราจักให้เงินทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ แก้วมณี นารีที่ตกแต่งเครื่องประดับพร้อมช้างร้อยช้าง ม้าร้อยม้า รถร้อยรถ โคร้อยโค ทองคำแสนตำลึงแก่ท่าน และจะให้ท่านเสวยราชสมบัติกึ่งหนึ่ง ภัณฑาคาริกอำมาตย์ จึงกราบทูลว่า บุตรของหญิงคนหนึ่ง มีรูปร่างงดงามในเรือนของข้าพระองค์ เป็นเด็กฉลาด พระเจ้าโกรพยราชมีพระทัยยินดีตรัสว่า ท่านจงไปถามบุตรของท่านว่าสามารถจะแก้ปัญหาของเทพยดาได้หรือไม่ ภัณฑาคาริกอำมาตย์ถวายบังคมลาพระเจ้าโกรพยราช แล้วรีบไปยังเรือนแล้วถามบุตร พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำของบิดาแล้ว มีจิตยินดีรับว่า ตกลง ดังนี้ ฝ่ายมารดากล่าวกะบุตรว่า ดูกรลูกรัก เจ้ายังเด็กอยู่ จะรู้จักอะไร ถ้าเจ้าไม่รู้ ภัยก็จะมีพึงมีแก่เจ้า พระโพธิสัตว์จึงพูดกับมารดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าทราบอยู่ แล้วทูลลาพระมารดา ขึ้นหลังคชาธารตัวประเสริฐ มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม มหาชนทั้งหลาย ก็ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกัน มหาชนทั้งปวงมีจตุรงคเสนากองช้างกองม้ากองรถกองเดินเท้า เดินไปตามมรรคาด้านข้างหน้าของพระมหาโพธิสัตว์ พระมหาโพธิสัตว์เสด็จขึ้นคอช้างดำเนินไป ส่วนพระเจ้าโกรพยราช ทอดพระเนตรหนทางที่พระมหาโพธิสัตว์นั้นจะเสด็จมา เปรียบเหมือนนักเลงสุรากระหายสุรานั่งคอยแต่ว่าจะดื่มอยู่ ฉะนั้น ครั้งนั้น พระมหาโพธิสัตว์เสด็จมาถึงพระทวารพระราชวัง ก็ลงจากหลังช้าง ทูลถามพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ปัญหาที่ท้าวสักกะถามอย่างไร พระเจ้าโกรพยราชตรัสว่า ดูกรกุมาร เทพยดาถามว่า หนึ่งไม่มีสอง สองไม่มีสาม สามไม่มีสี่ สี่ไม่มีห้า ห้าไม่มีหก หกไม่มีเจ็ด เจ็ดไม่มีแปด แปดไม่มีเก้า เก้าไม่มีสิบ และสิบไม่มีสิบเอ็ดได้แก่อะไร พระมหาโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับคำของข้าพระบาท สิ่งซึ่งมีอยู่ในโลกนี้จะเสนอด้วยภูเขาสิเนรุราชไม่มีเลย เหราะเหตุนั้น หนึ่งไม่มีสองนั้ จึงได้แก่ ภูเขาสิเนรุราช สิ่งที่มีเพียงสอง คือพระจันทร์และพระอาทิตย์ สิ่งที่จะเสมอด้วยพระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่มี เหราะเหตุนั้นสองไม่มีสามนั้น จึงได้แก่ พระจันทร์และพระอาทิตย์ สิ่งที่ชื่อว่าสาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งที่จะเสมอด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มี เพราะเหตุนั้น สามไม่มีสี่นั้น จึงได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทวีปทั้งหลายซึ่งจะเสมอด้วยสิ่งทั้งสี่ คือ ชมพูทวีป ปุพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป และอุตตรกุรุทวีปไม่มี เพราะเหตุนั้น สามไม่มีสี่นั้น จึงได้แก่ ทวีปสี่ ห้าไม่มีหกที่เทพยดาถามนั้น คือ ศีลห้า ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่จะเปรียบปานได้ ชนทั้งปวงมีศีลห้าประการไว้ ครั้นจุติจากโลกมนุษย์ไปแล้ว ด้วยอานุภาพของศีลห้าจะได้ไปเกิดเป็นเทพยดาในดาวดึงส์พิภพ เหราะเหตุนั้น ห้าไม่มีหกนั้น จึงได้แก่ ศีลมีองค์ห้าประการ หกไม่มีเจ็ด คือ กามาพจรเทวโลกทั้งหกชั้น คือ ชั้นจาตุมหาราชิดา ดาวดึงสา ยามา ดุสิตา นิมมานรดี และปรนิมมิตรวสวัตตี ไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือน เพราะเหตุนั้น หกไม่มีเจ็ดนั้นจึงได้แก่ กามาพจรหกชั้น ภูเขาที่วงรอเขาพระสุเมรุมีอยู่เจ็ดชั้น ไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือน เพราะเห็นนั้น เจ็ดไม่มีแปด จึงได้แก่ เขาสัตตบริภัณฑ์ซึ่งวงรอบแวดล้อมเขาพระสุเมรุอยู่เจ็ดชั้นนั้น แปดไม่มีเก้า คือ ศีลมีองค์แปดประการ ไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือน เพราะเหตุนั้น แปดไม่มีเก้านั้น จึงได้แก่ ศีลแปดประการ เก้าไม่มีสิบ คือ สภาวธรรมอันใดในโลกนี้ซึ่งจะเสมอเหมือนด้วยพระโลกุตตรธรรมเก้าประการไม่มี เพราะเหตุนั้น เก้าไม่มีสิบนั้น จึงได้แก่ พระนพโลกกุตตรธรรม สิบไม่มีสิบเด็ด คือ ศีลสิบประการ ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะเสมอเหมือน เพราะเหตุนั้น สิบไม่มีสิบเอ็ดนั้น จึงได้แก่ ศีลสิบประการ พระเจ้าโกรพยราช ได้เห็นอัศจรรย์ดังนั้นแล้ว มีพระทัยยินดี พระราชทานราชสมบัติทั้งสิ้นให้เป็นธรรมบูชาแก่พระโพธิสัตว์ กษัตริย์ทั้งปวง นำพระธิดาของตนมาถวายพระโพธิสัตว์ กระทำให้เป็นธรรมบูชา เสนาอำมาตย์ นางสีวิกัญญาและพวกพลนิกายทั้งปวง ก็ถวายเครื่องประดับทอง เงิน แก้วมุกดา แก้วมณี และผ้านุ่งห่มมีประการต่างๆ แล้วก็ยกท่อนผ้าขึ้นโบกไปมาเสียงกึกก้องไปด้วยเสียงดนตรี ตะโพนบัณเฑาะว์กลองเล็กใหญ่ เอิกเกริกได้มีแล้ว ในขณะนั่นเอง มหาปฐพีเป็นประหนึ่งว่าจะแตก ฉะนั้น ชนเหล่านั้นทั้งหมด ทำสาธุการด้วยข้าวตอกและดอกไม้ห้าสีแก่พระโพธิสัตว์แล้ว กระทำอัญชลีกรนมัสการ ร้องถวายชัยมงคลกึกก้อง ท้าวเทวินทเทวราช ได้สดับคำวิสัชนาของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว ตรัสว่า ดูกรกุมาร แต่นี้ไปไม่ช้าเลย พระราชบิดาก็จะอภิเษกพระองค์ให้เป็นกษัตริย์ ท้าวสุชัมบดีมัฆวานเทวราชครั้นตรัสดังนี้แล้ว ประทานพรให้แก่พระราชกุมารแล้ว เสด็จกลับยังเทวสถานเทวโลกแล ในคราวนั้น พระเจ้าโกรพยราช มีรับสั่งให้ตระเตรียมพลช้างพลม้า พลรถ พลเดินเท้า ให้ไปรับพระราชเทวีเข้ามายังพระราชวัง แล้วรอคอยซึ่งการเสด็จมาของพระราชเทวี ครั้นได้เห็นพระราชเทวีเจ้าเสด็จมาถึงแล้ว ก็มีพระทัยโสมนัส เพราะเหตุที่จะได้สังผัสถูกต้องพระสรีรวรกาย ของพระเทวีซึ่งเป็นสตรีรัตน์ จึงเสด็จลุกขึ้นจากราชอาสน์เสด็จไปต้อนรับพระเทวี แล้วตั้งไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสีดังเดิม แล้วทรงแต่งตั้งภัณฑาคาริกราชกุมารในตำแหน่งกษัตริย์ ครั้นเสด็จพระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว พระมหาโพธิสัตว์พระราชทานมหาสมบัติแก่ภัณฑาคาริกอำมาตย์จำเดิมแต่นั้นมา พระมหาโพธิสัตว์ทรงบันเทิงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงบำรุงราษฎร เสวยราชสมบัติอยู่โดยธรรม กษัตริย์ทั้งปวงถวายราชสมบัติของตนแก่พระโพธิสัตว์ ตกแต่งธิดาของตนด้วยเครื่องประดับทั้งปวงมาถวายแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ประทานโอวาทแก่กษัตริย์เหล่านั้นว่า จำเดิมแต่นี้ไป พวกท่านอย่าได้ประมาท จงรักษาศีลห้า เจริญภาวนา สั่งสมบุญกุศล อย่าเบียดเบียนสัตว์มีชีวิต อย่าถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น อย่าเจรจาเท็จ อย่าประพฤติล่วงภรรยาผู้อื่น อย่าดื่มสุราเมรัย จงให้ทานสืบๆ ไป ดังนี้ ครั้นสิ้นพระชนมายุแล้ว ไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอันประเสริฐ พระศาลดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะได้เป็นผู้มีปัญญามาก แต่ในอัตภาพนี้เท่านั้นหามิได้ ถึงในกาลก่อน ตถาคตย่อมเป็นผู้มีปัญญามากแล้วทรงประกาศอริยสัจสี่ประการ ครั้นจบอริยสัจสี่ประการ แล้วทรงประมวลชาดกว่า นางสุมนเทวีในกาลนั้ กลับชาติมาเป็นนางมหามายาในกาลนี้ พระเจ้าโกรพยราชในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นท้าวสุทโธทนมหาราชพุทธบิดาในกาลนี้ ท้าวสักกเทวราชในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นพระอนุรุทธะผู้มีจักษุทิพย์ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งกว่าในกาลนี้ ส่วนภัณฑาคาริกอำมาตย์ในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นพระอานนท์ในกาลนี้ เสนาอำมาตย์ราชบริวารในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นพุทธบริษัทในกาลนี้ ภัณฑาคาริกกุมารโพธิสัตว์ผู้มีพระบารมีมากกว่าชนทั้งปวงในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นพระสัพพัญญูโลกนาถในกาลนี้ ท่านทั้งหลาย จงทรงจำชาดกนี้ไว้ ด้วยประการฉะนี้