ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์ฯ และพระพุทธรูปฯ พ.ศ. 2520
เพื่ออนุวัตตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๐ ให้กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบอนุมัติหรือไม่อนุมัติ หรือทักท้วง หรือห้ามปราม การก่อสร้างอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญของชาติไทย โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับรูปลักษณะและสถานที่ตั้ง ให้ทั้งฝ่ายราชการและฝ่ายเอกชนขออนุญาตตามระเบียบก่อนการก่อสร้าง ส่วนการจำลองพระพุทธรูปสำคัญและพระบรมรูปของพระบรมราชจักรีวงศ์จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาต โดยเสนอผ่านกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อธำรงรักษาเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยไว้มิให้เสื่อมสูญ ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการจึงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ๑ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. ๒๕๒๐”
ข้อ๒ในระเบียบนี้
"พระบรมราชานุสาวรีย์" หมายความว่า อนุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นคุณอย่างยิ่งใหญ่แก่ชาติไทย ในยุคสมัยต่าง ๆ ตามที่มีเรื่องหรือพระนามปรากฏในเอกสารหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และพระบรมราชานุสาวรีย์นั้นจะได้ประดิษฐานไว้ในที่สาธารณะหรือ ณ ที่ซึ่งเปิดให้มหาชนสักการบูชาและชมได้
"อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ" หมายความว่า สิ่งก่อสร้างที่เป็นเครื่องหมายน้อมนำให้ระลึกถึงวีรกรรมหรือคุณความดีของบุคคลที่ได้ประกอบกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ไว้แก่บ้านเมืองไทย สมควรจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ปรากฏ เพื่อเป็นที่รวมพลังใจ ศรัทธา และความนิยมนับถือของประชาชน และเป็นแบบฉบับแก่อนุชนไทยสืบต่อไป และสิ่งก่อสร้างนั้นจะได้ประดิษฐานไว้ในที่สาธารณะหรือ ณ ที่ซึ่งเปิดให้มหาชน สักการบูชาหรือชมได้
"พระพุทธรูปสำคัญ" หมายความว่า พระพุทธรูปที่เป็นปูชนียวัตถุ ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง พระอารามหลวง สถานที่ราชการ หรือวัดสำคัญประจำท้องถิ่น และเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงของมหาชน ตามบัญชีรายนามแนบท้ายระเบียบนี้ และซึ่งจะได้ประกาศเพิ่มเติมเป็นคราว ๆ ไป
ข้อ๓ให้หน่วยราชการหรือเอกชนผู้มีความประสงค์จะก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ตลอดจนจำลองพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ แจ้งความประสงค์ขออนุญาต เป็นลายลักษณ์อักษรถึงอธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งแนบเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาดังต่อไปนี้
การก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ หรืออนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ให้แนบเอกสารแจ้ง
(๑) พระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ หรือประวัติบุคคลสำคัญที่จะนำมาก่อสร้างอนุสาวรีย์
(๒) เหตุผลและวัตถุประสงค์
(๓) แผนผังบริเวณสถานที่ที่จะประดิษฐาน พร้อมทั้งบริเวณใกล้เคียง
(๔) รูปลักษณะ ขนาด แบบรายการ แผนผัง และรายละเอียดอื่น ๆ ในการก่อสร้าง รวมทั้งคำจารึก
(๕) หน่วยงาน หรือบุคคล หรือนิติบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์หรือ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ
การจำลองพระพุทธรูปสำคัญ ให้แนบเอกสารแจ้ง
(๑) ชื่อและประวัติความสำคัญของพระพุทธรูปที่ขอจำลอง
(๒) เหตุผลและวัตถุประสงค์ในการขอจำลองพระพุทธรูปสำคัญ
(๓) รูปลักษณะ ขนาด หรือแบบรายการของพระพุทธรูปที่จำลองแล้ว
(๔) จำนวนที่ขอจำลอง และชนิดของวัสดุที่ใช้จำลอง
(๕) รายละเอียดอื่น ๆ รวมทั้งชื่อหน่วยงาน บุคคล หรือนิติบุคคลที่รับผิดชอบตำเนินการจำลองพระพุทธรูป สำคัญ
ข้อ๔ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะขอให้กรมศิลปากร พิจารณาให้ขั้นหลักการและความตำริริเริ่ม ผู้ขออนุญาตจะแนบเอกสารเฉพาะข้อ ๓ (๑) และ (๒) ก็ได้ แต่ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการก่อสร้างหรือการจำลองนั้น ผู้ขออนุญาตจะต้องส่งเอกสารประกอบการพิจารณาตามข้ออื่น ๆ ที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เว้นไว้แต่ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง
ข้อ๕เมื่อกรมศิลปากรพิจารณาแล้ว จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขออนุญาตทราบเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาสมควร เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะดำเนินการก่อสร้างได้
ข้อ๖ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ หรืออนุสาวรีย์บุคคลสำคัญตลอดจนพิจารณาอนุมัติรูปลักษณะ ขนาด และรายละเอียดอื่น ๆ ใน การก่อสร้างนั้นให้กรมศิลปากรพิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ ของระเบียบนี้กับให้คำนึงถึงประโยชน์ในการสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมและน้อมนำใจมหาชนให้รำลึกถึงเกียรติคุณของบุคคลสำคัญของชาติ และการธำรงรักษา เอกลักษณ์และความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นประการสำคัญ
ข้อ๗เกี่ยวกับสถานที่ที่จะประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์หรืออนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ให้กรมศิลปากรพิจารณา โดยถือหลักเกณฑ์ให้อยู่ ณ บริเวณที่มหาชนจะสักการบูชาได้สะดวก เป็นที่ที่งามสง่า เชิดชูเกียรติ หรือสอดคล้องกับเหตุการณ์และประวัติที่พระบรมราชานุสาวรีย์หรืออนุสาวรีย์บุคคลสำคัญนั้น ๆ เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อประกาศความสำคัญของพระบรมราชานุสาวรีย์หรืออนุสาวรีย์บุคคลสำคัญนั้น ๆ ให้ปรากฏ ยั่งยืนสืบต่อไปชั่วกาลนาน
ข้อ๘ในการพิจารณาคำขออนุญาตก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และคำขออนุญาตจำลองพระพุทธรูปสำคัญนั้น เมื่อกรมศิลปากรพิจารณาเห็นชอบแล้ว ให้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต โดยผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อ๙การเปลี่ยนแปลงรายการ หรือรายละเอียดใด ๆ ในการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์หรืออนุสาวรีย์บุคคลสำคัญและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญภายหลังที่ได้รับอนุญาตแล้ว จะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงอธิบดีกรมศิลปากร และได้รับอนุญาตแล้วจึงจะเปลี่ยนแปลงได้
ข้อ๑๐ให้กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างและการประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ หรือการจำลองพระพุทธรูปสำคัญที่ได้รับอนุญาต หรือได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้เป็นไปตามหลักการและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ตามระเบียบนี้
ข้อ๑๑ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ หรือการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ขออนุญาต
ข้อ๑๒ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรือปัญหาอื่นใด ซึ่งไม่อาจจะยุติได้ในชั้นกรมศิลปากร ให้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
ข้อ๑๓ให้อธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้แต่งตั้งคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น
ข้อ๑๔ให้ใช้ระเบียบนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๐
- ภิญโญ สาธร
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์ฯ และพระพุทธรูปฯ พ.ศ. 2520". (2520, 16 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94, ตอน 75. หน้า 606–613.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"