ข้ามไปเนื้อหา

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาฯ พ.ศ. ๒๕๒๐

จาก วิกิซอร์ซ
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๒๐

ด้วยกระทรวงศึกษาเห็นสมควรปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐบาล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เสียใหม่ให้เหมาะสม และเป็นประโยชน์แก่การศึกษามากยิ่งขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒๓ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๖ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ กระทรวงศึกษาธิการจึงวางระเบียบขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๒๐"

ข้อ ๒ ให้ยกเลิก

(๑) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ค่าธรรมเนียมในโรงเรียนอนุบาล พ.ศ. ๒๔๙๗
(๒) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๙
(๓) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาในโรงเรียนผู้ใหญ่และหน่วยอาชีวศึกษาผู้ใหญ่เคลื่อนที่ พ.ศ. ๒๕๑๓
(๔) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการเก็บค่าภาคปฏิบัติในโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๗
(๕) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาในโรงเรียนผู้ใหญ่สายสามัญ พ.ศ. ๒๕๑๙
(๖) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรมอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๐
บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดที่ได้กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ ๓ ระเบียบนี้ใช้บังคับแก่สถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับ ทุกประเภท ยกเว้นสถานศึกษาสังกัดกรมการฝึกหัดครู และวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา

ข้อ ๔ เงินบำรุงการศึกษาตามระเบียบนี้ คือ เงินที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากนักเรียนนักศึกษาเป็นค่าบำรุงการศึกษา และอื่น ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้

ข้อ ๕ ให้สถานศึกษาเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาตามประเภท และจำนวนเงิน ดังนี้

(๑) ค่าระเบียบการและใบสมัคร ๕ บาท
ถ้ามีแต่ใบสมัครอย่างเดียวให้เก็บ ๒ บาท
(๒) ค่าสมัครเข้าเรียนให้เก็บในอัตรา ๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐ บาท
(๓) สำหรับการศึกษาหรือชั้นที่ไม่ได้จัดการสอบในระบบหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียน ให้เก็บค่าบำรุงการศึกษา รวมทั้งค่าบำรุงสุขภาพ หรือห้องพยาบาล ห้องสมุด ตลอดจนค่าภาคปฏิบัติหรือวัสดุฝึกหัดหรืออุปกรณ์การศึกษา ในอัตราภาคเรียนหรือรุ่นละ ๕๐-๑๐๐-๑๕๐-๒๐๐-๒๕๐-๓๐๐-๕๐๐ บาท
(๔) ค่าขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา สำหรับสถานศึกษาหรือชั้นที่จัดการสอนในระบบหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียน ให้เก็บในอัตราปีละ ๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐-๑๐๐ บาท
(๕) ค่าบำรุงสุขภาพหรือห้องพยาบาล สำหรับสถานศึกษาหรือชั้นที่จัดการสอนในระบบหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียน ให้เก็บในอัตราปีละ ๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐-๑๐๐ บาท
(๖) ค่าบำรุงห้องสมุด สำหรับสถานศึกษาหรือชั้นที่จัดการสอนในระบบหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียน ให้เก็บในอัตราปีละ ๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐-๑๐๐ บาท
(๗) ค่าภาคปฏิบัติหรือวัสดุฝึกหัดหรืออุปกรณ์การศึกษา สำหรับสถานศึกษาหรือชั้นที่จัดการสอนในระบบหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียน ให้เก็บในอัตราหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียนละ ๕-๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐ บาท
(๘) ค่าลงทะเบียนรายวิชา สำหรับสถานศึกษาหรือชั้นที่จัดการสอนในระบบหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียน ให้เก็บในอัตราหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียนละ ๕-๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐ บาท
(๙) ค่าปรับการลงทะเบียนรายวิชา สำหรับกรณีที่มีการลงทะเบียนรายวิชาล่าช้ากว่ากำหนด ให้เก็บในอัตรา ๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐ บาท
(๑๐) ค่าออกใบรับรอง ใบรายงานต่าง ๆ ชุดแรกไม่เรียกเก็บ ชุดต่อไปให้เก็บฉบับละ ๕ บาท
(๑๑) ค่าสอบแก้ตัว สำหรับสถานศึกษาหรือชั้นที่จัดการสอนในระบบหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียน ให้เก็บในอัตราหน่วยกิตหรือหน่วยการเรียนละ ๕ บาท

ข้อ ๖ การเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาตามข้อ ๕ ให้เลือกเก็บในประเภทและอัตราใดอัตราหนึ่งตามความเหมาะสมแก่สภาพท้องถิ่นและฐานะทางเศรษฐกิจ

สถานศึกษาใดจะเก็บเงินบำรุงการศึกษาประเภทใด ในอัตราใด ให้อธิบดีเจ้าสังกัดเป็นผู้อนุมัติและรายงานให้กระทรวงศึกษาธิการรับทราบ

ข้อ ๗ สถานศึกษาใดจะไม่เก็บหรือเก็บเงินบำรุงการศึกษาแตกต่างไปจากประเภทและอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีเจ้าสังกัด โดยความเห็นชอบของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อ ๘ ให้เก็บเงินบำรุงการศึกษาในภาคเรียนหรือเป็นรุ่น และให้สถานศึกษากำหนดเวลาการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาตามความเหมาะสม แต่ต้องประกาศให้นักเรียนนักศึกษาทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน

ข้อ ๙ การรับ จ่าย และจัดทำบัญชีเงินบำรุงการศึกษา ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเงินบำรุงการศึกษา

ข้อ ๑๐ สถานศึกษาต้องใช้จ่ายเงินบำรุงการศึกษาที่เรียกเก็บให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการของสถานศึกษานั้น โดยให้อธิบดีเจ้าสังกัดพิจารณากำหนดวิธีการให้สถานศึกษาจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินบำรุงการศึกษาประจำปีไว้เป็นแนวทางดำเนินงานด้วย

ข้อ ๑๑ ถ้านักเรียนนักศึกษาคนใดลาออก หรือถูกจำหน่ายออกจากสถานศึกษา ไม่ว่ากรณีใด ๆ ภายใน ๗ วันทำการ นับตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนไม่ต้องชำระเงินบำรุงการศึกษา สำหรับภาคเรียนหรือรุ่นนั้น และไม่ถือว่าเป็นผู้ค้างชำระเงินบำรุงการศึกษา

ข้อ ๑๒ ถ้านักเรียนนักศึกษาคนใดย้ายสถานศึกษา ให้ปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาดังนี้

(๑) ถ้านักเรียนนักศึกษาได้ชำระเงินบำรุงการศึกษาทางสถานศึกษาเดิมถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องชำระเงินบำรุงการศึกษาในสถานศึกษาแห่งใหม่อีก สำหรับภาคเรียนที่ได้ชำระไปแล้ว เว้นแต่ค่าขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนนักศึกษาต้องชำระใหม่อีก
(๒) ในกรณีที่ประเภทและอัตราค่าบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาแตกต่างกัน
ก. นักเรียนนักศึกษาไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินบำรุงการศึกษาส่วนที่ได้ชำระไว้แล้วคืน ไม่ว่ากรณีใด ๆ
ข. ถ้าสถานศึกษาแห่งใหม่เรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาต่างประเทศ และอัตราที่สูงกว่าสถานที่ศึกษาเดิม นักเรียนนักศึกษาต้องชำระเพิ่มให้ครบตามประเภทและอัตราของสถานศึกษาแห่งใหม่

ข้อ ๑๓ การยกเว้นเงินบำรุงการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษา ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

ข้อ ๑๔ กรณีนักเรียนนักศึกษาคนใดค้างชำระเงินบำรุงการศึกษา ให้สถานศึกษาเร่งรัดและทวงถามไปยังผู้ปกครองสองครั้ง ถ้ายังชำระไม่เสร็จสิ้นภายในเวลาที่สถานศึกษากำหนดให้ อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าสถานศึกษาที่จะพิจารณาตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๑๕ ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

ข้อ ๑๖ ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่ ปีการศึกษา ๒๕๒๑ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๐

บุญสม มาร์ติน

(นายแพทย์บุญสม มาร์ติน)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ