ข้ามไปเนื้อหา

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2550

จาก วิกิซอร์ซ

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550

[แก้ไข]

เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมในสังคมไทย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1

[แก้ไข]

ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550”

ข้อ 2

[แก้ไข]

ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

ข้อ 3

[แก้ไข]

ในระเบียบนี้

  • คุณธรรม หมายความว่า สิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นความดีงาม เป็นมโนธรรม เป็นเครื่องประคับประคองใจให้เกลียดความชั่ว กลัวบาป ใฝ่ความดี เป็นเครื่องกระตุ้นผลักดันให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ เกิดจิตสำนึกที่ดีมีความสงบเย็นภายใน และเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการในสังคมไทย
  • จริยธรรม หมายความว่า กรอบหรือแนวทางอันดีงามที่พึงปฏิบัติ ซึ่งกำหนดไว้สำหรับสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงาม ความสงบร่มเย็นเป็นสุข ความรักสามัคคี ความอบอุ่น มั่นคงและปลอดภัยในการดำรงชีวิต
  • คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ

ข้อ 4

[แก้ไข]

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ” ประกอบด้วย

  • (1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
  • (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง
  • (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง
  • (4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม
  • (5) ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกรรมการ
  • (6) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ
  • (7) ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการ
  • (8) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ
  • (9) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคล ซึ่งมีความรู้ความสามารถและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เกี่ยวกับงานส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม เป็นกรรมการ

ให้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงวัฒนธรรม เป็นเลขานุการหนึ่งคนและผู้ช่วยเลขานุการไม่เกินสองคน

ข้อ 5

[แก้ไข]

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระหรือในกรณีที่ได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

ข้อ 6

[แก้ไข]

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

  • (1) ตาย
  • (2) ลาออก
  • (3) เป็นบุคคลล้มละลาย
  • (4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  • (5) คณะรัฐมนตรีให้ออก
  • (6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ข้อ 7

[แก้ไข]

การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม หากรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 8

[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  • (1) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
  • (2) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้มีหรือแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
  • (3) เสนอแผนแม่บทการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ
  • (4) ประสานนโยบายและแผน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานของภาคส่วนต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
  • (5) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและโครงการต่างๆ ในการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยที่เสนอต่อคณะกรรมการ
  • (6) กำหนดมาตรการในการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
  • (7) กำหนดกรอบและแนวทางในการประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
  • (8) เชิญข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริง รวมทั้งเรียกเอกสารจากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณา
  • (9) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
  • (10) ดำเนินการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ 9

[แก้ไข]

ในการดำเนินการตามระเบียบนี้ คณะกรรมการอาจเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติภารกิจตามระเบียบนี้ก็ได้

ข้อ 10

[แก้ไข]

ให้นำความในข้อ 7 มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

ข้อ 11

[แก้ไข]

ให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการโดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • (1) จัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยเสนอคณะกรรมการ
  • (2) ส่งเสริม จัดทำและประสานแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรมในสังคมไทยร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  • (3) สนับสนุนการฝึกอบรมด้านคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง
  • (4) ประสาน ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย แผน แผนงานและโครงการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทย
  • (5) ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ 12

[แก้ไข]

ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้


ประกาศ ณ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนพิเศษ 88 ง/หน้า 1/25 กรกฎาคม 2550