รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495

จาก วิกิซอร์ซ
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๔๗๕
แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕

สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๙๕ พรรษา ปัจจุบันสมัย จันทรคตินิยม นาคสมพัตสร ผัคคุณมาส ศุกลปักษ์ เตรสีดิถี สุริยคติกาล มีนาคมมาส อัษฎมสุรทิน ศนิวาร โดยกาลบริจเฉท

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางอุดมสันนิบาต พระบรมวงศานุวงศ์และทูตานุทูต ผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนามาตยราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกชพรั่งพร้อมโดยอนุกรม

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศความพระราชปรารภว่า จำเดิมแต่สมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ สถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้วนั้น ต่อมาก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกหลายฉบับจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ โดยมุ่งหมายจะให้มีหลักการใหม่เหมาะสมตามกาลสมัย แต่ปรากฏว่าในเวลานี้เหตุการณ์ของโลกและสถานการณ์ภายในได้เปลี่ยนแปลงไป จึงคณะบริหารประเทศชั่วคราวพร้อมด้วยข้าราชการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และพลเรือน คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ คณะรัฐประหาร พุทธศักราช ๒๔๙๐ และผู้รักชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ พร้อมทั้งรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒ และรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช ๒๔๘๓ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรที่จะใช้รัฐธรรมนูญนั้นไปพลางก่อน และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดั่งกล่าวแล้ว มีบทบัญญัติบางมาตราอันไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงเสียใหม่ เพื่อให้เป็นหลักถาวรแห่งประศาสนวิธีต่อไป

สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วยดี จึ่งนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำปรึกษาแนะนำด้วยความยินยอม พร้อมที่จะตราเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ได้ เมื่อและทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติ

จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ประสิทธิ์ประสาทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ จงเป็นหลักที่ป้องปัดภัยพิบัติภยันตรายอันจะมากล้ำกรายชาติ ศาสนาและประชาราษฎร ขอปวงชนชาวไทยจงร่วมใจสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มพูนสันติสุขสวัสดิ์สถาพรแก่อาณาประชากรของพระองค์ ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์และทั้งข้าราชการทหาร พลเรือน พสกนิกร จงสโมสรสามัคคี เพื่อความดำรงคงอยู่ด้วยดีแห่งระบอบประชาธิปไตย คู่เคียงกับไทยรัฐราชสีมาตราบเท่ากัลปาวสานสมดั่งพระบรมราชปณิธานทุกประการเทอญ.

มาตรา  ให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ พร้อมทั้งรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวรตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ความในหมวด ๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ให้แก้ไขเพิ่มเติมดั่งต่อไปนี้

(๑) ให้ยกเลิกมาตรา ๙ ถึงมาตรา ๑๑

(๒) ให้แก้เลขมาตรา ๔ ถึงมาตรา ๘ เป็นเลขมาตรา ๕ ถึงมาตรา ๙ ตามลำดับ

(๓) ให้เพิ่มมาตราดั่งต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔ และมาตรา ๑๐ ถึงมาตรา ๒๓ ตามลำดับ

“มาตรา  ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

“มาตรา ๑๐ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์”

“มาตรา ๑๑ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้”

“มาตรา ๑๒ การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีก็ดี การให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย”

“มาตรา ๑๓ องคมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ รัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ”

“มาตรา ๑๔ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องปฏิญาณตนเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา ๑๕ องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง”

มาตรา ๑๖ การแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการในพระองค์ และสมุหราช องครักษ์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย”

มาตรา ๑๗ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

มาตรา ๑๘ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๗ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในกรณีที่ไม่มีคณะองคมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนคณะองคมนตรีตามความในวรรคแรก”

มาตรา ๑๙ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ก็ดี ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ดี ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว

ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้

ในกรณีที่ประธานองคมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานองคมนตรีชั่วคราว

ในกรณีที่ไม่มีคณะองคมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนประธานองคมนตรีตามความในวรรคแรก”

มาตรา ๒๐ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยถ้อยคำว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา ๒๑ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้”

มาตรา ๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อพระชนมายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์”

มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้สภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานสภาประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบ

ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรานี้ ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ ตามความในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ก็ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ถ้าไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดั่งกล่าวนี้ ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน

ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคก่อน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับ

ในกรณีที่ไม่มีคณะองคมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนคณะองคมนตรี หรือประธานองคมนตรี แล้วแต่กรณี”

มาตรา  ความในหมวด ๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ให้แก้ไขเพิ่มเติมดั่งต่อไปนี้

(๑) ให้ยกเลิกมาตรา ๑๓ ถึงมาตรา ๑๕

(๒) ให้แก้เลขมาตรา ๑๒ เป็นเลขมาตรา ๒๔

(๓) ให้เพิ่มมาตราดั่งต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๕ ถึงมาตรา ๓๗ ตามลำดับ

มาตรา ๒๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนเมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในการใช้เสรีภาพดั่งกล่าวในวรรคก่อน บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิ หรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น”

มาตรา ๒๖ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณ การตั้งสมาคม การตั้งพรรคการเมือง ทั้งนี้ ภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมาย”

มาตรา ๒๗ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย

การจับกุม คุมขัง หรือตรวจค้นตัวบุคคลไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

มาตรา ๒๘ การเกณฑ์แรงงานจะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

มาตรา ๒๙ รัฐย่อมเคารพต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนมาเป็นของรัฐจะกระทำมิได้ เว้นแต่จำเป็นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศโดยตรง หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือประโยชน์ของรัฐอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนอันเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ทรงสิทธิ บรรดาที่ได้รับความเสียหายในการโอนกรรมสิทธิ์นั้น”

มาตรา ๓๐ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในเคหสถาน

บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครองก็ดี การตรวจค้นเคหสถานก็ดี จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

มาตรา ๓๑ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักรและในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมาย

การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร จะกระทำมิได้”

มาตรา ๓๒ บุคคลคนเดียว หรือหลายคนร่วมกันย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”

มาตรา ๓๓ สิทธิของบุคคลในครอบครัวย่อมได้รับความคุ้มครอง”

มาตรา ๓๔ สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการซึ่งเป็นนิติบุคคลให้รับผิดเพื่อการกระทำของเจ้าพนักงานในฐานะเสมือนเป็นตัวการหรือนายจ้างย่อมได้รับความคุ้มครอง”

มาตรา ๓๕ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนี้ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญมิได้”

มาตรา ๓๖ บุคคลซึ่งเป็น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำอื่น และพนักงานเทศบาลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประชาชนพลเมือง เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย หรือกฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ หรือวินัย”

มาตรา ๓๗ บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมาย ป้องกันประเทศ ช่วยเหลือราชการโดยทางเสียภาษีและอื่น ๆ ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๓ และมาตรา ๓๘ ถึงมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ตามลำดับ

“หมวด ๓
แนวนโยบายแห่งรัฐ

มาตรา ๓๘ รัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งเอกราชและร่วมมือกับนานาประเทศ เพื่อบำรุงสันติสุขของโลก

มาตรา ๓๙ รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อรักษาเอกราชและประโยชน์แห่งประเทศชาติ

มาตรา ๔๐ รัฐจะต้องรักษาความสงบภายใน เพื่อยังผลให้ราษฎรประสบสันติสุข

มาตรา ๔๑ รัฐพึงสนับสนุนให้เอกชนได้มีการริเริ่มในทางเศรษฐกิจ และประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภค ให้ประสานกันกับการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจส่วนเอกชน

มาตรา ๔๒ รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการศึกษาอบรม

การจัดระบบการศึกษาอบรมเป็นหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะสถานศึกษาทั้งปวงย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ

การศึกษาชั้นอุดมศึกษา รัฐพึงจัดการให้สถานศึกษาดำเนินกิจการของตนเองได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๔๓ รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข ตลอดถึงการมารดาและทารกสงเคราะห์

การป้องกันและปราบโรคระบาด รัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า

มาตรา ๔๔ บทบัญญัติในหมวดนี้มีไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการตรากฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายดั่งกำหนดไว้ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ”

มาตรา  ความในหมวด ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ให้แก้ไขเพิ่มเติมดั่งต่อไปนี้

(๑) ให้แก้เลขหมวด ๓ เป็นเลขหมวด ๔

(๒) ให้ยกเลิกมาตรา ๑๘ มาตรา ๒๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๑

(๓) ให้แก้เลขมาตรา ๑๖ ถึงมาตรา ๑๗ เป็นเลขมาตรา ๔๕ ถึงเลขมาตรา ๔๖ ตามลำดับ

(๔) ให้แก้เลขมาตรา ๑๙ ถึงมาตรา ๒๐ เป็นเลขมาตรา ๔๘ ถึงเลขมาตรา ๔๙ ตามลำดับ

(๕) ให้แก้เลขมาตรา ๒๒ ถึงมาตรา ๓๒ เป็นเลขมาตรา ๕๑ ถึงมาตรา ๖๑ ตามลำดับ

(๖) ให้แก้เลขมาตรา ๓๕ ถึงมาตรา ๓๖ เป็นเลขมาตรา ๖๕ ถึงมาตรา ๖๖ ตามลำดับ

(๗) ให้แก้เลขมาตรา ๓๗ เป็นเลขมาตรา ๖๘

(๘) ให้แก้เลขมาตรา ๓๘ เป็นเลขมาตรา ๗๑

(๙) ให้แก้เลขมาตรา ๔๐ เป็นเลขมาตรา ๗๔

(๑๐) ให้แก้เลขมาตรา ๔๒ ถึงมาตรา ๔๕ เป็นเลขมาตรา ๗๗ ถึงมาตรา ๘๐ ตามลำดับ

(๑๑) ให้เพิ่มมาตราดั่งต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๗ มาตรา ๕๐ มาตรา ๖๒ ถึงมาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๙ ถึงมาตรา ๗๐ มาตรา ๗๒ ถึงมาตรา ๗๓ มาตรา ๗๕ ถึงมาตรา ๗๖

มาตรา ๔๗ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละห้าปี ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้เลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนให้เต็มตำแหน่งที่ว่างอยู่ แต่ถ้าสมาชิกที่เข้ามาแทนนั้น ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน”

มาตรา ๕๐ สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามวาระ หรือยุบสภา

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(๕) สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่ง โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สภา มติในข้อนี้ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดตาม (๔) ให้ศาลฎีกาวินิจฉัยตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด แต่การชี้ขาดของศาลฎีกาย่อมไม่กระทบกระทั่งการที่สมาชิกนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภาก่อนที่มีการชี้ขาด”

มาตรา ๖๒ ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ หรือคุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภา หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด

ในกรณีที่มีการจับสมาชิกในขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานสภาโดยด่วน และประธานสภาอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการคุมขังได้”

มาตรา ๖๓ ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภา แต่กระนั้น การพิจารณาคดีก็ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาเข้าประชุมสภา

การพิจารณาที่ศาลได้กระทำไปก่อนมีคำอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิก ย่อมเป็นอันใช้ได้”

มาตรา ๖๔ ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกคุมขังระหว่างสอบสวน หรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันที ถ้าหากสภาได้ร้องขอ

คำสั่งปล่อยตามความในวรรคก่อน ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม”

มาตรา ๖๗ การตราพระราชบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญา หรือลงโทษบุคคลหนักขึ้นกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลากระทำความผิด จะกระทำมิได้”

มาตรา ๖๙ การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องขออนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสแรกที่พึงกระทำได้

คำอนุมัติของสภาให้ทำเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะเรื่องหรือรวมลงไว้ในพระราชบัญญัติโอนเงินในงบประมาณ หรือพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีถัดไป”

มาตรา ๗๐ ในกรณีพิเศษซึ่งสมควรจะมีแผนการณ์ต่อเนื่องกัน อันเป็นราชการแผ่นดินเกี่ยวกับสาธารณูปโภค และจำต้องจ่ายเงินแผ่นดินเป็นระยะเวลานานกว่าปีหนึ่ง จะตราพระราชบัญญัติขึ้นให้มีผลผูกมัดงบประมาณประจำปีก็ได้ แต่ระยะเวลาดั่งกล่าวต้องไม่เกินห้าปี”

มาตรา ๗๒ ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย และพระราชทานคืนมายังสภาผู้แทนราษฎร หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในหกสิบวัน สภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้าสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสามสิบวัน ก็ให้นำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”

มาตรา ๗๓ ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง กล่าวคือ การตั้งขึ้นหรือยกเลิกหรือลดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือผ่อนหรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร การจัดสรรหรือรับหรือรักษาหรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้ หรือร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเงินตรา

ในกรณีเป็นที่สงสัย ให้เป็นอำนาจของประธานสภาที่จะวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่”

มาตรา ๗๕ สภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

ญัตติดั่งกล่าวในวรรคก่อน ให้ยื่นต่อประธานสภา และให้ประธานสภาแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดเวลาสำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับแจ้ง แต่คณะรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ระงับการเปิดอภิปรายทั่วไปนั้นเสียได้ เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน

ในการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ สภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้”

มาตรา ๗๖ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือทั้งคณะ

เมื่อการเปิดอภิปรายทั่วไปในสภาสิ้นสุดลง โดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ แต่การลงมติในกรณีเช่นนี้ มิให้กระทำในวันเดียวกันกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุด”

มาตรา  ความในหมวด ๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ให้แก้ไขเพิ่มเติมดั่งต่อไปนี้

(๑) ให้แก้เลขหมวด ๔ เป็นเลขหมวด ๕

(๒) ให้ยกเลิกมาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๔๗ มาตรา ๕๑ ถึงมาตรา ๕๔ มาตรา ๕๗

(๓) ให้แก้เลขมาตรา ๔๘ ถึงมาตรา ๕๐ เป็นเลขมาตรา ๘๒ ถึงเลขมาตรา ๘๔ ตามลำดับ

(๔) ให้แก้เลขมาตรา ๕๕ เป็นเลขมาตรา ๙๓

(๕) ให้แก้เลขมาตรา ๕๖ เป็นเลขมาตรา ๙๕

(๖) ให้เพิ่มมาตราดั่งต่อไปนี้เป็นมาตรา ๘๑ มาตรา ๘๕ ถึงมาตรา ๙๒ มาตรา ๙๔ มาตรา ๙๖ ถึงมาตรา ๙๘

มาตรา ๘๑ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีนายหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบสี่นาย อย่างมากยี่สิบแปดนาย

ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน”

มาตรา ๘๕ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานสภาขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมของสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ สภาจะลงมติในปัญหาที่เปิดอภิปรายมิได้”

มาตรา ๘๖ ในระหว่างเวลาบริหารราชการแผ่นดิน ภายหลังที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถ้ามีพฤติการณ์ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้สภายืนยันความไว้วางใจอีกก็ได้”

มาตรา ๘๗ รัฐมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจในคณะ หรือเมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ให้ความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรีในขณะเข้ารับหน้าที่นั้นสิ้นสุดลง หรือเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ในกรณีทั้งสามนี้ คณะรัฐมนตรีที่ออกนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

นอกจากนี้ ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวโดย

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(๔) สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ”

มาตรา ๘๘ ในเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณและจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ก็ดี เมื่อกรณีเช่นว่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างสภาถูกยุบก็ดี พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ในการประชุมสภาคราวต่อไป ให้เสนอพระราชกำหนดนั้นต่อสภาโดยไม่ชักช้า ถ้าสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็ให้มีผลเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระทั่งกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

คำอนุมัติและไม่อนุมัติ ให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ”

มาตรา ๘๙ ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามความในวรรคก่อน จะต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสองวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘๘ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๙๐ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่ากฎอัยการศึก

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก”

มาตรา ๙๑ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และไม่เป็นการขัดกับกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติ มติให้ความยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด”

มาตรา ๙๒ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นกับนานาประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

มาตรา ๙๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์”

มาตรา ๙๖ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า”

มาตรา ๙๗ การกำหนดคุณสมบัติ การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน และการลงโทษข้าราชการ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

มาตรา ๙๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗ มาตรา ๖๑ และมาตรา ๘๑ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

มาตรา  ความในหมวด ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ให้แก้ไขเพิ่มเติมดั่งต่อไปนี้

(๑) ให้แก้เลขหมวด ๕ เป็นเลขหมวด ๖

(๒) ให้แก้เลขมาตรา ๕๘ ถึงเลขมาตรา ๕๙ เป็นเลขมาตรา ๙๙ ถึงเลขมาตรา ๑๐๐ ตามลำดับ

(๓) ให้แก้เลขมาตรา ๖๐ เป็นเลขมาตรา ๑๐๓

(๔) ให้เพิ่มมาตราดั่งต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕

มาตรา ๑๐๑ การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่ง หรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลธรรมดาที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นจะกระทำมิได้”

มาตรา ๑๐๒ การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลหรือวิธีพิจารณา เพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ จะกระทำมิได้”

มาตรา ๑๐๔ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ย้าย และถอดถอนผู้พิพากษา”

มาตรา ๑๐๕ การแต่งตั้ง การย้าย และการถอดถอนผู้พิพากษา จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล

การเลื่อนตำแหน่ง และการเลื่อนเงินเดือนผู้พิพากษา จะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ”

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๗ และมาตรา ๑๐๖ ถึงมาตรา ๑๑๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕

“หมวด ๗
ตุลาการรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๐๖ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสามคนซึ่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ

ประธานศาลฎีกาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๐๗ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

วิธีการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา ๑๐๘ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมสภาครั้งแรก

กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อน ให้หมายถึงวันในสมัยประชุม

ในการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามความในวรรคแรก สภาจะแต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่อีกได้

มาตรา ๑๐๙ ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(๕) ต้องคำพิพากษาโทษจำคุก

มาตรา ๑๑๐ ถ้าตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ให้สภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญเข้ามาแทนภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน

กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อน ให้หมายถึงวันในสมัยประชุม”

มาตรา  ให้ยกเลิกความในหมวด ๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ทั้งหมวด และให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๘ และมาตรา ๑๑๑

“หมวด ๘
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๑๑ รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ ก็แต่โดยเงื่อนไขดั่งต่อไปนี้

(๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

(๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นสามวาระ

(๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งชั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

(๔) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองชั้นพิจารณา เรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามชั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

(๗) เมื่อการออกเสียงลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวข้างบนนี้แล้ว ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๑ และมาตรา ๗๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในหมวด ๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ และเพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๙ และบทเฉพาะกาล ตามมาตรา ๑๑๒ ถึงมาตรา ๑๒๓

“หมวด ๙
บทสุดท้าย

มาตรา ๑๑๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑๔ ถ้ามีปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญอันอยู่ในวงงานของสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นอำนาจของสภาที่จะตีความ และให้ถือว่าการตีความของสภาเป็นเด็ดขาด

ในการตีความรัฐธรรมนูญตามความในวรรคก่อน ต้องมีสมาชิกประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา ๑๑๓ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา ๑๑๔ ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๑๑๓ ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ เพื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาดและให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระทั่งคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๑๑๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑๖ ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลาสิบปี นับแต่วันใช้บังคับรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท มีจำนวนเท่ากัน

(๑) สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้แก่ผู้ซึ่งราษฎรเลือกตั้งตามบทบัญญัติมาตรา ๔๕ และมาตรา ๔๖

(๒) สมาชิกประเภท ๒ ได้แก่ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นไว้แล้วในวันที่ใช้บังคับรัฐธรรมนูญนี้

ในระหว่างที่สมาชิกประเภทที่ ๑ ยังไม่ได้เข้ารับหน้าที่ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ ๒ ไปพลางก่อน

มาตรา ๑๑๖ เมื่อได้ใช้บังคับรัฐธรรมนูญนี้ไปแล้วห้าปี ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดใดได้รับการศึกษาอบรมจบชั้นประถมศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในจังหวัดนั้น ก็ให้สมาชิกประเภทที่ ๒ ออกจากตำแหน่งมีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีการเลือกตั้งในจังหวัดนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการออกจากตำแหน่งให้เป็นไปตามข้อบังคับซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะได้ตราขึ้น

ในระหว่างที่มีสมาชิกประเภทที่ ๒ ตามมาตรานี้ ถ้าตำแหน่งสมาชิกประเภทที่ ๒ ว่างลง โดยมิใช่โดยการออกตามความในวรรคแรก พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นสมาชิกประเภทที่ ๒ เท่าจำนวนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น

ในกรณีที่จะมีการออกจากตำแหน่งของสมาชิกประเภทที่ ๒ ตามความในวรรคแรก ให้คณะรัฐมนตรีประกาศจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งได้รับการศึกษาอบรมจบชั้นประถมศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในวันที่ ๑ มกราคม ของทุก ๆ ปี

มาตรา ๑๑๗ ในกรณีที่สมาชิกประเภทที่ ๒ จะต้องออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๑๖ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ เพิ่มขึ้นมีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกประเภทที่ ๒ ที่จะต้องออกจากตำแหน่งนั้นภายในวันที่ ๑ เมษายน และให้สมาชิกประเภทที่๒ ออกจากตำแหน่งในวันที่สมาชิกประเภทที่ ๑ เข้ารับหน้าที่

มาตรา ๑๑๘ ในระหว่างที่มีสมาชิกประเภทที่ ๒ ถ้ามีการยุบสภา ตามความในมาตรา ๖๕ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกใหม่เฉพาะในส่วนสมาชิกประเภทที่ ๑

มาตรา ๑๑๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๐ (๒) (๓) (๔) และ (๕) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ สมาชิกประเภทที่ ๒ คงอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๕ แต่มิให้มีการประชุมดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่สภาต้องถูกยุบตามความในมาตรา ๖๕

มาตรา ๑๒๐ ก่อนที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้อยู่ในวันใช้บังคับรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับ

มาตรา ๑๒๑ ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันใช้บังคับรัฐธรรมนูญนี้ คงอยู่ในตำแหน่งบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไปก่อน และพ้นจากตำแหน่งเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ เข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับ

มาตรา ๑๒๒ ในวาระเริ่มแรก ให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๐๖ ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้เข้ารับหน้าที่

มาตรา ๑๒๓ เมื่อเลิกมีสมาชิกประเภทที่ ๒ ข้าราชการประจำต้องออกจากตำแหน่งก่อน จึงจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่นได้”

มาตรา ๑๑ บรรดามาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งได้มีการแก้เลขมาตราตามรัฐธรรมนูญนี้แล้วนั้น ถ้าได้อ้างถึงบทมาตราใดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ให้ถือว่าอ้างถึงบทมาตราตามที่แก้เลขมาตราใหม่นั้น

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"