รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2548

จาก วิกิซอร์ซ
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑)
พุทธศักราช ๒๕๔๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
เป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา  รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๔๘"

มาตรา  รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้ยกเลิกความในวรรคสามและวรรคสี่ของมาตรา ๒๙๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"การสรรหาและการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๕๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้มี คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจํานวนสิบห้าคน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน และอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่ง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหกคน เป็นกรรมการ

ในกรณีที่มีเหตุทําให้ต้องมีการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่มีกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่ครบองค์ประกอบตามวรรคสาม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ"

มาตรา  ในกรณีที่มีเหตุทําให้ต้องมีการสรรหาและการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่วุฒิสภายังมิได้มีมติเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ยกเลิกการสรรหาและการเลือกดังกล่าว และให้คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามมาตรา ๒๙๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ เป็นผู้ดําเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ คือ โดยที่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามมาตรา ๒๙๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กําหนดให้มีกรรมการสรรหามาจากผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน เป็นกรรมการด้วย แต่ในขณะนี้ พรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอยู่เป็นจํานวนสี่พรรคการเมือง ทําให้ไม่อาจดําเนินการให้มีองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงสมควรแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาดังกล่าว เพื่อให้สามารถดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไปได้ จึงจําเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญนี้

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"