รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕
ประธานสภาฯ กล่าวว่า วันนี้ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอให้ประชุมปรึกษาว่าด้วยรัฐธรรมนูญดั่งที่ได้แจกในคราวประชุม ครั้งที่ ๓๔/๒๔๗๕ และในการที่จะพิจารณาครั้งนี้ มีสมาชิกหลายนายได้เสนอญัตติขอให้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในมาตราต่าง ๆ ดั่งที่ได้พิมพ์แจกให้ทราบทั่วกันนั้นแล้ว และการที่จะพิจารณาครั้งนี้ จะปรึกษากันไปทีละมาตราหรืออย่างไร
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงว่า ควรพิจารณาเป็นมาตรา ๆ ซึ่งอนุกรรมการจะได้อธิบายกำกับไปด้วย และถ้ามาตราใดมีสมาชิกเสนอญัตติให้แก้ไว้ ก็จะได้รวมปรึกษาไปในคราวเดียว
นายสงวน ตุลารักษ์ รับรองในการที่จะพิจารณาเป็นมาตรา ๆ ไป
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในการที่จะพิจารณาครั้งนี้ มีประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอขอให้พิจารณากันไปทีละมาตรา ซึ่งมีสมาชิกนายหนึ่งรับรอง ฉะนั้น จึ่งถามที่ประชุม สมาชิกทั้งหมดเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า ที่ประชุมรับปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญทีละมาตรา
นายสงวน ตุลารักษ์ เสนอขอให้เปลี่ยนภาวะที่ประชุมเป็นชุมนุมอนุกรรมการเต็มสภา
ประธานสภาฯ อนุมัติให้เปลี่ยนภาวะการประชุมเป็นอนุกรรมการเต็มสภา
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงว่า ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาถึงข้อความ อยากจะขอแถลงต่อที่ประชุมว่า เมื่ออนุกรรมการได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาเมื่อ ๑๐ วันที่แล้วมา ก็ยังมานึกสงสัยในถ้อยคำที่จะใช้ เพราะเราจะต้องพยายามทำให้เกลี้ยงเกลาและสละสลวยที่สุดที่จะทำได้ จึ่งได้เชิญผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในทางภาษาและหนังสือมาช่วยกันพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คือ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และพระธรรมนิเทศทวยหาญ เป็นต้น ครั้งนี้ ได้พิจารณาถึงถ้อยคำและไวยากรณ์ ก็ตกลงกันแล้วว่า เรียบร้อย แต่มีตัดคำออกบ้างเป็นบางคำ และโดยมากก็เป็นคำเช่น ซึ่ง อัน กับ แต่ จึ่งหวังว่า เนื่องจากที่ท่านผู้ชำนาญได้พิจารณาแล้ว คงจะไม่มีโต้เถียงกันในเรื่องถ้อยคำนัก อีกข้อหนึ่ง อยากจะเสนอต่อที่ประชุมว่า ในทางราชการ อยากจะให้รัฐธรรมนูญนี้แล้วเร็วที่สุดที่จะทำได้ เพราะได้กำหนดงานในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ซึ่งโหรหลวงได้คำนวณแล้วว่า ฤกษ์งามยามดี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบและโปรดเกล้าฯ ว่า จะให้ออกได้ในวันนั้น และในการนี้ มิใช่ว่า เมื่อเราปรึกษากันเสร็จ ก็จะออกได้ทันที แต่ต้องไปเขียนในสมุดไทย ๑ เล่ม จึ่งต้องการให้เวลาเหลืออย่างมากที่สุดที่จะเป็นได้ จึ่งตั้งใจจะรีบปรึกษาเสียแต่เช้าไปตลอดวัน และถ้าสามารถ ก็จะให้จนถึงกลางคืนด้วย ส่วนข้อความในรัฐธรรมนูญ ก็ได้ชี้แจงมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อคราวประชุม ครั้งที่ ๓๔/๒๔๗๕ แต่อยากจะพูดพอให้เข้าใจความแจ่มแจ้งอีกครั้งหนึ่ง และหวังว่า จะตัดข้อโต้เถียงได้บ้าง ซึ่งจะเริ่มด้วยมาตรา ๑
มาตรา ๑ มีความว่า "สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว ซึ่งจะแบ่งแยกออกจากกันมิได้
ประชาชนชาวสยาม ไม่ว่าเหล่ากำเนินดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน"
ที่เขียนทั้งนี้ ก็เพราะเรามีความประสงค์อย่างที่ได้เสนอไว้แล้วว่า เราจะรวมคนไทย ซึ่งเวลานี้มีบางคนนึกว่า ตัวเป็นไทย ⟨เ⟩รียกพวกอื่นว่า ไม่ใช่ไทย ทั้งมีคนที่ถือศาสนาต่างกัน เช่น คนนี้ถือศาสนาหนึ่ง อีกคนหนึ่งถือศาสนาหนึ่ง คิดแตกพวกกันว่า ต่างศาสนากัน ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้เป็นของไม่พึงปรารถนา เมืองเราเป็นราชอาณาจักรอันมีพลเมืองน้อย ถ้าแยกหมู่เหล่าออกไป ก็ยิ่งจะน้อยลงไป ฉะนั้น จึ่งหวังที่จะรวมให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนาอันหนึ่งอันเดียวเป็นราชอาณาจักร มีพระเจ้าแผ่นดินทรงปกครองอำนาจจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ และในมาตรานี้ ขอตัดคำว่า ซึ่ง ออก คงให้อ่านเป็นว่า "สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกออกจากกันมิได้⟨"⟩ และถ้าไม่มีผู้ใดอภิปราย ก็ขอให้ลงคะแนนรับรอง
พระยาพหลพลพยุหเสนาเสนอว่า ในมาตรา ๑ บรรทัด ๒ ควรจะตัดคำว่า "ออกจากกัน" ออก คงให้อ่านเป็นว่า "สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้⟨"⟩
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับรอง
นายจรูญ ณบางช้าง เสนอขอให้คำว่า "กัน" คงใช้
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์แถลงว่า คำที่ว่า จะแบ่งแยกมิได้ กับ จะแบ่งแยกกันมิได้ นี้ อ่านแล้วมีความหมายต่างกัน คำว่า จะแบ่งแยกมิได้ นั้นแปลว่า จะแบ่งกันเอามิได้ หรือว่า ผู้ใดผู้หนึ่งจะมาแบ่งก็มิได้ ส่วนคำว่า จะแบ่งแยกกันมิได้ นั้นแปลว่า จะแบ่งกันเองมิได้ แต่ว่ามีัผู้อื่นมาแบ่งได้
ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ใดทักท้วงอย่างใดอีกแล้ว ขอให้ลงมติตามที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอขอตัดคำว่า ซึ่ง ออก และพระยาพหลพลพยุหเสนาเสนอขอให้ตัดคำว่า "ออกจากกัน" สมาชิกส่วนมากเห็นชอบในการที่ขอตัดออกนั้น เป็นอันว่า ที่ประชุมสภารับรองมาตรา ๑ ว่า ใช้ได้
มาตรา ๒ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงว่า "ตามความในมาตรา ๒ ที่ว่า "อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" นั้น ความหมายของมาตรานี้ได้อธิบายไว้พอควรแล้วในคำชี้แจง คือ หมายความว่า อำนาจอธิปไตย ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า "Sovereignty" คือ อำนาจสูงสุดในทางนีติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการนั้น มาจากปวงชน มิใช่มาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาจากชาติ คือ ราษฎรรวมกัน แต่อำนาจนี้ราษฎรรวมกันทุกคนจะต่างคนต่างใช้ไม่ได้ เราเอาอำนาจนั้นมารวมกันเป็นอันหนึ่ง แล้วพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น แม้พระมหากษัตริย์ทรงใช้ก็จริง แต่ว่าท่านมิได้ทรงใช้ตามพระทัย ทรงใช้ตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
หลวงคหกรรมบดี เลขาธิการสภาฯ เสนอว่า ในมาตรานี้ นายสงวน ตุลารักษ์ ขอให้เติมคำว่า "สูงสุด" ต่อท้ายคำว่า "ประมุข"
นายสงวน ตุลารักษ์ แถลงว่า ในการที่ขอเตมคำว่า "สูงสุด" ต่อท้ายคำว่า "ประมุข" นั้น ก็โดยเหตุว่า คำว่า ประมุข นี้อาจจะเป็นหลายคนก็ได้ ฉะนั้น พระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดที่ชาวเรานับถือ จึ่งอยากให้เติมความลงไว้ให้แจ่มแจ้งชัดเจน
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับศัพท์ แต่ว่าความคิด (idea) นั้น ก็มุ่งอย่างเดียวกัน และคงเข้าใจกันดีแล้วว่า ประมุขนั้นจะมีมากกว่าหนึ่งคนไม่ได้ ขอเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์อธิบายความข้อนี้
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์แถลงว่า ในทางภาษา คำว่า "ประมุข" ก็แปลว่า สูงสุดอยู่แล้ว "มุข" แปลว่า "หน้า" ฟังดูตามชื่อแล้วก็แปลว่า สูงสุด เพราะเหตุว่าจะมีหลายคนไม่ได้อย่างประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชี้แจง และคำว่า ประมุข นี้ แปลตามศัพทก็เป็นคน ๆ เดียวเท่านั้น ไม่ต้องการคุณศัพท์มาแสดงอีกว่า ประมุขสูง ประมุขต่ำ
นายสงวน ตุลารักษ์ กล่าวว่า บัดนี้ ได้ฟังคำอธิบายเป็นที่เข้าใจแล้ว ขอถอนคำเสนอนั้น
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เสนอว่า เนื่องจากในคำแถลงการณ์ขออนุกรรมการ หน้า ๒ ตอนสอง บรรทัดสุด มีความว่า ใช้พระราชอำนาจแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ว่าในตัวพระราชบัญญัตินี้กล่าวแต่เพียงว่า "ทรงใช้อำนาจนั้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้⟨"⟩ ซึ่งอาจจะหมายความว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เป็นแต่เพียงเครื่องมือของพระมหากษัตริย์เท่านั้น มีหมายว่า ท่านก็ทรงผูกมัดด้วยบทบัญญัติเช่นเดียวกัน จึงควรเติมคำว่า "แต่" ลงหน้าคำว่า "โดย"
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันอย่างคำว่า สูงสุด คือ มีความมุ่งหมายเช่นเดียวกัน กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามที่จำกัดไว้นี้เท่านั้น ท่านจะทรงใช้โดยวิธีอื่นไม่ได้ แต่ที่เกี่ยวกับภาษาเช่นนี้ ขอเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์อธิบาย
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์แถลงว่า เท่าที่ได้อ่านดูความในนี้ ก็เข้าใจว่า ทรงใช้อำนาจโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หมายความว่า ทรงใช้ทางอื่นไม่ได้อยู่แล้ว เพราะในนี้บอกชัดว่า จะทรงใช้อำนาจโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะใช้อย่างอื่นไม่ได้ คือ จำกัดอยู่แล้ว จะมีหรือไม่นั้นก็ได้ความเดียวกัน แต่ว่า ถ้าจะใส่คำว่า แต่ ลงไปนั้น ได้ความชัดดี
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า เมื่อสมาชิกมีความมุ่งหมายจะตีความให้ชัดเช่นนั้น ก็ขอรับรอง
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ขัดข้อง
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๒ นี้ มีสมาชิกเสนอขอให้เติมคำว่า "แต่⟨"⟩ ลงไว้หน้าคำว่า ⟨"⟩โดย" คงอ่านว่า "ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ถ้าไม่มีขัดข้องแล้ว ขอให้ลงคะแนนรับรอง ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ เป็นอันว่า มาตรา ๒ ใช้ได้ตามที่พิจารณาแก้มานั้น
มาตรา ๓ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ อ่านว่า "พระองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" ซึ่งได้แสดงความหมายของมาตรานี้โดยย่อ ๆ แล้วว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งชาติและปวงชนทั้งปง และดำรงอยู่ในฐานะอันพึงพ้นจากความถูกติเตียนในทางใด ๆ เพราะฉะนั้น ในรัฐธรรมนูญของบ้านเมืองใดที่ปกครองโดยกษัตริย์และมีรัฐธรรมนูญ เขาก็วางหลักการไว้เช่นเดียวกันนี้ทุกแห่ง และในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น คำว่า (Sacred) ซึ่งท่านนักแปลคนหนึ่งได้แปลว่า เคารพ ก็ถูกอยู่ แต่ถ้าจะให้ถูกดีแล้ว ก็ควรมีคำว่า สักการะ ด้วย ซึ่งอนุกรรมการได้เห็นชอบด้วยแล้ว คำว่า ผู้ใดจะละเมิดมิได้ นี้ เราหมายความว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่า ถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้ว จะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่ง เราต้องนึกว่า ที่ว่า เป็นประมุข นั้น ตามแบบเรียกว่า "รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว⟨"⟩ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่า ถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้ว ก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่ และที่เขียนมานี้ไม่กะทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใด ๆ เลย จึ่งขอเติมคำว่า "สักการะ" ต่อคำว่า "เคารพ"
นายสงวน ตุลารักษ์ ว่า ที่กล่าวว่า "พระองค์⟨"⟩ แคบเกินไป อยากจะขอเสนอให้ตัดออกเสีย เพราะเรามิได้เคารพแต่ฉะเพาะพระองค์เท่านั้น เราเคารพถึงพระบรมรูป พระเกียรติยศ ฯลฯ อีกด้วย
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรับรอง
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ตามหลักนั้นหมายถึง person of the King คือ ตัวท่าน แต่ในภาษาไทยจะใช้คำว่า "พระมหากษัตริย์" เฉย ๆ จะได้ความหรือไม่นั้น ขอเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์โปรดอธิบาย
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าความหมายอย่างที่ว่า person ที่เขียนก็ได้ความแล้ว แต่ถ้าจะหมายเป็น body แล้ว ก็จะเป็นจริงอย่างที่นายสงวนว่า จึงคิดว่า เอาคำว่า "พระ" ออก คงเหลือแต่ "องค์พระมหากษัตริย์⟨"⟩ ก็จะได้
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับรอง
นายสงวน ตุลารักษ์ เห็นชอบ
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ มีแก้ไข ๒ แห่ง คือ เติมคำว่า "สักการะ" ต่อท้ายคำว่า เคารพ และตัดคำว่า "พระ" ออก คงอ่านได้ในมาตรา ๓ ว่า ⟨"⟩พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ขอให้ลงคะแนน สมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบ เป็นอันว่า มาตรา ๓ นั้นใช้ได้ตามแก้ไขมานั้น
มาตรา ๔ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรานี้ อ่านว่า "พระมหากษัตริย์จักต้องเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก" ความสำคัญในตอนนี้มี ๒ ตอน คือว่า พระมหากษัตริย์จักต้องเป็นพุทธมามกะนั้น ก็โดยเหตุว่า ท่านเป็นผู้ถือพุทธศาสนา แต่ในทางที่เป็นผู้อุปถัมภ์นั้น ก็คือ จะต้องทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนา ไม่ฉะเพาะแต่ศาสนาพุทธ คือว่า ศาสนาใดที่ประชาชนับถือ อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ อันเรียกว่า อัครศาสนูปถัมภก
นายดิเรก ชัยนาม กล่าวว่า ที่ว่า เป็นอัครศาสนูปถัมภก นั้น มีศาสนาอย่างใดบ้าง
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เป็นศาสนาที่ประชาชนถือทั่วไป เช่น สุเหล่าอิสลามก็อยู่ในความอุปถัมภ์ ตลอดจนวัดจีนวัดญวนก็อยู่ในความอุปถัมภ์ด้วย และทั้งโรมันคัทธอลิกก็อยูในอุปการะเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นราชประเพณี เพราะฉะนั้น เราจึ่งมิได้ใส่ลงไปว่า พุทธศาสนูปถัมภก
นายดิเรก ชัยนาม กล่าวว่า ในฉะบับภาษาอังกฤษมีความว่า The King shall profess the Budhist religion and is the Upholder of the Faith ซึ่งดูความยังไม่กลมเกลียวกันกับภาษาไทย
พระยาศรีวิสารวาจากล่าวว่า ภาษาอังกฤษนั้นเขียนเป็นกลาง ๆ ซึ่งจะแก้ภายหลัง แต่ภาษาไทยนี้เป็นต้นฉะบับ ซึ่งจะต้องพิจารณากันให้ละเอียด
พระเรี่ยมวิรัชชพากย์กล่าวว่า สำหรับคำสุดท้ายที่ว่า "อัครศาสนูปถัมภก" นั้น เห็นว่า ไม่ชัดพอ เพราะถ้าจะทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ทั่วไปแล้ว ควรจะต่อท้ายลงไปเสียว่า ทรงอุปถัมภกศาานาแห่งลัทธิใด ๆ ทั้งปวง
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ไม่ควรต้องเพิ่ม เพราะเป็นราชประเพณีอยู่แล้ว และหนังสือที่เขียนอย่างนี้ก็เข้าใจความได้อย่างนั้น พูดถึงการเขียน เห็นว่า ถ้าเป็นการเข้าใจได้แล้ว ก็พอ จึ่งไม่ควรเติม
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรานี้มีปัญหาที่จะลงคะแนนมติ คือ ที่พระเรี่ยมเสนอขอให้เติมความท้ายมาตรานั้น ว่า จะควรเติมหรือไม่ ที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบด้วย คงให้เอาไว้ตามร่างเดิม
มาตรา ๕ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรานี้ ความว่า "พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม" ซึ่งพูดถึงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในทางกำลังในทางกองทัพ จึ่งขอเชิญเสนาบดีกระทรวงกลาโหมโปรดอธิบาย
พระยาราชวังสันกล่าวว่า ความในข้อ ๕ นี้ ตามปกติไม่มีข้อพิเศษอะไร เพราะเป็นแบบที่ต่างประเทศเขาทำกัน ยกท่านเป็นประมุขของกองทัพบก ทัพเรือ และกองทหารใด ๆ ที่จะตั้งขึ้น แต่ในเรื่องการบริหารนั้น ต้องทำผ่านคณะกรรมการราษฎรตามรัฐธรรมนูญ อำนาจจึ่งผิดกับพระเจ้าแผ่นดินปกครองโดยอำนาจเด็ดขาด
พระประพิณฯ กล่าวว่า คำว่า "จอมทัพสยาม" นั้น สงสัยว่า จะใส่คำว่า สยาม ทำไม เพราะรัฐธรรมนูญนี้เป็นของสยาม และท่านก็จะทรงดำรงแต่จอมทัพของสยามเท่านั้น เห็นว่า ควรตัด สยาม ออกเสีย
พระยาราชวังสันกล่าวว่า ไม่ขัดข้อง
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับรอง
พระเรี่ยมวิรัชชพากย์กล่าวว่า ในมาตรา ๓ มีว่า ดำรง เฉย ๆ ไม่มีว่า ทรงดำรง เหมือนในมาตรา ๕ นี้ จึ่งเสนอว่า ควรจะให้เหมือนกัน
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีว่า คำว่า "ดำรง" ไม่ใช่ราชาศัพท์ จึ่งได้เอาคำว่า ทรง มาใส่เพื่อประกอบ เห็นว่า ควรให้เหมือนกันทั้ง ๒ แห่ง
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ในการที่จะใช้คำว่า ทรง หรือไม่นั้น เห็นว่า ไม่จำเป็น เช่น จะใช้คำว่า พระกรทรงหัก ก็ย่อมใช้ไม่ได้ จึ่งเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องแก้
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเห็นด้วย
พระเรี่ยมฯ ไม่ติดใจต่อไป
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๕ นี้ คงมีปัญหาที่จะลงคะแนน คือ จะตัดคำว่า สยาม ออกหรือไม่ ที่ประชุมทั้งหมดลงมติ เป็นอันว่า มาตรา ๕ คงอ่านความว่า "พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ"
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอว่า อยากจะขอให้รวมปรึกษาไปทั้ง ๓ มาตรา คือ ๖–๗–๘ เพราะความเช่นเดียวกัน ซึ่งบัญญัติถึงอำนาจอธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขจะทรงใช้ มาตรา ๖ ว่า ทรงใช้พระราชอำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา ๗ ว่า ทรงใช้พระราชอำนาจบริหารทางคณะกรรมการราษฎร มาตรา ๘ ทรงใช้พระราชอำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย และเสนอเพิ่มเติมว่า ตามร่างที่เขียนนั้นมีว่า ในมาตรา ๖–๗–๘ ว่า ทรงใช้พระราชอำนาจนิติบัญญัติ พระราชอำนาจบริหาร พระราชอำนาจตุลาการ ขอตัดคำว่า "พระราช" ออก เพราะอำนาจนี้มิใช่ของพระองคืเอง เป็นอำนาจที่มีมาจากประชาชนชาวสยาม
พระยาพหลพลพยุหเสนารับรอง
พระเรี่ยมวิรัชชพากย์กล่าวว่า ในมาตรา ๓ นี้ มีคำแปรญัตติของหลวงแสงฯ ซึ่งควรพิจารณาไปในโอกาสเดียวกัน
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับคำ คณะกรรมการราษฎร ควรไว้พิจารณาทีหลัง มิเช่นนั้น จะมากเรื่อง คือว่า เวลานี้ เราพิจารณาถึงหลัก Principle เสียก่อน ส่วนคำว่า คณะกรรมการราษฎร นั้น เอาไว้ช่วยกันคิดทีหลัง
หลวงแสงนิติศาสตร์รับรอง
พระยาพหลพลพยุหเสนากล่าวว่า ขอให้พิจารณาไปเสียทีเดียวกัน
นายประยูร ภมรมนตรี รับรอง
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ในคำชี้แจงของประธานอนุกรรมการที่เกี่ยวกับคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" นี้ พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทักมา ส่วนมาตรานี้มิใช่ประเด็นสำคัญเกี่ยวด้วยถ้อยคำ ๆ นี้ แต่ว่าปัญหาอันเป็นประเด็นสาคัญของมาตรานี้นั้นอยู่ที่อำนาจ จึ่งควรจะพิจารณาก่อนตามแบบพิจารณาความ ส่วนคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" นั้น ควรรอไว้พูดเมื่อถึงบทที่ว่าด้วยคำนี้ คือ หมวด ๔ มาตรา ๔๖
หลวงเดชาติวงศ์ฯ รับรอง
พระยาวิชัยราชสุมนตร์กล่าวว่า ควรจะพิจารณาถึงถ้อยคำก่อนที่จะพูดถึงหลักการ มิฉะนั้น ความจะเขวไป
นายสงวน ตุลารักษ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้จะใช้ถาวรไป ซึ่งอาจจะถึงร้อย ๆ ปี เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องคำนับว่าสำคัญ อย่าให้ผิดพลาด มิฉะนั้น จะถูกตำหนิ จึ่งเห็นว่า ในชั้นนี้ พิจารณาในเรื่อง Principle ไปก่อน เมื่อหมดแล้ว จึ่งพิจารณาถึงข้อความในความหมายอันเดียวกัน
นายประยูร ภมรมนตรี กล่าวว่า ในชั้นแรกก่อนพิจารณา ที่ประชุมได้ตกลงกันไปแล้วว่า จะพิจารณาไปทีละข้อ ซึ่งน่าจะหมดปัญหา และได้ลงมติเด็ดขาดกันไปแล้ว
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า ในการที่เสนอไว้นั้น ไม่มีความหมายที่จะให้ถ้อยคำเสียมิได้ กล่าวคือ จะขอสงวนไว้แต่คำ "คณะกรรมการราษฎร" แต่ว่า ถ้าคำไหนจะทำให้เสียความไปเองจากการที่รอไว้พิจารณานั้น ก็จักต้องพิจารณาไปพร้อมกันอยู่เอง ส่วนคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" นั้น ขอไว้พิจารณาเมื่อถึงคราวของเรื่องนั้น เพราะไม่ทำให้เสียความอย่างไรเลย
พระยานิติศาสตร์ฯ กล่าวว่า คำ "กรรมการราษฎร" นี้เป็นศัพท์ควรเอาไว้พิจารณาภายหลังเมื่อถึงหมวดว่าด้วยคณะกรรมการราษฎร ถ้าจะพิจารณาเวลานี้ มิได้เตรียมตัวมา เพราะเข้าใจว่า จะพิจารณาภายหลัง
ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้ จะขอให้ลงมติ คือว่า ในที่นี้ มีปัญหาอยู่ว่า ควรจะสงวนคำที่เป็นศัพท์ฉะเพาะไว้พิจารณาทีหลัง คือ คำว่า "คณะกรรมการราษฎร" ในเมื่อถึงคราวพิจารณาถึง หรือจะพิจารณาไปในโอกาสเดียวกันดั่งที่ตกลงไว้ จึ่งขอให้ที่ประชุมลงคะแนน ที่ประ⟨ชุ⟩มได้ลงมติ ได้คะแนนข้างละ ๒๖ เท่ากัน ที่ประชุมจึ่งขอให้ประธานสภาชี้ขาด ประธานของสภาชี้ขาดว่า ให้รอไว้พิจารณาทีหลัง เป็นอันว่า ที่ประชุมให้รอคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" ไว้ปรึกษาในเมื่อถึงบทที่เกี่ยวข้อง
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์กล่าวว่า ในการที่จะตัดคำว่า พระราช ออกเสียจาก ๓ มาตรานั้น ใคร่จะขอเชิญเจ้าพระยาธรรมศักดิ์อธิบาย เพราะเหตุว่า อำนาจ เมื่อเราได้ถวายไปแล้ว ก็ต้องเป็นพระราชอำนาจ เช่น ถวายเสื้อ ก็จะต้องเรียกเสื้อนั้นว่า "ฉลองพระองค์" ดั่งนี้ จึ่งเห็นว่า ควรจะคงคำว่า พระราช ไว้
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในมาตรา ๒ เราก็ใช้แต่เพียงว่า อำนาจ เท่านั้น
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์กล่าวว่า ในมาตรา ๒ นั้น เรายังมิได้ถวาย แต่ในมาตราเหล่านี้ เราได้ถวายให้ท่านแล้ว จึ่งน่าจะเรียกว่า พระราชอำนาจ
พระยาราชวังวันกล่าวว่า อำนาจในมาตราเหล่านี้ แปลว่า อำนาจในทางนีติบัญญติ (Legislative power) ไม่ใช่อำนาจอย่างใดอื่น คือ อำนาจในการออกกฎหมาย จึ่งเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมี พระราช ก็ได้
นายเนตร์ พูนวิวัฒน์ รับรองบ
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า เพื่อให้เข้ารูปกับมาตรา ๒ ควรเติมคำว่า "แต่" เสียอีกทุกแห่งในมาตรา ๖–๗–๘
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่จำเป็นสำหรับที่นี้
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าวว่า ในเรื่องนี้ เมื่อฟังตามที่ได้อภิปรายกันมา ก็ชัดเจนพอแล้ว อำนาจนี้ คือ อำนาจแผ่นดิน ไม่ใช่ส่วนที่ออกมาจากพระองค์ท่าน ความหมายของท่านสมาชิกผู้หนึ่งที่จะให้คงคำว่า พระราช ไว้ ซึ่งกล่าวว่า ถึงแม้เป็นอำนาจแผ่นดิน ก็ได้ถวายท่านไปแล้ว ก็คือว่า เป็นเสมือนอำนาจที่มาจากพระองค์ท่าน ที่จริง ถ้าหากว่า นึกถึง sentiment ซึ่งเป็นความคิดอย่างสุภาพอ่อนโยนแล้ว ก็เป็นการงดงาม แต่ว่า sentiment อาจขัดกับ fact ได้ในบางประการ ในที่นี้ มีว่า เป็นส่วนพระองค์ หรือเป็นส่วนแผ่นดิน เช่น การเงินพระคลังข้างที่และท้องพระคลังหลวง ซึ่งเรียกเงินในพระคลังข้างที่ว่า พระราชทรัพย์ ผิดกับเงินในท้องพระคลังหลวง ฉะนั้น อำนาจโดยตรงของพระองค์ท่าจึ่งเป็นพระราชอำนาจ แต่อำนวยการใช้นี้เป็นอำนาจกลาง คือ อำนาจแผ่นดิน นี่เป็น fact ที่นี้ ถ้าหากว่า sentiment ไม่ขัดกับ fact แล้ว ก็ควรใช้ แต่ถ้าหากว่า sentiment มาขัดกับ fact แล้ว ก็ควรรักษา fact ไว้ดีกว่า และคำ แต่ ก็อย่างเดียวกัน และถ้าไม่มี แต่ ก็จำกัดความพอแล้ว เห็นว่า ไม่จำเป็นจะเติม ซึ่งอาจขัดกับทาง sentiment ได้
นายดิเรก ชัยนาม เสนอว่า ในมาตรา ๗ นั้น ถ้าเข้าใจไม่ผิด ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะกรรมการราษฎรนั้น คงหมายความว่า จะใช้อำนาจบริหารได้ก็โดยความแนะนำและยินยอมของคณะกรรมการราษฎรเช่นนั้นหรือไม่? ถ้ามีความหมายเช่นนั้น เห็นควรจะใช้ถ้อยคำให้ harmonise กับมาตรา ๖ ด้วย คือ พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจบริหารโดยความแนะนำและยินยอมของคณะกรรมการราษฎร
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ของเรานั้น พระเจ้าแผ่นดินท่านเป็นหัวหน้าในทาง Executive แต่ในทาง absolutism กับ Constitutionalism นั้นผิดกัน ในทาง Absolutism นั้น การบริหารใด ๆ เป็นพระราชอำนาจ แต่ในทาง Constitutionalism นั้น อำนาจบริหาร ท่านทรงใช้ในทางคณะกรรมการราษฎร และสิ่งที่เป็นประกันเราอยู่ ก็จำต้องผ่านทางคณะกรรมการราษฎรนั้น ดั่งที่ปรากฏในมาตรา ๕๗ ซึ่งมีว่า "…พระราชหัดถเลขาและพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่า กรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่งต้องลงนามรับพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ" ซึ่งแปลว่า ต้องผ่านกรรมการลงนามรับรอง พระราชหัดถเลขาหรือพระบรมราชโองการนั้น ๆ จึ่งจะสั่งการแผ่นดินได้ แต่ว่า ถ้าจะใส่ลงไปก็ได้ แต่เห็นว่า ไม่จำเป็น
พระยาราชวังสันกล่าวว่า การที่จะใส่นั้น จะขัดข้อง เพราะเหตุว่า อำนาจอธิปไตยออกจากสภาผู้แทนราษฎร การที่คณะกรรมการราษฎรก็ดี พระเจ้าแผ่นดินก็ดี จะปฏิบัติการได้ ก็ต้องปฏิบัติโดยคำแนะนำยนยอมของสภาตามเกณฑ์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จึ่งเห็นว่า ไม่จำเป็น
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ในมาตรา ๖–๗–๘ นั้น มีคำที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจผิดกัน ๓ อย่าง คือ มาตรา ๖ โดยคำแนะนำยินยอมของสภาฯ มาตรา ๗ ทางคณะกรรมการราษฎร มาตรา ๘ ทางศาล ฯลฯ นั้น วิธีปฏิบัติการ และตามกฎหมายที่เป็นอยู่บัดนี้ คือ ตามรัฐธรรมนูญ สภาเป็นผู้ร่างกฎหมายทูลเกล้าฯ ถวายทรงเซ็นเป็นกฎหมาย ทางฝ่ายธุระการ ทางคณะกรรมการราษฎรแนะนำทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไปแล้วกระทำ ส่วนทางศาล พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทำอะไรในการตัดสิน ศาลพิจารณาพิพากษาไปเอง เป็นแต่เมื่อศาลลงโทษแล้ว ไป pardon ทีหลังได้ สำหรับมาตรา ๗ นั้น วิธีปฏิบัติการเช่นเดียวกับมาตรา ๖ คือ มาตรา ๖ สภาทำส่งทูลเกล้าฯ ถวาย ส่วนมาตรา ๘ คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึ่งเห็นว่า ควรจะใช้คำ โดยแนะนำยินยอม ให้เหมือนมาตรา ๖ ส่วนมาตรา ๘ คงไว้เช่นเดิมดีแล้ว เพราะกษัตริย์มิได้ทำอะไร ถ้าหากจะใช้คำ "ทาง" ทั้งมาตรา ๗ และ ๘ เหมือนหัน จะทำให้เข้าใจว่า คณะกรรมการราษฎรทำเองโดยมิได้ทูลเกล้าฯ ถวายเสียก่อน
พระยาศรีวิสารวาจากล่าวว่า ในมาตรา ๗ นี้ ที่มีปัญหาถกกันนั้น ก็กะทบถึงการใช้และถึงอำนาจที่จะใช้ในทางบริหารทางคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเป็นวิธีเขียน และในรัฐธรรมนูญในต่างประเทศบางทีเขาไม่มีเลยสำหรับบทบัญญัตินั้น และที่เราเขียนเช่นนี้ก็เป็นคั่นหนึ่ง หากว่าจะเขียนอย่างที่เสนอนั้นแล้ว ก็จะเป็นการมัดเป็นคั่นที่ ๒ ส่วนผลที่จะได้ก็เช่นเดียวกัน และในรัฐธรรมนูญประเทศใด ๆ ก็ไม่มีกล่าวไว้ว่า โดยความแนะนำและยินยอมของคณะกรรมการราษฎร และความผูกมัดเช่นนั้นมีข้อสำคัญอยู่ในมาตรา ๕๗ แล้ว
พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในเรื่องเช่นนี้ ขอชักตัวอย่างในประเทศอังกฤษ ในการเขียนสั่งการใด ๆ เขาเขียนว่า By Command of His Majesty thd King แล้วเซ็นชื่อรับสนองพระบรมราชโองการ มิได้ใช้ว่า By advice and consent of the Executive Committee
พระยาเทพวิทุรฯ กล่าวว่า ในข้อเหล่านี้ รู้สึกว่า มิใช่ที่เกี่ยวแต่ฉะเพาะ sentiment เท่านั้น แต่เกี่ยวด้วยหลักการด้วย ซึ่งแปรได้ ๓ อย่าง คือ ในมาตรา ๖ ที่ว่าอำนาจนีติบัญญัตินั้น คือ การทำกฎหมายออกกฎหมาย ส่วนมาตรา ๗ อำนาจบริหาร ก็คือ ปฏิบัติหรือทำตามกฎหมาย (Executive) มาตรา ๘ อำนาจตุลาการ คือ แปลกฎหมาย เพราะฉะนั้น ในมาตรา ๖ จึ่งจำเป็นต้องใช้ว่า "ทรงใช้อำนาจนีติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร⟨"⟩ เพราะเกี่ยวในการออกกฎหมาย มิใช่โดยคำแนะนำ แต่ความจริงนั้น เป็นการทำตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าทำอะไรตามชอบใจ เพราะฉะนั้น จึ่งเป็นหลักการ และในมาตรา ๗–๘ ก็เป็นสิ่งที่คล้อยตามหลักสำคัญที่บัญญัติไว้
พระยามานวราชเสวีกล่าวว่า ตามอภิปรายของนายดิเรกนั้น ก็น่าฟังและก็เป็นความจริง เพราะคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน ในรัฐธรรมนูญของเด็นมาร์ค มาตรา ๒ ว่า "อำนาจนีติบัญญัตินั้น กษัตริย์ทรงใช้โดยความยินยอมพร้อมใจของปาลิเมนต์ ส่วนอำนาจบริหารอยู่ในพระเจ้าแผ่นดิน" และเมื่อพิจารณาดูรัฐธรรมนูญทุก ๆ ประเทศแล้ว เขาใช้ "ทาง" ทั้งนั้น และอันที่จริง พระเจ้าแผ่นดินเด็นมาร์คนั้นก็ไม่ได้ทำอะไร แต่ก็ใส่ลงไว้เพื่อเกียรติยศและงดงาม ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น มาตรา ๕ ก็พูดถึงอำนาจนีติบัญญัติว่า กษัตริย์ทรงใช้อำนาจนีติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของปาลิเมนต์ เพราะฉะนั้น มาตรานี้ได้พิจารณาเมื่อไม่มีเมืองอื่นมีก็จริง แต่ที่เรามีก็ไม่เกินความจำเป็น
นายดิเรก ชัยนาม กล่าวว่า ตามที่ได้ฟังอภิปราย ก็เข้าใจว่า การที่กษัตริย์ท่านจะใช้อำนาจบริหารในทางใด ตามธรรมดานั้น เป็นไปในทางปฏิบัติ แต่ที่จริง ถ้าจะเชิดเกียรติยศแล้ว ดูก็จะไม่โทษท่าน เพราะทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเท่ากับเป็นการเชิดท่านทีเดียว จึ่งขอถอนญัตติที่เสนอไว้นั้น
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า สำหรับมาตรา ๗–๘ รัฐธรรมนูญประเทศอื่นไม่มี เราจะตัดออกเสียมิได้หรือ เพราะเรามีมาตรา ๔๖ บัญญัติไว้ในทางอำนาจบริหาร และมาตรา ๕๘ สำหรับทางศาลอยู่แล้ว จะตัดออกเสียก็น่าจะได้
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า คำว่า "ทาง" ไม่ใช่คำเล็กน้อย เพราะเข้าใจคนละอย่าง จะให้เด่นชัดลงไป ควรจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง ขอถือโอกาสแถลงว่า การร่างรัฐธรรมนูญนี้ผิดกว่าที่อื่น ๆ เพราะการร่างกฎหมายตามที่เคยปฏิบัติ หวังเอาความชัดเป็นเกณฑ์ และร่างรัฐธรรมนูญนี้ บางทีเกี่ยวกับ Sentiment ความจริงใจของเรา ดั่งที่ประธานอนุกรรมการได้อธิบาย คือ มาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารของพระเจ้าอยู่หัว และที่พระยานิติศาสตร์ฯ ว่า ควรจะถอนความในมาตรานี้ออกเสียนั้น เห็นว่า แม้ประเทศอื่นเขาจะไม่มีไว้ก็ตาม เมื่อเรามีขึ้นไว้ ก็แสดงถึงความก้าวหน้าของเรา ส่วนที่จะแก้ไขนั้น ถ้าเกี่ยวกับในทาง Sentiment ไม่ต้องการให้ชอกช้ำ ที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ว่า และที่สภาเห็นว่า ไม่ขัดกับ fact ที่ต้องการแล้ว ก็จะสมัครเลือกเอา Sentiment ไว้ก็ได้
พระยาราชวังสันกล่าวว่า การปกครองในทางรัฐธรรมนูญนั้นมีหลายอย่าง ในชั้นแรก เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายนั้น ทรงใช้อำนาจในทางบริหารบังคับบัญชาราชการแผ่นดินโดยทางพระราชอำนาจของพระองค์เอง ครั้นต่อมามีรัฐธรรมนูญ จึ่งตั้งคนกลางสำหรับทำการติดต่อ ซึ่งบ้างก็เรียกว่า State Council แล้วมอบอำนาจให้แก่พระเจ้าแผ่นดินใช้ หากแต่ว่า ผ่านทาง Council นี้ อันที่จริง อำนาจการบริหารนั้นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินโดยราษฎรอนุญาต แต่พระเจ้าแผ่นดินมีเครื่องมือ คือ ใช้พวกเสนาบดีเจ้ากระทรวงเป็นเครื่องจักร์เป็นชั้น ๆ สำหรับติดต่อระวางพระเจ้าแผ่นดินกับราษฎร ส่วนอำนาจในทางนีติบัญญัตินั้น พระเจ้าแผ่นดินได้รับอำนาจทางสภามอบให้ใช้ ซึ่งสมควรเรียกว่า ด้วยความแนะนำและยินยอมจากสภา ส่วนในมาตรา ๗ ที่จะใช้ว่าด้วยความแนะนำและยินยอมคณะกรรมการราษฎรนั้น ไม่สมควร ควรจะใช้แต่ฉะเพาะสภานี้เท่านั้น มิใช่อยู่ในคณะเสนาบดี (คณะกรรมการราษฎร)
หลวงเดชาติวงศ์ฯ กล่าวว่า ตามที่ได้อ่านดูในมาตรา ๗ นี้ มีคำว่า อำนาจบริหาร หมายความว่า Execution อันจะหมายความว่า บริหารทางนีติบัญญัติ หรือบริหารราชการแผ่นดิน ขอให้สมาชิกดูความในมาตรา ๔๖ ซึ่งมีว่า พระมหากษัตริย์ทรงตั้งกรรมการราษฎรขึ้นคณะหนึ่ง จึ่งหวังว่า จะไม่ลืมความข้อนี้ เพราะคณะกรรมการราษฎรนั้น สภาเป็นผู้ตั้ง แต่ในมาตรา ๔๖ นั้น พระมหากษัตริย์ทรงตั้ง และดูตามตัวหนังสือแล้ว ในมาตรา ๗ ท่านทรงใช้อำนาจในทางคณะกรรมการราษฎร และที่เข้าใจ ในปาเลียเมนต์อังกฤษ party politics ซึ่งย่อมมี Majority และอาจจะเลือก leader ของ party นั้นขึ้นมา ในที่นี้ เรายังไม่มี ฉะนั้น เมื่อความมีเช่นนี้จะลำบาก แต่มีอยู่อีกข้อหนึ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะโว๊ด Confidence
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า จะอ่านความแต่ฉะเพาะมาตรา ๖ กับ ๔๖ เท่านั้นไม่ได้ จะต้องอ่านมาตรา ๖–๔๑⟨–⟩๔๖–๕๐–๕๑ ประกอบกันทั้ง ๕ มาตรารวมกัน เมื่อเราได้อ่านรวมกันแล้ว จะไม่มีทางใดที่น่าวิตกเลย
นายประยูร ภมรมนตรี กล่าวว่า ควรจะปิดอภิปรายลงมติกันให้เสร็จไปเสียที
พระเรี่ยมวิรัชชพากย์กล่าวว่า ลงมติกันได้แล้ว เพราะในข้อบังคับองคมนตรีที่เราใช้อยู่นั้น ในข้อ ๖๐ มีว่า "เวลากล่าวอภิปรายกันอยู่นั้น ถ้ากรรมการใดจะเสนอญัตติปิดอภิปรายมีความให้ประธานนำปัญหาออกให้ลงมติโดยไม่ต้องกล่าวต่อไปอีกก็ได้ ญัตติเท่านี้ เมื่อมีผู้รับรองแล้ว ประธานต้องนำออกให้ลงมติทันที" ซึ่งเวลานี้ก็ได้มีผู้เสนอและรับรองแล้ว เห็นควรจะกระทำการปิดอภิปรายลงมติได้
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า การที่จะปิดอภิปรายนั้น ฉะเพาะการพิจารณารัฐธรรมนูญนี้ ใคร่จะขอให้แถลงกันจนที่สุด เพราะเป็นของสำคัญที่เกี่ยวแก่การแผ่นดิน ราษฎร ๑๒ ล้านเศษย่อมหวังในความถาวรของธรรมนูญนี้ จะทำกันหละหลวมขอให้เสร็จไปทีไม่สมควร เราสละเลือดเนื้อก็ยังทำได้ ทำไมสละเวลาฟังต่อไปอีกจะไม่ได้ แม้ว่าจะต้องยืดไปจนค่ำคืนเหมือนดั่งรัฐสภาในต่างประเทศก็ควรทำ และความเห็นฉะเพาะตัวเองแล้ว อยากจะเปิดโอกาสให้อภิปรายให้เต็มที่ ต่อเมื่อใดหมดอภิปรายกันจริง ๆ แล้ว จึ่งค่อยปิด ซึ่งเป็นทางที่ควรกระทำยิ่ง
นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า เท่าที่มีอยู่แล้วก็ชัดเจนดี และจำเป็นที่ต้องการอย่างนี้ด้วย และในการที่จะกระทำการใด ๆ อันเกี่ยวแก่การบริหารนั้น ก็ทำได้ทางเดียว คือ ทางคณะกรรมการราษฎร อีกประการหนึ่ง ในมาตรา ๔๖ ก็ว่า ท่านตั้งคณะกรรมการราษฎร ถ้าว่า จะให้เป็นไปโดยความแนะนำและยินยอมแล้ว จะผิดหลักไป
นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า ที่เถียงกันอยู่ก็ฉะเพาะความในมาตรา ๗ ฉะนั้น จึ่งอยากให้ลงมติแปรความว่า ทาง ให้ชัด
ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ใดจะอภิปรายอีกแล้ว เห็นว่า ตามที่ได้พิจารณากันมานั้น มีความสำคัญก็แต่ในมาตรา ๗ ส่วน ๖–๘ นั้นไม่มีปัญหาสำคัญ รอไว้พิจารณาภายหลัง เพราะความชัดเจนแล้ว จึ่งขอให้ลงคะแนนในมาตรา ๗ ว่า จะยอมให้ใช้ได้หรือไม่ สมาชิกส่วนมากเห็นชอบตามที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอขอให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก เป็นอันว่า มาตรา ๗ ใช้ได้
มาตรา ๖ หลวงแสงฯ เสนอขอแก้คำว่า "สภาผู้แทนราษฎร" เป็น "รัฐสภา"
นายดิเรก ชัยนาม กล่าวว่า ไม่เห็นชอบตามที่หลวงแสงฯ ขอแก้ เพราะคำว่า รัฐสภา นั้น เป็นคำรวม แปลว่า ปาเลียเมนต์ สภาของอังกฤษมี ๒ สภา คือ สภาขุนนางและสภาราษฎร รวมกันเรียกเป็นรัฐสภา อเมริกามี ๒ สภา เรียกว่า สภา Senate และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรวมกันเรียกว่า Congress แต่ว่าเรามีเพียงสภาเดียวเท่านั้น จึ่งเห็นว่า จะเรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร นั้น เหมาะดีแล้ว
พระยาพหลพลพยุหเสนากับพระยาราชวังสันรับรอง
หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า เดิมก็ไม่ตั้งใจที่จะแก้ หากแต่เห็นในคำแถลงการณ์ของประธานอนุกรรมการแถลงถึงข้อทักท้วงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" และ "กรรมการราษฎร" เมื่อได้คิดแก้ ๒ คำนี้ จึ่งคิดแก้ "คำสภาผู้แทนราษฎร" ตามไปให้เข้ากัน
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในคำแถลงการณ์นั้น คำว่า คณะกรรมการราษฎร นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทักจริง ท่านว่า ไม่ถูกแบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ส่วนคำว่า สภาผู้แทนราษฎร นั้น ท่านทรงเห็นชอบด้วย ว่า เหมาะแล้ว แต่ลืมเขียนไว้ในแถลงการณ์
นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า ตามที่มีความเห็นพ้องกับหลวงแสงฯ นั้น ก็หมายว่า จะให้เกี่ยวกันไปในระวางสภาผู้แทนราษฎรกับคณะกรรมการราษฎร เพราะเมื่อเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการราษฎรไปเป็นอื่นเสีย ก็จะแยกกันอยู่ และเกรงว่า จะกลายเป็นสองสภาขึ้น
นายสงวน ตุลารักษ์ กล่าวว่า ที่เรียกนามว่า สภาผู้แทนราษฎร นั้น ชอบแล้ว ไม่ควรแก้ เพราะเหตุว่า สมาชิกนั้นเป็นผู้แทนราษฎรเลือกตั้งมา เมื่อผู้ใดไม่ถือว่าเป็นผู้แทนราษฎร ก็ไม่ควรเป็นสมาชกแห่งสภานี้
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๖ นี้ คำว่า "สภาผู้แทนราษฎร" หลวงแสงเสนอให้แก้เป็น "รัฐสภา" ที่ประชุม ๆ เห็นชอบให้คงชื่อไว้ตามเดิม เป็นอันว่า มาตรา ๖ ไม่มีแก้ไขอย่างใดอีก นอกจากที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ขอตัดคำว่า "พระราช" ออก และคงอ่านว่า "พระมหากษัตริย๋ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร"
มาตรา ๘ สมาชิกส่วนมากเห็นชอบตามที่ขอตัดคำว่า "พระราช" ออก เป็นอันว่า ที่ประชุมรับรองมาตรา ๘ นั้น
ที่ประชุมได้หยุดพักกลางวันเวลา ๑๒.๔๕ น. และกำหนดเข้าประชุมในตอนบ่ายเวลา ๑๔.๐๐ น.
หลวงคหกรรมบดี | ||
ผู้จดรายงานประชุม | ||
นิติศาสตร์ | ||
วุฒิศาสตร์ | ||
ตรวจแล้ว | ปรีชานุสาสน์ | |
เจ้าพระยาพิชัยญาติ | ๒๖ พฤศจิกายน ๗๕ | |
๒๗/๘/๗๕ | นายมังกร | |
จรูญ |
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- สภาผู้แทนราษฎร. (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475. สภาผู้แทนราษฎร: พระที่นั่งอนันตสมาคม.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"