รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 40/2475
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕
ประธานสภาฯ กล่าวว่า วันนี้ จะได้ปรึกษาต่อไปจากที่ได้พิจารณามาแล้วแต่วานนี้ และขอให้เปลี่ยนภาวะที่ประชุมเป็นชุมนุมอนุกรรมการเต็มสภา คือ หมวด ๖ บทสุดท้าย
มาตรา ๖๑ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า มาตรา ๖๑ เดมอ่านได้ความ ดั่งนี้
"บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดกับรัฐธรรมนูญนี้ ท่านว่า บทบัญญัตินั้น ๆ เป็นโมฆะ"
และกล่าวต่อไปว่า คำว่า "กฎหมายใด" ขอแก้เป็น กฎหมายใด ๆ" และบรรทัดสุดท้าย คำว่า กบพระธรรมนูญนี้ ให้แก้เป็น แก่พระธรรมนูญนี้
หลวงแสงนิติศาสต์เสนอขอแก้คำว่า "บทสุดท้าย" เป็นคำว่า "บทวิจารณ์และขอแก้ไข"
พระยามานวราชเสวีกล่าวว่า ที่จริง พระธรรมนูญของประเทศโดยมากเขาใช้ความเช่นนี้ เข้าใจว่า เป็นบทสุดท้าย จะใช้ว่า บทวิจารณ์ ไม่ถูก ที่จริง บทสุดท้าย มีความว่า บทต่าง ๆ มารวมอยู่ตอนท้าย อยากให้กะทัดรัด เห็นควรให้คงไว้ตามเดิม
นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า ได้เห็นพระธรรมนูญของญี่ปุ่น มีผู้แปลว่า บทบัญญัติเพิ่มเติม มีความเหมือนมาตรา ๖๒–๖๓ เรียกว่า บทบัญญัติเพิ่มเติม
พระยามานวราชเสวีกล่าวว่า ตามประมวลยี่ปุ่น หมวด ๗ ภาษาอังกฤษแปลไว้ว่า ข้อบังคับเพิ่มเติม แต่ระเบียบการของสยามใช้ว่า "บท" จึ่งใช้คำนี้ ดูของยี่ปุ่นแล้ว ที่บอกว่า ให้เป็นบทแก้ไข ในที่นี้ ไม่ใช่มีความว่าด้วยข้อความที่แย้งพระธรรมนูญนี้ด้วย เอามาไว้สุดท้ายนี้งามแล้ว เพราะฉะนั้น ควรให้เป็นไปตามเดิม กฎหมายอื่นเขาก็เขียนกันเช่นนั้น
นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า ในที่นี้ ถ้าจะเติม วิจารณ์ และ แก้ไข จะได้ความดี
นายสงวน ตุลารักษ์ กล่าวว่า บทสุดท้ายเป็นบททั่วไป ถ้าจะเปลี่ยนให้เป็นอื่น เห็นว่า ไม่ถูกหลักเหมือนกัน ถ้าจะแก้แล้ว แก้โดยยกเอาความไว้ตอนต้นรัฐธรรมนูญดีกว่า
พระยามานวราชเสวีกล่าวว่า พระธรรมนูญนี้เป็นกฎหมาย ควรจะเป็นที่เคารพ เอาหมวดนี้ไป ดูไม่งาม ดูรุงรัง ถ้าเอาไว้ตอนท้าย สมควรอย่างยิ่ง
นายจรูญ สืบแสง เสนอขอให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ พิจารณาเรื่องถ้อยคำ
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ตอบว่า ให้ผู้ร่างพิจารณาดีกว่า ที่ประชุมตกลงให้คงไว้ตามร่าง และลงมติรับรองว่า มาตรา ๖๑ ใช้ได้ตามที่แก้ไข
มาตรา ๖๒ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า มาตรา ๖๒ เดิมอ่านได้ความ ดั่งนี้
"ท่านว่า สภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้"
และกล่าวว่า ทางภาษาหนังสือ ขอให้เติมคำว่า เป็นผู้ ลงในระหว่างคำว่า "ราษฎรทรงไว้ซึ่งสิทธิ" เป็น "ราษฎร⟨เป็น⟩ผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิ"
ปัญหาเรื่องตีความรัฐธรรมนูญนี้ ในประเทศต่าง ๆ เขาให้สภาเป็นผู้มีสิทธิเด็ดขาด เว้นแต่อเมริกา
ที่ประชุมลงมติรับรอง ร่างมาตรา ๖๒ นี้ใช้ได้ตามที่แก้ไข
มาตรา ๖๓ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า มาตรา ๖๓ เดิมอ่านได้ความดั่งนี้ "รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้แต่โดยเงื่อนไขต่อไปนี้
๑.ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม ท่านว่า ต้องมาจากคณะกรรมการราษฎร ประการหนึ่ง หรืออีกประการหนึ่ง มาจากสมาชิกรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่แห่งจำนวนสมาชิกทั้งหมด
๒.การปรึกษาลงมติ ท่านให้ทำเป็นสองครั้ง
๓.การออกเสียงลงคะแนน ท่านให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่าสามในสี่แห่งจำนวนสมาชิกทั้งหมด
๔.เมื่อสมาชิกได้ลงมติครั้งแรกตามความในข้อ ๓ แล้ว ท่านให้รอไว้หนึ่งเดือน เมื่อพ้นกำหนดแล้ว จึ่งให้ขึ้นเสนอสภาเพื่อลงมติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อการออกเสียงลงมติครั้งหลังนี้ได้เป็นไปตามที่กล่าวในข้อ ๓ นั้น ท่านจึ่งให้ดำเนิรการต่อไปตามบทบัญญัติมาตรา ๓๘, ๓๙"
และกล่าวต่อไปว่า พระธรรมนูญนี้ถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญ เพราะฉะนั้น จึ่งบัญญัติไว้ว่า การจะแก้พระธรรมนูญนี้แล้ว ต้องมีพิธี ต้องแก้ให้ได้ยาก ๆ สักหน่อย และไม่ใช่แก้ได้บ่อย ๆ นัก เป็นธรรมเนียมทั่วไปทุกบ้านทุกเมือง การแก้พระธรรมนูญ ไม่ให้แก้ได้ง่าย ๆ เหมือนกฎหมายธรรมดา เพราะฉะนั้น จึ่งวางกติกานี้ไว้ด้วยความประสงค์จะให้แก้ยากที่สุด
พระสุธรรมวินิจฉัยกล่าวว่า มีคำว่า "น้อย" กับ "ต่ำ" ไม่รู้จะเอาคำไหน ต้องการให้แก้คำว่า "ไม่น้อย" เป็น "ไม่ต่ำ"
ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ไม่ขัดข้อง
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า ในข้อ ๓ ที่ว่า ท่านให้ใช้วิธีเรียกชื่อ ในมาตรา ๓๙ วิธีคล้าย ๆ กัน ใน ๒ อย่างนี้เหมือนกันไหม
ประธานอนุกรรมการฯ ตอบว่า ไม่เหมือนกัน มาตรา ๓๙ เป็นเรื่องพระเจ้าอยู่หัวทรงทักลงมา ถ้าแม้ว่าโว๊ตลงคะแนน ก็ตัดเสียซึ่งความเกรงใจ แต่เรื่องเถียงกันเองในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องโว๊ตลับในที่นี้
นายจรูญ สืบแสง ถามว่า ข้อ ๒ ว่า ไม่จำเป็นต้องบัญญัติ จะทำให้ความเสียไป อาจเข้าใจว่า โว๊ตหนหนึ่งแล้วโว๊ตอีกหนหนึ่งในครั้งหนึ่ง ๆ
ประธานอนุกรรมการเสนอขอแก้ไขใหม่ ดั่งนี้
"มาตรา ๖๓ รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้แต่โดยเงื่อนไขต่อไปนี้
๑.ญัตติขอแก้เพิ่มเติม ท่านว่า ต้องมาจากคณะกรรมการราษฎร ทางหนึ่ง หรือมาจากสมาชิกผู้แทนราษฎรซึ่งรวมกันมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสี่แห่งจำนวนสมาชิกทั้งหมด อีกทางหนึ่ง
๒.เมื่อสมาชิกได้ลงมติครั้งหนึ่งแล้ว ท่านให้รอไว้หนึ่งเดือน เมื่อพ้นกำหนดแล้ว ให้นำขึ้นเสนอสภาเพื่อลงมติอีกครั้งหนึ่ง
๓.การออกเสียงลงคะแนน ท่านให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ต่ำกว่าสามในสี่แห่งจำนวนสมาชิกทั้งหมด
เมื่อการออกเสียงลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวข้างบนนี้แล้ว ท่านจึ่งให้ดำเนิรการต่อไปตามบทบัญญัติมาตรา ๓๘, ๓๙."
ที่ประชุมลงมติรับรองเห็นชอบตามร่างที่แก้ใหม่นี้
ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้ จะได้พิจารณาหมวด ๓ การใช้รัฐธรรมนูญและบทฉะเพาะกาล
นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า มีญัตติของนายซิมเสนอไว้ว่า ควรเลิกบทฉะเพาะกาล
นายซิม วีรไวทยะ กล่าวว่า ตั้งแต่แรกใช้พระธรรมนูญปกครองชั่วคราว มีสมาชิกประเภทที่ ๒ นั้น มีผู้เข้าใจผิดคิดว่า คณะราษฎรจะแย่งอำนาจ ที่จริง คณะราษฎรไม่ได้ทำเช่นนั้น ความจริง อยากปล่อยสิทธิให้ประชาชนชาวสยาม ขอเสนอว่า ให้ที่ประชุมวินิจฉัยว่า สมควรแล้วหรือยังที่จะให้ราษฎรเลือกผู้แทนเองทั้งหมด ถ้าเป็นการสมควร ก็ยกเลิกบทฉะเพาะกาล
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า เมื่อมีผู้เสนอญัตติเช่นนี้ ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คณะราษฎรแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า การที่ให้มีสมาชิกผะสมในสมัยที่ ๒ นั้นไม่ใช่ประสงค์ที่จะหวงอำนาจ ความข้อนี้มีผู้เข้าใจไปต่าง ๆ สุดแต่เขาจะกล่าวหาว่า ประสงค์เป็นดิกเตเตอรื (Dictator) บ้าง อะไรบ้าง ความจริง ไม่ใช่เช่นนั้นเลย การที่เราจำต้องมีสมาชิกประเภท ๒ ไว้กึ่งหนึ่ง ก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎรในขณะที่เพ่ิงเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า ยังมีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎรเอง เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎรอาจเป็นผู้ที่มีกำลังในทางทรัพย์ ราษฎรเมื่อยังไม่ได้รับการศึกษาก็อาจจะหลงไปว่า ผู้นั้นประสงค์จะป้องกันนประโยชน์ของราษฎร แต่ผลสุดท้าย เขาอาจคิดถึงประโยชน์ฉะเพาะหมู่เหล่าของเขา หาได้คิดถึงราษฎรตลอดจนคนยากจนด้วยไม่ คณะราษฎรปฏิญาณได้ว่า ถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ ๒ ฉะนั้น จึ่งได้วางเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อใดราษฎรได้มีการศึกษาจบประถมศึกษามากกว่ากึ่งจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงแล้ว บทบัญญัติฉะเพาะกาลนี้ก็เป็นอันเลิกทันที และแม้ว่าจะยังไม่ถึงจำนวนนั้นก็ตาม แต่เมื่อถึงกำหนด ๑๐ ปีแล้ว ซึ่งคณะราษฎรหวังว่า จะจัดบำรุงการศึกษาให้ได้เป็นจำนวนมาก บทบัญญัติฉะเพาะกาลนี้ก็เป็นอันต้องเลิกเหมือนกัน ขอให้เข้าใจว่า สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงจะช่วยประคองการงานให้ดำเนิรไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง ไม่เลือกว่าคนมั่งมีหรือคนจน อันเป็นจุดมุ่งหมายของคณะราษฎรซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้
นายซิม วีรไวทยะ ขอให้โว๊ตเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของคณะราษฎร เพราะสมาชิกหลายท่านไม่ได้เริ่มก่อการด้วยก็มีมาก
ที่ประชุมตกลงว่า ไม่ต้องโว๊ต เพราะเข้าใจกันแล้วว่า จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงไปก่อน พร้อมขอให้นายซิมถอนญัตติ เพราะถ้าโว๊ตชนะ ก็เท่ากับโว๊ตให้ตนเอง
นายซิม วีรไวทยะ ขอถอนญัตติ
มาตรา ๖๔ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า มาตรา ๖๔ เดิมอ่านได้ความ ดั่งนี้
"ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป"
และกล่าวต่อไปว่า ขอเปลี่ยนคำว่า แห่ง ซึ่งอยู่หน้าคำว่า "หมวดนี้" มาไว้หน้าคำว่า "บทบัญญัติ" เมื่อแก้แล้ว อ่านดั่งนี้
"มาตรา ๖๔ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติหมวดนี้ ให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป"
ที่ประชุมลงมติรับรองว่า ใช้ได้ตามที่แก้
มาตรา ๖๕ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า มาตรา ๖๕ เดิมอ่านได้ความ ดั่งนี้
"เมื่อประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ยังมีการศึกษาไม่ถึงชั้นประกาศนียบัตรประถมศึกษาเกินกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมด แต่อย่างช้า ต้องไม่เกินกว่าสืบปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรกอบขึ้นด้วยสมาชิก ๒ ประเภทมีจำนวนเท่ากัน
(๑)สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้แก่ ผู้ที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทบัญญัติมาตรา ๑๖, ๑๗ แห่งรัฐธรรมนูญนี้
(๒)สมาชิกประเภทที่ ๒ ได้แก่ ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕" และกล่าวต่อไปว่า ในบรรทัดที่ ๒ ต่อกับ ๓ คำว่า "ยังไม่มีการศึกษาถึงชั้นประกาศนียบัตรประถมศึกษาเกินกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมด" ให้แก้เป็น "ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมด"
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า คำว่า "ประชาชน" ขอให้เปลี่ยนเป็น "ราษฎร" ทั้ง ๒ แห่ง คือ ในบรรทัดที่ ๑ กับ ๗
พระเรี่ยมวิรัชชพากย์กล่าวว่า ในบรรทัดที่ ๘ ตอนสุด คำว่า "แห่งรัฐธรรมนูญนี้" ขอให้ตัดออก
ประธานอนุกรรมการฯ แถลงว่า ถ้าเช่นนั้น ขอแก้ดั่งนี้ ในบรรทัด ๑๑ กับ ๑๒ คำว่า "ฉะเพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕" ให้แก้เป็น "ฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕"
ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อแก้ไขใหม่แล้ว อ่านดั่งนี้
"มาตรา ๒๕ เมื่อราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมด แต่อย่างช้า ต้องไม่เกินกว่าสิบปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕
สภาผู้แทนราษฎรกอบขึ้นด้วยสมาชิก ๒ ประเภทมีจำนวนเท่ากัน
(๑)สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้แก่ ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทบัญญัติมาตรา ๑๖, ๑๗
(๒)สมาชิกประเภทที่ ๒ ได้แก่ ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕"
ที่ประชุมลงมติรับรองว่า มาตรา ๖๕ ใช้ได้ตามที่แก้ไข
มาตรา ๖๖ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า มาตรา ๖ต เดิมอ่านได้ความ ดั่งนี้
"ในระหว่างกำหนดเวลาดั่งกล่าวในมาตรา ๖๕ หากว่าจะมีการยุบสภาตามความในมาตรา ๓๖ ไซร้ ท่านให้มีการเลือกตั้งสมาชิกใหม่ฉะเพาะในส่วนสมาชิกประเภทที่ ๑"
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กล่าวว่า บรรทัดที่ ๒ คำว่า "หากว่าจะมีการยุบ" ให้ตัดคำว่า "จะ" ออกเสีย คงอ่านว่า "หากว่ามีการยุบ"
พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในบรรทัดที่ ๑ คำว่า "เวลาดั่งกล่าว" ให้แก่เป็นว่า "เวลาที่กล่าว"
ประธานอนุกรรมการรับรอง
ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อแก้แล้ว อ่านดังนี้ "มาตรา ๖๖ ในระหว่างกำหนดเวลาที่กล่าวในมาตรา ๖๕ หากว่ามีการยุบสภาตามความในมาตรา ๓๖ ไซร้ ท่านให้มีการเลือกตั้งสมาชิกใหม่ฉะเพาะในส่วนสมาชิกประเภทที่ ๑⟨"⟩
ตามร่างที่แก้ไขใหม่นี้ ที่ประชุมลงมติรับรองว่า ใช้ได้
มาตรา ๖๗ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า มาตรา ๖๗ เดิมอ่านได้ความ ดั่งนี้
"ภายในบังคับแห่งมาตรา ๒๑ ท่านว่า สมาชิกประเภทที่ ๒ คงอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๕ แต่ท่านมิให้มีการประชุมดำเนิรการของสภาในระหว่างที่สภาต้องยุบตามความในมาตรา ๓๖"
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ขอให้เติมคำว่า (๒) (๓) (๔) (๕) ลงในท้ายคำว่า "มาตรา ๒๑" เพื่อให้ข้อความสิ้นกำกวมไม่กินถึงการยุบสภาและระยะเวลา ๔ ปีนั้น
ประธานอนุกรรมการฯ รับรอง
นายจรูญ ณบางช้าง กล่าวว่า คำว่า ภายในบังคับแห่งมาตรา ๒๑ นั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเคยชี้แจงว่า หมายความว่า "นอกจากที่กล่าวในมาตรา ๒๑" ทำให้คนภายนอกไม่เข้าใจ ต้องเป็นพวกกฎหมายจึ่งเข้าใจ ขอให้แก้ให้ชัด
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมตอบว่า เรื่องนี้เกี่ยวแก่ความก้าวหน้าของภาษา คำนี้ใช้ในประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาชินแล้ว ตรงกับ "Subject to" ในภาษาอังกฤษ เป็นการดีที่มีภาษาเพิ่มขึ้นอีก ไม่ควรให้หดลงหรือถอยหลังเข้าคลอง ควรก้าวหน้าเรื่อยไป
ที่ประชุมลงมติรับรองว่า ร่างมาตรา ๖๗ ที่แก้ไขใหม่นี้ใช้ได้
มาตรา ๖๘ ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า มาตรา ๖๘ เดิมอ่านได้ความ ดั่งนี้
"ในระหว่างเวลาตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าการเลือกตั้งสมาชิกเข้าในสภาเสร็จบริบูรณ์แล้วตามมาตรา ๖๕ ท่านว่า สภาผู้แทนราษฎรคงกอบด้วยสมาชิกเจ็ดสิบคนซึ่งมีอยู่แล้วโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕"
พระยาราชวังวันเสนอขอให้เปลี่ยนคำว่า "จนกว่าการเลือกตั้งสมาชิกเขาในสภาเสร็จบริบูรณ์แล้วตามมาตรา ๖๕" เป็น "จนกว่าสมาชิกตามมาตรา ๖๕ นั้นจะได้เข้ารับหน้าที่แล้ว"
ประธานอนุกรรมการฯ รับรอง
เมื่อแก้ตามร่างใหม่นี้แล้ว ที่ประชุมลงมติรับรองว่า ใช้ได้ตามที่แก้ไข
เมื่อจบมาตรา ๖๘ แล้ว มีสมาชิกขอซ้อมความเข้าใจบางอย่าง ดั่งนี้
หลวงแสงนิติศาสตร์ถามว่า
๑.งบประมาณเงินแผ่นดิน ต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
๒.การใด ๆ อันจะก่อให้เกิดหนี้หรือภาระติดพันแต่การคลังของประเทศด้วยประการใด ๆ นอกจากที่ระบุไว้ในงบประมาณแผ่นดิน ต้องกระทำโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎณ
๓.ยอดบัญชีรายรับรายจ่ายของประเทศ ต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยรายงานการตรวจบัญชีของเจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินประจำปี
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมตอบว่า งบประมาณ ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ ฉะนั้น เรื่องนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และการกู้เงินของรัฐบาล ต้องออกพระราชบัญญัติ "หนี้และภาระการคลัง" เป็นคำกว้าง ถ้าเกี่ยวกับงบประมาณ ก็เป็นพระราชบัญญัติอยู่แล้ว ส่วนในข้อ ๓ ยอดบัญชีรับจ่าย เมื่อเสร็จไปแล้ว จะเสนอสภาหรือไม่ เกี่ยวข้องแก่พระราชบัญญัติ การเสนองบประมาณใหม่ ต้องแถลงงบประมาณเก่าให้ทราบ เรื่องเป็นไปในตัว ถ้าไม่แถลง ก็ตั้งกระทู้ถามในสภา
นายสงวน ตุลารักษ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญของเราไม่มีข้อความประกาศยกเลิกพระธรรมนูญชั่วคราว
ประธานอนุกรรมการตอบว่า มีอยู่ในคำปรารภ เป็นพระราชดำริ ไม่ได้บอกตรง ๆ และมีข้อความคุ้มพอที่จะแสดงว่า พระธรรมนูญชั่วคราวนั้นระงับไปแล้ว
ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวอีกว่า บัดนี้ เราปรึกษาครั้งที่ ๒ ของเรื่องรัฐธรรมนูญที่อนุกรรมการเสนอมานี้สำเร็จแล้ว ต่อไปจะต้องปรึกษาครั้งที่ ๓ แต่อนุกรรมการยังคิดว่า จะมีศัพท์หรือไวยากรณ์ที่เห็นว่า ควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง วันพรุ่งนี้ ขอเสนออีกครั้งหนึ่ง
เลิกประชุม ๑๕.๔๕ นาฬิกา
แล้วนัดประชุมวันที่ ๒๘ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกาต่อไป
หลวงคหกรรมบดี | ||||
นายปพาฬ บุญ-หลง | ||||
หลวงชวเลขปรีชา | ||||
ผู้จดรายงานการประชุม | ||||
พระวุฒิศาสตร์ | นิติศาสตร์ | |||
ตรวจแล้ว | นายมังกร | |||
พญ. | จรูญ ณบางช้าง | |||
ปรีชานุสาสน์ | ||||
๗ ธันวา ๗๕ |
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- สภาผู้แทนราษฎร. (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 40/2475 วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475. สภาผู้แทนราษฎร: พระที่นั่งอนันตสมาคม.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"