ข้ามไปเนื้อหา

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 42/2475

จาก วิกิซอร์ซ
รายงานการประชุม
สภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๔๒
(สมัยสามัญ)
วันอังคารที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
ฉบับสำนักการพิมพ์
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕

สารบัญ
ครั้งที่ ๔๒/๒๔๗๕
ที่ประชุมรบรองรายงานการประชุม ครั้งที่ ๓๒–๓๕/๒๕๗๕
๕๗๗–๕๗๙
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงเรื่องแก้คำที่สภาอนุมัติไปและคำนำ
๕๗๙–๕๘๐
ที่ประชุมลงมติรับรองรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วและแสดงความยินดี
๕๘๐–๕๘๕

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๔๒/๒๔๗๕ (วิสามัญ)
วันอังคารที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕
ณพระที่นั่งอนันตสมาคม
เริ่มประชุมเวลา ๑๖.๑๕ นาฬิกา

สมาชิกมาประชุม ๕(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก) นาย

ประธานสภาฯ กล่าวว่า รายงานการประชุมของสภา ครั้งที่ ๓๑ ถึง ๓๕ นั้น ได้วางให้อ่านตามระเบียบแล้ว ฉะเพาะครั้งที่ ๓๕ ซึ่งเป็นรายการประชุมตอนเข้าในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็ได้คัดสำเนาแจกสมาชิกทั่วกันแล้ว ถ้าหากไม่มีผู้ใดทักท้วงในถ้อยคำใดแล้ว ก็ขอให้ลงมติรับรองเป็นอันใช้ได้ต่อไป.

หลวงแสงนิติศาสตร์เสนอว่า ในรายงานประชุม ครั้งที่ ๓๕ หน้า ๓ จากข้างท้าย ในตอนที่ว่า "หลวงแสงนิติศาสตร์กล่าวว่า เดิมก็ไม่ตั้งใจที่จะแก้…จนถึงคำว่า จึ่งคิดว่าควรแก้เสีย" นั้น ขอตกคำว่า "ถึงคำ คณะกรรมการราษฎร และกรรมการราษฎร เมื่อได้คิดแก้ ๒ คำนี้ จึ่งคิดแก้คำ สภาผู้แทนราษฎร ตามไปให้เข้าใจกัน" ลงต่อคำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตัดคำว่า จึ่งคิดว่าควรแก้เสีย ออก

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในหน้า ๘ บรรทัดสุดท้าย คำว่า "พระอุปถัมภ์" ขอแก้เป็น "พระบรมราชูปถัมภ์"

นายดิเรก ชัยนาม กล่าวว่า ในรายงาน ครั้งที่ ๓๕ หน้า ๒๒ ตอนที่ "นายดิเรก ชัยนาม กล่าวว่า ไม่เห็นชอบตามที่หลวงแสงฯ ขอแก้" นั้น บรรทัดที่ ๔–๕ คำว่า "เรียกว่า Congress และ Senate ซึ่งรวมเรียกเช่นเดียวกัน" นั้น ขอแก้เป็น "คือ มีสภาผู้แทนราษฎร และ Senate ซึ่งรวมเรียกว่า Congress"

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า แต่ก่อนได้เคยทำหน้าที่เลขาธิการประชุมกรรมการองคมนตรีสภา เมื่อเวลาเปลี่ยนภาวะที่ประชุมเป็นอนุกรรมการเต็มสภาแล้ว ก็จดแต่เพียงเป็นรายงานย่อ เอาแต่ใจความที่ลงมติ แล้วมีโน๊ต Shorthand แนบท้ายอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นการสะดวกดี เพราะการจดด้วย Shorthand นั้นยืดยาว อาจจะคลาดเคลื่อนรุงรังได้ จึ่งเห็นว่า วิธีนั้นง่ายดีและสะดวก

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ตามความเข้าใจแล้ว ในข้อบังคับขององคมนตรีที่สภาอนุโลมใช้อยู่ในเวลานี้ ก็มีว่า เมื่อเปลี่ยนภาวะที่ประชุมเป็นอนุกรรมการเต็มสภาแล้ว รายงานนั้นก็จดแต่ย่อ ๆ เป็นใจความที่ลงมติเท่านั้น แต่ว่า ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนี้ เข้าใจว่า สมาชิกต้องการให้จดถ้อยคำโดยละเอียด เพื่อแสดงความสำคัญในการปรึกษาพิจารณารัฐธรรมนูญถาวร ซึ่่งเป็นไปในทางอธยาศรัย ครั้นจะทำการให้เคร่งครัด ก็จะไม่ต้องด้วยความประสงค์ของสมาชิก จึ่งได้ผ่อนผันให้ ประการหนึ่ง ในรายงานการประชุมนี้ ก็ได้ตรวจแล้วเห็นว่า ถ้อยคำใดไม่เป็นอันตราย ก็ได้ปล่อยไป ฉะนั้น ถ้าแม้ว่าไม่มีผู้ใดทักท้วงแก้ไขอีก ก็ขอให้ลงมติ สมาชิกทั้งหมดเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า ที่ประชุมรับรองรายงาน ครั้งที่ ๓๒–๓๓–๓๔ และ ๓๕ ว่า ใช้ได้

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เนื่องจากที่ประชุมสภาได้อนุมัติให้คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไปแก้ถ้อยคำ "คณะกรรมการราษฎร" เป็น "คณะรัฐมนตรี" "ประธานคณะกรรมการราษฎร" เป็น "นายกรัฐมนตรี" และคำว่า "กรรมการราษฎร" เป็น "รัฐมนตรี" นั้น บัดนี้ ได้จัดทำเสร็จแล้ว จึ่งขอเสนอมาตราที่ได้แก้เป็นมาตรา ๆ ไปจนตลอด และฉะเพาะมาตรา ๑๙ นั้น กล่าวว่า เมื่อได้อ่านดูอีก ๒ ครั้ง คิดว่า เพื่อให้ความแจ่มแจ้งขึ้น จึ่งขอเติมคำว่า "แห่งสภา" ในบรรทัดที่ ๒ หลังคำว่า "ในที่ประชุม" และขอตัดคำว่า "มา" ในมาตรา ๑๖ ตอนท้ายออกอีก

อนึ่ง อยากขอเสนอต่อที่ประชุมว่า ในรัฐธรรมนูญนี้ ณบัดนี้ ยังไม่มีคำนำ แต่ว่าเรื่องคำนำนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการในกรมพระอาลักษณ์ คือ พระสารประเสริฐ ร่าง เดิมว่าจะร่างเป็นรูปประกาศที่จะมาอ่านในเวลาประกาศพระราชทาน จึ่งได้พระราชทานมาให้ข้าพเจ้าดู ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นถ้อยคำสำนวนดี แต่ขาดความไปอีกอย่างหนึ่ง จึ่งได้นำไปกราบบังคมทูลพระองค์ท่าน จึ่งรับสั่งให้ส่งไปให้อาลักษณ์แก้ไขเพิ่มเติมและทำขึ้นใหม่ และเนื่องจากที่ได้อ่านมาแล้วรู้สึกว่า ดีสมกับจะเป็นคำนำในรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี จึ่งได้กราบบังคมทูลหารือว่า ถ้าแม้จะโปรดเกล้าฯ ให้เป็นคำนำของรัฐธรรมนูญนี้แล้ว จะงดงามมาก ก็เป็นการชอบด้วยพระราชดำริ แต่บัดนี้ ร่างประกาศที่กล่าวนั้นยังทำไม่สำเร็จ ยังไปเติมถ้อยคำอีกนิดหน่อย หวังว่า จะเสร็จใน ๒–๓ วันนี้เป็นอย่างช้า ซึ่งจะได้นำมาเสนอสภาเหมือนกัน และจะได้นัดประชุมต่อไป เพราะถ้าจะนัดเวลานี้ ยังไม่แน่ ฉะนั้น ณบัดนี้ จึ่งขอให้ประธานสภาฯ ลงคะแนนรับรองรัฐธรรมนูญให้เป็นอันใช้ได้ก่อน

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเราได้ประชุมปรึกษาพิจารณากันมาหลายคราวนั้น ได้สำเร็จลงณเวลานี้แล้ว จะมีอยู่อีกก็เป็นคำนำดั่งประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอว่า จะนำมาให้พิจารณาภายหลัง ฉะนั้น ในโอกาสนี้ ถ้าแม้ไม่มีข้อขัดข้องอย่างใดแล้ว จึ่งยากจะขอให้ลงคะแนนรับรองรัฐธรรมนูญต่อไป สมาชิกทั้งหมดไม่มีใครขัดข้อง และพร้อมใจกันลงมติเห็นชอบร่างที่ได้พิจารณามานั้นทุกประการ เป็นอันว่า สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับรองให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายได้

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอว่า ในการที่เราได้ร่างและพิจารณารัฐธรรมนูญสำเร็จลงแล้วนี้ ได้มีโอกาสติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานพระราชกระแสและพระบรมราโชบายในการร่างด้วยประการต่าง ๆ ฉะนั้น ความสำเร็จแห่งรัฐธรรมนูญที่เป็นไปโดยเรียบร้อยดีเช่นนี้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ ซึ่งเราจะลืมเสียมิได้เป็นอันขาด

ในโอกาสที่ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวแล้ว สมาชิกทั้งหมดลุกขึ้นเปล่งเสียงถวายพระพรว่า "ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญ" และ "ไชโย" ตบมือด้วยความยินดี

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในที่นี้ ขอโอกาสกล่าวในนามที่เป็นประธานแห่งสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงความขอบใจแก่ท่านสมาชิกทั้งหลายที่ได้อุตส่าห์พยายามร่วมมือกันโดยจริงจัง มิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย มุ่งประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง ช่วยกันปรึกษาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนี้จนเป็นที่สำเร็จลงในวันนี้ อนึ่ง ขอชักชวนท่านสมาชิกทั้งหลายลงมติขอบใจคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่สภาได้แต่งตั้งไปให้พิจารณาและร่างขึ้น มีพระยามโนปกรณนิติธาดา ประธานอนุกรรมการ พระยาเทพวิฑุร พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจา พระยามานวราชเสวี พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ พระยาปรีดานฤเบศร์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และหลวงสิงนาดโยธารักษ์ กรรมการ รวม ๙ ท่าน ซึ่งได้ร่างแทนเรามาโดยเรียบร้อยดี โดยมิได้มีการแก้ไขอะไรมากกว่าถ้อยคำ ที่ประชุมได้ลงมติรับรอง และสมาชิกทั้งหมดได้พร้อมใจตบมือแสดงความยินดี

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า รู้สึกขอบใจท่านประธานแห่งสภาและสมาชิกทั้งหลายมากที่พวกเรา ๙ คนได้รับเกียรติยศแต่งตั้งไปร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราทุกคนก็ได้ทำตามสติปัญญาที่จะทำได้ และที่สำเร็จลงได้นี้ก็ด้วยความช่วยเหลือ ซึ่งนอกจาก ๙ คนแล้ว ก็ได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้อื่นที่เชิญมาถามภาษาบางคราวด้วย เช่น เสนาบดีกระทรวงธรรมการ จนการร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จลง และมีความยินดีเป็นอันมากยิ่งกว่าที่ได้รับคำขอบใจจากสมาชิกทั้งหลายอีก จึ่งขอแสดงความขอบใจในบรรดาสมาชิกในที่นี้ด้วย

สมาชิกได้ตบมือด้วยความยินดี

พระยาศรีวิสารวาจา อนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตามที่ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับหน้าที่มา และในระหว่างที่เราได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนี้ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยดี และเบนที่พอใจแก่สมาชิกทั่วกัน เพราะฉะนั้น ในการที่เราได้พิจารณาเสร็จลงแล้ววันนี้ ขอถือโอกาสชักชวนสมาชิกแห่งสภาลงมติขอบใจท่าน และแสดงความไว้วางใจที่ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยเคร่งครัด เป็นที่พอใจแก่เราทั้งหลายด้วย

ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วย และสมาชิกได้พร้อมกันตบมือด้วยความยินดี

พระยาราชวังสันกล่าวว่า ในโอกาสนี้ ขอชักชวนให้สมาชิกทั้งหลายแสดงความขอบใจแก่รองประธาน หลวงคหกรรมบดี เลขานุการอนุกรรมฯ นายปพาฬ บุญ-หลง ผู้ช่วยเลขานุการฯ ตลอดทั้งเจ้าพนักงานอื่น ที่ได้ร่วมมือกันปฏิบัติราชการนี้มาด้วยความรอบคอบ จนเป็นผลให้รัฐธรรมนูญนี้สำเร็จลงด้วยความสะดวกนั้นทุก ๆ คน

ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วย สมาชิกพร้อมกันตบมือแสดงความยินดี

นายวิเชียร สุวรรณทัต กล่าวว่า ขอชักชวนสมาชิกทั้งหลายแสดงความขอบใจผู้ที่ได้เป็นหัวหน้า ผู้ที่ได้ร่วมกันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญนี้ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา

ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วย และสมาชิกพร้อมกันตบมือด้วยความยินดีทั่วกัน

พระยาพหลพลพยุหเสนากล่าวว่า ขอชักชวนสมาชิกทั้งหลายให้ความพอใจแก่ผู้ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันดำเนิรการเป็นที่สำเร็จเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายนนั้นด้วย

ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วย และสมาชิกได้ตบมือด้วยความยินดีทั่วกัน.

นายจรูญ ณบางช้าง ได้เสนอขอให้แสดงความขอบใจหลวงประดิษฐ์มนูธรรมผู้เป็นประดุจกระดูกสันหลังแห่งการงานทั้งหลายที่ดำเนิรมาโดยเรียบร้อย

ที่ประชุมรับรอง และสมาชิกได้ตบมือแสดงความยินดีทั่วกัน

พระยาพหลพลพยุหเสนากล่าวว่า พี่น้องทั้งหลาย ในการที่ได้โต้เถียง ถ้ามีคำพูดก้ำเกินแก่ท่านในที่ประชุมบ้าง แต่ที่จริงในการพูดโต้เถียงกันนั้น มิได้มุ่งร้ายที่จะคิดโกรธท่านอย่างใดอย่างหนึ่งเลย แต่เป็นหน้าที่ ๆ ข้าพเจ้าจะรักษาความสามัคคีระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย สามัคคีระหว่างเจ้านายและพวกเราที่ได้มานั่งประชุม เพราะฉะนั้น เป็นความจำเป็น ขอให้เห็นใจและอย่าได้โกรธแค้นเลย

สมาชิกทั้งหลายตบมือด้วยความยินดี

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า ในการประชุมที่แล้ว ๆ มา ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวความเห็นของข้าพเจ้าอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะเป็นที่ขุ่นเคืองต่อผู้ใหญ่ ฉะนั้น แม้ไม่เป็นที่พอใจด้วยประการใดแล้ว ขอได้โปรดให้อภัยและเห็นความตั้งใจดีของข้าพเจ้าด้วย

สมาชิกได้ตบมือด้วยความยินดีทั่วกัน

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เนื่องจากเราใคร่จะให้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกใช้ในเวลาใกล้ ๆ กันกับรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น เราจะต้องรีบเร่งกันพิจารณาพระราชบัญญัตินั้นอีกทีหนึ่ง และขอให้มีประชุมในวันเสาร์ที่ ๓ ธันวาคม เวลา ๑๐ นาฬิกา ส่วนร่างพระราชบัญญัตินั้น จะส่งให้สมาชิกได้อย่างช้าเย็นวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ธันวาคม ศกนี้

ประธานสภาฯ กล่าวว่า เนื่องจากที่ประธานอนุกรรมร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอมาแล้วนั้น เหตุนี้ เราจะได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันเสาร์ที่ ๓ ธันวาคม เวลา ๑๐ นาฬิกา.

เลิกประชุมเวลา ๑๗ นาฬิกา

หลวงคหกรรมบดี
นายปพาฬ บุญ-หลง
นายสิงห์ กลางวิสัย
ตรวจแล้ว ผู้จดรายงานการประชุม
พญ.
พระวุฒิศาสตร์
นิติศาสตร์ ปรีชานุสาสน์
๖ ธันวา ๗๕
จรูญ ณบางช้าง
นายมังกร สามเสน

พิมพ์ที่กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

บรรณานุกรม

[แก้ไข]
  • สภาผู้แทนราษฎร. (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 42/2475 วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475. สภาผู้แทนราษฎร: พระที่นั่งอนันตสมาคม.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"