รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 43/2475

จาก วิกิซอร์ซ
รายงานการประชุม
สภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๔๓
(สมัยสามัญ)
วันพฤหัสบดีที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕
ฉบับสำนักการพิมพ์
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕

สารบัญ
ครั้งที่ ๔๓/๒๔๗๕
ญัตติของคณะกรรมการราษฎรว่าด้วยร่างพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
๕๘๖–๕๙๑
ญัตติของคณะกรรมการราษฎรว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติรัฐมนตรี
๕๘๘
ญัตติของคณะกรรมการราษฎรว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนและเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งกายผู้มีตำแหน่งเฝ้า พุทธศักราช ๒๔๗๕ (เลื่อนการประชุมไปคราวหน้า)
๕๘๘

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๔๓/๒๔๗๕ (วิสามัญ)
วันพฤหัสบดีที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
ณพระที่นั่งอนันตสมาคม
เริ่มประชุมเวลา ๑๖.๒๐ นาฬิกา

สมาชิกมาประชุม ๕๖ นาย

ประธานสภาฯ กล่าวว่า วันนี้ คณะกรรมการราษฎรได้เสนอญัตติขอให้พิจารณาซึ่งเป็นเรื่องด่วน ๓ เรื่อง คือ ๑. ร่างพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ๒. ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติรัฐมนตรี ๓. ร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนและเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องกายผู้มีตำแหน่งเฝ้า พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งเราจะได้พิจารณาเรื่องร่างพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยามก่อน

ประธานคณะกรรมการราษฎรกล่าวว่า ร่างพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญฉะบับนี้ ข้าพเจ้าได้เคยเรียนต่อที่ประชุมครั้งหนึ่งแล้วว่า ในเมื่อเราทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าได้นำไปทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ก็โปรดปราน เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก ถึงได้ทรงเตรียมการที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้พระสารประเสริฐไปร่างประกาศนี้ ซึ่งแต่แรกทรงหวังที่จะให้อาลักษณ์อ่านในเวลาที่จะพระราชทาน เมื่อพระสารประเสริฐได้ร่างแล้ว ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร แล้วก็พระราชทานมาให้คณะกรรมการราษฎรดู คณะกรรมการราษฎรพิจารณาเห็นว่า ถ้อยคำที่เขียนมานั้น ถ้าจะใช้เป็นพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญ ก็จะเหม่ะและงดงามดี จึ่งได้นำความกราบบังคมทูล ก็โปรดเกล้าฯ ว่า จะให้เป็นพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเช่นนี้ พระราชปรารภก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หาเป็นประกาศไม่ จึ่งได้นำมาเสนอสภา ส่วนในการที่จะประกาศพระราชทาน ก็จะอ่านถ้อยคำนี้ แต่อ่านจากพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น พระราชปรารภนี้จึงไม่ใช่ประกาศ แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ จึ่งนำมาเสนอเพื่อความเห็นชอบของที่ประชุม และเมื่อที่ประชุมประสงค์จะให้อ่านเสนอ ก็ยินดี แต่ว่ามีภาษามคธและสังสกฤตที่จะแปลให้ฟังไม่ได้

พระยาพหลพลพยุหเสนาเสนอว่า เนื่องจากถ้อยคำบางคำในภาษามคธและสังสกฤตที่เราอ่านไม่เข้าใจว่า แปลว่าอะไร ฉะนั้น เห็นว่า ควรจะเรียกผู้ชำนาญทางภาษา เช่น พระธรรมนิเทศทวยหาร มาแปลความให้ฟังจะดีกว่า

ประธานคณะกรรมการราษฎรกล่าวว่า ร่างพระราชปรารภฉะบับนี้ พระสารประเสริฐเป็นผู้ร่าง แต่เมื่อมีความประสงค์ที่จะให้ผู้ชำนาญแปลความแล้ว ก็ไม่ขัดข้อง

ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อเราไม่มีผู้ใดจะแปลได้แล้ว ก็ขอให้ระงับการพิจารณาร่างพระราชปรารภนี้ไว้ชั่วคราวก่อน เพื่อจะได้ไปเรียกผู้ชำนาญมาแล้วค่อยปรึกษากันใหม่ และต่อไปนี้ เราจะได้พิจารณาด้วยร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติรัฐมนตรี

ประธานคณะกรรมการราษฎรกล่าวว่า เรื่องนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร เป็นแต่ว่า เราได้เอาคำว่า "รัฐมนตรี" มาใช้ในรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนพระราชบัญญัติรัฐมนตรีเดิมนั้นก็คงเป็นกฎหมายอยู่แต่ชื่อเท่านั้น คณะกรรมการราษฎรเห็นสมควรยกเลิกพระราชบัญญัติเดิมนั้นเสีย จึงเสนอสภามาดั่งที่เราจะพิจารณากันนี้

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติรัฐมนตรีนี้ ถ้าแม้ไม่มีผู้ใดคัดค้านอย่างใดแล้ว ก็จะได้ลงมติต่อไป ไม่มีใครคัดค้าน ประธานสภาจึ่งขอให้ลงคะแนน สมาชิกทั้งหมดมีความเห็นชอบตามร่าง เป็นอันว่า ที่ประชุมอนุมัติให้ประกาศพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติรัฐมนตรีได้ตามความที่เสนอนั้น

ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้ จะได้พิจารณาต่อไปถึงร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนและเพิ่มเติมพระราชกำหนดเครื่องแต่งกายผู้มีตำแหน่งเฝ้า พุทธศักราช ๒๔๗๕ ต่อไปนี้ ได้มีการอภิปรายและพิจารณาปรึกษาข้อความในพระราชบัญญัตินั้น ผลสุดท้าย ได้ตกลงกันให้เลื่อนการประชุมพระราชบัญญัตินี้ไปคราวหน้า

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสอนว่า ตามที่ประชุมได้ตกลงให้เชิญผู้ชำนาญทางภาษามาแปลถ้อยคำในร่างพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น บัดนี้ ได้มาแล้ว จึ่งขออนุญาตต่อที่ประชุมให้พระธรรมนิเทศฯ เข้าที่ประชุมเพื่อแปลถ้อยคำด้วย

ที่ประชุมอนุมัติให้พระธรรมนิเทศทวยหารเข้าที่ประชุม และขอให้อ่านและแปลคำในพระราชปรารภนั้นเสนอ

พระธรรมนิเทศทวนหารได้อ่านและแปลความเสนอ มีถ้อยคำที่ที่ประชุมเห็นว่าไม่เหมาะสมและได้จัดการแก้ไข ดั่งนี้

คำว่า "อัครหายนมาส" ซึ่งแปลว่า เดือนอ้าย นั้น ฟังไม่สนิทหู จึงได้ขอให้พระธรรมนิเทศฯ เปลี่ยนเป็นคำอื่นซึ่งแปลได้ความอย่างเดียวกัน

พระธรรมนิเทศฯ กล่าวว่า คำว่า "อัครหายนมาส" เป็นคำสังสกฤต ซึ่งข้าพเจ้าเองก็ไม่ชำนาญ หากแต่พอรู้บ้าง แต่ถ้าจะให้เปลี่ยนแล้ว ก็ใช้ภาษามคธคำว่า "มิคสิรมาส" ก็จะกลมกลืนกันได้ดี

พระยาอุดมฯ รับรองคำว่า "มิคสิรมาส" นี้ได้ยินเสมอ สมควรจะใช้แทนกันได้ดี

ที่ประชุมลงมติรับรองให้แก้คำว่า "อัครหายนมาส" เป็น "มิคสิรมาส"

พระยาอุดมฯ กล่าวว่า ในหน้า ๒ บรรทัดที่ ๑๑ คำว่า "ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากรุณา" นั้น คำว่า "มหา" ดูตามรูปแล้ว แปลว่า เป็นพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นคำสรรพนาม เห็นจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีคำว่า "มหา" เพราะไม่เคยเห็นมีที่ไหน

ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วย เป็นอันให้ตัดคำว่า "มหา" ออก

พระยาพหลฯ เสนอว่า คำว่า พสกนิกร นั้น ควรจะเปลี่ยนเป็นคำใหม่ เพราะฟังดูไม่เข้ากับรัฐธรรมนูญที่กลาวถึงอำนาจอธิปไตยว่า เป็นอำนาจที่มาจากปวงชนทั้งหลาย

พระธรรมนิเทศฯ กล่าวว่า ถ้าจะเปลี่ยนแล้ว ก็ต้องหาคำให้กลืนกันกับคำเดิม เช่น "ประชากร" ก็แปลได้ว่า เป็นประชาชน และเข้ารูปอย่างที่ว่านั้นได้

ที่ประชุมเห็นชอบด้วยและตกลงให้แก้คำว่า "พสกนิกร" เป็น "ประชากร"

ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้ การพิจารณาร่างพระราชปรารภก็เสร็จลงแล้ว ตามที่คณะกรรมการราษฎรเสนอไว้มีว่า จะนำพระราชปรารภนี้ลงไว้เป็นคำนำในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึ่งขอให้ที่ประชุมลงคะแนนว่า จะเห็นสมควรหรือไม่ สมาชิกทั้งหมดลงความเห็นพ้องกันว่า เป็นการสมควร เป็นอันว่า ที่ประชุมอนุมัติให้นำคำพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญลงเป็นคำนำได้

หลวงประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า ตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้วว่า ในวันเสาร์ที่ ๓ จะประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้งนั้น บัดนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่กล่าวนั้นได้ทำเสร็จแล้ว ขอสมาชิกได้รับแจกไปด้วย และขอให้มาประชุมในวันเสาร์ เวลา ๑๐ นาฬิกา

เลิกประชุมเวลา ๑๙.๒๐ น.

หลวงคหกรรมบดี
นายปพาฬ บุญ-หลง
ตรวจแล้ว นายสิงห์ กลางวิสัย
พญ. ผู้จดรายงานการประชุม
พระวุฒิศาสตร์
นิติศาสตร์ ปรีชานุสาสน์
๖ ธันวา ๗๕
จรูญ นายมังกร

พิมพ์ที่กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • สภาผู้แทนราษฎร. (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 43/2475 วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2475. สภาผู้แทนราษฎร: พระที่นั่งอนันตสมาคม.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"