รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 46/2475

จาก วิกิซอร์ซ
รายงานการประชุม
สภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๔๖
(สมัยสามัญ)
วันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕
ฉบับสำนักการพิมพ์
ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕๙ (สมัยสามัญ) พ.ศ. ๒๔๗๕

สารบัญ
ครั้งที่ ๔๖/๒๔๗๕
คณะกรรมการราษฎรแถลงขอลาต่อที่ประชุมเพื่อออกจากตำแหน่งในคราวพระราชทานรัฐธรรมนูญ
๖๕๘–๖๕๙
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมอ่านร่างคำกราบบังคมทูลพระกรุณาสนองพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเสนอที่ประชุม
๖๕๙–๖๖๓
ประธานสภาฯ แถลงเรื่องรายงานการประชุมครั้งที่ ๓๖/๒๔๗๕
๖๖๓–๖๖๕

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ ๔๖/๒๔๗๕
วันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
ณพระที่นั่งอนันตสมาคม
เริ่มประชุมเวลา ๑๖.๒๐ นาฬิกา

สมาชิกมาประชุม ๕๖ นาย

ประธานคณะกรรมการราษฎรแถลงว่า ในการที่ขอให้นัดประชุมวันนี้ ก็เพราะว่าจะมาลาเท่านั้นเอง ฉะนั้น จึงขอลาสำหรับตัวข้าพเจ้า ทั้งในนามของคณะกรรมการราษฎร และคณะเสนาบดี ซึ่งจำจะต้องลาออกจากตำแหน่งในคราวพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเหตุว่า ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว สภานี้เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการราษฎร แต่ว่าตามรัฐธรรมนูญถาวรฉะบับใหม่นี้ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงตั้ง แล้วสภานี้ก็จะได้ลงมติความไว้วางใจให้ปฏิบัติราชการต่อไป คือ คณะกรรมการราษฎรจะเป็นคณะรัฐมนตรี จึ่งจำเป็นต้องลาออก เพื่อให้โอกาสที่จะได้โปรดเกล้าฯ ตั้ง ในส่วนคณะเสนาบดีนั้น ข้าพเจ้าจำได้ว่า แม้ว่าเสนาบดีจะได้รับพระราชทานตราตั้งจากพระมหากษัตริย์ก็จริง แต่ว่าข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอชื่อในเวลานั้น ซึ่งสภานี้เห็นชอบด้วย และตำแหน่งเสนาบดีนั้นเป็นตำแหน่งที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วยกัน ฉะนั้น จึ่งสมควรจะต้องลาออกด้วยเหมือนกัน จึ่งมาแจ้งต่อที่ประชุมให้ทราบว่า จะลาออก แต่การลาออกนี้ ก็ต้องลาออกในวันที่ ๑๐ ธันวาคม คือว่า เมื่อได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายใบลาทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งที่จะเสนอต่อที่ประชุม ก็คือ เมื่อเวลาพระราชทานรัฐธรรมนูญ จะมีประกาศพระราชทาน และประธานสภาผู้แทนราษฎรจะได้อ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณาสนองพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เห็นว่า เป็นคำที่กล่าวในนามสภา จึ่งได้นำมาเสนอ ดั่งที่ได้คัดสำเนาแจกสมาชิกทั่วกันแล้ว จึ่งขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมอ่านเสนอต่อที่ประชุม

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมอ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณาสนองพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเสนอต่อที่ประชุม ดั่งนี้

  • "ร่าง
  • คำกราบบังคมทูลพระกรุณา
  • สนองพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญ
  • แห่งราชอาณาจักรสยาม

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาในนามแห่งประชาชนชาวสยามทุกถ้วนหน้า

ด้วยการที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประสิทธิ์ประสาทพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามให้ประชาชนนิกรได้ดำรงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ทั้งนี้ ย่อมเป็นที่ชื่นชมยินดีแห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งบวงเป็นล้นพ้น พระเดชพระคุณเป็นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้

อันการที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามราชอาณาจักรได้มีการปกครองตามวิสัยอารยประเทศในปัจจุบันนั้น ใช่ว่าจะได้เป็นไปโดยขาดความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทก็หาไม่ แต่หากได้เป็นไปด้วยความคิดอันแรงกล้าในการที่เข้ามีส่วนช่วยเหลือปลดเปลื้องพระราชภาระในอันที่จะจรรโลงสยามรัฐให้รุ่งเรืองทัดเทียมเขาต่างประเทศ

ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงย่อมตระหนักด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมโดยแท้จริงดั่งนี้ว่า การปกครองราชอาณาจักรด้วยวิธีสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งในสมัยที่ประชาราษฎรยังไม่เจริญการศึกษา สมเด็จพระราชาธิบดีต้องดำเนิรรัฐประศาสโนบายประจัญต่อเหตุการณ์น้อยใหญ่บรรดามี นับว่า ทรงรับพระราชภาระหนักอย่างใหญ่หลวง แต่ด้วยเดชะพระปัญญาบารมีอันไพศาลย์ของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าในปางก่อน ๆ สืบตลอดมา ได้ทรงนำสยามประเทศให้รุ่งเรืองตามกาลสมัย ประชาชนจึ่งได้รับพระราชทานการศึกษาเข้าสู่อารยภูมิ์ ซึ่งเป็นเหตุให้ทรงพระราชปรารภอยู่แล้วที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ความข้อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหมายมิได้หยั่งถึงพระปรีชาญาณอันสุขุม จึ่งได้กราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยประการนั้น

บัดนี้ เป็นที่ประจักษ์แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงแล้วว่า ทรงมีพระราชหฤทัยหวังดีในอันจะทำนุบำรุงประชาราษฎร จึ่งมิได้ทรงถือว่า การที่ประเทศมีรัฐธรรมนูญปกครองนั้นจะเป็นเครื่องตัดรอนพระบรมเดชานุภาพส่วนพระองค์ดั่งนี้แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งเลย เมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ยังได้ทรงอุปถัมภ์ทำนุบำรุงทุกอย่างทุกทางที่ทรงเห็นว่าเกื้อกูลแก่วิธีการปกครองนั้น ตราบเท่าจนถึงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรอีกวาระหนึ่งในครั้งนี้ พระเดชพระคุณในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นที่ดูดดื่มจับใจข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงนี้ยิ่งนัก ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงรักชาติจริง ๆ ทรงเห็นแก่อาณาประชาราษฎร์จริง ๆ มิได้ทรงเห็นเหตุการณ์ปลีกย่อยประการอื่นซึ่งบังเกิดขึ้นเพราะเปลี่ยนการปกครองนั้นเป็นประมาณเลย ทั้งนี้ ล้วนเป็นพระบารมีที่ปกเกล้าปกกระหม่อมให้อุ่นใจมั่นใจถึงสามประการ คือ พระปรีชาบารมี พระเมตตาบารมี พระขันติบารมี ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงนี้ขอถวายปฏิญาณฉะเพาะพระภักตร์ว่า เป็นผู้มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นเนืองนิตย์

ในอวสานแห่งคำกราบบังคมทูลพระกรุณานี้ ขออำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ในสกลจักรวาล จงอภิบาลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท องค์ประมุขของชาติ ให้ทรงเจริญพระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ เพื่อทรงพระราชบริหารสยามประเทศให้ถึงความเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรที่พระราชทานมานี้ เทอญ.

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ"

เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์กล่าวว่า ในหน้า ๑ วรรค ๓ บรรทัดสุดท้ายที่ว่า "ให้รุ่งเรืองทัดเทียมเขาต่างประเทศ" นั้น คำว่า เขาต่างประเทศ นั้นฟังดูเขิน ไม่เพราะ ถ้าจะเปลี่ยนเป็นว่า "นานาประเทศ" ก็จะเหมาะกว่า

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่า คำว่า "นานาประเทศ" นั้น พระธรรมนิเทศทวยหาญว่า เป็นหลายประเทศซึ่งอาจจะมีความเจริญมากกว่าเรามากหรือน้อยกว่าเรา ฉะนั้น ขอเปลี่ยนเป็นว่า "อารยประเทศ"

เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์รับรองและกล่าวว่า เท่าเท่าที่เคยได้เห็นมา ถ้าพูดว่า "พระปรีชาญาณอันสุขุม" แล้ว มักจะมีคำว่า "คัมภีรภาพ" อยู่ด้วย ฉะนั้น ในหน้า ๑ วรรค ๔ บรรทัดสุดท้าย ควรจะแก้ให้เข้ารูปที่กล่าวนั้นด้วย คือ ให้อ่านว่า "มิได้หยั่งถึงพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพ…"

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรับรอง

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ตามคำกราบบังคมทูลที่เสนอมานี้ ได้มีผู้ขอแก้ไข ๒ แห่ง คือ คำว่า "เขาต่างประเทศ" แก้เป็น "อารยประเทศ" คำว่า "สุขุม" เพิ่มความเป็นว่า "สุขุมคัมภีรภาพ" ฉะนั้น ถ้าไม่ขัดข้องแล้ว ขอให้รับรองต่อไป ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ในที่สุด ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติรับรองคำกราบบังคมทูลพระกรุณาสนองพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามตามที่ได้พิจารณาแก้ไขมานั้น

พระยาราชวังสันกล่าวว่า คำกราบบังคมทูลพระกรุณาฉะบับนี้ ขอให้ถือเป็นความลับจนกว่าจะได้อ่านในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว

ประธานสภาฯ จึ่งเสนอขอความดำริของที่ประชุมดั่งนัยที่พระยาราชวังสันเสนอ สมาชิกทั้งหมดมีความเห็นชอบด้วย เป็นอันว่า ที่ประชุมลงมติให้ถือว่า คำกราบบังคมทูลพระกรุณาสนองพระราชปรารภพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเป็นความลับจนกว่าจะได้อานแล้วในวันพระราชพิธี

ประธานสภาฯ กล่าวว่า รายงานการประชุมสภา ครั้งที่ ๓๖ ซึ่งได้แจกสมาชิกไปแล้วนั้น เห็นว่า ยังขัดกับที่ข้าพเจ้าได้พิจารณาตรวจมาแล้ว คือว่า ในคราวที่ข้าพเจ้าได้ตรวจ เห็นมีความบางตอนในรายงานไม่สมควรจะให้มี จึ่งได้ทำบันทึกไว้ว่า ควรตัดออก แต่ครั้นมาดูรายงานที่แจกไปแล้วนี้ เห็นยังคงความประสงค์ที่จะให้ตัดออกนั้นอยู่ ฉะนั้น จึ่งไม่อยากขอให้ที่ประชุมรับรองก่อน เพราะตามความเห็นแล้ว เมื่อจะให้ข้าพเจ้ารับรองรายงานว่าถูกต้อง ก็ต้องปฏิบัติการให้เป็นไปความเห็นชอบของข้าพเจ้า มิฉะนั้น ก็รับรองไม่ได้ ประการหนึ่ง ความเหล่านั้นก็เป็นญัตติที่ถอนไปแล้วด้วย

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์กล่าวว่า ตามความเข้าใจ คิดว่า ความที่ประธานสภาฯ ประสงค์จะให้ตัดออกนั้น คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบรรดาศักดิ์ แต่สำหรับความเห็นส่วนตัว ที่มิได้ตัดออกเสียแต่แรกนั้น ก็โดยคิดเห็นว่า เป็นความจริงที่ได้พูดกันในสภา แม้ว่าจะเป็นญัตติที่ถอนไปแล้ว ก็ควรจะบันทึกไว้ เพื่อจะเป็นประโยชน์ในรายงานให้ทราบความอันแท้จริงที่ได้พูดกันในสภาว่า เรื่องนี้ได้มีผู้อภิปรายความเห็นเป็นอย่างใดบ้าง และถึงแม้จะได้เป็นญัตติที่ถูกถอนไปแล้ว ก็น่าจะให้คงมีไว้ ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้ว

ประธานคณะกรรมการราษฎรเสนอว่า เรื่องนี้ เห็นว่า เป็นหน้าที่ของอนุกรรมการที่สภาได้แต่งตั้งขึ้นพิจารณารายงานประชุม เมื่อมีเช่นนี้ขึ้น ควรจะทำความตกลงกัน จะเหมาะกว่า แม้เห็นว่าจะเป็นถ้อยคำที่จะเป็นอันตราย ก็จะตัดออกเสียก็ได้ เสร็จแล้วจึ่งค่อยนำเสนอสภาอีกชั้นหนึ่ง

ประธานสภาฯ ตกลงเห็นชอบด้วย

ประธานคณะกรรมการราษฎรจึ่งขอให้สมาชิกคืนรายงานปรชุม ครั้งที่ ๓๖ คือ ฉะบับที่กล่าวซึ่งได้แจกไปแล้ว ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

เลกประชุมเวลา ๑๗.๓๐ นาฬิกา

หลวงคหกรรมบดี
นายปพาฬ บุญ-หลง
นายสิงห์ กลางวิสัย
 ผู้จดรายงานประชุม
 รายงานฉะบับนี้ กรรมาธิการ
ได้ตรวจและสภาผู้แทนราษฎร
ได้รับรองแล้ว ปรีชานุสาสน์
 พญ.  ๒๔ มกรา ๗๕
นิติศาสตร์ วุฒิศาสตร์
มังกร
จรูญ ณบางช้าง

พิมพ์ที่กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • สภาผู้แทนราษฎร. (2475). รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 46/2475 วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2475. สภาผู้แทนราษฎร: พระที่นั่งอนันตสมาคม.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"