ข้ามไปเนื้อหา

รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 70/2503

จาก วิกิซอร์ซ

รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ครั้งที่ ๗๐
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓
ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๔๐ นาฬิกา

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: วันนี้ มีสมาชิกมาร่วมประชุม ๑๖๗ คน ครบองค์ประชุมแล้ว ข้าพเจ้าจะได้ดำเนินการประชุมต่อไป

ระเบียบวาระที่ ๑ เรื่องที่ประธานสภาแจ้งต่อที่ประชุม สำหรับวันนี้ ไม่มี

ระเบียบวาระที่ ๒ การด่วน ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

(สำเนา)
บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติ
ให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ
พ.ศ. ....

หลักการ

ให้รัฐบาลมีอำนาจปฏิบัติงานเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ

เหตุผล

โดยที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือในด้านพัฒนาการของประเทศสมาชิก จึงจำเป็นต้องออกกฎหมาย เพื่อให้อำนาจรัฐบาลปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ตามความตกลงว่าด้วยสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ เพื่อให้รัฐบาลถือประโยชน์จากการเป็นสมาชิก

ร่าง
พระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ
พ.ศ. ....


  • . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
  • . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
  • . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ พ.ศ. ....”

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราในพระราชบัญญัตินี้

“สมาคม” หมายความว่า สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตราให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกตั๋วสัญญาใช้เงินคลังแทนเงินตราไทยให้แก่สมาคมตามความจำเป็น

ตั๋วสัญญาใช้เงินคลังที่ออกตามความในวรรคก่อน ต้องเป็นตั๋วเปลี่ยนมือไม่ได้ มีข้อกำหนดไม่ให้คิดดอกเบี้ย และเป็นตั๋วชนิดใช้เงินเมื่อทวงถาม

มาตราเมื่อรัฐมนตรีจะออกหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินคลังเป็นจำนวนเท่าใด ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ในโอกาสแรกที่จะพึงทำได้ เพื่อสำหรับจ่ายเมื่อได้รับทวงถามให้ใช้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินคลัง

งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ในวรรคก่อน เมื่อได้รับอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายแล้ว ให้ตัดโอนขึ้นบัญชีเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังไว้ทางกระทรวงการคลังต่อไป

ในกรณีที่ยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่าย หรืองบประมาณรายจ่ายที่ได้รับอนุมัติแล้วไม่พอ หากจำเป็นจะต้องจ่ายเงินเมื่อได้รับทางถาม ให้รัฐมนตรีมีอำนาจจ่ายเงินคงคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังได้

มาตราบทบัญญัติมาตวา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ต่อไปนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสมาคมแล้วเป็นต้นไป

มาตราให้รัฐมนตรีมีอำนาจทำการแทนรัฐบาล เพื่อถือเอาประโยชน์จากสมาชิกภาพในสมาคมด้วยการกู้เงินและด้วยการค้ำประกันเงินกู้จากสมาคมได้

การกู้เงินของรัฐบาลดังกล่าวจะเป็นผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

มาตราให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถานที่รับฝากเงินตราไทยและสินทรัพย์อื่น ๆ ของสมาคม

มาตราให้รัฐมนตรีมีอำนาจจัดให้มีหน่วยงานเพื่อการติดต่อระหว่างประเทศไทยกับสมาคมโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๑๐ก่อนที่สมาคมจะมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการขององค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติในประเทศไทย

(๑)เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานและการให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์ในประเทศไทย ให้ยอมรับนับถือสมาคมเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่า มีภูมิลำเนาในประเทศไทย

(๒)ให้สถานที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และบรรณสารของสมาคมได้รับความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การริบ การเวนคืน และการแทรกแซงในรูปอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางบริหาร ทางการปกครอง ทางการศาล หรือทางนิติบัญญัติ เช่นเดียวกันกับสถานที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และบรรณสารขององค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติในประเทศไทย

(๓)ให้บุคคลดังต่อไปนี้ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันอย่างเดียวกันกับที่ให้บุคคลในคณะทูตในฐานะเทียบเท่า คือ

(ก)ผู้ว่าการ กรรมการบริหาร และกรรมการสำรองของสมาคม

(ข)ผู้เชี่ยวชาญและพนักงานของสมาคมนอกจากที่กล่าวใน (ก) ตามที่รัฐบาลไทยกับสมาคมจะได้ทำการตกลงกัน

(๔)ให้พนักงานและลูกจ้างของสมาคมนอกจากที่กล่าวใน (๓) ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันในประเทศไทยเช่นเดียวกับที่ให้แก่พนักงานขององค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติในฐานะเทียบเท่า

มาตรา๑๑ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง): รัฐบาลขอเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ พ.ศ. .... โดยมีหลักการดังนี้ หลักการ ให้รัฐบาลมีอำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ เหตุผล โดยที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือในด้านพัฒนาการของประเทศสมาชิก จึงจำเป็นต้องออกกฎหมาย เพื่อให้อำนาจรัฐบาลปฏิบัติการเกี่ยวกับสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ตามความตกลงว่าด้วยสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ เพื่อให้รัฐบาลถือประโยชน์จากการเป็นสมาชิก

กระผมขอถือโอกาสเรียนชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อให้ท่านสมาชิกได้ทราบประกอบการพิจารณาบ้างเล็กน้อย ก่อนอื่น ท่านสมาชิกบางท่านอาจจะรู้สึกสงสัยเล็กน้อยในชื่อคำว่า สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ นี้ ทางกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรง ได้พยายามแปลให้ตรงกับคำในภาษาอังกฤษซึ่งเรียกว่า International Development Association ความเป็นจริง เมื่อสรุปโดยสั้นที่สุดแล้ว ชื่อก็ไม่มีความสำคัญอะไร เพราะความจริง ก็คือ เป็นกองทุนอีกกองหนึ่งในเครือของธนาคารโลกนั่นเอง แต่ว่าในเครือของธนาคารโลกเดี๋ยวนี้ เรามีสถาบันการเงินอยู่ ๒–๓ แห่ง ๒–๓ ประการแล้ว บางอย่างเราก็เรียกว่า กองทุน คือ International Monetary Fund ซึ่งเราก็เป็นสมาชิกอยู่แล้ว แล้วอีกอันหนึ่งก็เรียกว่า International Finance Corporation คำย่อเรียกว่า I.F.C. ซึ่งเราก็เป็นสมาชิกอยู่แล้ว สมาคมนี้เกิดขึ้นก็ด้วยความเร่งเร้าของสมาชิกของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของสถาบันการเงินดังกล่าวนี่เอง เพราะปรากฏว่า หลังจากที่เราได้ขอกู้เงินและได้รับประโยชน์จากสถาบันการเงินดังกล่าวที่มีกำเนิดอยู่แล้ว นี่ก็ปรากฏว่า เงื่อนไขของสถาบันการเงินที่กล่าวแล้วมีเงื่อนไขซึ่งค่อนข้างจะลำบากสำหรับประเทศสมาชิกบางประเทศ รวมทั้งไทยด้วย เพราะว่า เงื่อนไขสำสัญประการหนึ่งของสถาบันการเงินที่ดำรงชีพอยู่แล้วเขากำหนดว่า จะกู้ได้เฉพาะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และเมื่อกู้เป็นเงินตราต่างประเทศแล้ว จะต้องใช้คืนในรูปเงินตราต่างประเทศเท่านั้น อันนี้เป็นเงื่อนไขซึ่งประเทศเรา ๆ อย่างไทย อินเดีย พม่า มลายู ถือว่า เป็นการหนักมาก เพราะว่า เงินตราต่างประเทศของประเทศดังกล่าวเหล่านี้หายากอยู่แล้ว สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศเกิดขึ้นก็เพื่อสนองความต้องการของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้นี่เอง กล่าวคือ เงื่อนไขในการจะให้กู้และในการที่จะให้ส่งสมทบทุนเข้าเป็นสมาชิกก็เพลากว่าเงื่อนไขของสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วเป็นอันมาก กล่าวคือ เงินที่เราจะส่งสมทบเป็นคล้าย ๆ กับผู้ถือหุ้นคนหนึ่งนั้น เราจะส่งเป็นเงินบาทของเราเองถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของเงินทุนทั้งหมดที่เราจะต้องส่ง นั่นประการหนึ่ง ทีนี้ ในแง่ของสมาคมเอง เมื่อได้ก่อตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว การที่จะให้ไปกู้ไป ก็มีมาตราหนึ่งในเงื่อนไขของเขาว่า เขาจะให้กู้โดยจะพยายามให้มีเงื่อนไขเพลากว่าเงื่อนไขที่ใช้ไปแล้วในเรื่องของธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรืออินเตอเนชั่นนั่ล ไฟน้านซ์ คอร์โพเรชั่น (International Finance Corporation) ให้มาก แล้วก็สมาชิกที่ได้กู้ไปแล้วนั้น จะจ่ายเงินต้นคืนใช้หนี้หรือดอกเบี้ยในรูปเงินบาท หรือเงินของประเทศนั้น ๆ เอง เขาก็ยินดีรับ เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่า ในแง่ของประโยชน์แล้ว เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเราควรจะได้เข้าเป็นสมาชิกเสียในโอกาสแรกที่พึงกระทำได้ ทีนี้ สำหรับจำนวนเงินทุนที่เราจะต้องส่งสมทบทุนในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งหรือเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง พูดง่าย ๆ ก็อยู่ในเรโชเดียวกับที่เราถืออยู่ในธนาคารโลก เขาถือเรโชนั้นเป็นมาตรฐาน เรโชก็คือว่า เราจะส่งเป็นเงินเหรียญรวมแล้วก็ประมาณ ๓ ล้านเหรียญเศษเท่านั้น ไม่ถึง ๓ เปอร์เซ็นต์ .๐๐๓ ด้วยซ้ำ แล้วก็ประมาณ ๓ ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ ๖๐ ล้านบาทนี้ เราจะถูกขอร้องให้ส่งเป็นเงินเหรียญดอลล่าหรือเป็นเงินสกุลแข็งอื่นเพียงประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้น เราก็ส่งเป็นเงินบาท หรือเราจะเอาพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ของเราที่มีเป็นรูปทองคำ เป็นรูปเงินเหรียญดอลล่า หรือเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งเราเก็บไว้ในต่างประเทศ เข้าส่งเป็นเงินทุนของเราก็ได้ เพราะฉะนั้น เงื่อนไขก็รู้สึกว่า เพลากว่าตามปกติมาก ประโยชน์ที่จะได้รับจากสถาบันการเงินใหญ่ ๆ นี้ จะมีทุนเริ่มแรก ๑ พันล้านเหรียญดอลล่า ใน ๑ พันล้านเหรียญดอลล่า เราก็จะส่งเพียง ๓ ล้านเศษ แต่ว่า ประเทศใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นประเทศซึ่งจะไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกจากจะเสียประโยชน์ เพราะเป็นการช่วยเหลือ จริงอยู่ ประโยชน์เขาอาจจะได้ในอนาคตอันไกล อย่างเช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศษ เยอรมันนีตะวันตก อย่างนี้เป็นต้น เขาก็จะออกมากกว่าเรามาก อย่างเช่นว่า อเมริกานี้เป็นประเทศที่ต้องออกมากที่สุดใน ๑ พันล้านเหรียญที่จะเป็นเงินทุนทั้งหมดของสมาคมหรือสถาบันการเงินใหม่นี้ อเมริกาจะออกถึง ๓๐๐ กว่าล้านเหรียญ อังกฤษประมาณ ๒๐๐ ล้านเหรียญ เยอรมันนีตะวันตกก็เท่า ๆ กัน เพราะฉะนั้น เมื่อได้คำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ และเมื่อคำนึงถึงว่า บ้านเมืองเรากำลังจะเร่งรีบพัฒนาการเศรษฐกิจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ตามที่ผมได้เคยกราบเรียนแล้ว ทั้งนี้ เพื่อนอกจากจะให้พยุงหรือรักษาระดับมาตรฐานการครองชีพของเรา หรือจะเพิ่มให้มาตรฐานการครองชีพของเราสูงขึ้น เนื่องจากประชากรของเราก็เกิดขึ้นเร็วเกินคาด ซึ่งท่านสมาชิกทั้งหลายเองก็ได้ทราบดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดมาก ผมเองก็ได้เคยคิดไว้ว่า อย่างมากที่สุด ประชากรไทยของเราในขณะนี้คงจะไม่เกิน ๒๓ ล้านคน แต่หลังจากพัฒนาการเศรษฐกิจของเรา หรือที่เรียกว่า สำนักงานสถิติของเรา ได้ทำการสำรวจประชากรครั้งสุดท้าย ก็ปรากฏตัวเลขซึ่งน่าวิตกอยู่พอใช้ คือ เป็นถึง ๒๕ ล้าน ๕ แสนคน สูงกว่าที่เราคาดไว้ไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้น เงินทุนที่เราจะต้องการเอาลงทุนนี้ ไม่มีปัญหา เราจะต้องหาทุก ๆ ทาง ผมคิดว่า ทางนี้แหละเป็นทางที่ดีที่สุดทางหนึ่ง เพราะว่า เงื่อนไขก็เบาบาง และเราก็เป็นผู้ที่จะส่งเพียงเล็กน้อย ส่วนประเทศใหญ่ ๆ เท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่จะต้องออกทุนมาก แล้วเงินทุนนี้เราก็จะได้กู้มาเพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจต่อไป อย่างเดียวกับที่เราได้กระทำมาแล้วในกรณีของธนาคารโลก อย่างเช่นว่า ธนาคารโลกมีทุนอยู่ประมาณ ๖๐ ล้าน หรือประมาณ ๓ ล้านเหรียญ คือ เขื่อนภูมิพล ๖๙ ล้านเหรียญเศษ เขื่อนชัยนาท ๑๘ ล้านเหรียญเศษ ท่าเรือ ผมจำไม่ได้ รวมแล้วเรากู้มาแล้วจากธนาคารโลก ๑๐๐ ล้านเหรียญเศษ รูปของเรื่องก็จะเป็นทำนองนั้น เมื่อสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศที่ได้ขึ้นตั้งแล้ว เราก็คงจะได้มีโอกาสได้กู้มาเพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจของเราหลายสิบเท่าของเงินทุนที่เราจะพึงออก เพราะฉะนั้น ผมก็เชื่อว่า ท่านสมาชิกทั้งหลายคงจะได้ให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ด้วยดี

นายบุญชนะ อัตถากร: กระผมรู้สึกว่า การที่จะเห็นชอบด้วยกับการที่รัฐบาลจะเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศนั้น ทุกท่านก็คงจะเห็นพ้องด้วยกับเหตุผลที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ชี้แจงให้ทราบ แต่กระผมมีข้อข้องใจบางอย่างเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะขอกราบเรียนเพื่อทราบประกอบการพิจารณาด้วย ประการที่ ๑ กระผมรู้สึกว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่มีความจำเป็นนัก และก็ได้ปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เห็นว่า ไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมาย เพราะว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย กฎหมายเกี่ยวกับเงินคงคลัง งบประมาณ และเงินตรา ก็ดูเหมือนจะให้อำนาจที่รัฐบาลจะทำได้อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าเมื่อรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มาแล้ว สภาก็คงจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยดี เมื่อได้ตรวจดูร่างพระราชบัญญัติทุกมาตรา ประกอบกับข้อตกลงในสัญญาว่าด้วยสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศแล้ว กระผมก็รู้สึกว่า มีหลายเรื่องซึ่งน่าคิดว่า ไม่ตรงกับสัญญาก็มี สัญญาที่ทำกันระหว่างประเทศนั้น กระผมรู้สึกว่า ถ้าตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ถือว่า เป็นกฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายพื้นเมือง เมื่อสูงกว่ากฎหมายพื้นเมือง ก็ไม่จำเป็นจะมาบัญญัติไว้ในกฎหมายที่เสนอต่อสภานี้ ถ้าเพียงแต่นำสัญญานั้นมาให้สภารับทราบ ก็น่าจะปฏิบัติไปได้เลยทีเดียว กระผมจะขอชักตัวอย่างเช่นในมาตรา ๘ บอกว่า ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถานที่รับฝากเงินตราไทยและสินทรัพย์อื่น ๆ ของสมาคม อันนี้ในสัญญาที่ทำไว้หรือที่ร่างไว้ว่า ที่จะก่อตั้งสมาคมขึ้นนั้น ในอาติเกิล ๖ เซคชั่น ๙ ก็ได้กำหนดไว้แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมาบัญญัติไว้ในนี้อีก เพราะว่า ถ้าจะมาบัญญัติไว้ในที่นี้ ข้อความอื่น ๆ ในสัญญานั้นก็ควรจะกำหนดไว้ด้วย เช่น ว่าด้วยการส่งเงินบำรุงหรือเงินตราที่จะนำส่งบำรุง หรือการติดต่อระหว่างสมาชิกของสมาคมต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ควรจะนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย ทีนี้ ตรวจดูต่อไปในมาตรา ๑๐ อนุมาตรา ๑ “ให้ยอมรับนับถือว่า สมาคมนี้เป็นนิติบุคคล” อนุมาตรา ๒ “ให้สถานที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ บรรณสารของสมาคมได้รับความคุ้มกันจากการค้น การเรียกเกณฑ์ การริบ การเวนคืน การแทรกแซงในรูปอื่นใด ไม่ว่าในทางบริหาร ในทางการปกครอง หรือทางการศาล” แต่ถ้าตรวจดูในสัญญาหรือข้อตกลงซึ่งเราจะเข้าเป็นสมาชิกนั้น เขาห้ามเฉพาะการยึด ริบ หรือการเวนคืน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เฉพาะในทางบริหาร กับในทางปกครอง และทางนิติบัญญัติ ส่วนในทางการศาลนั้นเขาไม่ห้าม อันนี้ก็จะดูได้จากอาติเกิล ๘ ข้อ ๓ ทีนี้ ในกฎหมายของเราที่ร่างมานี้ รู้สึกเกินกว่าข้อตกลงที่มีไว้ในสัญญาหรือข้อตกลงฉบับที่เราจะเป็นสมาชิกนั้น นี่ก็เป็นตัวอย่าง นอกจากนั้น ในมาตรา ๗ ยังระบุไว้ด้วยว่า ให้รัฐมนตรีมีอำนาจทำการแทนรัฐบาลเพื่อถือเอาประโยชน์จากสมาชิกภาพในการกู้เงินและด้วยการค้ำประกัน กระผมรู้สึกว่า ค้ำประกันเงินกู้ของบุคคลอื่นโดยรัฐบาลนั้น จะถือว่า รัฐบาลได้ประโยชน์ เห็นจะยาก รู้สึกจะไม่ตรงกับความมุ่งหมายของคำว่า ประโยชน์ เพราะว่า ความจริงเป็นการเสี่ยงภัยของรัฐบาลที่ไปค้ำประกันบุคคลอื่น ข้อสงสัยของกระผมก็มีอยู่ด้วยประการเช่นนี้ และถ้าเมื่อสภารับหลักการแห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว กระผมก็ใคร่ขอให้กรรมาธิการได้โปรดพิจารณาในเรื่องมาตรา ๑๐ อนุ ๒ ด้วยเป็นพิเศษ

นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง): กระผมขออภิปรายแก้ข้อข้องใจของท่านสมาชิกสักเล็กน้อย ประเด็นแรก ที่ว่า กฎหมายนี้จะจำเป็นหรือไม่นั้น กระผมคิดว่า บางทีท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แล้วก็เป็นประธานในคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ช่วยร่างหรือช่วยตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คงจะได้พิจารณาโดยตระหนักถี่ถ้วนแล้วว่า เราเห็นควรจะต้องออกกฎหมายฉบับนี้ แล้วก็นอกจากนั้น เราก็ได้ออกกฎหมายทำนองนี้มาแล้ว ถ้าท่านสมาชิกได้หวนกลับระลึกไปถึงประวัติศาสตร์ของเราสักเล็กน้อย เมื่อเราจะเข้าเป็นสมาชิกของธนาคารโลกก็ดี เมื่อเราจะเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ดี เราได้ออกกฎหมายทำนองนี้มาแล้ว และก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทางกระทรวงการคลังได้ไปคิดดูแล้วเหมือนกันว่า จำเป็นไหมที่ต้องออกกฎหมายฉบับนี้ ทีนี้ ร่างพระราชบัญญัติเดิมที่เรามีอยู่แล้ว เราไม่ได้กำหนดคลุมไปหมดว่า ถ้าสถาบันการเงินใหม่เกิดขึ้นมา ต้องใช้พระราชบัญญัตินั้นได้ พระราชบัญญัตินั้นเป็นแต่เพียงว่า ให้อำนาจรัฐบาลทำเพียงเกี่ยวกับธนาคารโลก เกี่ยวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ บัดนี้ มีสถาบันใหม่ขึ้นมา และกฎหมายเราก็เคยออกมา ๒–๓ หนแล้ว เอ๊ะ กระผมก็มาคิดดูว่า ถ้าจะต้องออกกระมัง เรื่องนี้กระผมคิดว่า ทางท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ ซึ่งท่านเป็นนักกฎหมายอย่างดี คงจะได้เข้าใจในเรื่องนี้ว่า อำนาจนี้เราควรจะมีหรือไม่ ไม่มีปัญหา ทีนี้ นอกจากนั้น บางมาตราไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ อย่างนี้เป็นต้น ความเป็นจริงก็อย่างที่กระผมเขียนสรุปเลย ได้คือว่า ข้อความต่าง ๆ ตามมาตราที่ว่านี้ รวมทั้งหลัง ๆ ด้วย เอกสิทธิด้วย หรือมาตรา ๗ ด้วย เป็นทำนองเดียวกับที่เราได้ตราไว้ในกฎหมาย ซึ่งเราออกเพื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศและเพื่อธนาคารโลกนั่นเอง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าไรเลย เพราะฉะนั้น เอาเถอะ ในฐานะที่ท่านสมาชิกสนใจในเรื่องนี้ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เราก็อาจจะไปพิจารณากันใหม่อีกครั้งหนึ่งในคณะกรรมาธิการ

นายประสงค์ บุญเจิม: กระผมก็เห็นเช่นเดียวกับท่านสมาชิกผู้มีเกียรติคนแรกที่ว่า กฎหมายฉบับนี้คงจะได้รับการสนับสนุนจากสภานี้โดยพร้อมเพรียงกัน เพราะว่า พูดถึงคุณประโยชน์แล้ว ก็คงจะเห็นได้ชัด กระผมใคร่จะขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ได้ชี้แจงความเป็นมาของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศให้สภานี้ได้ทราบ เพราะกระผมเชื่อแน่ว่า คงมีสมาชิกอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่า เป็นมาอย่างไร ข้อความที่ท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงมาแล้วก็ได้ทำความกระจ่างให้แก่สภานี้เป็นอันมาก ยังเหลืออีกนิดหน่อย ซึ่งกระผมคิดว่า ถ้าหากว่า ได้รับคำชี้แจง ก็คงจะเป็นประโยชน์มาก ข้อสงสัยของกระผมอยู่ที่มาตรา ๑๐ ที่ว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของสมาคมนี้ โดยปกติ ถ้าหากว่า เราออกกฎหมายให้เอกสิทธิและความคุ้มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รับเป็นนิติบุคคล จะถือว่า มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ละก็ หมายความว่า องค์การหรือนิติบุคคลนั้น ๆ ตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่กระผมได้อ่านร่างกฎหมายนี้แล้ว ก็ไม่มีข้อความว่า สมาคมนี้จะตั้งสำนักงานอยู่ในประเทศไทยหรือไม่อย่างไร แต่ได้มีบัญญัติว่าด้วยให้เอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านี้ ก็ทำให้สงสัยว่า จะมี เมื่อโดยตามปกติแล้ว สมาคมระหว่างประเทศเช่นนี้ก็อาจจะมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อื่น หรือจะมีสาขาอยู่ที่ในประเทศไทย อย่างเช่นองค์การต่าง ๆ ของสหประชาชาติในกรุงเทพฯ เป็นต้น ถ้าหากว่า มีเช่นนั้น ก็จำเป็นจะต้องบัญญัติกฎหมายว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันไว้ แต่เท่าที่กระผมอ่าน ก็รู้สึกว่า ไม่มี อาจจะไปตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่อื่นหรืออย่างไร กระผมไม่ทราบแน่ ขอประทานให้ท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจง

นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง): กระผมขอชี้แจงข้อขัดข้องใจของท่านสมาชิกคนหลังสักเล็กน้อย มาตรา ๑๐ นี้ ที่กระผมได้เคยกราบเรียนแล้ว ก็เป็นเงื่อนไขอย่างเดียวกับที่เราได้ให้แก่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแล้ว อันนี้ ในการที่เขาจะบริหารงานของเขาต่อไป ก็อาจจะมีเหตุจำเป็นหรือสมควรที่จะมาตั้งสำนักงานสาขาของสมาคมนี้ในประเทศไทยต่อไปก็ได้ หรืออย่างน้อยที่สุด อย่างในกรณีที่ธนาคารโลกได้กระทำมาแล้ว เขาอาจจะส่งผู้แทนของเขาคนหนึ่งมาประจำอยู่ในประเทศไทย เพราะเห็นว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งกลางดี อย่างเช่น เวลานี้ เรามีผู้แทนของธนาคารโลกคนหนึ่งชื่อ ดอกเตอร์อาร์เธอร์ คาร์ลาส มาประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ นี่เป็นต้น ในกรณีเช่นนั้น ผู้แทนของธนาคารโลกหรือผู้แทนของสมาคมที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่ก็ดี เขาก็ต้องขอร้องให้ได้เอกสิทธิและความคุ้มกันอย่างเดียวกับที่เราได้เคยให้แก่ผู้แทนของธนาคารโลกและผู้แทนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น กระผมก็คิดว่า เมื่ออยู่ในเครือเดียวกันแล้ว เราก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไม่ควรช่วยเหลือเขา

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าขอมติที่ประชุมว่า สมควรจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ ท่านผู้ใดเห็นว่า สมควรรับหลักการ โปรดยกมือขึ้น

(มีสมาชิกยกมือเป็นส่วนมาก)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: ท่านผู้ใดไม่เห็นด้วย โปรดยกมือขึ้น

(ไม่มีสมาชิกยกมือ)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: ไม่มี ถือว่า ที่ประชุมนี้ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเอกฉันท์

รัฐบาลจะเสนอคณะกรรมาธิการอะไร

นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง): กระผมขอเสนอให้คณะกรรมการธิการสามัญชุดเศรษฐกิจเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: รัฐบาลขอให้คณะกรรมาธิการสามัญชุดเศรษฐกิจพิจารณา มีท่านผู้ใดขัดข้องไหม

(ไม่มีสมาชิกขัดข้อง)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: ไม่มี ถือว่า ส่งให้คณะกรรมาธิการสามัญชุดเศรษฐกิจพิจารณา กำหนดการแปรญัตติภายในกี่วัน

นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง): ขอแปรญัตติภายใน ๓ วัน

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: รัฐบาลขอแปรญัตติภายใน ๓ วัน มีท่านผู้ใดเห็นเป็นอย่างอื่น

(ไม่มีสมาชิกมีความเห็นเป็นอย่างอื่น)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: ไม่มี เป็นอันว่า ให้แปรญัตติภายใน ๓ วัน

ระเบียบวาระที่ ๓ รับรองรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๖๘ มีท่านผู้ใดที่จะขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขประการใดบ้าง

(ไม่มีสมาชิกขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขประการใด)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: เมื่อไม่มีท่านผู้ใดขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขประการใด ถือว่า ที่ประชุมนี้รับรองรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๖๘

ระเบียบวาระที่ ๔ ร่างพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ)

(สำเนา)
บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติ
ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ....

หลักการ

ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการป้องกันสัญจรโรค และให้มีกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณีขึ้นแทน

เหตุผล

โดยที่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันสัญจรโรคเป็นกฎหมายที่ได้ประกาศใช้มาแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ มีบทบัญญัติไม่รัดกุม และไม่มีบทบัญญัติที่จะควบคุมมิให้มีการค้าประเวณีที่เป็นไปในลักษณะเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือกระทำให้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน กับทั้งไม่มีบทบัญญัติปรามการค้าประเวณีที่กระทำโดยบุคคลที่เป็นชาย ซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจ จึงเป็นการสมควรที่จะยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการป้องกันสัญจรโรคนั้นเสีย และมีกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณีขึ้นใหม่ เพื่อควบคุมมิให้มีการกระทำอันไม่สมควรดังที่ได้กล่าวมานั้น

(สำเนา)
ร่างพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี
พ.ศ. ....


  • . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
  • . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
  • . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณี

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓”

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

มาตราในพระราชบัญญัตินี้

“การค้าประเวณี” หมายความว่า การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใด เพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น เป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ

“สถานการค้าประเวณี” หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ที่จัดไว้เพื่อให้บุคคลอื่นทำการค้าประเวณี โดยจัดให้มีผู้ทำการค้าประเวณีไว้เพื่อการนั้นด้วย

“สถานสงเคราะห์” หมายความว่า สถานสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้

“ผู้รับการสงเคราะห์” หมายความว่า บุคคลซึ่งอธิบดีมีคำสั่งให้ส่งตัวไปรับการรักษาและหรืออบรมฝึกอาชีพในสถานสงเคราะห์

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตราผู้ใด เพื่อการค้าประเวณี กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(๑)เข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในลักษณะที่เป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน

(๒)เตร็จเตร่ไปตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือคอยอยู่ในถนนหรือในสาธารณสถาน ในลักษณะหรืออาการที่เห็นได้ว่า เป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณี

(๓)เข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตราผู้ใดกระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตราผู้ใดเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตราเจ้าของกิจการ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการโรงแรม หอพัก สถานลีลาศ ไนท์คลับ คาบาเรท์ สถานนวดอบตัวหรืออาบน้ำผู้ใดยินยอมให้มีการกระทำอันเป็นการค้าประเวณีในสถานที่นั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตราผู้ใดกระทำการอันเป็นการค้าประเวณี โดยยอมรับการกระทำจากบุคคลเพศเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา๑๐เมื่อศาลได้พิพากษาให้ลงโทษผู้ใดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๙ แล้ว และผู้นั้นได้รับโทษตามคำพิพากษาแล้ว ถ้าปรากฏว่า ผู้นั้นเป็นโรคอันควรได้รับการรักษา หรือควรได้รับการอบรมฝึกอาชีพ หรือทั้งสองอย่าง อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปรับการรักษาและหรืออบรมฝึกอาชีพในสถานสงเคราะห์ มีเวลาตามที่อธิบดีกำหนด แต่มิให้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นพ้นโทษ

มาตรา๑๑ให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์สำหรับรักษาและอบรบฝึกอาชีพผู้รับการสงเคราะห์

มาตรา๑๒ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อบังคับกำหนดการทำงานของผู้รับการสงเคราะห์ และกำหนดระเบียบวินัยซึ่งผู้รับการสงเคราะห์ต้องปฏิบัติ

ผู้รับการสงเคราะห์ผู้ใดละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่รัฐมนตรีกำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจลงทัณฑ์แก่ผู้รับการสงเคราะห์ คือ

(๑)กักบริเวณไม่เกินครั้งละสิบห้าวัน หรือ

(๒)ตัดหรือลดประโยชน์หรือความสะดวกที่สถานสงเคราะห์อำนวยให้

มาตรา๑๓เมื่ออธิบดีพิจารณาเห็นว่า ถ้าจะจัดให้ผู้รับการสงเคราะห์ไปทำงานหรือประกอบอาชีพอยู่ ณ ที่อื่นใดซึ่งอยู่นอกสถานสงเคราะห์ จะเป็นการเหมาะสมและเป็นผลดีแก่ผู้รับการสงเคราะห์ และเจ้าของสถานที่ยินยอมรับตัวไว้ ก็ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ส่งตัวไปทำงานหรือประกอบอาชีพ ณ สถานที่นั้นได้

มาตรา๑๔ผู้รับการสงเคราะห์ผู้ใดหลบหนีไปจากสถานสงเคราะห์หรือสถานที่ซึ่งอธิบดีกำหนดให้ไปทำงานหรือประกอบอาชีพตามมาตรา ๑๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา๑๕อธิบดีมีอำนาจสั่งปล่อยตัวผู้รับการสงเคราะห์จากสถานสงเคราะห์หรือสถานที่ซึ่งอธิบดีกำหนดให้ไปทำงานหรือประกอบอาชีพก่อนเวลากำหนดตามมาตรา ๑๐ ได้ เมื่อปรากฏว่า ผู้รับการสงเคราะห์คนใดมีความประพฤติดี เป็นที่เชื่อได้ว่า จะกลับตัวไม่ทำการค้าประเวณี และมีผู้รับอุปการะหรือผู้มีหลักฐานควรเชื่อถือได้รับรองจะให้อาชีพที่มีรายได้พอสมควรแก่การเลี้ยงชีพ

มาตรา๑๖อำนาจและหน้าที่ซึ่งอธิบดีมีอยู่ตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีอาจมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใดเป็นผู้ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดนั้นได้

การมอบหมาย ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๑๗ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

พลเอก ประภาส จารุเสถียร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย): รัฐบาลขอเสนอร่างพระราชบัญญัติปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. .... โดยหลักการที่จะยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการป้องกันสัญจรโรค และให้มีกฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณีขึ้นแทน ในเหตุผลโดยที่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันสัญจรโรคเป็นกฎหมายที่ได้ประกาศใช้มาแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ มีบทบัญญัติไม่รัดกุม และไม่มีบทบัญญัติที่จะควบคุมมิให้มีการค้าประเวณีที่เป็นไปในลักษณะเป็นการเปิดเผย และน่าอับอาย ไม่สมควร หรือกระทำให้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน กับทั้งไม่มีบทบัญญัติปรามการค้าประเวณีที่กระทำโดยบุคคลที่เป็นชาย ซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจ จึงเป็นการสมควรที่จะได้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการป้องกันสัญจรโรคนั้นเสีย และให้มีกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณีขึ้นใหม่ เพื่อควบคุมมิให้มีการกระทำอันไม่สมควรดังที่ได้กล่าวมานั้นให้หมดสิ้นไป

หลวงประกอบนิติสาร: เดิมทีข้าพเจ้าก็ไม่นึกอยากจะพูดหรอก ข้าพเจ้ามองอยู่ก็ไม่เห็นมีใครพูด ข้าพเจ้าก็มีเรื่องจะขอพูดสักเล็กน้อย ในการพูดนี้ ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้พิเศษเกี่ยวกับการค้าประเวณีหรอก แต่ก็ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียทีเดียว ข้าพเจ้ามองร่างพระราชบัญญัตินี้ทั้งในทรรศนะนักนิติศาสตร์และในทรรศนะคนธรรมดาสามัญ ก็รู้สึกว่า เป็นการจำเป็นที่จะต้องขอวิจารณ์ร่างพระราชบัญญัตินี้ ทั้งในด้านติและด้านชม ถ้าหากจะมีอะไรที่ติ ก็ขอได้โปรดเล็งเห็นว่า เป็นการติเพื่อก่อเท่านั้น เพราะว่า โดยหลักการแห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า เป็นชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลคณะนี้ที่พยายามเข็นหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินี้มาสู่สภาได้ และข้าพเจ้าไม่มีความสงสัยเลยว่า สภานี้จะไม่รับหลักการ เหตุที่ข้าพเจ้าว่า เป็นชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลคณะนี้ชิ้นหนึ่งนั้น เพราะว่า พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการค้าประเวณี จะชื่ออะไรก็ตาม ที่ใช้อยู่แต่ก่อนและจนถึงปัจจุบันนั้นมันล้าสมัยจริง ๆ และการปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้อยู่นั้น บางทีทำให้ประชาชนคนไทยรู้สึกขายหน้าคนต่างชาติที่ได้มาพบมาเห็น แม้แต่คนไทยเราเองไปเห็น บางทีก็สะอิดสะเอียนเป็นกำลัง เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลตั้งรูปพระราชบัญญัตินี้มาในรูปใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงความเข้าใจของข้าพเจ้าต่อไปว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญอย่างไร และจะเป็นประโยชน์เพียงใด แต่ถ้าความเข้าใจนั้นผิดพลาด ก็ขอความกรุณาท่านรัฐมนตรีได้ชี้แจงมาด้วยเพื่อความเข้าใจอันถกต้องของข้าพเจ้า และยิ่งกว่านั้น เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องของประชาชนเกี่ยวด้วยพระราชบัญญัติที่มาใหม่นี้ ในประการแรก ข้าพเจ้าสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้คำว่า “ปราม” ซึ่งทีแรกข้าพเจ้าฟังดูก็รู้สึกว่า เอ นี่มันภาษาไทยหรืออะไร เพราะคำว่า “ปราม” นี้เรามักใช้ควบคู่กับคำว่า “ปราบปราม” หรือ “ห้ามปราบ” แต่เมื่อได้ไตร่ตรองดูก็เห็นว่า ท่านใช้คำว่า “ปราม” นี้ เห็นว่า จะถูกต้องดี เพราะไม่ใช่การปราบแน่ ถ้าปราบ มันต้องว่ากันให้เรียบไปหมด ไม่ให้มีเหลือ ปรามนี้คงเป็นแต่เพียงกดเอาไว้ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ก็ไม่ใช่ห้ามปราม คือ ไม่ได้ห้ามทีเดียว เราจะสังเกตเห็นได้ว่า จากบทบัญญัติต่าง ๆ ในพระราชบัญญัตินี้ เป็นการมุ่งประสงค์ที่จะยับยั้งหรือกดเอาไว้ซึ่งการกระทำอันเป็นการจุ้นจ้านเปิดเผยในที่ไม่สมควร หาได้ห้ามการค้าประเวณีโดยเด็ดขาดไม่ เกี่ยวด้วยการค้าประเวณีนี้ ถ้าว่ากันอย่างยอมรับข้อเท็จจริง ยอมสู้ข้อเท็จจริงกันแล้ว ทั้งโลกย่อมยอมรับกันว่า โลกนี้มีอยู่ตราบใด การค้าประเวณีเป็นเงาตามตัวซึ่งไม่มีผู้วิเศษคนไหนจะมาห้ามเสียได้ ยกเลิกเสียได้ ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์ ค้นไปตั้งแต่คัมภีร์ไบเบิล หรือว่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์ครั้งอียิปต์ ครั้งกริ๊ก ครั้งโรมัน หรือเปอร์เซียอะไร เมืองจีนที่ไหนก็ตามที่มีนับเป็นพัน ๆ ปี คำว่า “หญิงคนชั่ว” ซึ่งเรียกกันในภาษาต่าง ๆ อะไรก็แล้วแต่ มีปรากฏในประวัติศาสตร์เสมอมา และก็เชื่อกันว่า จะมีเสมอไป ตราบใดที่คนยังเป็นคนอยู่ เพราะฉะนั้น การที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่พยายามอวดดีที่จะไปเลิกการค้าประเวณีเสียเลยนี้ เป็นสิ่งถูกต้อง ถ้าว่าไปออกพระราชบัญญัติห้ามไม่ให้ค้าประเวณีเลย ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติแล้วนั่นซิ ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่ควรรับหลักการ แต่เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้อวดดีถึงกับจะทำให้การค้าประเวณีหมดไปในประเทศไทยนี้ ก็ย่อมเป็นการถูกต้อง ข้าพเจ้าต้องขอประทานโทษใช้คำว่า คือ ยอมสู้ความจริง ทีนี้ สิ่งดีในพระราชบัญญัตินี้ขั้นถัดไปในด้านจะว่าสิทธิมนุษยชนหรือด้านนิติศาสตร์อะไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นการก้าวหน้า คือ ทำให้ชายกับหญิงมีความเสมอภาคกันยิ่งขึ้น เกี่ยวด้วยการค้าประเวณีหรือจำกัดการค้าประเวณี เพราะตามกฎหมายก่อน ๆ นี้ เรารู้กันแต่ว่า หญิงคนชั่ว หญิงโสเภณี ชายคนชั่ว ชายโสเภณี เราไม่เคยได้ยิน และไม่มีกฎหมายห้าม มาถึงกฎหมายนี้ พอขึ้นต้นด้วยมาตรา ๔ บทวิเคราะห์ศัพท์ คำว่า การค้าประเวณี ก็ใช้คำว่า การกระทำต่าง ๆ ข้าพเจ้าไม่อยากจะไปอ่าน มันสะดุ้ง ๆ อะไรนี้ก็บอกว่า การกระทำอะไรก็ตามเถอะ เพื่อสำเร็จความใคร่ทางกามารมณ์ของบุคคลอื่น เป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้าง นี่ไม่ได้บอกว่า ผู้หญิงทำหรือผู้ชายทำ เพราะฉะนั้น ผู้หญิงทำหรือผู้ชายทำก็เป็นการค้าประเวณีเช่นกัน อันนี้หญิงกับชายเสมอภาคกันดี โดยมากที่เรามักกล่าวว่า ก็สภานิติบัญญัตินี้ผู้ชายเป็นคนทำ เป็นคนออกกฎหมาย เพราะฉะนั้น ผู้หญิงเสียเปรียบอยู่เรื่อย คราวนี้แหละ ท่านประธาน ผู้หญิงกับผู้ชายเสมอภาคกันจริง ๆ ละ ทีนี้ ก้าวขั้นต่อไปถึงว่า การกระทำหรือยอมรับ การ กระทำที่กระทำต่อบุคคลประเภทเดียวกันหรือคนละเพศ ก็เป็นการค้าประเวณี อันนี้ดีมาก เพราะว่า สมัยนี้เป็นสมัยปรมาณู เกิดมีบุคคลจำพวกหนึ่งที่เขาเรียกกันว่า กะเทย เตร็ดเตร่ทั่วไปหมด เป็นที่ทราบกันอยู่ นำมาซึ่งความน่าเกลียด สะอิดสะเอียน ขายหน้า และทำให้เกียรติคนของไทยเสื่อมลงเป็นอันมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สมัยปู่ย่าตายายเราเมื่อก่อนนี้ เราไม่เคยพบเคยเห็น เดี๋ยวนี้เป็นของธรรมดาและแพร่ไปในพวกนักทัศนาจร ซึ่งท่านนายกจะส่งเสริมเสียด้วย ก็เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ก็เป็นการสมควรแล้วที่จะมีบทบัญญัติห้ามสิ่งอันน่าอับอายขายหน้านี้ เป็นก้าวชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลนี้อีกก้าวหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในด้านความดีของร่างพระราชบัญญัตินี้ ความจริงถ้าจะสาธยายไป ก็ยังมีมาก เอาแต่เพียงหอมปากหอมคอเท่านี้ก็เห็นจะพอ ทีนี้ ด้านที่ข้าพเจ้ามีความห่วงใยถึงความที่ไม่สมบูรณ์แห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ ถ้าจะแปลญัตติกันได้ หลักการนั้นดี ถ้าว่าโดยเฉียบขาดแล้ว เป็นเรื่องแปรญัตติ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า พระราชบัญญัตินี้เป็นของใหม่ และเป็นของที่อาจจะเกิดวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ข้าพเจ้าก็อยากจะขอฝากข้อสังเกต ถ้าว่าทางฝ่ายรัฐบาลจะกรุณารับไปดำริเพื่อเป็นความคิดในการพิจารณาให้ในวาระ ๒ ก็ดี ผู้ที่จะรับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการจะสดับตรับฟังข้าพเจ้าเพื่อเป็นข้อสังเกตได้บ้างก็ดี จะเป็นที่ขอบคุณยิ่ง ที่ข้าพเจ้าวิตกและห่วงใยนั้น ไม่ใช่ว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้จะปิดประตูในการค้าประเวณี เพราะว่า เป็นสิ่งที่ปิดประตูไม่ได้ แต่ว่า ที่ท่านไปเขียนไว้ว่า สถานการค้าประเวณี หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ที่จัดไว้เพื่อให้บุคคลอื่นทำการค้าประเวณี โดยจัดให้มีผู้ทำการค้าประเวณีไว้เพื่อการนั้น นี่ข้าพเจ้ามีความวิตกจริง ๆ วิตกว่า มันเป็นช่องโหว่ ที่เขียนไว้ก็นับว่า ดีมากอยู่ แต่มีช่องโหว่ เพราะว่า อ่านจากวิเคราะห์ศัพท์อันนี้แล้ว ก็เห็นได้ว่า ถ้าคน ๆ ใด จะเป็นหญิงก็ดี ชายก็ดี เอาบ้านของตัว หรือบ้านที่ตัวเช่า เป็นที่ที่ตัวเองทำการค้าประเวณี ก็ไม่เข้าอยู่ในบทวิเคราะห์ศัพท์ว่า เป็นสถานการค้าประเวณี นี่เปิดประตูไว้เพื่อจะค้ากันบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เป็นการจัดเป็นรูปหุ้นส่วนบริษัทอะไร ก็พอจะทำได้ แต่ทีนี้ ประตูมันเปิดกว้าง ถ้าสมมติว่า หลาย ๆ คนเขารวมกันและก็ไปเช่าบ้าน ๆ หนึ่ง เซ็นสัญญาเช่าเป็นผู้เช่าทุกคน เพิ่มค่าเช่านิดหน่อย เจ้าของบ้านก็คงยอม และเขาก็ค้าเองอย่างนี้ซิ และก็จ้างผู้จัดการไว้คอยเก็บตั๋วหรืออะไรเสียด้วย อย่างนี้ก็จะไปทำอย่างไร นี่กลัวจะเลี้ยงกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีทางอะไรที่จะอุดช่องโหว่ไว้ได้ เป็นต้นว่า ถ้ามีผู้ค้าประเวณีตั้งแต่ ๒ ขึ้นไปอยู่ในที่เดียวกัน ให้สันนิษฐานก่อนว่า เป็นการทำให้ผู้อื่นค้าหรืออะไร บางทีจะช่วยได้บ้างกระมัง

ประการที่ ๒ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า มาตรา ๕ ที่ห้ามกระทำการบางอย่างเพื่อค้าประเวณี คือ ไม่ถึงกับค้าเพื่อค้าในถนนหรือที่สาธารณสถาน ทำไมเฉพาะถนน ทำไมเฉพาะสาธารณสถาน อาจจะมีที่อื่นอีก ทำไมไม่บอกในที่เปิดเผย อาจจะมีแม่น้ำลำคลอง อาจจะมีอะไร แต่แม่น้ำคำลองมันเป็นทางหลวง ไม่ใช่สถาน คำว่า สาธารณะ นี้จะต้องมีขอบเขตที่สาธารณชนเข้าไปได้ ทำไมไปห้ามเฉพาะถนน ประเดี๋ยวเกิดลอยเรือว่าอย่างไร อะไรอย่างนี้ ทำไมไม่อุดเสียให้หมด ถัดไป มาตรา ๘ อันนี้รู้สึกว่า ผู้ร่างก็พยายามจะเก็บตกสถานที่ต่าง ๆ ให้หมด เลยไปกล่าวถึงเจ้าของกิจการ ผู้ดู แล และ ผู้จัดการโรงแรม หอพัก สถานลีลาศ ไนท์คลับ คาบาเรท์ สถานนวดอบตัว หรือสถานอาบน้ำ ผู้ใดก็รู้สึกว่า พยายามดีมาก แต่ข้าพเจ้าคิดว่า ยิ่งเขียนมากไปยิ่งโหว่ เพราะถ้าข้าพเจ้าเป็นภัตตาคาร ก็ไม่เข้าในนี้ ลอยเรือในคลองอยู่ในคลองหลอด ก็ไม่เข้าอันนี้ เพราะฉะนั้น ขอฝากกรรมาธิการว่า เขียนให้รัดกุมยิ่งกว่านี้ สมมติว่า เป็นสถานที่ซึ่งโดยปกติสาธารณชนย่อมเข้าไปได้โดยเสียค่าบริการหรืออะไรก็เข้าไป คือ เอาออกเสียจากที่ระโหฐาน ถ้ามาตรา ๘ พูดถึงที่อื่น ๆ หมด นอกจากที่ระโหฐาน ก็เห็นจะพอไปได้ อย่างนี้ ข้าพเจ้าเกรงจะมีช่องโหว่ มาตรา ๙ ข้าพเจ้าคิดว่า เรื่องกะเทยนี่ โทษน้อยไป ควรจะเอามากกว่านี้

พลเอก ประภาส จารุเสถียร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย): ก่อนอื่น ในนามของผู้รักษากฎหมายฉบับนี้ ขอขอบคุณท่านผู้ลุกขึ้นมาอภิปรายเป็นอย่างมากที่ได้พยายามทำความเข้าใจในพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้กับท่านสมาชิกทั้งหลายได้ซาบซึ่งถึงพระราชบัญญัตินี้โดยถี่ถ้วนดีแล้ว กระผมจึงใคร่จะขอเรียนชี้แจงข้อสังเกตของท่านผู้ที่ลุกขึ้นมากล่าวเมื่อกี้นี้นั้น คือ สำหรับในมาตรา ๕ ตามที่ท่านเข้าใจนั้น เป็นการถูกแล้ว สำหรับมาตรา ๘ ที่ท่านสงสัยในเรื่องเจ้าของกิจการ ที่ได้พยายามจาระนัยไว้มากมายนั้น ความจริง เราได้พิจารณากันแล้วในเรื่องนี้ ที่เราได้กำหนดเฉพาะลงไปแต่เฉพาะเท่าที่เราได้จาระนัยชื่อไปนั้น ก็คือ หมายความว่า ในที่เหล่านั้น เรากำจัดไม่ให้มีอย่างแน่นอน ส่วนนอกจากนี้ออกไปนั้น ถ้าเขากระทำโดยมิดชิดปิดบังโดยตัวของเขาเองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เขากระทำได้ แต่ถ้าหากว่า ใครไปจัดทำในที่อื่น เป็นผิด มันคุ้มครองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น กระผมก็รู้สึกว่า จะไม่มีอะไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อห่วงใยทั้งหลายนี้ สำหรับพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เห็นจะไม่พ้นท่าน เพราะว่า เป็นกรรมาธิการชุดปกครอง ซึ่งจะได้เสนอต่อไป

นายมาลัย ชูพินิจ: โดยความคิดส่วนตัวของกระผม หลักการ กระผมเห็นพ้องด้วยทุกประการ และทัศนะที่ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติรายแรกที่ได้อภิปรายมานั้น กระผมก็ขอสนับสนุน ทีนี้ มีข้อที่ยังวิตกอีกประการหนึ่ง ซึ่งกระผมอยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ในที่นี้ ก็คือว่า โดยที่เราได้เลิกพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค คราวนี้ ปัญหาเรื่องที่ว่า เราได้เลิกไปแล้ว แล้วเราก็เอามาออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ คือ เรียกว่า พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี หรือว่า ยับยั้ง หรือว่า ให้ลดน้อยลงไป แต่ว่า เป็นการแน่นอนเหลือเกินว่า เมื่อเพียงแต่ปรามการค้า โสเภณีก็คงจะยังมีต่อไป เพียงแต่ว่าเล็กน้อยลงมาเท่านั้น คือ หมดไปไม่ได้ นี่กระผมเห็นชอบอย่างยิ่ง เป็นของธรรมดาเหลือเกินว่า โสเภณีนี่หมดไปไม่ได้ ให้เล็กน้อยลง ให้หมดความอับอายขายหน้าต่อสาธารณะ และต่อชาวต่างประเทศ หรือระหว่างพวกเราเองเหล่านี้ เป็นต้น ที่กระผมเป็นห่วงอีกข้อหนึ่ง ก็คือ อยากจะทราบว่า เราจะมีวิธีป้องกันหรือว่าแก้ไขอย่างไรกันได้บ้างเกี่ยวกับปัญหาใหญ่ที่สุดยิ่งกว่าความอับอายขายหน้า ข้อนั้นก็คือ พวกกามโรค ซึ่งจะต้องมีอย่างแน่ ๆ เมื่อมีการค้าประเวณี ในข้อนี้ ขณะก่อนที่เรายังมีกฎหมายเก่าอยู่ กระผมก็ไม่ค่อยจะทราบแน่นักว่า เราได้มีการตรวจมีการอะไรกันหรือไม่ในการที่จะป้องกันที่ไม่ให้สัญจรโรคหรือกามโรคแพร่หลายออกไป คราวนี้ เมื่อเราออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกแล้ว สิ่งซึ่งกระทำเป็นทางการหรือว่าถูกต้อง อย่างสมมติว่า การจะจดทะเบียน ก็จะหายไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่การค้าประเวณีนี้ก็จะกลายเป็นของผิดกฎหมาย เมื่อเราออกกฎหมายไป ถ้าพูดกันตามภาษาตลาดแล้ว การค้าอย่างเปิดเผยซึ่งเป็นของอยู่บนดินก็หลบลงไปอยู่ใต้ดิน คราวนี้ การควบคุมโรค การรักษาโรค การป้องกันโรค ก็จะพลอยหายไปด้วย อันนี้ก็จะเป็นเรื่องเป็นไปตามยถากรรม ทีนี้ เราจะไปบอกว่า ก็เมื่อท่านอยากจะสนุกสนาน ก็รู้จักป้องกันตัวเองซิ นี่ก็เป็นของถูกต้อง แต่ว่า เมื่อเราคิดถึงอนาคตและคิดถึงผลร้ายของโรคที่จะแพร่ออกไปเป็นภัยต่อสวัสดิภาพของประชาชนนี้ กระผมคิดว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลตามสมควรในการที่จะต้องหาทางเหลียวแลไว้ด้วย ข้อนี้ อยากจะขอประทานกราบเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า เราคิดถึงเรื่องนี้หรือเปล่าว่า เราจะกระทำอย่างไรกันต่อไป

พลเอก ประภาส จารุเสถียร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย): กระผมขอเรียนตอบข้อสงสัยของท่านสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็มีข้อห่วงใยว่า ถ้าหากเราเลิกพระราชบัญญัติฉบับเก่า และมาปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้แล้ว โรคภัยอันที่เกี่ยวกับการสัญจรโรคจะมากขึ้น ในข้อนี้ เราได้วิจัยกันแล้วในชั้นร่างกฎหมายฉบับนี้ และเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ควบคุมในเรื่องนี้โดยเฉพาะเห็นกันว่า ไม่เป็นทางที่จะยุยั่วหรือว่าเป็นการเพิ่มให้โรคนี้แพร่หลายยิ่งขึ้น กลับตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำไป ในการที่จะกำจัดโรคในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องกามโรคนี้ในลดน้อยถอยลง เพราะแต่ก่อนนั้น เมื่อเราได้เปิดให้มีการรับจ้างประเวณีโดยเปิดเผยและมีการจดทะเบียนนั้น ก็การควบคุมก็ไม่ได้เป็นอะไรไปมากมายกว่าเท่าที่เราจะเลิกไป คงมีอยู่เช่นเดิมนั่นเอง ส่วนที่เรียกว่า การบริการที่เกี่ยวแก่การที่จะปราบปรามโรคเฉพาะในเรื่องสัญจรโรคนี้นั้น รัฐบาลนี้ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม เพราะฉะนั้น ในการที่จะปราบปรามโรคนี้ก็หาได้ลดน้อยลงไปไม่ ก็คงมีอยู่เช่นเดิม ถึงหากว่า จะเป็นคราวที่มันจะเพิ่มมากขึ้นหรืออย่างไรในโอกาสข้างหน้านั้น ก็เป็นข้อที่เราจะได้พิจารณาในด้านสาธารณสุขต่อไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราได้มองเห็นแล้วว่า เท่าที่เราออกกฎหมายปรามสัญจรโรคมานี้นั้น ทำให้คนที่ทำการค้าประเวณีนั้นลดน้อยถอยลง และมีการสำส่อนอย่างสกปรกน้อยลงกว่าแต่ก่อนโน้น เพราะฉะนั้น เชื่อว่า โรคภัยไข้เจ็บนั้นจะน้อยลงไปกว่าแต่ก่อนโน้น

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (นายกรัฐมนตรี): ผมใคร่ขอความกรุณาชี้แจงเพิ่มเติมตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงเมื่อกี้ ที่จริง เรื่องนี้เป็นเรื่องซึ่งทางรัฐบาลได้มีความสนใจเป็นอย่างมาก ตามข้อความที่ท่านสมาชิกได้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ได้กล่าวแล้วเมื่อกี้นี้นั้น ความจริง มีข้อความที่ชัดเจนหรือไม่ชัดเจนก็ไม่ทราบอยู่ในมาตรา ๑๑ ซึ่งได้มีระบุไว้แล้วว่า ให้กรมประชาสงเคราะห์สำหรับรักษาและอบรมฝึกอาชีพผู้รับการสงเคราะห์ จะเห็นว่า มีถ้อยคำว่า เรื่องคำว่า รักษา อยู่ด้วย ซึ่งอย่างเวลานี้ เราจะเห็นว่า มีเอกชนได้กระทำอยู่แล้วเป็นส่วนตัว เช่น ดอกเตอร์เพียร ได้กระทำอยู่ในสิ่งเหล่านี้ เราก็เห็นว่า ควรจะต้องมีการส่งเสริมให้เป็นอย่างมากให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จะแลเห็นได้ว่า ในเมื่อครั้งก่อนที่เรายอมให้มีผู้หญิงซึ่งเราเรียกว่า โสเภณี ไปตีทะเบียนได้นั้น มันเป็นการผิดต่อสัญญาซึ่งเราได้มีต่อสากล ซึ่งเท่ากับรัฐบาลเป็นผู้รับรู้ยอมให้เขามาตีทะเบียน แต่บัดนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นปีมาแล้ว เราให้เลิกการไปตีทะเบียนโสเภณี คือ ไม่รับรู้ว่า จะมีหญิงโสเภณี แต่เป็นหลักการอย่างที่ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติคนก่อนที่ได้กล่าวว่า เราจะห้ามปรามเสียเลยนั้นไม่ได้ ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ แต่ตามข้อเท็จจริงเท่าที่เป็นมาแล้ว เท่าที่ผมได้ไปตรวจตามสถานีโรงพักต่าง ๆ จะแลเห็นว่า ปัญหาอันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับความลำบากเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่ง ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติคงจะทราบแล้วว่า ในแถบถิ่นซึ่งเป็นที่กำเนิด เช่น เป็นต้นว่า โรงพักสำราญราษฎร์ พลับพลาไชย อะไรเหล่านี้ ที่บริเวณสะพานถ่าน เสาชิงช้า อะไรเหล่านี้ ซึ่งท่านคงทราบดีอยู่แล้ว จะเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องผจญกับปัญหาอันนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยตาตนเองมาทีเดียว จึงเกิดความนึกคิดอันนี้ขึ้น ผมก็ได้ถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ชี้แจงให้ผมฟังว่า ก็เป็นอย่างนี้ เท่าที่เห็นนี้แหละ ก็ไปเอามาปรับ ๕๐ บาท แล้วก็ปล่อยไป อีก ๗ วันก็มาอีก ซ้ำหน้าอยู่นั่น ในที่กักขังของบุคคลประเภทนี้เต็มไปหมด นอนสีเขียวสีแดง นอนอยู่ในห้องขังที่เขาควบคุมไว้เป็นจำนวนมาก และพออีก ๗ วันก็มาอีก และเวลาจะปรับ มีคนมายอมเสียค่าปรับให้ ซึ่งในข้อเท็จจริงซึ่งเราเรียกว่า ชายแมงดา มาช่วยกันออกเงินออกทองไป ก็กลับไปอีก นอกจากนั้น ก็ยังเป็นต้นเหตุแห่งอาชญากรรม แล้วก็มีเรื่องมีราวอะไรอื่น ๆ อีกเยอะแยะ เพราะฉะนั้น เราคิดว่า ขืนปล่อยอย่างนี้ เห็นจะไม่ได้ ถึงแม้ว่า เราเลิกการจดทะเบียนอะไรอย่างนี้แล้ว ซึ่งเราไม่รับรู้ และการจดทะเบียนนั้น คือ การรับรู้ว่า เท่ากับว่า รัฐบาลนี่เองเป็นเจ้าของซ่อง ถ้าหากว่า รับจดทะเบียน เพราะฉะนั้น เราก็เลิกการจดทะเบียน แต่ทว่า การรักษาพยาบาลคงกระทำอย่างที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยชี้แจงอยู่เมื่อกี้นี้ เมื่อเราได้ไปพบ หรือได้ไปเห็น หรือได้จับตัวมาแล้ว และนอกจากนั้น ก็ยังส่งเข้าสถานที่กรมประชาสงเคราะห์จัด ซึ่งมีการรักษา แล้วก็อบรมฝึกอาชีพ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ในทางปฏิบัติที่ท่านทั้งหลายได้คิดค้นแล้ว จะรู้สึกว่า เป็นปัญหาเรื่องใหญ่มาก ซึ่งเวลานี้ ทางรัฐบาลกำลังจัดสร้างสถานที่อันนี้อยู่ที่ปากเกร็ด ซึ่งต้องใช้เงินทองจำนวนมาก จะต้องมีวิธีการที่ดี จะต้องเอาพวกนี้เข้ามาอยู่ ไม่ใช่ว่า พอเสร็จแล้วก็ปล่อยตัวออกไป เพราะฉะนั้น จะต้องเรียกสถานที่ให้สมเกียรติกับเขาหน่อย เช่น เป็นต้นว่า ฝึกสตรีผู้ไร้อาชีพ อะไรอย่างนี้เป็นต้น จะไปเขียนว่า โสเภณี ก็ไม่ได้ หรืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งในเรื่องนี้ ได้มอบให้ทางกระทรวงมหาดไทยกำลังกระทำอยู่ ทางกระทรวงมหาดไทยก็ได้กระทำอยู่อย่างขมักเขม้น ก็เข้าใจว่า จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๐๓ นี้ จะต้องใช้เงินใช้ทอง จะต้องมีแพทย์ และจะต้องมีที่ฝึกอาชีพให้ในหน้าที่ของผู้หญิงที่ดีว่า ควรจะต้องรู้อะไรบ้าง แล้วเมื่อจบตามหลักสูตรนั้นแล้ว ก็จะต้องไปทำงานทำการประกอบอาชีพได้ ซึ่งแล้วแต่จะมีบุคคลจ้าง และนอกจากนั้น ก็ต้องอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่า เมื่อปล่อยออกไป ก็ปล่อยไปเฉย ๆ ซึ่งงานอันนี้เป็นงานใหญ่มาก เพราะว่า เรายังไม่เคยกระทำ จะได้ผลแค่ไหน เราจะต้องพิจารณาต่อไป ในเรื่องการรักษาพยาบาล ก็คงจะต้องดีขึ้นกว่าเก่า ไม่ใช่มาฉีดยากันเข็ม ๒ เข็มอะไรแล้วก็หายตัวไป นี่เท่ากับเอามาควบคุมรักษาอยู่ตลอด แล้วยังหัดอาชีพให้อีก ในสิ่งเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ว่า ในมาตราต่อไป ก็เห็นจะมีเรื่องซึ่งน่าคิดกันอยู่ ผมคิดอย่างของผมแต่ว่า ก็มีเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายเขาบอกว่า ไม่ได้ เจ้าตัวต้องยินยอมการไปเข้าสถานที่สงเคราะห์ มาตรา ๑๐ เมื่อศาลได้พิพากษาให้ลงโทษบุคคลในมาตรา ๕ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๙ และผู้นั้นได้รับโทษตามคำพิพากษาแล้ว ถ้าปรากฏว่า ผู้นั้นเป็นโรคอันควรจะได้รับการรักษา หรือควรได้รับการอบรมฝึกอาชีพ หรือทั้งสองอย่าง อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปรับการรักษาและอบรมฝึกอาชีพในสถานสงเคราะห์ได้ มีเวลาตามที่อธิบดีกำหนด แต่มิให้เกิดกว่า ๑ ปีนับแต่บุคคลผู้นั้นพ้นโทษ นี่เขาต้องกระทำกันเป็นล่ำเป็นสันให้ดีขึ้นกว่าเก่า นี่ผมใคร่ขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อให้ประกอบความเข้าใจอันดีด้วย ส่วนนอกจากนั้น เรื่องที่ท่านสมาชิกข้องใจว่า ถ้าบุคคลธรรมดา ละอย่างที่ไปเป็นอยู่ จะทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ว่า ก็เมื่อไปซุกซนเอง ก็ต้องรักษาตัวเองซิ อะไรทำนองนี้ ในบางขณะก็อาจจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่โดยหลักทั่วไปในหลักการสาธารณสุขอย่างใหม่นี้ ผมก็ได้ทราบว่า ท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้จัดการ หรือในทางแพทย์ ก็ได้จัดการที่จะดำเนินการอย่างดี เช่น มีรถเคลื่อนที่ออกไปทำการตรวจฉีดหยูกฉีดยา และนอกจากนั้น ให้คำแนะนำสั่งสอน ซึ่งเป็นเรื่องทางสายปกติ ซึ่งจะต้องกระทำอยู่แล้ว แล้วก็จะต้องกระทำให้ดียิ่งขึ้น ส่วนเรื่องนี้เป็นเรื่องซึ่งจะต้องเผชิญตามกฎหมายนั้น ผมคิดว่า คงจะต้องได้ผลดีขึ้น ถ้าหากว่า เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือแล้ว ก็เล็งเห็นประโยชน์กันโดยแท้จริง อันนี้ ผมขอเรียนให้ท่านสมาชิกได้กรณามีความเข้าใจตามนี้ด้วย

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: เมื่อไม่มีท่านผู้ใดอภิปรายต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าขอมติต่อที่ประชุมว่า สมควรจะรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ ท่านผู้ใดเห็นว่า สมควรจะรับหลักการ โปรดยกมือขึ้น

(มีสมาชิกยกมือเป็นส่วนมาก)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: ท่านผู้ใดไม่เห็นด้วย โปรดยกมือขึ้น

(ไม่มีสมาชิกยกมือ)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: เป็นอันว่า รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ส่งคณะกรรมาธิการอะไร

พลเอก ประภาส จารุเสถียร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย): ขอให้ส่งคณะกรรมาธิการสามัญชุดการปกครอง

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: รัฐบาลขอเสนอให้ส่งคณะกรรมาธิการสามัญชุดการปกครอง มีท่านผู้ใดขัดข้องประการใดบ้างหรือไม่

(ไม่มีสมาชิกขัดข้อง)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: ไม่มี เป็นอันว่า ส่งกรรมาธิการสามัญชุดการปกครอง แปรญัตติภายในกี่วัน

พลเอก ประภาส จารุเสถียร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย): ขอเสนอให้แปรญัตติภายใน ๓ วัน

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: รัฐบาลขอเสนอให้แปรญัตติภายใน ๓ วัน มีท่านผู้ใดเห็นเป็นอย่างอื่น

(ไม่มีสมาชิกมีความเห็นเป็นอย่างอื่น)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ: ไม่มี เป็นอันว่า ให้แปรญัตติภายใน ๓ วัน สำหรับระเบียบวาระในวันนี้ หมดแล้ว ข้าพเจ้าขอเลิกประชุม.

เลิกประชุมเวลา ๑๐.๓๕ นาฬิกา

คณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม
เจริญ ปัณฑโร โฉมเฉลา ลีพลากร ผู้จดรายงาน
น.ท. มานะ สังขวิจิตร ฉันทนา ชานป้อม
มนูญ บริสุทธิ์ อุดม พลอยสังวาลย์
พ.ท. ศรีดาวราย สุพงศ์ ศิริพูนเกียรติ
พ.ท. กฤช ปุณณกันต์ ธนู บุณยรังค
มาลัย ชูพินิจ จำรงค์ ใจอ่อนน้อม
แผ้ว หมู่พยัคฆ์
สินธุ์ชัย ซื่อสัตย์ดี
ตรวจแล้ว วันที่ ๗/ก.ย./๐๓
สุขันธ์ จิตรกถึก
หัวหน้าแผนกรายงานการประชุม
  • ประสิทธิ์ ศรีสุชาต
  • หัวหน้ากองการประชุม
  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์
  • รองเลขาธิการฯ
  • เจริญ ปัณฑโร
  • เลขาธิการสภาฯ
พล.อ. ส. สุทธิสารรณการ
ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

บรรณานุกรม

[แก้ไข]
  • สภาร่างรัฐธรรมนูญ. (2503). รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 70/2503 วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2503. สภาร่างรัฐธรรมนูญ: พระที่นั่งอนันตสมาคม.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"