ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์/บันทึกหลักการและเหตุผล

จาก วิกิซอร์ซ
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)
พุทธศักราช ....

หลักการ

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อรื้อถอนอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ลดความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างโอกาสกลับสู่ประชาธิปไตยโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังต่อไปนี้

(๑) ยกเลิกความในมาตรา ๖๕ มาตรา ๘๘ มาตรา ๒๐๓ มาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๗๐ มาตรา ๒๗๒ มาตรา ๒๗๕ และมาตรา ๒๗๙

(๒) ยกเลิกหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๕๗ ถึงมาตรา ๒๖๓

(๓) การตัดยุทธศาสตร์ชาติออกจากรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๔๒)

(๔) แก้ไขจากการใช้ระบบบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี เป็นการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๕๙ วรรคแรก)

(๕) ตัดข้อความที่บังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโบายสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๖๒ วรรคแรก)

(๖) ตัดข้อความที่ให้มี "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย" จำกัดให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๒ วรรคสอง)

(๗) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๖)

(๘) ยกเลิกที่มาของสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษจำนวน ๒๕๐ คน และให้มีสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จำนวน ๒๐๐ คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๖๙)

(๙) ยกเลิกกระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาของกรรมการชุดปัจจุบัน รวมทั้งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (ร่างมาตรา ๑๑)

(๑๐) ให้เริ่มสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ (ร่างมาตรา ๑๒)

(๑๑) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เพิ่มหมวด ๑๗ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา ๒๖๑/๑ มาตรา ๒๖๑/๒ มาตรา ๒๖๑/๓ มาตรา ๒๖๑/๔ และมาตรา ๒๖๑/๕)

เหตุผล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ถูกออกแบบโดยการวางโครงสร้างทางการเมืองไว้เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจและรักษาอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สถาบันทางการเมืองและกติกาที่ถูกบังคับใช้เป็นเหมือนดั่งเสาค้ำยันอำนาจ ยิ่งไปกว่านั้น คสช. ยังออกแบบกติกากีดกันไม่ให้ประชาชนหรือผู้แทนราษฎรสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คสช. ได้โดยง่าย หากไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากผู้นำ คสช., วุฒิสภาจากการแต่งตั้งของ คสช. และพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

กติกาที่มีไว้เพื่อรักษาอำนาจของคนกลุ่มเดียว จึงทำให้การบริหารประเทศไม่ได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน ทำให้เกิกระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาด จนเกิดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมที่เคยเป็นเสาหลักให้สังคม กลับถูกแทรกแซงจนเกิดวิกฤตศรัทธา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่สามารถเป็นเสาหลักในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซ้ำยังเป็นใจกลางของปัญหาซึ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น หนทางที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งได้อย่างมีความชอบธรรมมากที่สุด ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อรื้อถอนอำนาจของ "ระบอบ คสช." และสร้างโอกาสในการกลับสู่ "ประชาธิปไตย" ให้กับสังคมไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนวนปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งหมด ๑๐ ประเด็นที่ต้องมีการยกเลิกแก้ไขทันที คือ

๑) ปิดทางนายกฯ คนนอก ยกเลิกมาตรา ๒๗๒ ซึ่งยังเปิดทางให้สภาเสนอชื่อนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ในช่วง ๕ ปีที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐

๒) บอกลายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ยกเลิกมาตรา ๖๕ และ ๒๗๕ ที่ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีขีดชะตาอนาคตประเทศด้วยการกำหนดให้การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน, นโยบายรัฐบาล และการทำงานของหน่วยงานราชการ ต้องเป็นไปตามแผนแม่บท

๓) ไม่ต้องมีแผนปฏิรูปประเทศ ยกเิลกการปฏิรูปประเทศด้วยแผนที่เขียนโดยคนของ คสช. คลายล็อคที่กำหนดให้ ครม. ต้องคอยแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก ๓ เดือน ตัดอำนาจ สว. ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศ

๔) ยกเลิกผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ ยกเลิกข้อความในมาตรา ๒๕๒ ที่ให้มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ยืนยันหลักการองค์กรที่ใช้อำนาจต้องยึดโยงกับประชาชนโดยตรง

๕) พังเกราะที่คุ้มครอง คสช. ยกเลิกมาตรา ๒๗๙ ที่ยังเป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยตัวไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำอย่าง คสช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลบังคับใช้อยู่ตลอดไป

๖) นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ยกเลิกระบบบัญชีแคนติเดตนายกฯ ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่มาได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกฯ ได้ และแก้ไขให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น

๗) ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ยกเลิก ส.ว. ๒๕๐ คนที่มาจากการแต่งตั้ง และแก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดจำนวนเหลือ ๒๐๐ คน และใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ว. ต่อหนึ่งจังหวัดยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐

๘) แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรอิสระ ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ จากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เปลี่ยนมาเป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. ชุดแรกโดยวิธ๊ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐

๙) ปลดล็อกกลไกแก้รัฐธรรมนูญ แก้ไขให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว. เป็นพิเศษ สามารถทำได้โดยเสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภา และไม่บังคับให้ต้องลงประชามติ

๑๐) มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ๒๐๐ คนมาจากการเลือกตั้ง ผู้สมัครจะลงสมัครเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มก้ได้ ไม่ต้องเป็นพรรคการเมือง โดยต้องแถลงข้อเสนอในการเขียนรัฐธรรมนูญ ประชาชน ๑ คนเลือก ส.ส.ร. ได้เพียง ๑ คนหรือ ๑ กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน ๓๖๐ วันนับตั้งแต่มี ส.ส.ร.

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา เพื่อปลดชนวนความขัดแย้งและเปิดโอกาสให้ประเทศไทยกลับมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... นี้