ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ/ภาคที่ 13/เรื่อง
๑ได้ถามถึงเรื่องพระพุทธสาสนาที่ได้ชักนำเข้ามาประดิษฐานในเมืองพม่าเมื่อศักราชเท่าไร ให้ชี้แจงตำนานสังเขปของพุทธสาสนาในเมืองพม่า
สมณะทูตพม่าชี้แจงว่า พระโคดมพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานแล้วประมาณ ๑๕๖๑ ปี พุทธสาสนาจึงได้ประดิษฐานในเมืองพม่า ศักราชวันเดือนจนเดี๋ยวนี้ยังไม่รู้ชัดเจนแน่ที่จะบอกได้ ตำนานพระพุทธสาสนาตามที่จำได้ดังนี้[1] ว่า ประมาณพระพุทธสาสนกาลล่วงแล้ว ๒๓๕ ปี ระหว่างเวลาพระเจ้าอโศกราชาธิราชในมัธยมประเทศได้กระทำสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยพระอรหันต์มหาโมคลีบุตติสสเถระเปนประธานด้วยมีภิกษุทุศีลมาก เมื่อทำสังคายนาแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชมีพระราชประสงค์จะแผ่พระพุทธสาสนา จึงส่งพระอรหันต์ไปประกาศพระพุทธสาสนายังประเทศทั้ง ๙ อย่างเปนมิศชันรี พระอรหันต์ห้าพระองค์ รวมทั้งพระชินโสนเถรแลพระชินโอรารเถร ได้มายังสุวรรณภูมิ์ คือ เมืองเตลง[2] เดี๋ยวนี้ ตั้งพระพุทธสาสนาลงแล้ว สาสนาจึงได้ชักนำเข้ามาในรามัญประเทศฤๅสุวรรณภูมิ์ในระหว่างรัชกาลของพระเจ้ามาณพะ พระเจ้าแผ่นดินสุวรรณภูมิ์ พระพุทธสาสนาจึงได้ประดิษฐานรุ่งเรืองอยู่ในรามัญประเทศแต่นั้นมา ต่อมาเมื่อพุทธสาสนกาลประมาณ ๑๓๒๖ ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งโดยนามว่า ชินอรหันต์ ได้เสด็จมาสู่เมืองภุกามซึ่งเปนเมืองหลวงของพม่า พระเจ้าแผ่นดินพม่าในเวลานั้นทรงพระนามว่า นรทาเมงซอ (พระเจ้าอนุรุธมหาราช) พระชินอรหันต์ผู้มีอายุ เมื่อก่อนจะไปถึงมหานครเมืองหลวงพม่านั้น ไปอยู่ยังป่าณแห่งหนึ่ง ไปพบนายพรานผู้หนึ่ง นายพรานผู้นั้นคิดเห็นว่า พระองค์นี้คงเปนอริยประพฤติธรรมอันประเสริฐ จึ่งได้พามาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินของตน พระเจ้านรทาเมงซอ เมื่อได้เห็นพระชินอรหันต์นั้นเปนผู้มีอายุ จึงมีรับสั่งให้เลือกอาศนะแลให้นั่งลง พระผู้มีอายุจึงได้นั่งลงที่ราชบัลลังก์ พระเจ้าแผ่นดินทรงถือว่า เปนชนมีตำแหน่งอันสูงยิ่ง จึงเสด็จไปณที่ใกล้ แล้วจึงมีพระราชดำรัสถามพระอรหันต์องค์นั้นว่า เปนใคร มาแต่ไหน แลมาด้วยกิจอันใด ได้ตรัสถามหลายปัญหา พระชินอรหันต์ผู้มีอายุได้ทูลตอบบรรดาพระราชปุจฉาที่ทรงถาม แล้วจึงถวายพระพรด้วยเรื่องมีพระรัตนตรัย พุทธ ธัมม สังฆ ที่รามัญประเทศ คือ สุวรรณภูมิ์ พระเจ้าแผ่นดินเมื่อได้ทรงทราบตามที่พระอรหันต์ผู้มีอายุได้ถวายพระพรแล้ว จึ่งแต่งทูตไปยังพระเจ้ามาณพะณรามัญประเทศขอให้ส่งพระไตรปิฎกมาถวาย พระเจ้าแผ่นดินสุวรรณภูมิ์ไม่ยอมให้ พระเจ้าแผ่นดินพม่า เมื่อทรงทราบความปฏิเสธดังนั้นแล้ว จึงได้เสด็จยกพยุหโยธาหาญเปนอันมากไปยังประเทศมอญ ต่อรบด้วยพระเจ้าแผ่นดินรามัญ ครั้นได้ไชยชนะแล้ว จึงได้เชิญพระไตรปิฎกมายังประเทศพม่า แต่นั้นมา พระพุทธสาสนาจึงได้ตั้งอยู่ในเมืองพม่าจนปัจจุบันนี้
๒ถามถึงประเพณีแลความประพฤติพระพุทธสาสนาในเมืองพม่า สมณะฑูตชี้แจงว่า พระพุทธสาสนาในเมืองพม่าดีขึ้นทุกวัน ลักษณการประพฤตินั้นดังนี้ ส่วนคฤหัสถ์ได้ประพฤติอัฏฐังคิกอุโบสถ คือ ศีลแปดเดือนละสี่ครั้ง การรักษาศีล คฤหัสถ์ต้องไปยังพระสงฆ์ นำไทยทานของถวายไปบูชาด้วย แลขอให้พระสงฆ์ให้ศีลแลรัตนทั้งสาม พุทธ ธัมม สังฆ คฤหัสถ์ไม่พิจารณาเห็นว่า เขาทั้งหลายจะได้ถือศีลโดยรัตนทั้งสามอันสมควร เว้นไว้แต่พระสงฆ์ได้บอกให้รับศีล ว่าตามพระ จึงจะเปนอันถือศีลได้ คฤหัสถ์ได้สวดมนต์วันละสามหน คือ เช้าตรู่หนหนึ่ง บ่ายหนหนึ่ง แลค่ำคืนอิกหนหนึ่ง คฤหัสถ์นั้นมีธรรมเนียมไปทำบุญถวายของแก่พระแลไปวัดบ่อย ๆ นอกจากการเหล่านี้ ชาวพม่าโดยมากในเมืองพม่า ผู้ที่มีธุระเล็กน้อยจะกระทำแล้ว ก็ได้ไปอยู่วัด จิตรตั้งมั่นเพื่อสมาธิ ฝ่ายพระสงฆ์นั้นประกอบด้วยกิจสองชนิด คือ คันถธุระแลวิปัสสนาธุระ พระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระพยายามเรียนศึกษาพระไตรปิฎกแลรักษาวินัยธรรมโดยมั่นคง พระสงฆ์ฝ่ายวิปัสนาธุระนั้นพยายามหลับตาสมาธิแลถือวินัยธรรมโดยมั่นคง
๓ได้ถามถึงการเปลี่ยนแปลงในพระสาสนาในเมืองพม่าได้มีฤๅ เปนต้นว่า พระสงฆ์ได้แบ่งนิกายต่างกันฤๅอย่างไร แลถือลัทธิผิดกันอย่างไร
สมณะทูตตอบว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงในพระพุทธสาสนามาหลายครั้ง มีตำนานโดยสังเขปของนิกายต่าง ๆ แลความถือในระหว่างนิกายที่ผิดกันว่า ประมาณ ๑๔๗ ปีภายหลังรัชกาลของพระเจ้านรทาเมงซอในกรุงพม่า แลประมาณ ๑๗๐๘ ปีภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานแล้ว พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ศิรสิงหปติปรกมพาหุ ในลังกาทวีป[3] ในระหว่างเวลานั้น มีพระสงฆ์ ๕ รูป นามว่า สุนัทรศีวรต ตมรินท อานันท แลราหุล ได้มายังเมืองพม่าจากลังกาทวีป[4] เมื่อพระผู้เปนเจ้าได้มาถึงเมืองพม่าแล้ว มาอยู่ต่างหากจากพระสงฆ์ทั้งปวงผู้ที่บวชอยู่ในเมืองพม่ามาแต่เดิม เหตุฉะนี้ ประชาชนชาวเมืองได้เรียกพระสงฆ์เหล่าที่มาใหม่นั้นว่า ปรคมะ แลเรียกพระสงฆ์เดิมพวกอื่น เรียกว่า ปุริมะ เปนเริ่มต้นที่จะเกิดเปนนิกายต่างกัน ครั้นภายหลังมา พระเจ้าแผ่นดินพม่าทรงพระนามว่า นรปติเชฏฐะ ทรงพระราชศรัทธาถวายช้างแก่พระสงฆ์พวกปรคะมะองค์ละเชือก พระอานนทเถร เมื่อเพื่อนสงฆ์ด้วยกันขอให้ปล่อยช้างเสีย หาฟังไม่ กลับส่งไปให้ญาติในลังกาทวีป ว่า ทำได้ดังนั้นตามมงคลสูตร ครั้งนั้น พวกเพื่อนสงฆ์อิก ๔ รูปเกิดรังเกียจ จึงให้พระอานนทเถรนั้นอยู่เสียต่างหาก ไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วย จึงเกิดมี สองนิกายขึ้นในระหว่างพระสงฆ์ปรคะมะนิกาย ภายหลัง พระสงฆ์ในปรคะมะนิกายองค์ที่ชื่อว่า ตมรินท ได้ขอแก่อำมาตย์แลราชตระกูลในพระราชวังให้ทำบุญแก่ศิษย์ของตน เพื่อนสงฆ์ด้วยกันเห็นผิดต่อธรรมวินัยก็ห้ามปราม แต่พระตมรินทไม่เชื่อฟัง ด้วยเหตุนี้ พระตมรินทรูปนั้นจึงต้องแยกจากคณะสงฆ์ไปตั้งพวกขึ้นต่างหาก จึงได้เกิดมีเปน ๓ นิกายในระหว่างพระสงฆ์ปรคมะนิกาย รวมเปน ๔ นิกายทั้งเดิม
ต่อมา ถึงรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดินพม่าทรงพระนาม มองอองสย[5] นัยหนึ่งว่า อลองมินทายี ประมาณ ๕๗๔ ปี ภายหลังรัชกาลของพระเจ้านรปติเชฏฐะ ฤๅประมาณ ๒๒๘๒ ปี ภายหลังพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน พระสงฆ์ในประเทศพม่ามีเปนสองนิกาย เรียกว่า โตนะนิกาย ๑ แลโยนะ[6] นิกาย ๑ ความที่ผิดกันในระหว่างสองนิกายนั้น คือ แปลกกันในการครองไตรจีวร พระสงฆ์โตนะนิกายเข้าในลแวกบ้านใช้รัตปคตแลไม่ต้องตามสุปฏิจฉันนสิกขาบท พระสงฆ์โยนะนิกายไม่ประพฤติเช่นนั้น แต่พระสังฆราชในเวลานั้นเปนพระสงฆ์ในพวกโตนะนิกาย พระสงฆ์ทั้งหลายในโตนะนิกายก็มีอำนาจมาก แลจำนวนมากกว่าพระสงฆ์โยนะนิกาย ภายหลังมา เมื่อพระราชบุตรองค์เล็กของพระเจ้ามองอองสย ทรงพระนามว่า โบเทาพระยา[7] นัยหนึ่งเรียกว่า มองรวิน ได้สืบราชสมบัติแทนพระราชบิดา ทรงเลื่อมใสในพระสงฆ์โยนะนิกายรูปหนึ่ง ทรงตั้งเปนสังฆราช แต่นั้นมา พระสงฆ์โยนะนิกายก็มีอำนาจมาก แลมีจำนวนมากขึ้นกว่าพระสงฆ์ในโตนะนิกายในเมืองพม่า ภายหลังมา บรรดานิกายต่าง ๆ ที่กล่าวชื่อมานั้นก็สาบสูญไป เกิดเปนนิกายจุลคัณฐี แลมหาคัณฐี มีขึ้นในบัดนี้[8] ความที่ผิดกันในระหว่างต้องนิกายนี้ คือ จุลคัณฐีนิกายถือตามวินัยธรรมมั่นคงนัก แลกล่าวว่า มหาคัณฐีนิกายมิได้ถือตามวินัยโดยมั่นคง
เรื่องนิกายสงฆ์ในเมืองพม่า พระรวินทเถรอธิบายการที่ได้เปนในชั้นหลังเมื่อประเทศพม่ายังไม่ได้อยู่ในความปกครองของอังกฤษนั้น ภิกษุมีอยู่ ๔ นิกาย ในเมืองพม่าเหนือ ๒ นิกาย เรียกว่า สุตมานิกาย ๑ สุวรรณวิรัตตินิกาย ๑ ในพม่าตอนใต้มี ๒ นิกาย เรียกว่า มหาคณีนิกาย ๑ จุลคณีนิกาย ๑ พระสงฆ์สุตมานิกาย มหาคณีนิกาย ทั้ง ๒ นี้ เปนภิกษุพม่าเปนพื้น แลมีมาก สุวรรณวิรัตตินิกาย จุลคณีนิกาย ทั้ง ๒ นี้ ถือลัทธิตามอย่างภิกษุสิงหฬเปนครู มีน้อย ในสมัยเมื่อภิกษุในประเทศพม่าต่างนิกายเช่นนี้ สาสนวงศ์ในครั้งนั้นก็ไม่บริสุทธิ แลประกอบด้วยอุบาทว์ เพราะฐานที่ตั้งแห่งวิวาทด้วยเรื่องธรรมวินัยมีมาก แลการที่กล่าวติเตียนซึ่งกันแลกัน ก่อเหตุให้เกิดวิวาทเนือง ๆ เมื่อเจ้ามิงดอมิงได้เปนพระเจ้าแผ่นดินพม่า ทรงเห็นว่า ภิกษุสุวรรณวิรัตตินิกาย แลจุลคณีนิกาย ทั้ง ๒ นี้ มากไปด้วยความริศยา แลยกตนติเตียนผู้อื่นเปนเบื้องน่า จึงได้ทรงเกียจกันภิกษุ ๒ นิกายนั้นมิให้ตั้งเปนหมู่เปนคณะอยู่ได้ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุ ๒ นิกายนั้นก็น้อยไป ๆ ที่เหลืออยู่บ้างก็มาตั้งอยู่ในโอวาทของสุตมานิกายแลมหาคณีนิกายทั้งสิ้น เมื่อภิกษุ ๒ นิกายมีลัทธิแลความปฏิบัติเหมือนกันเช่นนี้ สาสนวงศ์ในพม่าก็เรียบร้อยบริสุทธิ์ตลอดมา จนเห็นว่า ไม่ควรจะแยกเปน ๒ นิกาย ควรจะรวมเปนนิกายเดียวกัน เพราะไม่แตกต่างกันโดยลัทธิแลความปฏิบัติ จึงได้เรียกว่า สุตมานิกาย แต่อย่างเดียวเท่านั้น
๔ได้ถามถึงวัดแลการบำรุงพระสงฆ์ ได้ความว่า บางวัดมีที่เสนาศนะสงฆ์บริบูรณ์ บางวัดมีเสนาศนะที่พระสงฆ์อยู่น้อย ที่ไม่มีเลยก็มี ในระหว่างเวลายังมีพระเจ้าแผ่นดินพม่านั้น พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ทั้งปวงอยู่เปนนิจ ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินพม่าถูกเนรเทศเสียจากราชสมบัติแล้ว ได้อาไศรยแต่ทายกเปนผู้อุปถัมภ์พระสงฆ์ทั้งหลาย วัดนั้นทายกก็เปนผู้ดูแลด้วย เดี๋ยวนี้ อาหารบิณฑบาตก็ขัดสนลงมาก ไม่เหมือนเมื่อครั้งมีพระเจ้าแผ่นดิน พระสงฆ์ทางเมืองพม่าฝ่ายเหนือจึงพากันมาอยู่ทางเมืองพม่าตอนใต้โดยมาก พระสงฆ์ที่ยังอยู่เมืองมันตเล ที่เปนวัดเล็กมีพระสงฆ์น้อย ก็ถอนพระให้มารวมอยู่เสียที่วัดใหญ่ ๆ วัดที่พระรวินทอยู่ที่เมืองมันตเลมีจำนวนพระสงฆ์เกือบ ๑๐๐๐ รูป ต้องอยู่เยียดยัดกัน ด้วยเหตุนี้ พระรวินทเถรแลพระโสมภิกษุจึงได้ยกมาอยู่เสียที่เมืองร่างกุ้ง ด้วยทายกในประเทศพม่าตอนใต้ยังมีความเลื่อมใสแขงแรงอยู่ อาหารบิณฑบาตก็ค่อยบริบูรณ์
๕ได้ถามว่า เมื่อเวลาเมืองพม่ามีพระเจ้าแผ่นดิน มิงดอมิง ฤๅทีบอก็ดี อานุภาพพระเจ้าแผ่นดินมีแก่สาสนาเพียงใด ได้ความว่า พระเจ้าแผ่นดิน นอกจากตั้งสังฆราชแล้ว ไม่มีกรรมสิทธิ์แลอำนาจเหนือพระสงฆ์ฤๅที่จะเกี่ยวแก่การในสาสนา แต่พระเจ้าแผ่นดินอาจจะทรงหารือกับสังฆราช แล้วกระทำการที่ว่าต่อลงไปนี้ได้ คือ สึกพระผู้กระทำผิดต่อพระธรรมวินัย แลเนรเทศเสียจากพระราชอาณาเขตร ถอดฤๅเลื่อนพระภิกษุที่มีสมณะศักดิ์ได้ตามความผิดแลความชอบ
๖ได้ถามถึงการตั้งสมณะศักดิ์ มีลำดับชั้นที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งฤๅไม่ ได้ความว่า มีการตั้งสมณะศักดิ์ โดยรับอัยบัตรเปนแผ่นเหล็กมีด้าม จารึกนามแลสมณะศักดิ์ในนั้น แลมีดวงตราตำแหน่งทำด้วยเหล็ก จารึกชื่อแลตำแหน่งลงในตรานั้นตามลำดับชั้น สำหรับประทับบนใบลานก็ได้ สมณะศักดิ์มีลำดับชั้นดังนี้
๑ | สาสนนัย | ตรงกับพระสังฆราช | ||
๒ | สยาดอใหญ่ | เปนผู้ช่วยที่หนึ่ง | ||
๓ | สยาดอน้อย | เปนผู้ช่วยที่สอง | ||
๔ | คายชก | เสมอเจ้าคณะนิกาย | ||
๕ | คายโอ๊ก | ผู้ดูแลหมู่วัด | ||
๖ | คายดอก | ผู้ช่วยดูแลหมู่วัด |
๗ได้ถามถึงพระสงฆ์สมณะศักดิ์ ในเวลานี้ ใครเปนผู้ตั้ง ได้ความว่า ในเวลาที่ไม่มีสังฆราชนี้ ที่รัฐบาลอังกฤษยอมรับรอง แต่พระสงฆ์สมณะศักดิ์ยังมีเหลืออยู่บ้าง คือ คายโอ๊ก คายดอก ผู้ที่ได้รับสมณะศักดิ์ในเวลามีพระเจ้าแผ่นดินพม่านั้น เมื่อรัฐบาลอังกฤษไม่ตั้งสังฆราชแล้ว พวกที่ถือพุทธสาสนาก็ปรึกษากันเลือกพระสงฆ์ที่มีความรู้แลมีพรรษามากสมมติขึ้นเปนสังฆราชควบคุมคณะสงฆ์ แต่ไม่มีอำนาจเหมือนแต่ก่อน
๘ได้ถามว่า สาสนนัยนั้นคืออะไร ใครเปนผู้ตั้ง มีจำนวนเท่าไร อำนาจมีแก่พระสงฆ์แลวัดที่ขึ้นประการใด ถานันดรสาสนนัยเปนคำบาฬีอย่างไร ได้ความว่า สาสนนัย คือ สังฆราชนั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง มีแต่คราวละองค์เดียวเท่านั้น มีอำนาจเหนือสงฆ์แลวัดทั้งปวงดังพระเจ้าแผ่นดิน มีอำนาจเหนือพศกนิกรทั่วไปฉนั้น ฐานันตรในคำบาฬีใช้ชื่อแล้วต่อตำแหน่งว่า ธรรมเสนาบดีราชาธิราชคุรุ จารึกลงในอัยบัตรแลตราเหล็กด้วย
๙ได้ถามว่า คายโอ๊ก คายดอก นั้นอย่างไร มีจำนวนเท่าไร ทำการสิ่งไร ได้ความว่า คายโอ๊กนั้นเปนผู้ดูแลหมู่วัด แลคายดอกนั้นเปนผู้ช่วยคายโอ๊ก มีจำนวนมาก แลเปนผู้ดูแลการวัดแลพระที่ขึ้นอยู่ในหมวดหมู่ของตน แต่จะทำการสิ่งไรไม่ได้นอกจากคำสั่งคายชกแลสาสนนัย
๑๐ถามว่า ที่แผ่นดินของวัดทั้งหลายจัดการอย่างไร เว้นจากภาษีอากรฤๅไม่ ได้ความว่า ประกาศที่เรียกว่า วรกู รวมที่ดินซึ่งใช้ทำวัดนั้น ยกจากภาษีอากรทุกชะนิด
๑๑ได้ถามว่าจำนวนวัดแลพระสงฆ์ในเมืองพม่า มีประมาณสักเท่าไร การประชุมได้มีอย่างไร ใครเปนประธาน ได้ความว่า พระสงฆ์สามเณรทั้งเมืองพม่าเหนือแลใต้ประมาณสามลักข์ คือ สามแสน แลวัดประมาณสักเจ็ดหมื่น[9] การประชุมอุปสมบทกรรมนั้นดังนี้ ผู้หนึ่งผู้ใดปราถนาจะบวชตนเองแล้ว ก็ไปยังที่สีมามีพระสงฆ์ไม่น้อยกว่าห้ารูปขึ้นไป มีไตรบาตรพร้อมด้วยบริกขาร เมื่อไปถึงในที่สีมาแล้ว พระสงฆ์ก็ถามปัญหาตามข้อกำหนดในบัพพชาขันธ์ ถ้าผู้ที่จะบวชนั้นพ้นจากอันตรายิกธรรมที่กำหนดไว้ไนบัพพชาขันธ์แล้ว ก็จัดว่า เปนผู้สมควรที่จะอุปสมบทได้ โดยสวดกรรมวาจาด้วยพระภิกษรูปหนึ่งฤๅมากกว่า แลวิธีบวชตามที่อธิบายก็คล้ายอย่างมหานิกายบวชนั้นเอง ไม่จำต้องกล่าวให้พิศดาร แต่ผู้อุปสมบทเปนภิกษุมีน้อย เพราะประเพณีพม่า บวชแล้วไม่ใคร่จะสึก ถ้าสึก มักถูกติเตียน ชาวบ้านไม่นับถือ จึงบวชเปนแต่สามเณรโดยมาก แต่เดี๋ยวนี้ แม้ที่บวชเปนสามเณรก็น้อยลง ไม่มากเหมือนแต่ก่อน เพราะเด็กหันเข้าโรงเรียน ๆ ภาษาอังกฤษโดยมาก ด้วยเห็นว่า เรียนภาษาบาฬีไม่ได้ผลประโยชน์เหมือนแต่ก่อน คนที่เล่าเรียนภาษาบาฬีอยู่เดี๋ยวนี้ก็เปนที่รักพระสาสนาเท่านั้น ถึงดังนั้น ชาวพม่าก็ยังมั่นอยู่ในพระพุทธสาสนา ที่จะเข้ารีดสาสนาอื่นนั้นไม่ใคร่มี มีแต่พวกเงี้่ยวพวกกะเหรี่ยงที่ไม่ใคร่จะรู้คำสอนในพระพุทธสาสนา การสังฆกรรมผูกพัทธเสมาอุโบสถกรรมเปนต้นก็ละม้ายคล้ายกันกับแบบคณะมหานิกายที่กระทำอยู่ทุกวันนี้ แต่ในเรื่องสังฆกรรมดูชำนาญมากกว่าสิ่งอื่น บรรดาพระที่เข้ามาคราวนี้ สอบถามวิธี อธิบายได้ทุกรูป แต่การปฏิบัติเปนปานกลาง ไม่สู้จะเคร่งนัก
ได้ถามว่า พระสงฆ์ในเมืองพม่าเปนผู้รู้ธรรมวินัยตลอดทั่วไปฤๅเปนแต่บางหมู่บางพวก สมณะทูตอธิบายว่า ถ้าพระสงฆ์อยู่ภายในเมืองฤๅที่ใกล้เคียงเมือง ก็เปนผู้ศึกษาพระธรรมวินัยมาก ถ้าเปนพระอยู่ในประเทศบ้านนอกแล้ว จะหาผู้ที่รู้ธรรมวินัยไม่ใคร่จะมี
อนึ่ง เรื่องสีมานั้น เมื่อครั้งมีพระเจ้าแผ่นดิน ๆ พระราชทานวิสุงคาม พระสงฆ์ถอนแลผูกเปนพัทธสีมา ครั้นเมืองพม่าเปนของอังกฤษแล้ว การผูกพัทธสีมา รัฐบาลอังกฤษก็ให้อนุญาตที่วิสุงคาม แต่พระสงฆ์บางพวกรังเกียจว่า การให้วิสุงคามสีมานั้นต้องควรพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษพระราชทานจึงจะชอบ เพราะเปนเจ้าของแผ่นดินพม่าที่รัฐบาลอังกฤษในอินเดีย ฤๅเล็บเตลแนนต์เคาวเนอเมืองพม่าจะให้อนุญาตนั้นไม่ควร เปนการถุ้มเถียงเริดร้างมาช้านาน ภายหลังก็ตกลงยอมรับว่า รัฐบาลให้ได้ แลเดี๋ยวนี้ ได้มีไว้ในกฎหมายที่ดินสำหรับที่สีมาที่รัฐบาลอังกฤษจะให้แลยกเว้นจากภาษีอากรด้วย แลว่า วิสุงคามสีมานั้นถือเปนสำคัญนัก เมื่อครั้งยังมีพระเจ้าแผ่นดินอยู่ เปนสิทธิ์ขาดแก่สงฆ์ทีเดียว ที่สุดผู้กระทำผิดเข้ามาในที่วิสุงคามแล้ว จะจับกุมก็ไม่ได้ แลว่า ได้เคยมีตัวอย่างมาด้วย การที่พระสงฆ์รังเกียจเรื่องวิสุงคามที่ว่า ต้องให้พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษพระราชทานนั้น เปนด้วยไม่รู้ลักษณะการปกครองของอังกฤษ เพราะไวสรอยเปนผู้แทนพระเจ้าแผ่นดินแลมีที่ปรึกษา อาจทำการในน่าที่เจ้าแผ่นดินได้หมด
การประชุมสงฆ์สมาคมนั้นในเวลานี้ไม่มี แต่เมื่อเวลาที่มีพระเจ้าแผ่นดินเปนสาสนูปถัมภ์อยู่นั้น การประชุมใหญ่ที่ในสุตมาสภามีบ่อย ๆ พระสงฆ์ที่เปนใหญ่ในสุตมาสภาเปนประธาน แลพระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์ในการนั้น
๑๒ได้ถามว่า พระสงฆ์ทำผิดในปาราชิกฤๅโทษอื่น ๆ ได้รับโทษในทางอาณาจักรประการใด แลชำระที่ศาลวินิจฉัยคดีฤๅไม่
ได้ความว่า ภิกษุที่เปนปาราชิกต้องรับโทษต่างกัน ถ้าเปนโทษในเมถุนปาราชิก ฤๅอุตตริมนุสสธัมมปาราชิก พระสงฆ์ผู้เปนใหญ่ได้ทำโทษผู้ที่ทำผิด คือ ไล่เสียจากหมู่จากคณะ แต่หามีโทษแผ่นดินไม่ ถ้าเปนโทษในอทินนาทานปาราชิก แลมนุสสวิคคหปาราชิก ต้องส่งไปยังศาลวินิจฉัยคดีให้พิจารณาตัดสินลงโทษตามเหตุการณ์ที่ศาลเห็นสมควรจะลงโทษ เพราะมีอาญาหลวงด้วย[10]
๑๓ได้ถามถึงพนักงานสำหรับเกี่ยวแก่พุทธสาสนิกบริษัทแลรัฐบาลอังกฤษในเวลานี้มีเจ้าน่าที่ฤๅไม่ แลรัฐบาลอังกฤษได้เกี่ยวข้องแก่สาสนาแลบำรุงพระสงฆ์ประการใดบ้าง
ได้ความว่า ไม่มีพนักงานในระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับพุทธสาสนิกบริษัทในเวลานี้ แลการที่รัฐบาลอังกฤษจะเกี่ยวข้องฤๅบำรุงพระสงฆ์ก็ไม่มี
๑๔ได้ถามถึงการเล่าเรียนศึกษาในเมืองพม่าครั้งมีพระเจ้าแผ่นดินแลเดี๋ยวนี้จัดการผิดกันอย่างไร
ได้ความว่า ครั้งมีพระเจ้าแผ่นดิน การเล่าเรียนศึกษาในเมืองพม่า ก็เรียนภาษาพม่าแลภาษาบาฬีตามวัด ชาวบ้านมีบุตร เอาไปฝากวัดเปนลูกศิษย์พระ คล้ายในกรุงเทพฯ แต่เมื่ออังกฤษได้ปกครองเมืองพม่าตอนใต้ ได้ตั้งกรมศึกษาจัดการเล่าเรียน มีโรงเรียนเปนของรัฐบาลจัดบ้าง ของนคราภิบาลจัดบ้าง โรงเรียนไปรเวตรัฐบาลบำรุงให้เงินบ้าง ให้ของบ้าง ให้รางวัลแก่หัวน่ากับนักเรียนที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรบ้าง ที่เปนโรงเวียนไปรเวตรัฐบาลไม่ได้อุดหนุนก็มี โรงเรียนตามวัดก็มี โรงเรียนใตที่รัฐบาลอุดหนุน รัฐบาลตรวจการเล่าเรียนทุกแห่ง แลแบ่งเขตรจัดการเล่าเรียนเปนมณฑล มี ๓ มณฑล มีสารวัดแลรองสารวัดสำหรับการตรวจสอบไล่ แลมีวิทยาลัยที่เมืองรางกูนสอนวิชาชั้นสูงสำหรับเข้าสอบไล่ในมหาวิทยาลัยเมืองกาลกัตตาเพื่อจะได้ดีกรี แลมีโรงเรียนพวกมิศเชนนารีทั้งอังกฤษ แลอเมริกัน แลคาโธลิกฝรั่งเศส แลโรงเรียนนางชีก็มี ถ้าจะต้องการทราบลเอียด รับว่า จะส่งแบบแผนแลข้อบังคับการศึกษาเล่าเรียนในเมืองพม่าที่รัฐบาลอังกฤษได้จัดการมาให้ทราบโดยลเอียด แลที่เมืองมันดเลพม่าตอนเหนือเดี๋ยวนี้ การศึกษาก็จัดธรรมเนียมคล้ายกับเมืองรางกูนในพม่าตอนใต้ นอกจากกรมศึกษาธิการที่ได้จัดการเล่าเรียนของรัฐบาล ยังมีที่ประชุมรับจัดการเล่าเรียนแลสอบไล่ความรู้ตามหัวเมืองด้วย มิศเตอโปป คนอังกฤษ เปนพนักงานใหญ่ในการศึกษา
๑๕ได้ถามถึงการสอบไล่พระปริยัติธรรมมีฤๅไม่ ถ้ามี ได้สอบไล่ในบาฬีคัมภีร์ใดบ้าง แลมีชั้นของการสอบไล่อย่างไร ใครเปนผู้สอบไล่
ได้ความว่า เมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองพม่านั้น พระเจ้าแผ่นดินเปนพระราชธุระให้จัดการสอบไล่พระปริยัติธรรมในเดือนเจ็ดขึ้น ๑๕ ค่ำจนถึงเดือนแปดขึ้น ๑๕ ค่ำเปนเสร็จ สอบไล่ทุกปี ในการสอบไล่นั้น มีรับสั่งให้อาราธนาพระมหาเถรานุเถรเปนผู้สอบไล่ในที่ประชุมณสุตมาสภา นักเรียนที่เข้าสอบไล่นั้นมีแต่เด็กแลสามเณรเท่านั้น ภิกษุไม่มี วิธีสอบไล่นั้นจัดเปนสามชั้น คือดังนี้―
สามเณร เด็ก |
อายุ | ๑๑ ๑๒ ๑๓ |
ปี | สอบไล่ด้วย | มูลกัจจายน คือ สูตร อภิธัมมัตถสังคหบาฬี มาติกาปาฐ ธาตุกถา |
นักเรียนต้องว่าบาลีด้วยปากแต่แบ่งเปนส่วน ๆ กัน ถ้า | สามเณร เด็ก |
อายุ | ๑๔ ๑๕ ๖ |
ปี | สอบไล่ด้วย | มูลกัจจายน อภิธัมมัตถสังคห มาติกาปาฐ ธาตุกถา ปัญจยมก |
ถ้า | สามเณร เด็ก |
อายุ | ๑๗ ๑๘ ๑๙ |
ปี | สอบไล่ด้วย | มูลกัจจายน อภิธัมมัตถสังคห มาติกา ธาตุกถา ทสยมก ปัฏฐาน อภิธานัปปทีปิกา วุตโตทัย สุโพธาลังการ |
นักเรียนต้องว่าบาฬีด้วยปากทั้งนั้น เมื่อสอบไล่บาฬีไม่คลาดเคลื่อนแล้ว ท่านผู้สอบไล่ย้อนถามให้อธิบายเปนภาษาพม่าอิก ถ้าสอบไล่ได้บาฬีแลอธิบายได้แล้ว ก็นับเข้าในชั้นเปนชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี พระเจ้าแผ่นดินยกพระราชทานบำเหน็จต่าง ๆ กัน นักเรียนสอบได้ชั้นเอก โปรดให้เว้นการเก็บภาษีอากรในบรรดาญาติของผู้ที่สอบไล่ได้ทั้งหมด เพื่ออุดหนุนการเรียนพระปริยัติธรรม เพราะผู้ที่สอบไล่ได้ชั้นเอกนั้นน้อย ปีหนึ่งก็ได้เพียงคนหนึ่งสองคน ด้วยต้องการทั้งความจำ ความรู้ แลเสียงด้วย จึงให้เปนประโยชน์พิเศษอันใหญ่ยิ่ง ผู้สอบไล่ได้ในชั้นโทนั้น โปรดให้เว้นภาษีอากรแก่ญาติแต่ ๗ หลังคาเรือน เพื่อที่จะอุดหนุนผู้ที่จะเข้าเรียนสอบไล่ได้นั้น แต่ชั้นตรีนั้น เจ้านายในราชตระกูลอุปถัมภ์ตามแต่จะให้ ถ้าผู้ที่สอบไล่ได้เปนคฤหัสถ์ พระเจ้าแผ่นดินประทานไตรแลบริกขารให้อุปสมบทเปนสามเณรหลวง แต่ในปัจจุบันนี้ การสอบไล่มีข้อบังคับของกรมศึกษาธิการในรัฐบาลอังกฤษ ผู้เข้าสอบไล่เข้าได้ ทั้งพระสงฆ์ สามเณร แลคฤหัสถ์ ให้รางวัลดังต่อไปนี้
รางวัลที่ | ๑ | ๑๕๐ | รูเปีย | |||
" | ๒ | ๑๐๐ | " | |||
" | ๓ | ๗๕ | " | |||
" | ๔ | ๕๐ | " |
แลให้ประกาศนียบัตรด้วย แต่การทีรัฐบาลอังกฤษจัดการสอบไล่ขึ้นได้ ๒ ปีเท่านั้น การสอบไล่ยังไม่เรียบร้อยดีได้เหมือนแต่ก่อน
๑๖ได้ถามว่า เมื่อพระพุทธสาสนาอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุดหนุนแก่พระสงฆ์ประการใดบ้าง แลมีการพิธีตามพระพุทธสาสนาประจำเดือนในพระราชวังตั้งแต่เดือนจิตรมาศถึงเดือนผคุณมาศนั้นประการใดบ้าง
ได้ความว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์พระสงฆ์ โดยพระราชทานเข้าสาร กับโงเป คือ ปลาเค็ม ปลาแห้ง ปลาย่าง แลน้ำมัน ทุกเดือน พระสงฆ์บางองค์ที่ทรงสมณศักดิ์ ก็ได้เพิ่มเติมจากของพระราชทานที่กล่าวมาแล้ว เปนเงิน ๓๐ รูเปียบ้าง ๒๕ รูเปียบ้าง ๒๐ รูเปียบ้าง โดยลำดับตามสมควรจะได้
พิธีประจำเดือนในทางพระพุทธสาสนานั้น ในเดือนจิตรมาศ พระเจ้าแผ่นดินได้เคยโปรดให้นิมนต์บรรดาพระสงฆ์ที่มีฐานันดรเข้าไปในพระราชวัง พระราชทานเข้า แลปลาเค็ม ฯลฯ แก่พระสงฆ์ ในเดือนวิสาขมาศ พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ทรงทำพิธีวิสาขบูชา แต่หมู่ราษฎรได้กระทำพิธีวิสาขบูชาทุกปี มีจุดโคมไฟแลฟังพระธรรมเทศนาเปนต้น ในเดือนเชษฐมาศนั้น มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมเปนการหลวงดังกล่าวมาแล้ว ในเดือนอาสาธมาศปุริมพรรษานั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายดอกไม้ธูปเทียนแก่พระสงฆ์ซึ่งอยู่จำพรรษาในพระอารามหลวงทั่วไป เดือนสาวนมาศ ไม่มีการบำเพ็ญพระราชกุศล ในเดือนโปฏฐปทมาศ มีการกวนมธุปายาศในพระราชวัง แต่ไม่มีพระเข้าไป เปนแต่เมื่อกวนแล้ว นำไปถวายพระทั่วไป แลหมู่ราษฎรก็ทำบุญเช่นนี้ ทั้งตักบาตรด้วย ในเดือนอัสยุชมาศ เวลาออกพรรษา พระเจ้าแผ่นดินได้บำเพ็ญพระราชกุศลนิมนต์พระสงฆ์สมณศักดิ์แลภิกษุอนุจรอันดับนับด้วยพันรูปเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตที่ในพระราชวัง ทรงบาตรแลทรงประเคนเลี้ยงพระด้วย ครั้นพระสงฆ์กระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ถวายอนุโมทนา สวดรัตนสูตร เมตตสูตร เท่านั้น
ได้ถามว่า พระสงฆ์อนุโมทนาแล้วถวายอติเรกด้วยฤๅไม่ ว่า ไม่มี แต่มีวิธีเมื่อสวดอนุโมทนาจะจบ ออกพระนามมหาราชา ถึงอนุโมทนาที่อื่น เช่น ที่วังพระราชวงศ์ ฤๅบ้านอำมาตย์ ก็ออกนามเหมือนกัน เพราะให้เฉภาะตัว ถ้าไม่เช่นนั้น ก็ไม่เปนการอนุโมทนาเฉภาะ ในเดือนกัตติกมาศ มีกฐินหลวง แต่พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสด็จไปทอดพระกฐินตามวัดเลย เปนแต่มีพระราชดำรัสให้อำมาตย์นำไตรจีวรแลเครื่องบริกขารครบตามจำนวนพระอารามหลวงไปยังศาลาที่ประชุมสุตมาสภา แล้วอำมาตย์ผู้รับสั่งก็มีหมายไปยังเจ้าอาวาศซึ่งอยู่ในพระอารามหลวงทุก ๆ พระอารามให้มารับไตรจีวรแลเครื่องบริขารไป พระเถรสมณศักดิ์เจ้าอาวาศก็ให้สามเณรแลศิษย์ไปขนไตรจีวรแลเครื่องบริขารสำหรับวัดของตนไปยังอาราม แล้วอำมาตย์จึงสั่งให้ราชบุรุษตามไปถวายกฐินเปนภาษาบาฬีว่า อิมํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส เทม ในท่ามกลางสงฆ์อารามละคน ๆ ทุก ๆ พระอารามตามจำนวนวัดหลวง แต่ราษฎรกระทำไม่เหมือนของหลวง คือ ต้องนำไตรจีวรแลเครื่องบริกขารไปทอดกฐินตามอารามคล้ายอย่างที่ทำในกรุงสยามทุกวันนี้ ในเดือนมิคศิรมาศ แลเดือนปุสยมาศ เดือนมาฆมาศ ผคุณมาศ ๔ เดือนนี้ ถามไม่ได้ความว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างใดบ้าง ได้ความแต่ว่า ทรงบำเพ็ญเปนครั้งเปนคราว แลในฤดูหนาวนั้น ราษฎรมีการประชุมก่อพระเจดีย์ทราย แต่ก็ไม่ก่อที่วัด มักเลือกที่ตามเห็นสมควรแล้วนัดกันประชุมก่อ แต่พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย
๑๗ได้ถามถึงการปลงศพนั้น ทำการมีวิธีอย่างไรบ้าง พระสงฆ์เกี่ยวข้องด้วยฤๅไม่
ได้ความว่า ถ้าสังฆราชถึงมรณภาพลง พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ปลูกเมรุทำฌาปนกิจ มีเทศนาแลบังสุกุลถวายเครื่องไทยธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ แลพระสงฆ์คฤหัสถ์ราษฎรเปนอันมากก็ไปมาประชุมกันทำบุญในการปลงศพสังฆราชเปนการใหญ่ แต่พระสงฆ์อื่นมรณภาพ เมื่อทำการฌาปนกิจ มีดอกไม้เพลิง พระสงฆ์คฤหัสถ์ชาวบ้านประชุมกันปลงศพ มีการจุดลูกหนูดังพระพม่าทำกันอยู่ในกรุงนี้
แต่ส่วนพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตนั้น ไม่มีการถวายเพลิง พระราชวงศ์แลอำมาตย์จัดพระศพลงในหีบ แล้วก่อปราสาทด้วยอิฐปูน เชิญพระศพบรรจุไว้ในนั้น ถ้าเปนพระอรรคมเหษีที่ ๑ ที่ ๒ พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้ทำปราสาท แล้วฝังอย่างเดียวกัน แต่ชั้นพระราชบุตรแลพระราชธิดาสิ้นพระชนมายุลง ไม่ได้ฝัง พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ทำเมรุพระราชทานเพลิง ตลอดลงมาถึงอำมาตย์ก็เผาทั้งนั้น แต่ศพราษฎรนั้นเผาโดยมาก แต่ที่ฝังก็มี
การไต่ถามได้ความเพียงนี้ เพราะเวลาที่ถามมีน้อย ได้แต่เวลากลางคืน ด้วยเวลากลางวันมีกิจ แลมีผู้มาเยี่ยมเยียนเสีย
- ↑ เรื่องตำนานพระพุทธสาสนาที่สมณะทูตพม่าชี้แจงต่อไปนี้ เห็นได้ว่า กล่าวตามเนื้อความในศิลาจารึกกัลยาณีของพระเจ้ารามาธิบดีปิฎกธรเท่าที่ทรงจำไว้ได้ จารึกนั้นหอพระสมุดฯ ได้แปลแลพิมพ์แล้ว
- ↑ เมิองเตลง หมายความว่า เมืองมอญ ในจารึกว่า เมืองสะเทิม ฤๅสุธรรมนคร ในรามัญประเทศ
- ↑ เรื่องตำนานที่กล่าวตรงนี้ก็มีพิศดารอยู่ในจารึกกัลยาณี เล่าตามที่จำได้
- ↑ ในจารึกกัลยาณีว่า พระ ๕ รูปนี้ไปบวชแปลงมาแต่ลังกาทวีป
- ↑ คือ ที่เรียกในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระเจ้ามังลอง เปนต้นราชวงศ์ที่สุด
- ↑ โยนะนิกาย น่าจะเปนพวกไทยใหญ่
- ↑ ที่เรียกในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ตะแคงปะดุงได้ครองประเทศพม่า ตรงกับรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์
- ↑ ที่เรียกว่า จุลคัณฐี กับมหาคัณฐี ในที่นี้ จะตรงกับจุลคณี แลมหาคณี ที่กล่าววต่อไปข้างน่านั่นเอง
- ↑ จำนวนพระสงฆ์แลวัดดังกล่าวนี้ น่าจะเปนแต่คาดคเน ผู้บอกเห็นจะไม่รู้จำนวนทีเดียว
- ↑ ความที่กล่าวด้วยเรื่องตัดสินโทษปาราชิก สงไสยว่า จะว่าตามแบบแผนเมื่อเมืองเปนของอังกฤษแล้ว