สลภชาดก

จาก วิกิซอร์ซ

พระศาสดาเมื่อทรงประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภซึ่งปัญหาที่พระองค์ทรงแก้แก่กาและหนอน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อหํ ชาติโก หุตฺวา ดังนี้ ความมีอยู่วา ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรม นั่งพรรณนาคุณของพระศาสดาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระตถาคต มีพระปัญญามาก หนักแน่น ลึกซึ้ง ว่องไว แก่กล้า เบิกบาน โดยที่สุด แม้แต่ปัญหาของสัตว์เดียรัจฉานพระองค์ทรงพยากรณ์ได้ พระตถาคตมีพระปัญญามากเทียวหนอ พระศาสดา เสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้ จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจะได้วิสัชนาติรัจฉานปัญหาในชาตินี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงในกาลก่อน ติรัจฉานปัญหาเช่นนี้ก็ได้เคยมีมาแล้ว ดังนี้แล้ว อันภิกษุทั้งหลายทูลวิงวอน ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่าพรหมทัต ครองราชสมบัติในพาราณสีนคร ก็ในคราวนั้น พระโพธิสัตว์อุบัติในกุฎุมพิกสกุล เมื่อถ้วนทศมาส ก็คลอดจากครรภ์มารดา พระโพธิสัตว์เจริญวัยขึ้นโดยลำดับ กาลต่อมา เมื่อบิดาตายไปแล้ว ได้ทรัพย์สมบัติมาก คิดว่า เราจะบริจาคทางให้เป็นทางไปสู่สวรรค์ แล้วบริจาคทานแก่ยาจกทั้งหลาย ถึงเจ็ดวันแบ่งทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดเป็นสองส่วน แบ่งถวายพระราชาส่วนหนึ่ง มอบให้แก่หมู่ญาติทั้งปวงเสียส่วนหนึ่ง แม้พระองค์เองเข้าสู่ป่าหิมพานต์ แล้วไปบวชเป็นดาบสอยู่ในอาศรมในป่าหิมพานต์นั้น เลี้ยงชีวิตด้วยรากไม้และผลไม้ บำเพ็ญกสิณบริกรรมได้ฌานอยู่สิ้นกาลนาน คราวนั้น มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ตั้งอยู่ด้านปราจีนทิศแห่งอาศรมมีตั๊กแตนตัวใหญ่ตัวหนึ่งตัวใหญ่เท่าลูกฟัก อาศัยอยู่ที่ต้นไทรใหญ่นั้น ในคราวนั้น มีนกครุฑตัวหนึ่ง ออกจากภพเที่ยวไปในสรรพทิศ ไม่ได้อาหารกินถึงเจ็ดวัน บินมาถึงมหานิโครธ นั่งจับเจ่าอยู่ เห็นตั๊กแตนตัวใหญ่ตัวหนึ่งแล้วคิดว่า โอหนอ วันนี้เราได้กินอาหารหละ ดังนี้แล้ว พูดกะตั๊กแตนตัวใหญ่ว่า แนะตั๊กแตนตัวใหญ่ เราจะกินตัวท่านละ ตั๊กแตนตัวใหญ่ได้ฟังนกครุฑแล้วตกใจ คิดว่า เราจักทำอุบายอย่างไร นกครุฑตัวนี้มีกำลังมาก จักกินเรา ชีวิตของเราย่อมไม่มี ตั๊กแตนตัวใหญ่พูดกะนกครุฑว่า แน่ะท่านมหานกครุฑผู้เจริญ ท่านรู้จักสิ่งใดจึงจะกินเรา ลำดับนั้น นกครุฑได้กล่าวกะตั๊กแตนตัวใหญ่ว่า แน่ะตั๊กแตนตัวใหญ่ ตัวท่านรู้จักธรรมหรือ ตั๊กแตนตัวใหญ่กล่าวว่า แน่ะนกครุฑ เรารู้จักธรรม นกครุฑกล่าวว่า แน่ะตั๊กแตนตัวใหญ่ ท่านรู้ จงบอกเรา ตั๊กแตนตัวใหญ่ขู่นกครุฑว่า นกครุฑผู้เจริญ เราจะถามปัญหาสี่ข้อ ถ้าว่า ท่านรู้ จงกินเราเถอะ ถ้าว่า ท่านไม่รู้ จะกินเราศีรษะของท่านจัจกแตกเจ็ดภาค ดังนี้แล้ว จึงถามปัญหา นกครุฑได้วิสัชนาแล้ว ครั้งนั้นแล ตั๊กแตนตัวใหญ่กล่าวว่า นกครุฑผู้เจริญ ท่านไม่รู้ความหมายหรืออธิบาย แม้แต่สักข้อหนึ่งเลย ท่านจะกินเรายังไม่ได้ ถ้าว่า ท่านจะขืนกินเรา ศีรษะของท่านจักแตกออกเจ็ดชิ้น ถ่้าว่า ท่านจะกินเราให้ได้ เรามาพากันไปถามพระดาบส พระดาบสพยากรณ์สมคำของท่าน ท่านจงกินเราเถิด ลำดับนั้น นกครุฑตอบว่า ดีแล้ว นกครุฑผู้เจริญ เราจักไป ดังนี้แล้วก็พากันบินไปยังสำนักพระดาบส ยืนอยู่ที่ควรข้างหนึ่ง ตั๊กแตนได้กล่าวกะดาบสว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า นกครุฑตัวนี้จะกินข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าถามปัญหาสี่ข้อ นกครุฑไม่สามารถแก้ได้แม้สักข้อเดียว ข้าพเจ้าทั้งสองจึงพากันมา ขอท่านช่วยวิสัชนาปัญหา ทำเนื้อความปัญหาให้แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้าทั้งสองด้วยเถิด พระดาบสถามว่า แน่ะตั๊กแตนตัวใหญ่ ปัญหาสี่ข้อนั้นท่านถามว่ากระไร นกครุฑเขาแก้ปัญหาได้ความว่าอย่างไร ตั๊กแตนตัวใหญ่จึงบอกอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สภาวะสิ่งหนึ่งงามยิ่ง ได้แก่ สิ่งอะไร นกครุฑพยากรณ์ว่า สภาวะสิ่งหนึ่งชื่อว่างามยิ่งนั้น ได้แก่ พระจันทร์ วันเพ็ญสิบห้าค่ำ ดาบสถามว่า จริงหรือ เจ้าครุฑ นกครุฑตอบว่า จริง ท่านผู้เจริญ พระดาบสพูดกะนกครุฑว่า แน่ะนกครุฑ ท่านหารู้จักพยากรณ์ปัญหาให้ถูกได้ไม่ แล้วพยากรณ์ว่า แน่ะนกครุฑ สภาพอันหนึ่งชื่อว่างามยิ่งนั้น ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๕ ศีล ๘ เหล่านี้ มีอยู่แก่มนุษย์พวกใด มนุษย์พวกนั้น ชื่อว่างามยิ่งในโลกนี้และโลกหน้า ตั๊กแตนตัวใหญ่ให้สาธุการว่า ดีละ กล่าวอีกว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าถามว่า สภาพอีนหนึ่งชื่อว่ายาวยิ่ง ได้แก่ สิ่งอะไร นกครุฑพยากรณ์ว่า สภาพอันหนึ่งชื่อว่ายาวยิ่งนั้น ได้แก่ หนทางที่มหาชนเดินไปมาทุกๆ วัน พระดาบสถามว่า จริงหรือเจ้านกครุฑ นกครุฑตอบว่า จริง ท่านผู้เจริญ แล้วเฉลยว่า แน่ะนกครุฑ ท่านหารู้จักพยากรณ์ปัญหาให้ถูกได้ไม่ แล้วพยากรณ์ว่า ท่านจงฟัง สภาพอันหนึ่งชื่อว่ายาวยิ่งนั้น ได้แก่ ธรรม ๒ ประการ คือ สัปปุริสธรรม และอสัปปุริสธรรม ธรรม ๒ ประการนี้ ชื่อว่ายาวและไกลกัน เหมือนดั่งฝั่งสมุทร หรือแผ่นดินกับฟ้า ฉะนั้น ชื่อว่า สัปบุรุษไกลจากพวกอสัปบุรุษด้วยคุณร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า แน่ะนกครุฑ ท่านพูดว่า สภาพอันหนึ่งชื่อว่ายาวยิ่ง ได้แก่ หนทาง ข้อนั้นผิด ตั๊กแตนตัวใหญ่ให้สาธุการ แล้วกล่าวอีกว่า ท่านดาบสผู้เจริญ ข้าพเจ้าถามว่า สภาพอันหนึ่งชื่อว่าละเอียดอ่อนยิ่งนั้น ได้แก่ สิ่งอะไร นกครุฑพยากรณ์ว่า สภาพอันหนึ่งชื่อว่าละเอียดอ่อนยิ่งนั้นได้แก่ นุ่นสำลีใย ดาบสถามว่า จริงหรือ เจ้านกครุฑ นกครุฑตอบว่า จริง ท่านผู้เจริญ ดาบสกล่าวว่า ท่านจงฟัง สภาพอันหนึ่งชื่อว่าละเอียดอ่อนยิ่งนั้น ได้แก่ พระโลกุตรธรรมกับปริยัติธรรม พระโลกุตรธรรมกับพระปริยัติธรรม สุขุมละเอียดยิ่งกว่าสิ่งอื่นทั้งมวล ตั๊กแตนตัวใหญ่ให้สาธุการ แล้วกล่าวอีกว่า ท่านดาบสผู้เจริญ ข้าพเจ้าถามว่า สภาพอันหนึ่งชื่อว่าไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่า ได้แก่ สิ่งอะไร นกครุฑพยากรณ์ว่า ได้แก่ มรณธรรมคือความตาย อัสสะปัสสาสะของสัตว์โลกชื่อว่า ไม่มีสภาพอื่นยิ่งกว่า ดาบสถามว่า จริงหรือ เจ้านกครุฑ นกครุฑตอบว่า จริง ท่านผู้เจริญ ดาบสกล่าวว่า แน่ะนกครุฑ ท่านย่อมไม่รู้ สภาพอันหนึ่งชื่อว่าไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านั้น ได้แก่ พระอริยสาวกทั้งหลายๆ แรกทำวิปัสสนาให้เจริญแล้ว บรรลุฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ แล้วบรรลุโสดาปัตติผล สกทามิผล อนาคามิผล และอรหัตผล แล้วดับกิเลสได้สิ้นเชิง ส่วนนี้เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ปัญจขันธ์ ๕ คือ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ย่อมดับไป อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอาทิ ย่อมดับไป พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธสาวกทั้งหลายท่านย่อมดับปัญจขันธ์ ๕ อย่างนี้ เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน อันนี้แหละชื่อว่าสภาพไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่า แน่ะนกครุฑ คำที่กล่าวว่ามรณธรรมนั้น ผิด หาถูกไม่ ลำดับนั้นแล ตั๊กแตนตัวใหญ่ ได้ให้สาธุการ เทพยดาในไพรสณฑ์ก็ให้สาธุการ ในขณะนั้น ตั๊กแตนตัวใหญ่กล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะนกครุฑผู้เจริญ ปัญหาสี่ข้อที่เราถามท่าน ท่านแก้หาถูกไม่ อันพระดาบสพยากรณ์ก็หาสมคำท่านไม่ ท่านยังจะกินเราอีกหรือ นกครุฑจึงตอบว่า เราไม่กินท่านละ ลำดับนั้น พระดาบสให้โอวาทแก่นกครุฑว่า ตั้งแต่นี้ไป ท่านจงกินอาหารที่ควรกิน อย่ากินอาหารที่ไม่ควรกิน ดังนี้แล้วจึงแสดงศีลห้าให้ฟัง นกครุฑและตั๊กแตนตัวใหญ่ นมัสการพระดาบส กระทำประทักษิณ ลากลับไปยังที่อยู่ของตนแล้วแล พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามีมาแล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้พยากรณ์ปัญหาแก่สัตว์เดียรัจฉานแต่ในบัดนี้ก็หาไม่ แม้ในกาลก่อน การพยากรณ์ดิรัจฉานปัญหา ได้มีมาเหมือนกัน ดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า มารดาพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระมหามายา บิดาพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระอานนท์ผู้เป็นพระอนุชา ตั๊กแตนตัวใหญ่ในครั้งนั้นกลับชาติมาคือพระสารีบุตร นกครุฑในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพุทธบริษัท พระดาบสผู้มีผัญญามากในครั้งนั้น กลับชาติมาคือพระตถาคต ดังนี้