ข้ามไปเนื้อหา

สัญญาในระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษฯ 10 มีนาคม ร.ศ. 127

จาก วิกิซอร์ซ
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๑๒๘
เล่ม ๒๖ น่า ๗๐๑
ราชกิจจานุเบกษา

สัญญาในระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษ
ลงชื่อกันที่กรุงเทพฯ ณวันที่ ๑๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ ๑๒๗
แลได้แลกเปลี่ยนรติฟิเกชันของสัญญานี้ที่กรุงลอนดอน
วันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ ๑๒๘ มีความดังต่อไปนี้

สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม กับสมเด็จพระเจ้ากรุงเครตบริเตนแลไอร์แลนด์ กับทั้งดินแดนอังกฤษทั้งหลาย แลเปนบรมราชาธิราชแห่งประเทศอินเดีย มีพระราชประสงค์ที่จะให้ความต่าง ๆ ซึ่งเกิดในระหว่างสองประเทศนี้เปนอันแล้วเสร็จสิ้นไป จึงได้ตกลงกันทำหนังสือสัญญาขึ้นฉบับหนึ่ง แลได้ตั้งแต่งผู้มีอำนาจเต็มเพื่อประโยชน์การทำสัญญานี้ทั้งสองฝ่าย คือ

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ฝ่ายหนึ่ง

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษนั้น มิสเตอร์ราลฟ์ แปชยิด อรรคราชทูตวิเศษ แลผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษ อีกฝ่ายหนึ่ง

ต่างได้รับหนังสือมอบอำนาจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ที่ได้สอบสวนกันเห็นถูกต้องตามแบบอย่างดีแล้ว จึงได้พร้อมกันตกลงทำสัญญา มีข้อความดังจะกล่าวต่อไปนี้

ข้อรัฐบาลสยามยอมโอนให้แก่รัฐบาลอังกฤษ บรรดาอำนาจชอบธรรมฐานที่เปนเจ้าเปนใหญ่ปกครองป้องกันแลบังคับบัญชา อันมีอยู่เหนือเมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองไทรบุรี เมืองปลิศ แลเกาะที่ใกล้เคียงเมืองเหล่านั้น แลเขตรแดนเมืองที่ว่ามานี้ได้มีกำหนดไว้ในหนังสือสัญญาว่าด้วยเขตร์แดนซึ่งติดท้ายสัญญานี้

ข้อการโอนที่ว่ามาในข้อ ๑ นั้น จะได้จัดให้สำเร็จภายในสามสิบวันตั้งแต่วันที่ได้รติไฟสัญญานี้แล้ว

ข้อกรรมการรวมกันกองหนึ่ง มีพนักงานแลนายทหารฝ่ายไทยแลอังกฤษ ซึ่งสองประเทศที่ทำสัญญานี้จะได้ตั้งขึ้นภายในหกเดือนตั้งแต่วันที่รติไฟสัญญานี้แล้วแล จะให้ไปปักเฃตรแดนที่ตกลงกันใหม่นี้ กรรมการนี้จะได้ลงมือปักปันในฤดูที่จะทำการได้ทันที แลจะให้ทำการตามความที่กล่าวไว้ในสัญญาว่าด้วยเฃตรแดนที่ติดท้ายหนังสือสัญญานี้

คนในบังคับฝ่ายสยามซึ่งมีสำนักอยู่ในดินแดนที่กล่าวไว้ในข้อ ๑ นั้น ถ้ามีความประสงค์จะคงเปนคนสังกัดชาติไทย ก็จะอนุญาตให้เปนได้ แต่ต้องไปตั้งสำนักอยู่ในอาณาเฃตรสยามภายในเวลาหกเดือนตั้งแต่วันที่ได้รติไฟสัญญานี้ แลฝ่ายรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษยอมรับว่า คนเหล่านี้จะคงเปนเจ้าของทรัพย์อันเคลื่อนที่ไม่ได้ซึ่งเขามีอยู่ในดินแดนที่กล่าวไว้ในข้อ ๑ นั้น

อนึ่ง ได้เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายตามอย่างธรรมเนียมการเปลี่ยนอำนาจปกครองบ้านเมืองว่า บรรดาหนังสืออนุญาตสำหรับทำกิจการต่าง ๆ ในดินแดนที่กล่าวในข้อ ๑ ซึ่งรัฐบาลสยามได้ให้เองฤๅเห็นชอบในการที่ได้ให้แก่บุทคลฤๅบริษัท แลรัฐบาลสยามถือว่า ยังใช้ได้อยู่ในวันที่ลงชื่อในสัญญานี้นั้น ฝ่ายรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษจะยอมถือว่า หนังสืออนุญาตเหล่านั้นคงใช้ได้ต่อไปเหมือนกัน

ข้อรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษยอมรับว่า บรรดาหนี้สินของที่ดินแดนต่าง ๆ อันกล่าวในข้อ ๑ ซึ่งเป็นหนี้ต่อรัฐบาลสยามนั้น รัฐบาลของเฟดเดอเรเตดมาเลสเตตส์จะใช้แทนทั้งสิ้น

ข้ออำนาจศาลต่างประเทศฝ่ายสยาม ซึ่งได้ว่าไว้ในข้อ ๘ ของหนังสือสัญญา ลงวันจันทร์ เดือนสิบ ขึ้นสองค่ำ ปีมแมเบ็ญจ จุลศักราช ๑๒๔๕ ตรงกับวันที่ ๓ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๒ คฤสตศักราช ๑๘๘๓ นั้น จะต้องใช้ตามสัญญาว่าด้วยอำนาจศาลที่ติดท้ายหนังสือสัญญานี้ทั่วไปแก่บรรดาคนในบังคับอังกฤษในกรุงสยามผู้ที่ได้จดบาญชีอยู่ในที่ว่าการกงสุลอังกฤษก่อนวันที่ทำหนังสือสัญญานี้

วิธีอำนาจศาลอย่างนี้จะเลิกไม่ใช้ต่อไป คือว่า จะเปลี่ยนอำนาจศาลต่างประเทศไปเป็นอำนาจศาลฝ่ายสยามตามระบิลเมือง เมื่อได้ประกาศใช้กฎหมายรวมลักษณต่าง ๆ คือ กฎหมายลักษณอาญาโทษ กฎหมายลักษณแพ่งแลการค้าขาย กฎหมายลักษณวิธีพิจารณาคดี แลกฎหมายลักษณพระธรรมนูญจัดตั้งศาล

บรรดาคนในบังคับอังกฤษในกรุงสยามนอกจากผู้ที่ว่ามาข้างต้นนี้แล้ว จะต้องอยู่ในอำนาจศาลฝ่ายสยามตามธรรมเนียมของบ้านเมือง แลตามความที่กล่าวไว้ในสัญญาว่าด้วยอำนาจศาล

ข้อคนในบังคับอังกฤษจะได้มีกรรมสิทธิ์เหมือนคนในพื้นเมืองตลอดทั่วกรุงสยาม คือ กรรมสิทธิ์ในการถือทรัพย์ที่ดิน กรรมสิทธิ์ในการที่จะอยู่ฤๅจะเที่ยวไปแห่งใด ๆ ได้

คนเหล่านี้ แลทรัพย์สมบัติของคนเหล่านี้ จะต้องเสียภาษีอากรแลส่วยฤๅการเกณฑ์ใช้ราชการทุกอย่าง แต่ต้องเป็นภาษีอากรแลส่วนฤๅการเกณฑ์ที่ไม่หนักยิ่งกว่าฤๅไม่ผิดกันกับที่กฎหมายกำหนดฤๅจะได้กำหนดให้ใช้สำหรับคนในบังคับสยาม แลเป็นที่เข้าใจกันชัดเจนด้วยว่า ความในหนังสือสัญญาน้อย ลงวันที่ ๒๐ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ คฤสตศักราช ๑๙๐๐ ซึ่งจำกัดภาษีที่ดินมิให้เก็บเกินกว่าอัตราภาษีสำหรับที่ดินเช่นเดียวกันในเมืองพม่าฝ่ายใต้นั้น เป็นอันยกเลิกเสียโดยหนังสือสัญญานี้

คนในบังคับอังกฤษในกรุงสยามนั้น จะให้ยกเว้นจากการเกณฑ์เป็นทหารบกทหารเรือ แลจะไม่ต้องเสียเงินซึ่งบังคับให้ใช้ฤๅเงินค่าแรงแทนเกณฑ์การทหาร ฤๅเงินช่วยในการทหาร

ข้อข้อความทั้งปวงในหนังสือสัญญาใหญ่น้อยทั้งหลายที่มีอยู่แต่ก่อนในระหว่างกรุงอังกฤษกับกรุงสยาม ซึ่งไม่ได้แก้ไขไว้ในหนังสือสัญญานี้ ต้องคงอยู่เต็มตามเดิม

ข้อหนังสือสัญญานี้จะต้องรติไฟภายในกำหนดสี่เดือนนับตั้งแต่วันที่ลงชื่อ

หนังสือสัญญานี้ ผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่ายได้ลงชื่อแลประทับตราไว้เป็นสำคัญ ได้เขียนอย่างละสองฉบับที่กรุงเทพมหานครณวันที่ ๑๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ ๑๒๘ คฤสตศักราช ๑๙๐๙

ประทับตรา (เซ็น) เทวะวงษ์วโรประการ
ประทับตรา (เซ็น) ราลฟ์ แปชยิต

สารบัญ
สัญญาว่าด้วยเฃตรแดน ติดท้ายหนังสือสัญญา ลงวันที่ 10 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 127 คฤสตศักราช 1909
สัญญาว่าด้วยอำนาจศาลในกรุงสยาม สำหรับใช้แก่คนในบังคับอังกฤษ ติดท้ายหนังสือสัญญา ลงวันที่ 10 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 127 คฤสตศักราช 1909

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก

Public domainPublic domainfalsefalse