สามก๊ก/คำนำ ๒๕๓๖

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำกรมศิลปากร
(พ.ศ. ๒๕๓๖)




สำนักพิมพ์ดอกหญ้าได้แจ้งความจำนงมายังกรมศิลปากรขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน บุญ-หลง) แปล ซึ่งราชบัณฑิตยสภาชำระเพื่อจำหน่ายเผยแพร่แก่บรรดาผู้สนใจทั่วไป กรมศิลปากรพิจารณาแล้วอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้

หนังสือสามก๊กนี้เป็นวรรณคดีประเภทความเรียงที่สำคัญเรื่องหนึ่งของไทย ถ้าไม่นับหนังสือภาษาบาลีหรือมคธที่แปลเป็นไทย เช่น พวกนิทาน ชาดก และตำนานต่าง ๆ ก็อาจจะนับได้ว่า สามก๊กเป็นหนังสือบันเทิงคดีเล่มแรกที่ได้รับการแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย หนังสือสามก๊กนี้เป็นความเรียงที่ไพเราะ งดงาม สละสลวย และได้รสทางวรรณคดีเป็นอย่างดี มีลักษณะพิเศษเฉพาะ จนกระทั่งกลายเป็นแบบฉบับในการแปลหนังสือพงศาวดารและบันเทิงคดีของจีนเรื่องอื่น ๆ ในยุคต่อ ๆ มา

หนังสือเรื่องสามก๊กมีตำนานและความนิยมเป็นมาอย่างไร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเรียบเรียงไว้เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ให้ชื่อว่า ตำนานหนังสือสามก๊ก มีความสำคัญ ควรยกมากล่าว ณ ที่นี้ คือ

"หนังสือสามก๊กไม่ใช่เป็นพงศาวดารสามัญ จีนเรียกว่า "สามก๊กจี" แปลว่า จดหมายเหตุเรื่องสามก๊ก เป็นหนังสือซึ่งนักปราชญ์จีนคนหนึ่งเลือกเอาเรื่องในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งขึ้นโดยประสงค์จะให้เป็นตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมืองแลการสงคราม แลแต่งดีอย่างยิ่ง จึงเป็นหนังสือเรื่องหนึ่งซึ่งนับถือทั่วไปในประเทศจีน แลตลอดไปจนถึงประเทศอื่น ๆ

"ต้นตำนานของหนังสือสามก๊กนั้นทราบว่า เดิมเรื่องสามก๊กเป็นแต่นิทานสำหรับเล่ากันอยู่ก่อน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๔๔๙) เกิดมีการเล่นงิ้วขึ้นในเมืองจีน พวกงิ้วก็ชอบเอาเรื่องสามก๊กไปเล่นด้วยเรื่องหนึ่ง ต่อมา ถึงสมัยราชวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๘๒๐–๑๙๑๐) การแต่งหนังสือจีนเฟื่องฟูขึ้น มีผู้ชอบเอาเรื่องพงศาวดารมาแต่งเป็นเรื่องหนังสืออ่าน แต่ก็ยังไม่ได้เอาเรื่องสามก๊กมาแต่งเป็นหนังสือ[ก] จนถึงสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง (พ.ศ. ๑๘๑๑–๒๑๘๖) จึงมีนักปราชญ์จีนชาวเมืองฮั่งจิ๋วคนหนึ่งชื่อ ล่อกวนตง คิดแต่งหนังสือเรื่องสามก๊กขึ้นเป็นหนังสือหนึ่งร้อยยี่สิบตอน ต่อมา มีนักปราชญ์จีนอีกสองคน คนหนึ่งชื่อ เม่าจงกัง คิดจะพิมพ์หนังสือสามก๊กจึงแต่งคำอธิบายแลพังโพย[ข] เพิ่มเข้า แล้วให้นักปราชญ์จีนอีกคนหนึ่งชื่อ กิมเสี่ยถ่าง อ่านตรวจ กิมเสี่ยถ่างเลื่อมใสในหนังสือสามก๊ก ช่วยแก้ไขคำพังโพยของเม่าจงกัง แล้วแต่งคำอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเองเป็นทำนองคำนำมอบให้เม่าจงกังไปแกะตัวพิมพ์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น หนังสือสามก๊กจึงได้มีฉบับพิมพ์แพร่หลายในประเทศจีน แล้วได้ฉบับต่อไปถึงประเทศอื่น ๆ

"ได้ลองสืบสวนดูเมื่อจะแต่งตำนานนี้ ได้ความว่า หนังสือสามก๊กได้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึงสิบภาษา[ค]

"๑.   แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๕
"๒.   แปลเป็นภาษาเกาหลีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒
"๓.   แปลเป็นภาษาญวนพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒
"๔.   แปลเป็นภาษาเขมร แปลเมื่อใดหาทราบไม่ ยังไม่ได้พิมพ์
"๕.   แปลเป็นภาษาไทยเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๔๕
"๖.   แปลเป็นภาษามลายู พิมพ์[ง] เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕
"๗.   แปลเป็นภาษาลาตินมีฉบับเขียนอยู่ในรอยัลอาเซียติคโซไซเอตี แต่จะแปลเมื่อใดไม่ปรากฏ
"๘.   แปลเป็นภาษาสเปนเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓
"๙.   แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘
"๑๐.   แปลเป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์[จ] เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙

"ตำนานการแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทย มีคำบอกเล่าสืบกันมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสสั่งให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทยสองเรื่อง คือ เรื่องไซ่ฮั่น เรื่องหนึ่ง กับเรื่องสามก๊ก เรื่องหนึ่ง โปรดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง ทรงอำนวยการแปลเรื่องไซ่ฮั่น แลให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก คำที่เล่ากันมาดังกล่าวนี้ไม่มีในจดหมายเหตุ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า เป็นความจริง ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเอาเป็นพระราชธุระขวนขวายสร้างหนังสือต่าง ๆ ขึ้นเพื่อประโยชน์สำหรับพระนคร หนังสือซึ่งเป็นต้นฉบับตำรับตำราในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทั้งที่รวบรวมของเก่า ที่แต่งใหม่ แลที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มีมาก แต่ว่าในสมัยนั้นเป็นหนังสือเขียนในสมุดไทยทั้งนั้น ฉบับหลวงมักมีบานแพนกแสดงว่าโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปีใด แต่หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กสองเรื่องนี้ต้นฉบับที่ยังปรากฏอยู่มีแต่ฉบับเชลยศักดิ์ขาดบานแพนกข้างต้น จึงไม่มีลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญว่าแปลเมื่อใด ถึงกระนั้นก็ดี มีเค้าเงื่อนอันส่อให้เห็นชัดว่า หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ทั้งสองเรื่อง เป็นต้นว่า สังเกตเห็นได้ในเรื่องพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่งซึ่งสมมุติให้พระอภัยมณีมีวิชาชำนาญในการเป่าปี่ ก็คือ เอามาแต่เตียวเหลียงในเรื่องไซ่ฮั่น ข้อนี้ยิ่งพิจารณาดูคำเพลงปี่ของเตียวเหลียงเทียบกับคำเพลงปี่ของพระอภัยมณีก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ถ่ายมาจากกันเป็นแท้ ด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๑ สุนทรภู่เป็นข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง คงได้ทราบเรื่องไซ่ฮั่นมาแต่เมื่อแปลที่วังหลัง ส่วนเรื่องสามก๊กนั้นเค้าเงื่อนก็มีอยู่เป็นสำคัญในบทละครนอกเรื่องคาวีซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทหนึ่งว่า

"'เมื่อนั้น ไวยทัตหุนหันไม่ทันตรึก
อวดรู้อวดหลักฮักฮึก ข้าเคยพบรบศึกมาหลายยก
จะเข้าออกยอกย้อนผ่อนปรน เล่ห์กลเรานี้อย่าวิตก
ทั้งพิชัยสงครามสามก๊ก ได้เรียนไว้ในอกสารพัด
ยายกลับไปทูลพระเจ้าป้า ว่าเรารับอาสาไม่ข้องขัด
ค่ำวันนี้คอยกันเป็นวันนัด จะเข้าไปจับมัดเอาตัวมา'

"พึงเห็นได้ในบทละครนี้ว่า ถึงรัชกาลที่ ๒ หนังสือสามก๊กที่แปลเป็นภาษาไทยได้อ่านกันจนนับถืออยู่แล้ว สมกับที่อ้างว่าแปลในรัชกาลที่ ๑ ใช่แต่เท่านั้น มีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานต่อไปอีกว่า ความนับถือเรื่องสามก๊กดังในพระราชนิพนธ์นั้นเป็นมูลเหตุให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องอื่น ๆ ในรัชกาลภายหลังต่อมา ข้อนี้มีจดหมายเหตุเป็นหลักฐานอยู่ในบานแพนกว่า ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้แปลเรื่องเลียดก๊กอีกเรื่องหนึ่ง แลปรากฏนามผู้รับสั่งให้เป็นพนักงานการแปลล้วนผู้มีศักดิ์สูงแลทรงความสามารถถึงสิบสองคน คือ กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑ เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ พระยาโชดึกราชเศรษฐี ๑ พระท่องสือ ๑ จมื่นวัยวรนาถ ๑ นายจ่าเรศ ๑ นายเล่ห์อาวุธ ๑ หลวงลิขิตปรีชา ๑ หลวงวิเชียรปรีชา ๑ หลวงญาณปรีชา ๑ ขุนมหาสิทธิโวหาร ๑ พึงสันนิษฐานว่า เพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นหนังสืออันสมควรแปลไว้เพื่อประโยชน์ราชการบ้านเมืองเช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้แปลเรื่องไซ่ฮั่นแลสามก๊ก ยังมีหนังสือเรื่องห้องสินกับเรื่องตั้งฮั่นอีกสองเรื่อง ฉบับพิมพ์ที่ปรากฏอยู่ไม่มีบานแพนกบอกว่าแปลเมื่อใด แต่สำนวนแต่งเห็นเป็นสำนวนเก่า อาจแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ก็เป็นได้ ด้วยเรื่องห้องสินอยู่ข้างหน้าต่อเรื่องเลียดก๊ก และเรื่องตั้งฮั่นอยู่ในระหว่างเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊ก"

นอกจากนั้น ในคำนำหนังสือสามก๊ก สำนักพิมพ์อุดมจัดพิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ก็ได้กล่าวถึงความสำคัญของเรื่องนี้ไว้ว่า

"แต่ถ้าว่าถึงเนื้อเรื่องบางตอนในสามก๊กแล้ว เข้าใจว่า น่าจะได้มาเป็นต้นเค้าในวรรณคดีไทยบางเรื่องและบางตอน เช่น ในเรื่องพระอภัยมณี ท่านมหากวีเอกสุนทรภู่ได้พูดถึงมหิงสิงขรว่า

"'พอได้ยินเสียงระฆังข้างหลังเขา เห็นผู้เฒ่าออกจากชะวากผา
ดูสรรพางค์ร่างกายแก่ชรา แต่ผิวหน้านั้นละม้ายคล้ายทารก'

"ข้อความตรงนี้คล้ายกับที่กล่าวถึงผู้วิเศษที่มาบอกตำรายาแก่เตียวก๊ก หรือจางเจี๊ยะ หัวหน้าโจรโพกผ้าเหลืองในเรื่องสามก๊ก

"และมีผู้นำเอาเนื้อเรื่องบางตอนในสามก๊กมาแต่งเป็นบทขับร้องก็หลายตอน บางตอนก็เป็นที่นิยมกันแพร่หลายมาก เช่น ตอนเจียวยี่รากเลือกว่า

"'แสนสงสารเจียวยี่คราวนี้หนอ ระทดท้อเสียใจให้สะอื้น
กำเริบฤทธิ์เกาทัณฑ์สู้กลั้นกลืน ลุกขึ้นยืนร้องว่าสุราลัย
บังคับข้าให้เกิดมาประเสริฐสิทธิ์ สู่สถิตใต้หล้าสุธาไหว
ปราบศัตรูสู้สงครามไม่คร้ามใคร สถิตในกังตั๋งฝั่งนที
เหตุไฉนให้ขงเบ้งเก่งฉกาจ ล่อเป็นทาสเสียกลจนป่นปี้
ประกาศก้องร้องขึ้นได้สามที โรคทวีเสียวซาบปลาบฤทัย
กำเริบฤทธิ์พิษเกาทัณฑ์เข้าบรรจบ ล้มสลบนิ่งแน่หมอแก้ไข
พอรู้สึกนึกแค้นแน่นหัวใจ โลหิตไหลอ้าปากรากกระจาย
สู้แข็งขืนยืนตรงดำรงจิต ดวงชีวิตจะวินาศลงขาดหาย
อายุได้สามสิบเจ็ดเศษวันตาย แสนเสียดายคนดีเจียวยี่เอย'

"นอกจากนี้ ยังมีบทมโหรีตับจูล่งที่ร้องกันแพร่หลายและบทอื่น ๆ อีก เคยฟังเล่ากันมาว่า ท่านผู้ใหญ่แต่ก่อนนิยมสามก๊ก ยิ่งท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องรบทัพจับศึกแล้ว ว่ากันว่า ถือเป็นหนังสือสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะต้องอ่านและรู้ไว้ เพราะนับถือว่า เป็นเรื่องให้ความรู้และแง่คิดในกลยุทธและยุทธวิธีต่าง ๆ ดูเหมือนตอนที่อ่านกันสนุกสนานมากก็เห็นจะเป็นตอนสุมาอี้กับขงเบ้งซ้อนกลศึกกัน ที่จำกันได้มากก็คือตอนที่ขงเบ้งถอยทัพไม่ทันจึงใช้กลอุบายเปิดประตูเมืองแล้วแต่งตัวขึ้นไปดีดกระจับปี่อยู่กับเด็กสองคนบนหอรบทำทีลวงสุมาอี้ให้ถอยทัพ ตรงนี้รู้สึกว่า คล้ายกับคราวเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ลวงอะแซหวุ่นกี้เมื่อตั้งรักษาเมืองพิษณุโลกในปลาย พ.ศ. ๒๓๑๘ สมัยกรุงธนบุรี ด้วยเห็นเหลือกำลังที่จะรักษาเมืองไว้ คิดจะถอยทัพจากพิษณุโลก จึงให้เอาปี่พาทย์ขึ้นไปตีตามป้อม ลวงให้ข้าศึกเข้าใจว่า คิดจะต่อสู้อยู่ในเมืองนานวัน แต่แล้วก็ทิ้งเมืองตีฝ่าหนีออกไป กลยุทธแบบนี้ถ้าเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ไม่เคยทราบเค้าเรื่องในสามก๊กตอนขงเบ้งลวงสุมาอี้นี้มาก่อน ก็ต้องหมายความว่า ท่านแม่ทัพทั้งสามบังเอิญมามีความคิดตรงกันเข้าอย่างน่าประหลาด และตอนสุมาอี้ถูกขงเบ้งให้ถอยทัพนี้มีผู้เอามาร้อยกรองเป็นลำนำขับร้องทางสำนวน กลอนไม่สู้ไพเราะนัก แต่จำกันได้แพร่หลายว่า

"'โยธาเฮฮาบ้างเสสรวล ขับครวญตามภาษาอัชฌาสัย
ร้องเป็นลำนำทำนองใน เรื่องขงเบ้งเมื่อใช้อุบายกล
ขึ้นไปนั่งบนกำแพงแกล้งตีขิม พยักยิ้มให้ข้าศึกนึกฉงน
พวกไพรีมิได้แจ้งแห่งยุบล ให้เลิกทัพกลับพลรีบหนีไป
สามสุมาข้าศึกนึกฉงน คร้ามในกลขงเบ้งเก่งใจหาย
เคยเสียทัพยับแยบแทบตัวตาย สุมาอี้นึกหน่ายฉงนความ'

"เล่ากันมาว่า บางตอนนักอ่านเมื่ออ่านไปแล้วเกิดความคิดอะไรขึ้นก็มักจะบันทึกลงไว้ข้าง ๆ สมุดหนังสือนั้น เช่น ตอนสุมาอี้นำทัพไปเห็นขงเบ้งคราวนี้แล้วเข้าใจว่า ขงเบ้งคงจะแต่งกลลวงไว้ จึงชักม้าพาทหารรีบถอยกลับมา สุมาเจียวผู้บุตรจึงแย้งและยุให้เข้าจับตัวขงเบ้งว่า สุดความคิดอยู่แล้ว แต่สุมาอี้ไม่เห็นด้วย กลับว่า สุมาเจียวยังหนุ่มแก่ความ ตรงนี้นักอ่านบางท่านบันทึกลงไว้ข้างสมุดหนังสือว่า 'ถ้าให้สุมาเจียวนำทัพมาคราวนี้ก็คงจะจับขงเบ้งได้เสียแล้ว' ต่อมา เข้าใจว่า นักอ่านคนหลังไปพบเข้า จึงบันทึกต่อเป็นคำตอบแย้งว่า 'ถ้าสุมาเจียวนำทัพมา ขงเบ้งก็ไม่ใช้อุบายอย่างนี้' ทั้งนี้ แสดงว่า ท่านแต่ก่อนนิยมอ่านหนังสือและอ่านกันอย่างสนใจจริงจังเพียงไร บางคนถึงกับจำถ้อยคำสำนวนภาษิตและคำพังเพยบางท่อนบางตอนของตัวสำคัญ ๆ บางตัวในเรื่องได้มาก ๆ สุดแต่ผู้อ่านจะชอบลักษณะนิสัยของตัวใดในเรื่อง กล่าวกันว่า มีคนจีนน้อยคนที่จะไม่รู้จักคำพังเพยของโจโฉเมื่อเข้าใจผิดแปะเฉียเพื่อนของพ่อผู้ที่ให้ที่พำนัก แต่เมื่อได้ฆ่าแปะเฉียแล้วและต่อว่าขึ้น โจโฉก็กล่าวคำอันส่องลักษณะของตัวว่า 「寧教我負天下人,休教天下人負我。」 ('เราเอาเปรียบผู้อื่น ดีกว่าที่จะให้ผู้อื่นเอาเปรียบเรา'[ฉ]) เรื่องสามก๊กจึงจัดเป็นเรื่องดีที่แสดงอุปนิสัยของตัวละครในเรื่องไว้ต่าง ๆ กัน ทำให้ผู้อ่านได้ทราบรสต่าง ๆ ตลอดจนได้ทราบถึงเหตุแห่งความเสื่อมโทรมถึงล่มจมของราชวงศ์ฮั่นอันเป็นราชวงศ์ของจีนที่มีอายุยืนยาวและสำคัญราชวงศ์หนึ่ง นอกจากนั้น ผู้อ่านยังจะได้ทราบข่าวเคลื่อนไหวในอดีตกาลของชนชาติไทย บรรพบุรุษของชาวเราที่มีกล่าวถึงไว้ในเรื่องสามก๊กตอนขงเบ้งปราบเบ้งเฮ็ก นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานกันว่า เบ้งเฮ็กและพรรคพวกของเบ้งเฮ็กที่ปรากฏในเรื่องนั้นเป็นคนไทย แต่ท่านผู้อ่านไม่ต้องน้อยใจที่ในเรื่องสามก๊กไม่กล่าวเป็นทำนองยกย่องเบ้งเฮ้กและพรรคพวกซึ่งว่าเป็นคนไทยนั้นเสียเลย เพราะท่านย่อมจะตระหนักดีแล้วว่า หนังสือสามก๊กนี้เราแปลมาจากฉบับภาษาจีนซึ่งคนจีนแต่งไว้ในภาษาของเขา จึงเป็นธรรมดาที่เขาจะต้องไม่ยกย่องคนที่เขาถือว่าเป็นศัตรูในบัดนั้น แต่เป็นความรู้ของเราจึงนำมากล่าวไว้ในคำนำนี้ด้วย"

เรื่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นี้พิมพ์ครั้งแรกในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ครั้งนี้นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๑๗ ซึ่งการจัดพิมพ์ครั้งนี้การวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ร่วมกับสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ได้ตรวจสอบชำระชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ และวรรคตอนที่คลาดเคลื่อนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามก๊กฉบับนี้มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง เหมาะแก่การใช้เป็นหนังสือประกอบการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการสืบไป


สุวิชญ์ รัศมิภูติ
อธิบดีกรมศิลปากร


กรมศิลปากร
เมษายน ๒๕๓๖