ข้ามไปเนื้อหา

สิโสรชาดก

จาก วิกิซอร์ซ

พระศาสดาเมื่อทรงเข้าไปประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกรรมของพระองค์ จึงตรัสเทศนาชาดกนี้ว่า อโห วิปตฺติ เม ทุกฺขํ ดังนี้ ความมีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูเถิด แม้แต่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นบุคคลผู้ล้ำเลิศ กรรมวิบากยังตามทันซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยเมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จพระนิพพาน น้ำในแม่น้ำกกุธานทีกลับเป็นน้ำขุ่นมัวไป เรื่องน้ำใสกลายเป็นขุ่นข้น ดุจเจือระคนไปด้วยเปลือกตมนั้นจักมีแจ้งในคัมภีร์พุทธวิบาก ดังนี้แล ตรัสอีกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขวิบาก จะได้ตามทันตถาคตแต่ในกาลนี้เท่านั้นก็หามิได้ ถึงในกาลก่อน ก็ได้ตามทั้น เราก็ได้รับทุกขเวทนา ดังนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพ อันภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระราชาทรงพระนามสิโสรราช เสวยราชสมบัติอยู่ในอนันตนคร พระองค์มีพระอัครมเหสีทรงนามว่าอนันตเทวี พระอัครมเหสีนั้นทรงเป็นที่รักเจริญพระราชหฤทัย เป็นใหญ่กว่าพระสนมนารีถึงหกหมื่นหกพันนาง พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้น ทรงบริบูรณ์ไปด้วยจตุรงคเสนา ทรงมหิทธิศักดานุภาพอันไพศาล แผ่ไปในทั่วชมพูทวีป ประดุจดังว่าบรมจักรพรรดิ ฉะนั้น อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์นั้น ในเวลาราตรี ทรงพระสุบินนิมิตประหลาดเห็นยอดปราสาทหักตกลงมาที่พื้นดิน ตื่นจากนิทรารมณ์ ก็มีพระทัยอันสะดุ้งหวั่นหวาด เสด็จประทับนั่งอยู่จนสว่าง จึงทรงดำริว่า ยอดปราสาทนี้ ก็บริบูรณ์ดี เหตุไฉน จึงหักตกลงมาได้ ครั้นรุ่งเช้า พระเจ้าสิโสรราช มีพระราชดำรัสให้เรียกพราหมณ์ทั้งหลายเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสถามพราหมณ์ณเหล่านั้น พราหมณ์ทั้งหลาย ทูลถวายพยากรณ์ว่า ข้าแต่สมมติเทวราช บาปเคราะห์จักมาให้โทษแก่พระองค์ กำหนดอีก ๗ วัน พระเสาร์เทพบุตร จักเสด็จมาร่วมราศีทับลัคนาของพระองค์ จักกระทำให้พระองค์กัมปนาทหวั่นไหวระส่ำระสายจากที่อยู่ ดุจกำลังลมอันเกิดแต่ธรณี ฉะนั้น พระองค์อย่าได้ทรงสำคัญพระองค์ว่า ขึ้นชื่อว่าพระราชา เป็นผู้มีเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ ขอพระองค์จงให้จัดการบัตรพลีพร้อมด้วยเครื่องสักการบูชาสำหรับไว้กระทำพลีกรรมรับพระเสาร์เทวา อันจะเสด็จมาในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ไป ถ้าพระองค์กระทำการสักการบูชา รับพระเสาร์เทพบุตรแล้ว พระเสาร์เทพบุตรนั้น จักให้คุณแก่พระองค์ พระองค์จักมีความสุขสำราญสิ้นกาลนาน พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าสิโสรราช ได้ทรงสดับคำพยากรณ์ของพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว ก็ทรงพระพิโรธ ไม่เชื่อคำวิงวอนของพราหมณ์เหล่านั้น ทรงมีรับสั่งให้หาเสนาบดียุทธนาธิการเข้าไปเฝ้า แล้วตรัสสั่งว่า ดูกรท่านผู้เจริญ จำเดิมแต่วันนี้ไปถึงวันที่ ๗ ท่านจงวางพลรบเตรียมไว้ที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศ ประตูละพันคนๆ ในเบื้องบนปราสาท ๗ ชั้น จงวางนักรบไว้ให้อยู่พิทักษ์รักษาชั้นละร้อยคนๆ เป็นกำหนด ถ้าท่านทั้งหลายเห็นพระเสาร์มาในกาลใด จงรุมกันฟันแทงฆ่าจับพระเสาร์นั้นเสียในกาลนั้น ผูกมัดด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการ แล้วนำมาแสดงแก่เราให้จงได้ ครั้นถึงวันที่ ๗ พระเสาร์เทวราช จรมาทับลัคน์ของพระองค์ ในกาลนั้น พระเจ้าสิโสรราชมีพระพระหฤทียกัมปนาทหวาดหวั่นเหมือนคนบ้า ทอดพระเนตรเห็นพลรบที่อยู่รักษาบนปราสาท ทรงพระพิโรธ ไล่ฟันพลรบเหล่านั้น บางพวกต้องทุกขเวทนา พลรบที่เหลือทั้งปวงนั้นไม่สามารถที่จะห้ามได้ พากันถอยลงหนีไป พระเจ้าสิโสรราช ทรงฟาดฟันพลรบทั้งหลาย ดวยพระแสงขรรค์ เสด็จลงจากปราสาท ๗ ชั้น ก็ขึ้นทรงอาชาไนย รีบควบขับม้าไป ด้วยว่า เมื่อพระเคราะห์ให้โทษอยู่ อาชาไนยก็ไม่สามารถที่จะเหาะไปให้ ต้องพาพระเจ้าสิโสรราชไปในมรรคาด้วยกำลังแรงของตนไป ครั้นรุ่งเช้า พระเจ้าสิโสรราชและอาชา หมดแรง เพราะมิได้บริโภคโภชนาหาร พระเจ้าสิโสรราชนั้น จูงอาชาดำเนินไป ถึงทุ่งนาข้าวลาสีที่ชายป่า ในกาลนั้น มีบุรุษคนหนึ่ง เป็นผู้รักษาไร่ข้าวสาลี ใส่อาหารลงในกระบายแล้ว เอาไปวางไว้ที่คันนา เดินไปในที่สุดแห่งปลายนาไล่ขับฝูงนก มีสุนัขตัวหนึ่ง มาคาบเอากระบายภัตรของชาวนานั้นหนีไป พระเจ้าสิโสรราชจูงอาชามาถึงที่นั้น บุรุษผู้รักษานาข้าวสาลี กลับมาไม่เห็นกระบายภัตรแลไปเห็นมงกุฎ เหมือนกระบายของตน จึงเข้าไปโบยตีทิ่มแทงด้วยประฏัก บริภาษด้วยคำหยาบคายว่า ดูกรโจรชั่วร้าย เหตุไฉน เอ็งจึงลักภัตรของเราไปกิน แล้วเอากระบายของเราครอบหัว พระเจ้าสิโสรราชโพธิสัตว์ ตรัสว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ เรานี้มิได้เป็นโจร นี้มิใช่กระบาย มันเป็นมงกุฎ เหตุไฉน ท่านมากล่าวตู่ดังนี้ บุรุษผู้รักษาข้าวสาลีได้ฟังดังนั้น บริภาษว่า อ้ายโจรผู้ร้าย เอ็งจะมาเถียงข้าทำไม เอ็งจะได้มงกุฎมาแต่ไหน พระโพธิสัตว์สืโสรราช ตรัสว่า ดูกรพ่อนี้เป็นมงกุฎของเรา ท่านจงเอาไปเถิด เราขอแต่ชีวิตไว้เท่านั้น บุรุษชาวนา ค่อนคลายความโกรธ ปล่อยพระราชาไป กล่าวกำชับว่า แต่นี้ไป เอ็งจงรีบไป ถ้าเอ็งขีนมาอีก เอ็งจะต้องถึงแก่ความตาย ดังนี้แล้ว ขับไล่พระโพธิสัตว์สโสรราชไปเสีย