หนังสือว่าด้วยอำนาจผีแลผีหลอก

จาก วิกิซอร์ซ

หนังสือ
ว่าด้วยอำนาจผีแลผีหลอก
จำหน่ายในการพระศพ
พระเจ้าน้องยาเธอ
พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
งานพระเมรุท้องสนามหลวง
รัตนโกสินทร์ ๑๐๘
ตีพิมพ์โรงพิมพ์หลวง
ในพระบรมมหาราชวัง
๑๐๐๐ ฉบับ

แจ้งความ

หนังสือเรื่องซึ่งพรรณาต่อไปนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๕๐ ยังมิได้แพร่หลาย ข้าพเจ้าจึ่งนำมาลงพิมพ์ช่วยในการพระศพน้องชายที่รักของข้าพเจ้าซึ่งมีพระนามปรากฎข้างต้นนั้น ๑๐๐๐ ฉบับ เพื่อเปนของแจกสำหรับเปนเครื่องรลึกถึงเธอสืบไปสิ้นกาลนาน

กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์

  • ว่าด้วยอำนาจผี
  • แลผีหลอก

นามศัพท์อย่างหนึ่งคนทั้งปวงเรียกว่า ผี ว่า ผี นี้ เปนที่น่าอัศจรรย์นัก แต่ในที่นี้ เราจะแยกคำที่เรียกว่า ผี ฤๅสิ่งที่เปนผีนั้นเสียก่อน เรียกผีมี ๒ อย่าง คือ ผีมีตัว ผีไม่เห็นตัว ผีมีตัวได้แก่ทรากศพคนที่ทำลายขันธ์นั้นอย่าง ๑ ผีไม่มีตัว ได้แก่ ผีต่าง ๆ คือ ผีเรือน ผีป่า ผีโขมด ผีอะไร ๆ ไม่เห็นตัวที่กลัวกันนั้นแล เจ้าผีที่มีตามศาลซึ่งเรียกว่า เทพารักษ์ ฤๅเทวดานพเคราะห์อะไร ๆ ทั้งหมดนี้ ควรนับว่า ผีไม่เห็นตัว เพราะไม่ใคร่จะมีใครเห็นได้ในที่ประชุมชนมาก ๆ นั้น จึงเรียกว่า ผีไม่เห็นตัว อีกอย่าง ๑

ผีทั้ง ๒ อย่างนี้มักมีในถ้อยคำของคนทุกภาษาทุกสาสนา เปนที่นับถือบ้าง กลัวย้าง มีอาการต่าง ๆ ประเพศต่าง ๆ จะได้อธิบายในภายหลัง แต่ชาติใดจะนับถือเชื่อฟังในเรื่องผีนี้ยิ่งกว่าชาติจีนต่าง ๆ แลลาวพุงขาวพุงดำซึ่งเปนชาติที่ตั้งอยู่ในทิศตวันออกแลทิศเหนือของเมืองเรานั้นเปนไม่มี

แต่ถึงอย่าไงรก็ดี คงมีนที่ไม่เชื่ถือผีไมกลีวผีนั้นเปนอยู่แทบทุกชาติเหมือนกัน แต่คนที่ไม่เชื่อผีนั้นเปนคนที่ได้เล่าเรียนทางพุทธสาสนา ได้พิจารณาการทุกขังอนิจจังอนัตตาแบ่งขันธ์แบ่งธาตุบ้าง เปนคนที่ได้เล่าเรียนตาามนักปราชญ์เบื้องอัษฎงคตได้เห็นการใดก็พิจารณาลเอียดแล้วจึงเชื่อนั้นบ้าง รวมความลงแล้ว คนพวกใดที่ได้มีปัญญาตรองลเอียดในการทุกอย่างแลมีสติที่จะวิจารณให้เห็นแน่แท้แล้วก็ไม่ใคร่จะเชื่อถือในเรื่องผีนั้น ยกไว้แต่คนที่เชื่อแต่คำเล่าลือต่าง ๆ คำบุราณ ๆ แล้วไม่ตรองด้วยปัญญาตน ไม่พิจารณาให้ลเอียดแล้ว มักจะเชื่อเรื่องผีนี้โดยมาก

อำนาจผีแลประเพศผีที่คนกลัวนั้นมีอาการอย่างไรเล่า เราก็ได้เห็นหลายประการ คือ ผีบางจำพวกที่เปนเจ้าตามศาลซึ่งเรียก เทพารักษ์ มีคนไทยแลจีนลาวนับถือบนบานนั้นอย่าง ๑ ผีอย่างนี้บางทีมีคนทรงเข้าทำการเปนผีนั้นเข้าทรงตัวรับทำนายทายทักรับบนบานต่าง ๆ บ้าง เปนแต่คนไปบนบานอธิฐานตามปราถนาบ้าง ผีอย่างนี้มีศาลใหญ่ที่คนลงเงินทองทำมากมีถมไป บางทีการที่บนก็สำเร็จปราถนา บางทีก็ไม่สำเร็จ ที่สำเร็จก็นับถือแก้บนบานแลเล่าลือไป ถ้าไม่สำเร็จแล้วก็มีคำแก้ว่า ท่านไม่โปรดบ้าง ท่านไม่รับบ้าง ดังนี้ ฤๅบางทีก็ทำลืมไปมิได้มีใครสงไสยว่า การที่สำเร็จปราถนานั้นจะเปนด้วยคราวที่ตนจะได้เองนั้นบ้างเลย เปรียบเหมือนคนหนีไป ก็ไปบนเจ้าให้จับตัว ถ้าตามจับได้แล้ว ก็ว่า เจ้าช่วยจับ ถ้าจับไม่ได้ ก็เลย ๆ ลืมไป ดังนี้โดยมาก หาคนที่พิจารณาการลเอียดแล้วถึงเชื่อนั้นได้โดยยาก จึงเปนช่องให้คนที่เปนแม่มดคนทรงหากินด้วยอุบายอันโกงได้ เหมือนหนึ่งจีนที่ตั้งศาลเจ้าใหญ่ ๆ เปนต้น มีความเชื่อถือในถ้อยคำของคนทรง แลอธิฐานบนบานเปนสรณเปนที่พึ่งจริง ๆ มีเปนอันมาก เมื่อถึงคราวทำบุญ ก็ออกเงินทองนักหนา ดูเขาไม่เปนที่สงไสยเลย เหตุที่เปนดังนี้ ก็เพราะความเชื่อที่เกิดมาแต่คนโง่ฤๅบิดามารดาก่อน ส่วนบุตรนั้นถึงจะฉลาดเฉลียวอย่างไรก็ดี ก็ไม่มีความเฉลียวในเรื่องนี้เลย เพราะความถือมั่นตามกันมา จนทำให้คนที่มีปัญญาอยู่บ้างพลอยเห็นตามว่า ถ้าไม่จริงที่ไหนจะออกเงินทำบุญทำศาลเปนนักเปนหนาดังนี้ มิหนำแต่จีน คนไทยก็เชื่อเปนอันมาก ถ้าจะพิจารณาสักหน่อย ก็จะเห็นได้ว่า ความจริงอย่างไร คือ ข้าพเจ้าขึ้นไปเที่ยวที่พระราชวังบางปอิน ได้เห็นศาลเจ้าที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัตยุบันนี้ทรงสร้างขึ้น แล้วหล่อเทวะรูปไว้องค์หนึ่ง สมมตว่า รูปพระเจ้าปราสาททอง ตามที่มีศาลอยู่แต่เดิมในเกาะนั้นแลเปนที่นับถือของคนบางคนในหมู่นั้น เพราะพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง เมื่อเสด็จดำรงศิริราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีอยู่นั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินลงมาประพาศเกาะบางปอิน แลได้ทรงสร้างพระราชนิเวศน์สถานไว้ในที่นั้นเหมือนกัน แต่ที่ศาลนั้นมีจีนรักษาอยู่ เรียกว่า เฮียกง แลมีคนทรงเจ้าปราสาททองด้วย เมื่อใครจะไปให้ทำนายแล้ว เสียอัฐให้เฮียกง แล้วสั่นติ้วออกมาเปนหนังสือจีน มีใบทำนายอย่างจีน คือ ใช้คำที่เกี่ยวด้วยมังกรบ้าง ปลาตะเพียนบ้าง เมื่อเวลาเจ้าเข้าทรงก็พูดเปนภาษาจีนตามภาษาของคนทรงนั้นเอง พูดไทยหาได้ไม่ ต้องมีจีนเปนล่ามคอยแปล การเพียงเท่านี้ก็พอเปนที่แลเห็นได้ขัน ๆ ด้วยพระเจ้าปราสาททองซึ่งเปนชื่อของเทพารักษ์ที่ตำบลนั้น ใคร ๆ ก็ย่อมจะรู้ว่า เลงเอาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง เพราะเหตุที่พรรณามาแล้ว เหตุไฉนจะทำนายทายทักอันใด ก็ต้องเปนคำจีน พูดก็ภาษาจีน เราไม่เคยได้ยินเลยว่า เจ้าพระยากระลาโหมสุริยวงษ์ซึ่งเสด็จดำรงราชสมบัติปรากฎพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง นั้น จะได้เปนเชื้อสายจีนฤๅได้ไปเมืองจีนแต่ต้นจนสวรรคต ก็เหตุใดเล่าจึงไม่พูดไทย กลับกลายเปนจีนไป ขอให้พิจารณาดู จะเห็นได้ว่า เห็นอย่างใด ยังมีเหตุที่จะแก้ไขได้ในเรื่องเจ้าผีปิศาจนี้อีกมาก แต่เรามีโอกาศที่จะพูดเรื่องผีอย่างอื่นต่อไปอีก

ผีป่าอีกอย่าง ๑ ก็น่าอัศจรรย์อยู่ คือ ป่าใด เขาใด ถ้ำใด ที่คนไม่ใคร่ไปได้ เพราะมีไข้เจ็บมากอย่างนี้ ก็มักว่า ผีป่าร้าย เจ้าป่าร้าย ใครไปก็ทำให้เจ็บไข้ไปนาน ๆ ฤๅตายก็มี แต่มักจะเปนเหตุในระดูฝนเสียโดยมาก บางป่าจึ่งจะเปนทั้งน่าฝนน่าแล้ง แต่ป่านั้นก็เปนป่าดิบ คือ ไฟไม่ไหม้ เมื่อคิดดูแล้ว ก็ไม่น่าจะเห็นเปนผีสางอะไรเลย ด้วยป่าที่มีไข้ในเวลาฝนฤๅป่าดิบมีไข้เจ็บเสมอนั้นคงอาไศรยพื้นแผ่นดินชุ่มเปียกไม่ปรกติ แลต้นไม้ใบยาที่มีพิศเบื่อเมา เหตุที่เมามีชุกชุมแลมีพิศแร่ต่าง ๆ เมื่อคนเข้าไปในที่เหล่านั้น ถูกไอของที่มีพิศ จึ่งให้เปนไข้ไปได้ เหมือนหนึ่งในระดูฝนฤๅระดูน้ำค้างก็ดี ถ้าใครออกไปนั่งตากน้ำค้าง มักเปนหวัด เพราะเหตุที่น้ำค้างมีพิศเย็น ถูกสมองทำให้เสมหะในสมองหนาวละลายไปฉันใด ของที่มีพิศคงอบรมร่างกายคนให้เปนไข้ดุจกันเปนแน่ ครั้นเมื่อสิ้นระดูฝนแล้ว ไฟไหม้ป่า เผาสิ่งที่มีพิศหมดไป เพราะของที่มีพิศนั้นเปนแต่ไม้เถาไม้เล็ก ๆ เปนพื้น แลที่แผ่นดินนั้นแห้งลง แร่ใต้ดินก็มิได้กำเริบขึ้น ไข้จึงสิ้นไป ป่าใดที่เปนป่าดิบ ไฟไม่ไหม้ จึงมีไม้มีพิศแลแร่กำเริบเสมออยู่ ไข้จึงไม่มีเวลาหยุด ความข้อนี้เห็นว่า เปนของมีพยานแน่นอนที่นักปราชญ์ได้ตรวจแล้วโดยแน่แท้ แต่ที่ว่า เปนด้วยอำนาจผีนี้ เราไม่สามารถจะเห็นได้ ถ้าเปนด้วยอำนาจผีแล้ว เหตุใดสิ้นระดูฝนแล้ว จึ่งหายไป ไม่มีไข้เจ็บ ฤๅผีสางจะหนีไปอยู่ในที่ใด ไม่ตริตรองให้ลเอียดเลย ถ้าพิจารณาแล้ว ก็คงเห็นได้ว่า เปนเพราะเหตุใด

ผีโขมดอีกอย่าง ๑ เปนดวงแดง ๆ เหมือนดวงไฟอยู่ในกลางทุ่งเมื่อเวลาเรือเดินไปมา ถ้าเรือหลงทางไปในกลางุท่ง ก็หมายว่า ไฟบ้านคนฤๅไฟเรือ ก็ตามไป ดวงนั้นบางทีหายไปแล้วเกิดขึ้นที่อื่นอีก ตามไปเท่าใดก็ไม่พบเรือพบบ้าน ดังนี้ ก็ว่า ผีโขมดล่อหลอกให้หลง การเรื่องนี้เราเห็นว่า จะไม่เปนผีโขมดดังคนบางจำพวกเล่าลือกันนั้นเลย คงเปนด้วยแม่แร่อันใดที่มีรัศมีได้เหมือนแร่สุพรรณถัน แร่ฟอสเฟเรด เปนต้น ฤๅบางทีน้ำในทุ่งขังอยู่ในที่เดียว เน่าเข้า ก็อาจที่จะให้เกิดสีเกิดไอได้ ดุจน้ำในทเลเมื่อเราโยนสิ่งของไปฤๅกวนเข้าเปนพรายสว่างได้ เพราะน้ำในทเลขังอยู่มีรศเค็มงวด จึงเปนพรายได้ฉันใด ก็เห็นจะเหมือนกัน อิกอย่างหนึ่งเรียกว่า พรายน้ำ ที่เปนแสงสว่างขึ้นในกลางทเลแลขึ้นเรือที่เดินในทเลแล้วมีพยุเรือถึงอับปางก็มี เขาเรียกว่า ผีพราย เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ผีเปนแน่แท้แล้ว เปนด้วยแร่ฤๅอันใดที่มีพิศมีไออยู่ใต้น้ำเปนแน่ เราได้พบเรื่องผีโขมดผีพรายน้ำนี้ในหนังสือกิจจานุกิจที่เจ้าคุณทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดีตกแต่งไว้อธิบายให้เห็นจริงได้ เราได้ยกมาไว้ดังนี้ "ที่เห็นเปนดวงไปในพื้นแผ่นดินแลหลังน้ำ สูงศอกหนึ่งบ้าง สองศอกบ้าง เขาเรียกว่า ผีโขมด ผีกระสือ ที่เปนดวงไฟไปติดบนยอดเสากะโดงเรือในทเล เรียกว่า พรายน้ำ นั้น เขาได้ตรวจทดลองแล้ว ผีโขมด ผีกระสือ เปนด้วยของโสโครกเน่าในแผ่นดินฤๅน้ำเน่าในท้องทุ่ง จึงปรากฎเปนดวง ๆ ไป ไปก็ไม่สูงพอกำลังไอน้ำไอดินขับเท่าใด ก็เปนเพียงนั้น ที่ว่า ปลาเน่า ก็มีเรื่องเหมือนผีโขมด ผีกระสือ ที่ว่า เปนดวงไฟติดอยู่ที่ของสูง ๆ ว่า เทวดาสำแดงให้ปรากฎ ก็พวกที่เขาถือว่า เทวดาไม่มี เขาก็ว่า ธาตุไฟมีอยู่ที่นั่นเอง ที่ว่า พรายน้ำ นั้น พวกถือผีก็ว่า ผีในทเลมาทำร้าย เขาก็เอาขนเป็ดขนไก่เผา เอาเข้าสาร กับเกลือ กับของโสโครก สาดไป บางทีเศกน้ำมนต์ประพรมก็หายได้ เรื่องนี้ต่อเรือถูกพยุมืดมน ฝนตกจึงเปน ถ้าเปนแล้ว เรือแล่นไปไม่ได้ เหมือนอะไร ๆ ดูดเหนี่ยวอยู่ ถ้าอากาศปรกติ ก็ไม่มี พวกที่เขาไม่ถือผีเขาก็ว่า เกิดเพราะอากาศร้อนนักเย็นนักกระทบกันเข้า จึงเกิดเปนพราย ๆ ขึ้นมาแต่ใต้น้ำก่อน แล้วผุดขึ้นจับบนหลังน้ำแดงสว่างไปหลาย ๆ เส้น ถ้าถูกเรือ ก็ขึ้นจึบอยู่บนเสาบ้าง ปลายเพลาบ้าง บางทีขึ้นตามข้างเรือจนดาดฟ้าเปนเลือกลื่นเหมือนน้ำคาวปลา มีรัศมีเหมือนหิ่งห้อย เรือจะแล่นไปก็ดูดไว้ ถ้าเปนดังนั้น ก็มีลมใหญ่ฝนใหญ่ ความข้อนี้ พวกถือปิศาจก็แก้ทางปิศาจ ก็หายบ้างไม่หายบ้าง เรือจมไปก็มี พวกที่ไม่ถือผี เขาก็ไม่แก้สิ่งไร ก็รอดไปได้เหมือนกัน” ได้ความในหนังสือกิจจานุกิจชัดเปนพยานอีกดังนี้ ก็ควรเห็นได้ว่า ไม่ได้เปนทางผีปิศาจเลย เราได้อุสาหสืบค้นหาในเรื่องนี้ เพื่อจะเอาความจริง ได้พบหนังสือฉบับ ๑ ซึ่งนักปราชญ์ยุโรปได้ตรวจค้นในเรื่องนี้ ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจันทรทัดจุธาธาร ทรงแปลไว้ แลทรงเพิ่มเติมบ้าง มีความดังนี้ “แสงสว่างอันเกิดขึ้นเองโดยธรรมดา ซึ่งคนสมมุติเรียกว่า ผีโขมด ผีกระสือ มีอาการเปนดวงไฟ เห็นในเวลากลางคืนในที่แผ่นดินแฉะชื้น แลที่เปนบึงเปนหนอง ฤๅเว็จ ฤๅป่าช้า ที่โสโครกต่าง ๆ เปนต้น บางทีแสงสว่างนี้เดินไปได้คล้ายกับคนเดินถือใต้ถือโคม แลเห็นเปนดวงเดียวบ้าง หลายดวงด้วยกันเต้นเปนหมู่ ๆ เหมือนกับคนถือไฟสองคนสามคนโดดเต้นเล่นการสนุกนิ์อยู่นั้นก็มีบ้าง บางทีในเวลากลางคืนมืดสงัด ดูแต่ไกลก็เหมือนแสงไฟในหมู่บ้านที่ไกล้เคียง คนเดินทางเวลากลางคืนมักหลงสำคัญว่าหมู่บ้าน เดินตามไปจนลงหนองลงบึง หาทางกลับมาไม่ได้จนรุ่งสว่าง การที่ล่อลวงทำให้คนหลงได้เช่นนี้ เปนของลึกลับที่จะคิดค้นหาต้นเหตุตัวจริงได้โดยยาก คนที่ไม่ตริตรองจึงลงเอาว่า เปนด้วยอำนาจภูตปิศาจ สมมุติเรียก ผีโขมด ผีกระสือ ที่เมืองสกอดแลนด์ ชาวบ้านนอกเรียกผีโขมดนี้ว่า เอลพ์ แคนเดอลช แลถือกันว่า ถ้าเห็นปรากฎที่บ้านเรือนใครแล้ว ก็เปนลางบอกเหตุร้ายว่า คนในบ้านนั้นจะตาย แลคนทั้งปวงเชื่อถือกันโดยมากว่า ผีโขมด ผีกระสือ นั้น ถ้าใครกล้าหาญติดตามไล่ไปแล้ว ก็เดินหนีไปได้เหมือนกับคน ความเข้าใจเช่นนี้ก็สมกับคำให้การของผู้ที่ได้สังเกตบ้าง แลที่ไม่ต้องกันก็มีบ้าง

ข้อความต่อไปนี้เปนคำของมิสเตอร์เบลซอนซึ่งเปนผู้ได้ตั้งใจสังเกตตรวจตราคอยจับผีโขมด ผีกระสือ ยกเอามาเปนอุทาหรณ์พอให้ท่านทั้งปวงสังเกตดูเรื่องราวที่เขาได้สอบสวนทดลองนั้นทราบได้โดยลเอียด

“ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นผีโขมดนั้น คือ ในที่ลุ่มระหว่างป่ากอบบิตร์ที่นิวมาร์ก ที่ลุ่มนี้ลึกลงไปในพื้นดินที่เปนใบไม้เน่าแลทรายกับโคลนปนกัน กับมีธาตุเหล็ก ธาตุแมกมิเซีย แลปูน รคนอยู่ที่พื้นลุ่มนั้น เปนหนองมีน้ำอยู่บ้าง น้ำนั้นเปนฝาเหมือนสนิมเหล็ก เปนสีต่าง ๆ คล้ายรุ้งลอยเปนทาง ๆ ในกลางวันมีฟองผุดขึ้นมาเหมือนฟองซ่าบู่ ครั้นเวลากลางคืน แลแต่ไกลเปนดวงไฟสีเขียวลอยขึ้นมาจากน้ำเต้นอยู่บนพื้นน้ำ ข้าพเจ้ามีความสงไสยว่า แสงสว่างนั้นคงจะมีเหตุเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับฟองที่เห็นเมื่อกลางวันนั้นเปนแน่ ข้าพเจ้าจึงหมายที่ฟองน้ำนั้นไว้แต่ในกลางวัน ครั้นค่ำลง ข้าพเจ้าไปนั่งตรวจดูอยู่ พอข้าพเจ้าไปถึง ก็ได้เห็นแสงเปลวเปนสีเขียว ๆ แดง ๆ ตรงฟองน้ำนั้น เหมือนที่คาดคเนไว้ เปนที่ยินดีมาก แลมิได้มีความครั่นคร้ามในการที่จะเข้าไปตรวจดูให้ใกล้ แต่ครั้นเดินเข้าไปจะใกล้ถึงที่ซึ่งหมายไว้ เปลวนั้นเดินหนีไปเสียจากที่ข้าพเจ้าไล่ตามไป ก็หายสูญไปกับตา การที่จะตรวจตราดูให้ลเอียดนั้นก็ไม่สำเร็จ วันหลังต่อ ๆ มาอีก ก็พันเอีนมีฝนตกหนัก อากาศชื้นแฉะไป ข้าพเจ้าจึงต้องจำใจงดการที่จะตรวจดูให้ลเอียดต่อไปนั้นเสีย แต่มีเวลาว่างเปล่าอยู่ พอตริตรองหาเหตุธรรมดาของผีโขมดที่เห็นอยู่นั้นได้ ข้าพเจ้านึดเห็นว่า การที่เดินเข้าไปนั้น ลมอากาศทีจะไหวกระเพื่อมพัดเอาเปลวแก๊ดที่เปนแสงสว่างเคลื่อนที่ไปเสีย แลข้าพเจ้าจำได้เปนแน่ว่า เมื่อเปลวแก๊ดจะดับนั้น มีสีคล้ำเข้าทีละน้อย ๆ ก่อน แล้วจึงดับหายไป เพราะเหตุดังนี้ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจตกลงเปนแน่ว่า ลมแก๊ดที่สว่างเปนเปลวอยู่นั้นคงจะอาไศรยเกิดแต่ฟองน้ำซึ่งเห็นในกลางวันนั้นเอง แลเห็นว่า ถ้าแก๊ดอย่างนี้ติดไฟครั้งหนึ่งแล้ว คงจะมีแสงสว่างเปนเปลวอยู่ตลอดไปได้ทั้งกลางวันกลางคืน เว้นไว้เสียแต่จะมีเหตุขวางในอากาศ เปนต้นว่า มีลมพัดแรงพาให้ดับไปเสีย แต่แสงสว่างนั้นซีดอ่อน จึงไม่แลเห็นได้ในกลางวัน

ครั้นแล้วต่อมา เวลาเย็นวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ไปดูที่ฟองน้ำนั้นอีก พอเวลาจวนค่ำขมุกขมัว ก็แลเห็นเปลวนั้นชัดขึ้นทีละน้อย ๆ แต่แสงสว่างนั้นอยู่ข้างแดงจัดกว่าที่เห็นแต่ก่อน เพราะเหตุดังนี้ ข้าพเจ้าจึงทราบเปนแน่ได้ประการหนึ่งว่า แก๊ดเช่นนี้มีแสงสว่างในเวลากลางวันด้วย ครั้นเมื่อข้าพเจ้าเข้าไปใกล้จะถึง เปลวนั้นเดินเคลื่อนจากที่หนีหายไปเสียอีก แต่ข้าพเจ้านึกเข้าใจเปนแน่ว่า ถ้าลมอากาศเงียบเปนปรกติไม่ไหวได้แล้ว เปลวนั้นคงกลับมีแสงสว่างขึ้นดังเก่าเปนแท้ ข้าพเจ้าคิดเห็นดังนี้แล้ว จึงลองยืนนิ่งระวังตัวไม่ไหวกายคอยดูอยู่ บัดเดี๋ยวก็แลเห็นเปลวนั้นค่อยมีแสงขึ้นแล้วเดินใกล้เข้ามายังที่เก่าทีละน้อย ๆ ส่วนตัวข้าพเจ้ายืนอยู่ในที่ใกล้พอเอื้อมมือถึง ข้าพเจ้าจึงเอากระดาษลองอังดูที่เปลวนั้นว่า จะติดเปนไฟได้ฤๅไม่ได้ แต่ยังไม่ทันจะอัง พอเขยื้อนมือ เปลวนั้นก็เดินหายไปเสีย ครั้นภายหลัง ข้าพเจ้าคิดขึ้นได้ว่า เห็นจะเปนด้วยลมหายใจของข้าพเจ้าทำให้เปลวดับไป จึงเบือนหน้าไปเสียงทางอื่น แล้วเอาผ้าขึงกันบังลมไว้ด้วย ครั้นแสงเปลวนั้นติดสว่างขึ้นอีก ข้าพเจ้าจึงลองเอากระดาษจุดดูเหมือนครั้งก่อน เมื่อเอากระดาษนั้นมาพิจารณาดู เห็นเปนรอยไหม้เตรียมอยู่แล้ว มีเปนลอองน้ำเปียกขึ้นอยู่ด้วย แล้วข้าพเจ้าฉีกกระดาษออกเปนเศษเล็ก ๆ เอาลองจุดดูอีก เศษกระดาษนั้นติดไฟเหมือนไฟธรรมดา ลมแก๊ดอย่างนี้มีเชื้อติดไฟได้เปนแน่ ไม่ต้องสงไสยเลย มิใช่เปนแสงสว่างฟอซฟอเรศเหมือนกับที่ว่ากันนั้นเปนแท้ แต่ทว่าจะเกิดขึ้นจากน้ำอย่างไรหนอ ข้าพเจ้าตริตรองอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึ่งคิดจะดับ ลองดูว่า จะเปนประการใดบ้าง จึงเดินไล่ต้อนเปลวนั้นไป เปลวนั้นเคลื่อนที่เดินหนีไปจนพ้นที่หนองน้ำแล้วหายไป ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า คงจะมีไอแก๊ดติดเนื่องต่อกันเปนสายอยู่ ครั้นเคลื่อนจากที่แล้ว สายนั้นจะขาดจากกัน จึงได้ดับหายไปเช่นนี้ ครั้นข้าพเจ้ายืนนิ่งเสียไม่ทันได้กี่มินิต เปลวนั้นก็กลับติดสว่างขึ้นเหมือนแต่ก่อน ตรงกับฟองผุดอยู่นั้น แต่ข้าพเจ้าไม่มีโอกาศที่จะตรวจดูให้ลเอียดต่อไปว่า จะเกี่ยวข้องกับดวงอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันนั้นอย่างไรได้ไม่ ดวงอื่นก็มีอีกหลายดวงด้วยกันในลุ่มนั้น ข้าพเจ้าทดลองดูเปนหลายครั้ง ก็ได้ความจริงเหมือนกัน ครั้นจวนรุ่งเช้า เปลวนั้นก็ต่ำลง ๆ ใกล้กับพื้นดินแล้วแสงสว่างก็มืดเข้าทีละน้อย ๆ จนสูญหายไปกับที่ รุ่งขึ้น เวลาเย็น ข้าพเจ้าไปที่ตำบลนั้นอีก หมายว่า จะลองจุดไฟดูตามขอบหนอง เพื่อจะให้เปลวแก๊ดในหนองนั้นติดไฟขึ้น ครั้นข้าพเจ้าไปถึงที่นั้นแล้ว ก็ดับเปลวแก๊ดเสียก่อนเหมือนวันแรก แล้วเอาไต้จุดไฟเข้าไปที่ฟองน้ำที่หมายไว้ ในทันใดนั้น ได้ยินเสียงประทุขึ้นเหมือนจุดดินปืน แล้วแลเห็นเปนแสงไฟติดขึ้นในหนอง กว้างประมาณ ๘ ฟิศ ๙ ฟิศ ๔ เหลี่ยม แล้วกลับเปนเปลวเหล็กหรี่เข้าเปนสีน้ำเงินอ่อน ๆ สูงพ้นน้ำประมาณ ๒ ฟิศครึ่งฤๅ ๓ ฟิศ แล้วติดเปนแสงสว่างอยู่ แต่ไม่เปนปรกติ ดูวาบไปวาบมา พิจารณาตามข้อความที่กล่าวนี้ เห็นได้ว่า ผีโขมด ผีกระสือ ที่คนเราสำคัญกันไปต่าง ๆ นั้น ก็ไม่ใช่อื่นใกลเลย คงเกิดเพราะไอแก๊ดอย่างหนึ่งขึ้นจากที่ดินแฉะชื้นแลที่โสโครกหนองบึงต่าง ๆ แต่ข้อที่มีแสงสว่างนั้น เห็นจะเปนด้วยไฟฟ้าในอากาศมาสัมผัสด้วย จึงเปนดวงสว่างปรากฎขึ้นเปนไฟดังกล่าวมานี้ ได้ความชัดขึ้นกว่าคำในหนังสือกิจจานุกิจมาก เปนพยานอันสำคัญ ควรผู้มีปัญญาจะพิจารณาให้ได้ความจริงดังกล่าวมา

ผีพุ่งใต้ที่เปนดวงไปในอากาศอย่าง ๑ นับว่า เปนของอัปมงคล ใครเห็นเปนคนเคราะห์ร้าย การที่ว่านี้ก็ควรคิดพิจารณา เราเห็นว่า จะเปนด้วยแร่อีกเหมือนมีในตำราที่นักปราชญ์ได้พิจารณาสอบสวนแล้วตกแต่งไว้เปนอันมาก ถึงในหนังสือกิจจานุกิจก็มีว่า เกิดด้วยแร่แลงูเขียวหางไหม้ ดังคัดมาว่าไว้นี้ คำที่ว่า ผีพุ่งใต้ฉูดไปมีหางเหมือนตรวจแลแสงสว่างต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ได้สืบสวนดูตามที่เขาเห็นมีพยานหลายอย่าง เขาว่า ออกไปนอนเฝ้ารั้วโป๊ะปลาทูในทเล ก็เห็นรัศมีฉูดไปมาเหมือนผีพุ่งใต้ แล้วก็มาหายอยู่ที่เสารั้ว เขาสงไสย เอาไฟส่องดู ก็เห็นงูเขียวหางไหม้พันอยู่นาน ๆ แล้วก็มีรัศมีฉูดไป เขาส่องดูงูหายไปดังนี้ ตริตรองดูก็เห็นว่าจริง ด้วยสัตวทั้งปวงนักปราชญ์ตรวจว่า มีธาตุไฟกินอยู่ในตัวแทบทั้งนั้น งูจะมีธาจุไฟมากไปกระทบอากาศธาตุไฟเข้าจึงบังเกิดรัศมีสว่าง ก็ที่เรียกว่า อุกาบาต นั้น ตกลงที่ใด กระจายเปนรัศมีที่นั้น มีเขาได้เอามือเช็ดมาดมดู ก็เหม็นกลิ่นสุพรรณถัน นักปราชญ์เขาว่า เปนลมธาตุสุพรรณถันขึ้นจากดินบ้าง จากภูเขาแลของสูง ๆ บ้าง จึงมีรัศมีสว่างไป แลที่ว่า ความสว่างมีในว่าน ขมิ้น ไพล รากพุทชาติ หิ่งห้อย แมลงคาเรือง ดังนี้ เขาว่า เปนธาตุอย่างหนึ่ง คำภาษาไทยไม่มีชื่อเรียก ภาษาอังกฤษเรียกว่า ฟอสเฟรเรส กินอยู่ในนั้น จึงมีรัศมี ได้ความดังนี้ คำที่ว่า เคราะห์ร้ายที่เห็นนั้น เราก็ได้เห็นคนที่เห็นผีพุ่งใต้มามากแล้ว ตัวเราก็เคยเห็น ก็ไม่เห็นเคราะห์ร้ายอย่างไรเลย ถ้าแก้ตามวิธีบุราณแล้ว ก็ไม่เห็นดีขึ้นอย่างไร เราไม่เห็นแปลกปลาด การที่ว่า เปนผีนี้ คงเกิดแต่คนที่ไม่รู้ว่า เปนด้วยอะไร ๆ ก็ยักลงเปนผีทั้งสิ้น สิ่งไรที่ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรแล้ว ก็ยักให้เปนผีบ้าง เทวดาบ้าง ดังนี้เปนพื้น หาใคร่พิจารณาเอาเหตุผลเหมือนักปราชญ์ข้างตวันตก คือ ชาวยุโรปนั้น ไม่ใคร่มี ของทั้งปวงที่ปรากฎด้วยจักษุแล้ว ถ้าพิจารณาให้แน่นอน ก็คงรู้ได้ว่า เปนเพราะเหตุใด ใครอย่าเพ่อเชื่อคำที่ซัดก่อนเปนดี

มีกุมารอีกอย่าง ๑ ผีอย่างนี้ คือ ลูกในท้องออกมาตายฤๅตายแต่ในท้อง เมื่อเปนเช่นนั้น ต้องหาหมอมาขนันลงเลขลงยันต์กันมิให้มาทำร้ายมารดา บางทีก็มิได้มีเหตุผลอย่างไร บางทีมารดามีเหตุตายไป ก็ว่า กุมารแรงบ้าง หมอทำไม่ลงบ้าง ความข้อนี้เปนที่น่าหัวร่อมาก ด้วยบางทีมารดาตายด้วยเลือดทำร้ายด้วยโรคนั้นเอง ก็ไม่มีใครโทษว่าเลือด กลับไปโทษเอาทารกดังนี้ ถึงรู้แล้วว่า เปนไข้โลหิต ก็ไม่หายสงไสย ความข้อนี้ก็เมื่อชาวเราได้ขนันทารกตามวิธีแล้ว เหตุไฉนบางทีมารดาจึงตายบ้างหายบ้าง ก็ชาวยุโรปแลจีนซึ่งออกลูกตายแล้วไม่ได้ขนันลงเลขลงยันต์อันใด ทำไมผีทารกจึ่งไม่มาทำให้มารดาตายหมดทุกผู้ทุกคนเล่า ก็เปนอย่างเช่นชาวเราเหมือนกัน คือ บางทีมีไข้โลหิตเปนพิศกล้า ก็ถึงแก่ความตาย บางทีก็ไม่เปนอันตรายอันใด แต่ที่ไม่เปนอันตรายอันใดนั้นมากกว่ามาก ขอผู้มีปัญญาพิจารณาเอาเถิด คงเห็นความยุติธรรมในเรื่องนี้ได้ เหมือนหนึ่งลาวซึ่งเชื่อถือผีอย่างยิ่งนั้น บางทีก็ตาย บางทีก็หาย ทำไมจึ่งไม่บนบานแก้ไขให้รอดได้เล่า เหมือนหนึ่งเวลาที่มีโรคประจุบัน คือ อหิวาตกะโรคนั้น ชาวเราที่เปนชาววัดชาวเถื่อนงุ่มง่าม ก็ว่า เปนเพราะผีห่า ผีพราย จะต้องการผู้คนเท่านั้นเท่านี้ ครั้นเมื่อรู้แล้ว ก็ต่างหาเวทมนต์คาถาทำอุปเทชักธงขาวยอมแพ้ ฤๅภาวนากันตัวต่าง ๆ บางทีก็ปลูกศาลเส้นสวงพลีการ คนที่ทำเช่นนี้ บางทีก็เปนโรคตาย บางทีก็ไม่เปนโรคก็มี ถ้าการเรื่องนี้เปนด้วยอำนาจผีห่าปิศาจแล้ว ก็คงเกรงกลัวเวทมนต์คาถาฤๅรับเครื่องพลีกรรม ไม่ทำอันตรายแก่คนที่ทำดังกล่าวแล้ว ส่วนแขกฝรั่งที่มิได้มีเวทมนต์บ่นคาถาเส้นสวงประการใดนั้นคงตายมากมาย นี่ก็หาเปนเช่นนั้นไม่ คนที่ถือว่า เปนเพราะผีก็ดี ไม่ถือผีก็ดี คงเปนโรคบ้าง ไม่เปนบ้าง เปนแล้วก็หายบ้าง ตายบ้าง เหมือนกันทั้งสิ้น แลเราได้ทราบในถ้อยคำของนักปราชญ์เปนอันมากว่า โรคนี้เกิดเพราะอากาศร้อน แลด้วยของโสโครก แลเพราะกินอาหารผิดแสลงเหมือนกินน้ำกร่อย ฤๅโทษที่ผิดอากาศของชั่ว ๆ เปนต้น แลเปนโรคที่ติดกันได้ เมื่อเปนที่ใด ก็มักจะติดต่อ ๆ กันไป ไม่ได้เปนเพราะผีห่าผีโหงอันใด เพราะฉนั้น คนที่สอาด ๆ ไม่ใคร่จะเปนโรคนี้ แลเมื่ออากาศปรกติ จึ่งมิได้มีโรคนี้ขึ้น

ผีกองกอยอีกอย่าง ๑ ว่ากันว่า ถ้าใครไปนอนหลับที่ป่าแล้ว มักมาดูดกัดเอาโลหิตที่เท้าคนนั้นตาย เรียกว่า ผีกิน ในเรื่องนี้ นักปราชญ์ชาวยุโรปได้ตรวจตราสืบสวนแล้ว ได้ความชัดว่า เปนสัตวที่มีชีวิตร รูปคล้ายบ่าง อยู่บนต้นไม้ ปากมีพิศ สูบโลหิตในตัวคนให้ถึงความตายได้ มิใช่ผีกองกอยยังเช่นว่ากันนั้นเปนแน่แล้ว

อธิบายในเรื่องผีอื่น ๆ ก็มากแล้ว แต่เรื่องผีหลอก ผีอำ ยังไม่ได้กล่าวเลย บัดนี้ เราจะได้พูดถึงเรื่องผีหลอก ผีอำ เสียบ้าง ผีหลอกก็ดี ผีอำก็ดี มีเรื่องที่คนบุราณ คนช่างพูด คนอวดวิชา มักเล่ายืนยันต่าง ๆ จนบางทีเกือบสบดได้ว่า ผีหลอกตัวอย่างนั้น ๆ แต่ในหมู่คนที่จะกล้าเล่ายืนยันจนเกือบสบดได้นี้น้อยนักหนา จะมีก็แต่คนที่ขึ้นยอในการไม่กลัวผี ฤๅมีวิชาดี ฤๅนับถือผีจริง ๆ นั้นบ้าง ไม่ใคร่มากนัก แต่คนที่ได้ยินเขาเล่าแล้วเก็บมาเล่าว่า หลอกอย่างนั้นอย่างนี้นั้น เปนอันมาก ฤๅบางทีถ้าเล่าว่า ตัวถูกผีหลอกอย่างนั้น ๆ ถ้าไล่เข้า ก็มักจะเปนที่ไม่มีพยาน ฤๅไม่ได้พิจารณาการเลอียดเปนแต่เห็นวูบวาบ ก็ลงว่า ผีหลอก ฤๅเห็นอะไรแวมวาม ได้ยินอะไรกุกกักตึงตัง ก็ลงเอาว่า ผีหลอกนั้นแล โดยมากทั่วไป เรื่องผีหลอกนี้มักฝึกสันดานคนเรามาจำเดิม แต่ยังเล็ก ๆ ก็เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่ามา ก็เด็กที่มีอายุน้อย ๆ เช่นนั้นจะหาความพิจารณาที่ไหนได้ เมื่อได้ยินผู้ใหญ่เล่า ก็เกิดความกลัวความเชื่อมาทีเดียว ครั้นโตขึ้น อุปาทานก็ยึดมั่นให้หวาดหวั่นตลอดมา ไม่ได้คิดที่จะใต่สวนเอาความจริงนั้น แลโดยมาก ครั้นเมื่อได้เล่าเรียนวิชาอันใด เมื่อตอนรุ่นขึ้น ก็คงต้องไปเรียนกับพระกับขรัว ๆ ก็มีความเชื่อในเรื่องผีนี้ จนมีคาถาแลวิชากันผีต่าง ๆ จนคนนั้นเปนบ้าเล่าเรียนตามไป ครั้นเมื่อได้วิชาเช่นนั้นเข้า ก็เลยเชื่อผีหนักขึ้น เพราะมีวิชาแก้กันเมื่อประสบพบอันใด ก็เข้าใจว่า ผี ภาวนาไปทีเดียว ดังนี้ก็มีมาก เพราะไม่ได้เล่าเรียนในวิชาที่จะคัดค้านสอบสวนจับตัวผีให้ได้จริง ๆ เลยสักคนเดียว เหตุนี้ จึงทำให้คนหลงเชื่อตาม ๆ กันไปโดยมาก ยังมิหนำ ยังมีถ้อยคำของผู้ใหญ่มักห้ามปราบต่อไปอิก (คือ สอนให้คนโง่เท่านั้นเอง) ว่า ถ้าได้ยินอันใดกุกกักตึงตัง อย่าทักในเวลากลางคืน จะต้องคุณผีต้องลมเพลมพัดต่าง ๆ ตามแต่จะว่าไป จนมีบทกลอนบุราณว่า (หนึ่งได้ยินโผงเผาะเกาะกึงกัก คือคุณผีปิศาจอุบาทว์ยักษ์ ใครทายทักถูกพิศวิทยา) ดังนี้ เราเห็นว่า เปนสุภาสิตสำหรับสอนให้คนโง่ เกือบจะไม่เปนสุภาสิตได้ ก็มักว่ากล่าวว่า ไม่รู้จักอันใด เปนคนทลึ่ง นอกครูนอกบา แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี ก็ยังอุสาหมีคนบางคนที่ไม่เชื่อผีบ้าง แต่ในเมืองเรานี้ยังไม่สู้มากนัก ถ้าคนที่ได้เล่าเรียนวิชาเปนดนตรีตรองค้นคว้าของจริงแล้ว มักไม่ใคร่เชื่อ เมื่อพบปะสิ่งที่คนเรียกว่า ผีหลอก แล้ว ก็ค้นคว้าหาความจริง ก็มักได้ความว่า เกิด แต่ไม่มีความวิจารณ์ให้เที่ยงแท้ก่อนนั้น แลโดยมาก เราจึงสามารถที่จะกล่าวได้ว่า ถ้าผีหลอกแล้ว ได้พิจารณาให้แน่ก่อนที่จะกลัวฤๅตกใจแล้ว คงได้ความชัด เรื่องที่คนถูกผีหลอกแล้วได้พิจารณาจับเหตุได้จริงว่า มิใช่ผีนั้น มีเปนอันมาก เราจะได้ชักอุทาหรณ์มาไว้ต่อภายหลัง การที่พิจารณาย่อมไม่มีโทษ คำที่ว่า ไม่ให้ทักทายที่เสียงดังเสียงก้องดังนี้ บางทีก็เปนอุบายของผู้ร้ายที่จะหลอกลวง เมื่อคนมีความกลัวจนถึงไม่ทักทายนี้ ก็เปนโอกาสที่จะได้ฉกลักเข้าของได้โดยง่าย เมื่อเห็นอันใดแวบวาบ ไม่ดู ก็มีโทษดุจกัน ฤๅถ้ามีความตกใจ บางทีก็จะทำให้เจ็บเปนไข้พิษไข้กาลถึงความตายได้ ด้วยความตกใจฤๅกลัวจนสาหัส โลหิตเปนพิศ ดีแตกดีเสีย มีตัวอย่างมาแล้วเปนอันมาก เมื่อเปนเหตุเช่นนั้น ก็หารู้ว่าเปนเพราะตกใจเกินไปไม่ กลับไปโทษว่า ผีปิศาจทำอำนาจกาจร้ายไปอิก เพราะฉนั้น เราจึงตักเตือนไว้ว่า อย่ากลัวเกินไปกว่าที่จะรู้เหตุก่อน บัดนี้ เราจะได้เล่าถึงตัวเราที่เคยถูกสิ่งที่คล้ายกับผีหลอก

ครั้งหนึ่ง เราอยู่แพที่บ้านบางยี่ขัน เรากลับจากรับราชการประมาณเวลา ๓ ยาม พอถึงแพ เราก็ผลัดผ้านุ่งเพราะด้วยความร้อน เราจึงเดินออกไปหลังแพในเวลาเงียบสงัดนั้น เราได้เห็นคนยินอยู่ข้างแพแม่ซึ่งติดกับแพเรา รูปร่างขาวผอมสูงแต่พื้นแพถึงจั่ว แต่จะนุ่งผ้าฤๅไม่ได้นุ่งผ้าหาทันสังเกตไม่ ด้วยความกลัว ใจหายวาบ ขนลุกทั้งตัว เกือบจะร้อง แต่ความตกใจมาก ร้องไม่ออก จะกลับหลังมา ในทันใดนั้น เรากลับกล้าขึ้นหน่อยหนึ่ง นึกว่า ผีหลอก ควรพิจารณาก่อน ครั้นเราแลดูอิกครั้งหนึ่ง จึ่งรู้ชัดว่า เงาไฟซึ่งฉายมาจากบนเรือนที่ตรงแพจอด ไฟบ่าวจุดไว้ในเรือนฉายมาตามช่องฝาที่ทลุ พอเห็นเท่านั้น เรากลับมีความยินดี สนุกขึ้นในเดี๋ยวนั้นเอง เพราะว่า ได้จับผีหลอกได้ จึงเรียกบ่าวมาดูอิกหลายคน เพื่อจะให้เห็นเหตุที่ควรพิจารณา แลการที่กุกกักโครมครามนั้นก็ดี เราได้จับได้ว่าเปนเพราะหนูแลนกหลายครั้ง ยังมีคนอื่นที่เคยสังเกตในเรื่องผีนี้อิกหลายเรื่อง เราขอยกมาว่าเปนพยานเราอิก

ถ้อยคำต่อไปนี้เปนเรื่องที่คัดมาแต่หนังสือฉบับอื่น เรื่องผู้คิดที่จะจับผีให้รู้ว่าจริงอย่างไร ดังนี้

ในครั้งก่อน ชาวยุโรปมีชายผู้หนึ่งใจกล้าหาญ สมัคเข้ารับราชการเปนทหาร เมื่อมีศึกสงครามครั้งใด ก็ใดอาษาไปหาช่องโอกาศแสดงความชอบความกล้าหาญของตนให้ปรากฎทุกคราว จนมีความชอบความดีมียศแต่ผู้น้อยเปนลำดับไปถึงยศเยเนอราลในประเทศนั้น อกเสื้อของผู้นั้นเต็มด้วยเครื่องอิศริยศแลเหรียญความชอบ ประกอบทั้งทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ ตามที่ได้รับผลเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงบำเหน็จรางวัลต่าง ๆ จนถึงอายุ เยเนอราลผู้นั้นล่วงเข้าใกล้ปัจฉิมไวย ก็ลาออกจากราชการ มีตำแหน่งยศเยเนอราลติดตัวอยู่ แลได้รับเบี้ยเลี้ยงพอสมควร

ในครั้งนั้น ชนเปนอันมากเชื่อถือว่า คนตายแล้วกลับเปนปิศาจมาหลอกหลอนคนเปน แลอำนาจปิศาจทั้งหลายอาจทำให้คนดีคนชั่ว แลสังหารผลาญมนุษย์ได้ต่าง ๆ แต่เยเนอราลผู้นั้นหาได้มีใจเชื่อถือตามชนเปนอันมากได้คิดเห็นไม่ อาไศรยความกล้าหาญติดอยู่ในสันดานแต่เดิมมา ครั้นมีเวลาว่างได้หยุดพักจากราชการอย่างนั้น ก็ตั้งใจที่จะทดลองเรื่องผีหลอก เพื่อจะจับเหตุผลที่บังเกิดขึ้นให้ทราบชัดปรากฎแก่คนทั้งหลายว่า ผีหลอกแลผีทำผลให้ไม่ได้ไม่จริงเปนต้น

ลำดับนั้น เยเนอราลจึงแสวงหาข่าวคราวเรื่องปิศาจทั้งปวง ครั้งหนึ่ง ได้ออกไปบ้านนอก ได้ความจากชาวบ้านเหล่านั้นว่า มีวังร้างอยู่วังหนึ่ง ในป่าใกล้บ้านมีปิศาจดุร้ายนัก มีคนได้ไปพบปะปิศาจหลอกหลอกต่าง ๆ ก็มีเปนอันมาก บางคนไปทดลองแล้วก็หายไปไม่ได้กลับมาก็มาก ชาวบ้านมีความเกรงกลัวปิศาจในวังนั้น ต้องจัดสิ่งของไปบวงสรวงเส้นอยู่เสมอ จึงอยู่ได้เปนศุขต่อมา

เยเนอราลผู้นั้นจึงคิดว่า เกิดมาเปนชายชาติทหาร จะกลัวไภยอันจะมาแต่หมู่ปิศาจแลผู้ที่จะประทุษฐร้ายนั้นก็มิบังควร ธรรมดาความกำเหนิดที่กล่าวว่า ปิศาจ นั้น จะมีขึ้นก็เพราะคนตาย แล้วตัวเราก็จะต้องตาย ๆ แล้วก็อาจจะต้องเปนปิศาจเหมือนกัน จึงได้สอบถามหมู่ชาวบ้านถึงอาการที่ปิศาจหลอกหลอนทำร้ายต่าง ๆ รวมความดูก็เปนการพิลึกพึงกลัวยิ่งนัก แต่โดยความกล้าหาญของท่านเยเนอราลผู้นั้น จึงเฉลียวใจขึ้นมาว่า แต่เราสู้ศึกสงครามมาหลายสิบยกแล้ว ย่อมเหยียบย่ำเกลือกกลิ้งไปกับซากศพคนตายเปนอันมาก เหตุใดจึงมิได้มีปิศาจหลอกหลอนให้ปรากฎแต่สักครั้งหนึ่ง สงไสยว่า จะเปนคนทำอุบายล่อลวงต่าง ๆ อย่างเดียว อยากจะไปทดลองให้เห็นประจักษ์แก่ตาให้จงได้ แต่การที่จะไปทดลองอย่างนี้ ต้องนับว่า เราต้องไปสู้ทั้งผีทั้งคน ถ้าฉวยว่า เปนผีจริง เราก็ต้องรบแต่ผีผู้เดียว ถ้าเปนคนปลอม รู้ว่า เราไม่กลัวผีจริง พวกคนเหล่านั้นก็คงจะประหารเราเหมือนคนเปนอันมากที่หายไปไม่ได้กลับมานั้น แม้นว่าราจะหาคนไปด้วยให้มาก ไหนเลยจะเห็นวิชาของปิศาจปรากฎตามความประสงค์ จำเปนต้องไปตามธรรมดาชาวบ้านคนเดียวสองคนเท่านั้น ถ้าเปนคนปลอมสมที่คิด ก็เสมอกับเราเข้าต่อสู้สงครามอิกครั้งหนึ่งเท่านั้น อย่างไร ๆ ก็ดี ถือว่า เปนชายชาติทหาร มีเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายเปนประมาณ ว่าอย่างนั้นแล้ว เยอเนอราลก็เรียกคนใช้แต่สองคน จัดเตียงนอนไปด้วยเตียงหนึ่ง ตรงไปยังตึกใหญ่ที่เรียกว่า วังร้าง นั้น ก็ขึ้นไปบนตึก เห็นเปนห้องเปล่าเก่า ๆ แต่มีบานประตูน่าต่างมั่นคงแข็งแรงดี พอจะเปนที่ป้องกันผู้คนอันสงไสยว่า จะปลอมเปนผีมาทำร้ายได้ พอเวลาพลบค่ำ ก็ได้ยินเสียงปิศาจสำแดงเสียงคำรนร้องต่าง ๆ เยเนอราลก็พูดว่า ได้ยินแต่เสียง จะกลัวอันใด แต่คนใช้สองคนไม่อาจทนความกลัวอยู่ได้ วิ่งหนีไปเสียจากตึกนั้น เยเนอราลจะร้องเรียกเท่าใดก็ไม่ฟัง แต่เยเนอราลเห็นว่า ถ้าไปตามคนทั้งสองเวลานี้เล่า ปิศาจก็จะเห็นว่าหนี ถึงตัวเราคนเดียวก็อาจสู้คนได้หลายสิบ ว่าแล้วก็ตรวจผนังแลบานประตูน่าต่างเพดานพื้นตลอด เห็นเปนปรกติตามธรรมดาอยู่ เยเนอราลจึงปิดประตูลั่นกลอนน่าต่างตลอดหมดทั่วทุกแห่ง ตั้งใจว่า จะรอดูปิศาจมาหลอนหลอก จนดึกประมาณ ๗ ทุ่มเศษ ก็ไม่เห็นมีปิศาจมาหลอก เยเนอราลจึงนึกว่า ชนเปนอันมากมากลัวเกรงปิศาจด้วยเหตุไร เห็นว่า ไม่มีปิศาจแน่แล้ว เยเนอราลก็คิดจะนอน แต่มีความหวาดหวั่น มั่นใจอยู่แต่ว่า จะเปนคนปลอมอย่างเดียว เยเนอราลไม่ไว้ใจ จึงได้หยิบปืนโก ๖ นัดมาประจุปัสตันครบบริบูรณ์วางไว้ที่ข้างที่นอน แล้วก็นอนหลับไป

ประมาณครู่หนึ่ง มีเสียงโด่งดังคำรามเสทือนทั่วไปในห้อง ท่านเยเนอราลตกใจตื่นผุดลุกขึ้นจับปืนโก ก็แลเห็นปิศาจยืนอยู่ปลายตีนเตียง มีรูปร่างพิลึกพึงกลัวยิ่งนัก เยเนอราลมีสติอันดี ไม่ครั่นคร้าม ถามว่า นี่ฤๅปิศาจ ในเวลานั้น ปิศาจก็สำแดงอาการกิริยาต่าง ๆ มีทำเปนตัวสูงแลเตี้ย หัวหกห้อยกันต่าง ๆ เปนต้น เยเนอราลไม่มีความครั่นคร้าม คอยดูเชิงปิศาจอยู่ ปิศาจเห็นเยเนอราลไม่กลัว ก็ตรงเข้ามาจับข้อเท้าเยเนอราลลากไปจากเตียง เยเนอราลเห็นมือปิศาจนั้นเย็นเหมือนน้ำแขง ผิดปรกติมนุษย์ ก็หนักใจ แต่อาไศรย์ความกล้าหาญของเยเนอราลนั้น จึ่งทลึ่งยืนขึ้นพูดว่า กูไม่กลัวปิศาจ เองเปนคนแกล้งทำฤๅ ไม่รับเสียดี ๆ จะยิงด้วยปืนนี้ ปิศาจก็ทำสิงหนาทต่าง ๆ เหมือนว่า จะประหารเยเนอราลเสียให้ถึงแก่ชีวิตร์ เยเนอราลเห็นว่า ไม่เปนการแน่แล้ว จึ่งยิงปืนโกไปที่ปิศาจ ๆ ก็จับลูกปืนที่เยเนอราลยิงไปนั้นโยนทิ้งมาให้เยเนอราล ๆ โกรธยิ่งนัก ยิงปืนไปอิกจนครบ ๖ นัด ปิศาจก็ขว้างลูกกระสุนที่ยิงไปนั้นกลับมาที่เยเนอราลอิกทุกที เยเนอราลตรวจดูเห็นลูกปืนกลับมาได้อย่างนั้น ก็เห็นว่า ถ้าคนคงต้องตาย แลที่ไหนจะจับลูกปืนขว้างมากได้ เมื่อเยเนอราลรู้ว่า เปนผีอย่างนี้แล้ส ยังไม่มีความครั่นคร้ามอย่างใดเลย จึ่งพูดกับปิศาจว่า ถ้าเรารู้ว่า ตัวเปนผีแน่อย่างนี้แล้ว เราก็คลายความวิตก เราไม่ต้องสู้รบรักษาตัวอันอันใดต่อไป ตัวเราก็ต้องตายเหมือนกันกับตัวเจ้า ว่าแล้วเยเนอราลก็ทำเปนลงนอนเสียบนเตียงตามเดิม ฝ่ายปิศาจเห็นว่า เยเนอราลไม่กลัวเกรงอำนาจตัวแน่แล้ว จึ่งอยากจะลองใจเยเนอราลให้หมดวิชาของตัว ก็ตรงเข้าจูงหูเยเนอราลลุกขึ้นจากที่นอน เยเนอราลก็ยอมลุกขึ้นโดยดี ปิศาจก็เอาผ้าผูกตาเยเนอราลแล้วจูงวกเวียนไปต่าง ๆ มีเสียงคำรนคำรามก้องไปในเวลานั้น เยเนอราลเดินไปโดยปรกติ พอปิศาจแก้ผ้าผูกตาเยเนอราลออก เยเนอราลเหลือบไปเห็นฝูงปิศาจเปนอันมาก มีอธิบดีนั่งอยู่เหนือที่สูง สำแดงเดชอิทธิฤทธิต่าง ๆ เพื่อจะให้เยเนอราลมีความเกรงกลัว เยเนอราลก็ไม่ครั่นคร้าม หมู่ปิศาจหมดวิชาอาคมแล้ว คิดจะฆ่าเสีย ก็มีความกรุณารักน้ำใจความกล้าหาญของเยเนอราลนั้น จึ่งซักถามชื่อเสียงแลบ้านที่อยู่ท่านเยเนอราลผู้นั้น แล้วก็ผูกตาเยเนอราลจูงเดินวกเวียนกลับออกไปส่งเสียนอกตึก แล้วปิศาจก็หายไป เวลานั้น พอเปนเวลาสว่าง เยเนอราลกลับขึ้นไปตรวจดูบนตึกอีก ก็เห็นประตูน่าต่างลั่นกลอนอยู่ เยเนอราลก็พังประตูเข้าไปในห้องเดิมนั้น ไม่เห็นมีอะไร มีเตียงนอนของเยเนอราลที่ยกเข้าไปไว้ น่าต่างประตูที่เยเนอราลปิดไว้ก็ยังเปนปรกติอยู่ เยเนอราลมีความสงไสย แต่ความเห็นยังคงอยู่ว่า จะเปนคนอย่างเดียว คิดจะจับความจริงให้จงได้

ภายหลัง เยเนอราลไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงาน แลขอรับอาษาทำอันตรายปิศาจในตึกนั้นพินาศไปจนได้ กิตติศัพท์ทราบไปถึงพวกปิศาจทั้งหลาย รู้สึกตัวกลัวความผิด แลเห็นฤทธิความกล้าหาญของท่านเยเนอราลผู้นั้น จึ่งได้แต่งให้นายพวกปิศาจไปหาท่านเยเนอราลผู้นั้น รับผิดรับชอบแลแจ้งความด้วยดีว่า พวกผีทั้งหลายนั้นเปนคนทั้งสิ้น ท่านเยเนอราลจึ่งได้ซักถามถึงข้อความที่แปลกประหลาดต่าง ๆ ที่น่าเชื่อสมควรจะเปนวิชาปิศาจนั้นต่อไป ได้ความว่า ที่ตึกนั้นได้ทำน่าต่างพรางไว้ให้เลื่อนให้คนเข้าออกได้ มิให้คนทั้งปวงสงไสยว่า มีช่องเข้าออก รูปร่างปิศาจมีวิปริตต่าง ๆ ก็ได้ทำกลไกใช้ลวดเปนสปริงให้สูงต่ำได้เปนต้น อาการกิริยาที่ห้อยหัวหกหางอันใดเหล่านั้น ก็อาไศรยความฝึกฝนโดยธรรมดา เสียงคำรนคำรามก็ได้ใช้เสียงพวกตนทั้งหลายแลเครื่องตีเครื่องทำต่าง ๆ แลมือปิศาจที่เย็นเหมือนน้ำแขงนั้น ก็ได้ใช้ถุงมือหนังมือน้ำแขงข้างใน มียนต์ใยที่จะให้จับต้องได้ ส่วนปืนที่ท่านเยเนอราลยิงไม่ตายนั้นเปนข้อสำคัญ เมื่อท่านเยเนอราลหลับแล้ว คนผู้ปลอมเปนผีนั้นได้แอบมาถอดเอาลูกกระสุนไปเก็บไว้เสียหมด ครั้นท่านเยเนอราลยิงปืนไป ก็เหลือแต่ดินดังตูม ๆ ไปเปล่า ๆ ไม่มีลูก จึ่งไม่เปนอันตรายแก่คนผู้ปลอมเปนผี ยิงไปทีไร คนก็คว่างลูกกระสุนที่ถอดเอาไว้นั้นไปทุกคราว แล้วก็ขอโทษแลสรรเสริญความกล้าหาญของท่านเยเนอราลผู้นั้นเปนอันมาก

แลยังมีเรื่องที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล ได้ทรงแต่งว่าถึงเรื่องผีหลอกซึ่งพระองค์ท่านได้ถูกมาแล้ว แลได้พิจารณาเห็นแจ้งชัดว่า มิใช่ผี มีถ้อยคำที่ท่านเรียงไว้ ดังเราได้คัดมาลงต่อไว้ท้ายนี้ คือ

“เรื่องผีหลอกต่าง ๆ นี้ น่าจะเปนที่พิศวงอย่างยิ่ง เพราะคนที่เชื่อว่า ผีหลอกนั้นเปนได้จริง ก็มีอยู่เปนอันมาก แลผู้ที่เชื่อเหล่านี้บางคนก็เปนคนมีปัญญาแลไม่หลงไหลฟั่นเฟือนพอที่จะเชื่อฟังได้ แต่ผู้ซึ่งกล่าวว่า ไม่มีไม่เปนได้จริง ก็มีมาก เปนอันแย่งความจริงกันอยู่ฉนี้ ในการเรื่องนี้ ถึงตัวข้าพเจ้าก็ได้สังเกตมานานอยู่แล้ว ก็ตัดสินไม่ตกลง เพราะไม่เคยเห็นแน่ชัดว่า ผีหลอกนั้นรูปร่างเปนอย่างไรแน่ แต่ข้าพเจ้าได้เคยถูกเหตุที่เปนที่หวาดหวั่นอย่างยิ่งก็หลายครั้ง ๆ หนึ่ง ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังอยู่ที่บ้านบางยี่ขัน เวลาดึกประมาณสองยามเศษ ข้าพเจ้าเข้าไปนอนในห้องนอน ในเวลานั้น ได้ยินเสียงแก๊ก ๆ คล้าย ๆ กับเคาะฝา หยุดบ้าง ดังบ้าง แต่ขณะนั้น ใจยังกล้าอยู่ เพราะยังไม่ได้คิดถึงเรื่องผีหลอก แต่นอนนิ่งฟังอยู่ เสียงนั้นก็ยิ่งร่ำไป จึ่งสงไสยว่า จะเปนขโมยเจาะฝา เพราะแต่ก่อนไม่เคยได้ยิน เกือบจะร้องขึ้น แต่กลับคิดได้ว่า ถ้าไม่ใช่ขโมย ก็จะกลายเปนบ้าไป ครั้นจะเปิดออกไปดู ก็ไม่ไว้ใจ เกรงจะมีอันตราย จึ่งอุบายทำเปนกระแอม เสียงนั้นก็พเอินหยุดไปครู่หนึ่ง แล้วกลับดังอีก เพราะเหตุฉนั้น ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อใจแน่ว่า ขโมยเจาะฝา แต่นอนกระแอมโต้ตอบกับเสียงแก๊ก ๆ อยู่เกือบครึ่งชั่วโมง เสียงนั้นก็ไม่หยุดทีเดียว ข้าพเจ้าจึ่งได้คิดว่า เห็นจะเปนหนู แล้วลุกขึ้นเคาะพื้นไล่จนรอบเรือน เสียงนั้นก็ไม่หยุด แล้วจุดเทียนส่องดูตามซอกตู้เตียงจนทั่ว ก็ไม่เห็นอะไร จึ่งกลับคิดขึ้นได้ว่า จะเปนผีหลอกเปนแน่ ในขณะที่จิตรประวัติเช่นนั้น เกษาโลมาก็ชูชันซ่าไปทั้งสารพางค์กาย เกือบจะเดินต่อไปอีกไม่ได้ ต้องกลับมานอนชักผ้าคลุมนิ่งอยู่ แต่ขืนใจนอนนึกเรื่องอื่น ๆ จนถึงสมบัติบ้า ก็ไม่หลายกลัว ไม่ว่าเรื่องอะไรที่แกล้งคิดเพื่อจะให้ใจสบายในขณะนั้นไม่ตลอดได้สักเรื่องหนึ่ง ได้ต้นปลายหาย ได้ปลายต้นหาย ตั้งใจที่จะห้ามหูไม่ให้ฟังเสียงอันนั้น ก็ไม่ฟัง จนไม่รู้ที่จะคิดอย่างไร ได้ยินแต่เสียงนั้นกึกก้องขึ้นทุกที ครั้นจะออกไปเรียกคน ก็คร้าม ๆ อยู่ จะตโกนก็ไม่ได้ยิน เพราะเวลาดึก คนหลับหมด จะนิ่งอยู่ก็นอนไม่หลับ จึ่งคิดหักใจว่า จะเปนตาย ก็ลองเปิดน่าต่างดูสักทีหนึ่ง รูปร่างผีจะเปนอย่างไรแน่ คิดแล้วแขงใจเปิดน่าต่างที่เคียงกับน่าต่างที่เสียงดังอยู่นั้น จุดเทียนส่องออกไป เห็นเปนลำโตพุ่งเข้ามาตรงน่าต่างคล้ายกับหลังคนก้มศีศะชนเข้าที่ฝาเรือน ในเวลานั้น ใจหายวาบราวกับศีศะหลุดไปจากกาย ไม่ทันจะดูให้ชัดว่า รูปร่างอย่างไรแน่ ก็หลบหน้าเข้ามายืนตลึงเปนครู่หนึ่ง จึ่งได้สติคิดว่า ควรจะให้รู้ชัดว่า อย่างไรแน่แล้ว ข้าพเจ้าจึ่งเอาเทียนติดปลายไม้ยื่นออกไปส่องดูให้ใกล้ จึ่งได้เห็นว่า ใบตองคลี่ออกมาใหม่ ปลายใบระขอที่สับน่าต่างอยู่ ข้าพเจ้าจึ่งไปเปิดน่าต่างนั้น หักใบตองให้พับไป เสียงนั้นก็หยุดไป อีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้านอนอยู่ในเรือน แต่พื้นชั้นบนนั้นเปนที่ไว้พระพุทธรูปแลกระดูก เวลาดึกใกล้สว่าง ได้ยินเสียงดังลั่นอยู่บนนั้นคล้าย ๆ ฟ้าร้อง เสียงดังกระเทือนไปนาน ๆ ข้าพเจ้าก็นึกไม่สบายใจ แต่ขืนใจนอนฟังต่อไป ได้ยินเสียงร้องจิ๊ด ๆ จึงได้ทราบว่า ค้างคาวบินกระทบสังกะสีมุงหลังคา แต่เหตุเล็กน้อย คือ เงาแวบวาบ ก็เคยถูกหลายอย่าง มักจะเปนเพราะผ้าที่ตากไว้บนราวฤๅเพลิงที่ลมพัด ดังนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ธรรมดาผีหลอกนั้นคงมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเปนเหตุให้เปน แต่ผู้ที่ถูกผีหลอกนั้นหาได้ทราบต้นเหตุว่าเปนด้วยอะไรไม่ ก็ซัดเอาว่า ผีหลอก ก็คำที่ว่า ผี ๆ ตามที่เข้าใจกันนั้นหลายอย่าง คือ เกิดสำหรับโลก อย่างหนึ่ง จะเปนสิ่งใดของคนที่สิ้นชีพแล้ว แต่ไม่ใช่ซากศพ อย่างหนึ่ง แต่ซากศพนั้นจัดเปนผี อีกอย่างหนึ่ง แลผีเหล่านี้มีถ้าทางอย่างมนุษย์ฤๅออกจากมนุษย์ทั้งสิ้น ผีเสือ ผีข้าง ผีโค ผีกระบือ ฤๅผีสัตวต่าง ๆ นั้นไม่นับเข้าในส่วนนี้เลย ผีในส่วนเหล่านี้แบ่งออกเปนสองพวก ๆ หนึ่งเปนชั้นดี คือ เทวดานพเคราะห์อธิไทโพธิบาทว์ แลที่อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ แลเขา เรือนเล็ก ๆ ที่เรียกศาลเจ้า ฤๅศาลพระภูมบ้าง เปนต้น เหล่านี้จัดเปนไม่หลอก ได้แต่ทำการสงเคราะห์ให้ดีแลลงโทษ ผีซึ่งหลอกกันนั้นว่า มาแต่ป่าบ้าง อยู่ตามต้นกล้วยตานี ต้นฝรั่ง ต้นทับทิม มะกล่ำขาว ถั่วแปบ ถั่วคิ้วนาง มะลอกอบ้าง เที่ยวไปไม่มีที่อยู่บ้าง เหล่านี้ก็ไม่มีพยานที่จะจัดว่าจริงได้ ถึงเทวดาที่เสวยอายุก็เหมือนกัน การที่ว่า เพราะพระเสารฤๅพระศุกรนั้น ก็ไม่ชอบกล เพราะธรรมดามนุษย์จะไม่มีทุกข์ฤๅศุขในรหว่างหลาย ๆ ปีนั้นเปนอันยาก ที่ผีสิงฤๅลงท้าวต่าง ๆ ก็เปนการล่อลวงหาผลประโยชน์ใส่ตนทั้งสิ้น จะถือเอาสิ่งใดว่า เปนพยานให้เห็นว่า มีจริง ก็ไม่ได้สักอย่างหนึ่ง คำที่ว่า ผี ๆ นี้ ดูเปนคำฦก ๆ สำหรับซัด พิเคราะห์ดูคล้าย ๆ กับคำที่ว่า ซางโลหิต กระสายวาโย ลมเพลมพัด ฤๅเคราะห์ดีแลร้ายนี้ก็เปนเครื่องซัดเหมือนกัน ถึงกระนั้น ใจของข้าพเจ้าก็ไม่อาจถือแน่ว่า ผีไม่มีได้จริง ฤๅจะละทิ้งความครั่นคร้ามเสียได้ เปนต้นว่า จะเข้าไปในที่ซึ้ง ๆ อย่างอุโบสถวัดพุทธัยสวรรย์ ดังนี้ เมื่อจิตรคิดขึ้นมาถึงเรื่องผีหลอก ก็ไม่อาจที่จะเข้าไปคนเดียวได้ เพราะฝ่ายการที่เชื่อผีฤๅเทวดาว่า มีจริงเล่า ก็เชื่อกันมาแต่โบราณ แลตัดสินยังไม่ตกลงว่า จะมีจริงฤๅไม่ได้ แต่ถ้าจะตัดสินโดยคำกลางฤๅการที่จริงนั้น การที่ถือผีถือเทวดามีจริงนั้นเปนการผิด มีโทษ ๑๐ ประการ คือ อายุย่อมเปนมรรคาของบุคคลจะพึงล่วงไป เมื่อถึงพระเสารเข้าเปนต้น ก็มีความทุกขร้อน กลัวพระเสารไปก่อนเหตุที่จะมีมา ๑ ตัดความเพียรของตน คอยพระพุฒ พระพฤหัศบดี จะให้คุณ ๑ เสียทรัพย์บวงบน อันเปนการเสียเปล่า ไม่มีประโยชน์ ๑ มีกิจธุระในทางเปลี่ยว ไปไม่ได้ ๑ อยู่คนเดียวไม่ได้ ๑ นอนไม่หลับ ๑ ถ้าใจขลาด เมื่อผีหลอก มักเจ็บไข้ ๑ เปนช่องให้คนชั่ว มีมด ท้าว ฤๅ หมอ พูดหลอกลวงเอาทรัพย์ไปได้ ๑ ปราศจากความระวังทรัพย์สมบัติของตนด้วยความกลัว ๑ เปนช่องให้โจรแปลกปลอมทำร้าย ๑ โทษทั้ง ๑๐ ประการนี้จะเกิดแก่ผู้เชื่อผีเทวดามีจริง เปนไปได้จริง สักหย่างหนึ่งเปนแท้ การที่ถือว่า ผีฤๅเทวดาไม่มีจริง ไม่เปนได้จริงนั้น เปนการชอบ เพราะมีคุณ ปราศจากโทษ ๑๐ ประการดังพรรณามาฉนี้

ในถ้อยคำที่พระองค์เจ้าไชยันตมงคลทรงเรียบเรียงนี้ ก็เปนพยานสำคัญที่ให้เห็นได้ว่า การพิจาณณาให้ลเอียดแล้ว คงรู้ได้ชัดว่า เหตุที่ผีหลอกนั้นมิใช่ผีเช่นคนเปนอันมากเชื่อถือกลัวเกรงนั้นเลย แลท่านได้ทรงชี้แจงคุณแลโทษไว้โดยย่อพอเปนการเบาแรง เราไม่ต้องอธิบายมากนัก ความเห็นก็ร่วมกันกับเราที่พรรณามาแต่ต้นแล้ว เล่ามาในเรื่องผีหลอกนี้ก็มากแล้ว เราได้ค้นคว้าหาความจริงที่จะจับตัวผีให้เห็นว่า ผีหลอกจริงนั้น มาช้านานแล้ว ก็ได้ความจริงครั้งหนึ่ง ที่ได้เล่ามาข้างต้น เห็นชัดว่า ความที่ว่าผีหลอกเกิดแต่ผู้ที่ไม่มีวิจารณ อย่าง ๑ คนที่เชื่อถือคำบุราณมั่นในคำบอกเล่ามาแต่เล็ก อย่าง ๑ คนขาดเขลา อย่าง ๑ เปนแน่แล้ว เราจึงได้สืบหาหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องผี ก็ได้พบเรื่องราวท่านเยเนอราลที่กล้าผี เรื่อง ๑ เรื่องที่พระองค์เจ้าไชยันต์ทรงเรียบเรียงไว้ ๑ มาสาธกไว้เปนพยาน ก็เห็นว่า พอที่จะให้คนหนุ่มพิจารณาสอบสวน แลเมื่อมีเหตุที่เรียกว่าผีหลอกเกิดประสบกับตัวเข้า จะได้ตริตรองไต่สวนดังเรื่องที่กล่าวมานี้ จะได้ไม่เปนคนขลาดเขลา ฤๅถือแต่ถ้อยคำเล่าบอกอย่างเดียว

เราไม่ได้คัดค้านคำบุราณฤๅติเตียนคนที่ได้พบผีหลอกว่า เปนการไม่จริงทีเดียว เปนแต่เราได้ทราบความเรื่องผีมีฤทธิมีเดชนั้นมากมายนั้น ส่วนผู้ที่ว่า ผีไม่มีไม่จริงนั้น เราก็ได้รู้เนือง ๆ เมื่อแรกเราก็เปนคนกลัวผีมากที่สุด แต่เรือนที่อยู่มีรูสักเท่าผลส้มเกลี้ยง กลางคืนก็กลัวผีมันจะลอดรูนั้นมา ครั้นเมื่อเราได้ทราบในถ้อยคำคัดค้านเรื่องผีไม่มีนั้นเนือง ๆ เข้า จึงค่อยมีใจกล้าที่จะสืบสวนแลจับผีหลอกให้ได้ แต่นั้นมา เราได้อุสาหที่จะพบผีหลอก ก็ไม่ปรากฎเลยสักครั้งหนึ่งว่า ผีหลอกอย่างไร เมื่อมีเหตุที่เรียกว่าผีหลอกทำให้เราตกใจในทีแรกแล้วครั้งใด เราก็ได้ยั้งใจที่จะตรวจให้รู้แน่ทุกที ตรวจเข้าก็ได้ความว่า เปนเพราะไม่พิจารณา เห็นอะไรแวบวาบก็ตกใจวิ่งมาเสีย แล้วก็ลงว่าผีเท่านั้น ถ้าพิจารณาเข้าก็เห็นได้ชัดว่า เปนด้วยสิ่งนั้นสิ่งนี้ หาใช่ผีไม่ ด้วยอำนาจความที่เราไม่ได้เคยพบผี แลความตริตรองหาทางมาของผีไม่ได้ แลเราได้เห็นถ้อยคำของนักปราชญ์ได้ตกแต่งในเรื่องผีหลอกนี้มากเข้า เราจึงไม่กลัวผี ไม่เชื่อผี แลจึงขอให้คนที่จะถูกผีหลอกพิจารณาก่อนจึงกลัว

ผีอำอีกอย่าง ๑ มักมีคนพูดกันชุกชุมว่า ถ้าไปนอนที่ใดที่ไม่เคยนอนฤๅตามศาลาวัดก็ดี มักมีผีอำ คือ เมื่อจวนจะหลับลง เห็นเปนคนขึ้นนั่งทับน่าอกบ้าง เหยียบไว้บ้าง ผู้ถูกนั้นร้องไม่ใคร่จะออก เปนแต่อุอะ ๆ อยู่ดังนี้ ถ้าร้องเสียงดังออกมาได้แล้วก็หาย คนเปนอันมากพูดเล่ากันต่อ ๆ มา บางทีข้าพเจ้าก็เคยเห็นคนเปนเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้สังเกตว่า เขาทำอย่างไรจึงต้องเปนเช่นนั้น บางจำพวกก็ว่า เปนเพราะลมเพราะเลือด แต่ถึงรู้แล้วว่า เปนเพราะลมก็ดี ก็ยังเรียกประเภทที่เปนอย่างนั้นว่า ผีอำ อีก คนที่เชื่อมากกว่าคนไม่เชื่อ เหมือนผีหลอกเหมือนกัน เพราะผลมันมาจากผีหลอกอีก บัดนี้ ข้าพเจ้าจะเล่าถึงตัวข้าพเจ้าที่ถูกอย่างนั้น เมื่อปีวอก ฉศก ๑๒๔๖ ข้าพเจ้าขึ้นไปตามเสด็จพระราชดำเนินบางปอินในรดูน่าน้ำ ข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่ที่สภาคารราชประยูรซึ่งแต่ก่อนเปนที่อยู่ของเจ้านายที่ไปตามเสด็จ ในห้องที่ข้าพเจ้าอยู่นั้นไม่สู้กว้างแลสูงนัก วันหนึ่ง ข้าพเจ้ามีราชการต้องเขียนหนังสืออยู่จน ๓ ยาม ครั้นเมื่อเสร็จแล้ว ก็หาวนอนเต็มทีแลร้อนด้วย ข้าพเจ้าขึ้นนอนบนเตียงไม่มีมุ้ง ที่น่าเตียงมีบ่าวผู้ชายนอนอยู่คนหนึ่ง ข้าพเจ้าร้อนนัก จึงเปิดน่าต่างไว้บานหนึ่งตรงหัวนอนข้าพเจ้า แลข้าพเจ้าเปนคนไม่ชอบนอนที่สว่าง เห็นแสงไฟ จึงบอกให้บ่าวดับไฟเสีย เมื่อจะหลับนั้น ได้นึกกลัวขึ้นในใจว่า เปิดน่าต่างทิ้งไว้เช่นนี้ ถ้าใครฤๅอะไรมันปีนขึ้นมา จะทำอย่างไร แต่ความง่วงมาก ก็ไม่ได้ทำอะไรต่อไป พลิกตัวแล้วหลับเคลิ้มไป พอเคลิ้มลงก็เห็นด้วยใจคล้าย ๆ กับฝัน แต่ยังไม่หลับจริง ๆ ที่เห็นนั้นเห็นคนแก่ ๆ ล่ำ ๆ ดำผมหงอกปีนลงมาจากเพดานลงตามเสาเตียงที่ข้าพเจ้านอนโดยเร็วแล้วนั่งทับอกข้าพเจ้าทีเดียว ในทันใดนั้น ข้าพเจ้าตื่นกลาย ๆ แต่หายใจไม่ออก ขัดอกขัดใจ จะร้องเรียกใครก็ไม่ได้ สักครู่หนึ่ง ร้องเรียกชื่อบ่าวที่นอนน่าเตียงออกมาได้ด้วยเสียงอันดัง เท่านั้นแล้วรูปที่ปรากฎก็หายไป บ่าวข้าพเจ้าตื่นขึ้น ข้าพเจ้ารู้สึกได้ว่า ข้าพเจ้าได้นอนทับแขนข้างหนึ่งจนเปนเหน็บ จึงได้รู้ว่า ผีอำอย่างนี้เอง เปนเหตุเพราะทับแขนทับขาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่โลหิตเดินไม่ได้ทั่วตัวจึงเปนเช่นนี้เปนแน่ แต่ในเวลานั้น ก็เลยพาใจข้าพเจ้าไม่สบาย กลายเปนกลัวขโมยฤๅผีไม่แน่ต่อไป จนเปิดน่าต่างไว้ไม่ได้ ข้าพเจ้าได้หักใจอยู่เปนช้านาน จึงปรกติได้ด้วยความที่เลือดเดินไม่ปรกติ

ความที่มนุษย์ทั้งหลายมีความหวาดหวั่นกลัวผีนั้นไม่ใคร่จะขาดสันดานอยู่ด้วยกันแทบทั้งนั้น บางทีคนที่รู้แล้วว่า ผีไม่มีไม่ทำอันใดได้ ก็ยังอยู่ข้างหวาดหวั่นไปในที่มืด ๆ เปลี่ยว อย่างเช่นที่พระองค์เจ้าไชยันต์ท่านได้กล่าวไว้ว่า อุโบสถวัดพุทธัยสวรรค์ เปนต้น เปนที่น่ากลัว ไม่อาจจะเข้าไปได้นั้น เพราะเหตุใดเล่า ก็อาไศรยเหตุที่ผู้ใหญ่ของเราเองได้เล่าเรื่องราวผีหลอก ผีมีฤทธิ์เดช ให้เราได้ฟังมาตั้งแต่จำความได้ ฤๅรู้ภาษาคนมาก็เคยได้ยินได้ฟังเคยกลัวเกรงมาช้านาน นับด้วยปีก็คงไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี ๑๖ ปีเปนอย่างน้อย ส่วนเรื่องที่ว่าด้วยผีไม่มีฤๅไม่สามารถจะทำอันใดแก่เราได้นั้น คงจะได้พบได้ยินได้ฟังเมื่อเวลาที่เข้าเล่าเรียนรู้หนังสือมาก ๆ ฤๅเมื่อเวลาได้บวชพระในเมื่ออายุ ๒๐ ปีแล้วฤๅต่ำกว่าบ้าง คงเปนเคยได้ยินคำว่า ผีมี มากกว่า ผีไม่มี ถึงเมื่อเราได้รู้ฤๅได้อ่านเรื่องผีไม่มีนั้นแล้ว ฤๅได้พบเหตุที่เรียกว่าผีหลอกแลเราได้สอบสวนได้ความว่ามิใช่ผีนั้นแล้วก็ดี ก็ยังได้ฟังถ้อยคำของคนบางคนที่มิใช่เปนบ้า เสียสติ ฤๅหลงไหล ฤๅกลัวเกินไป ฤๅเปนคนพูดปดนั้น ยังเล่ายืนยันว่า ผีหลอกตัวอย่างนั้น ๆ ได้ฟังอยู่เนือง ๆ เพราะเหตุทั้งปวงที่ว่าแล้วมันอบรมปัญญาความคิดให้เกิดกังขาวิตกขึ้นโดยง่าย เมื่อมีเหตุที่จะต้องไปที่มืดเปลี่ยนก็ดี ไปป่าช้ากลางคืนก็ดี บางทีจิตรที่เชื่อผีมาแต่เดิมผุดขึ้น ความสดุ้งหวาดเสียวก็ครอบงำทันทีทีเดียว ฤๅเปนความสงไสยว่า คำที่ว่า ผีมี นี้ พูดกันมากนัก จะมีจริงฤๅไม่หนอ แต่คิดเท่านี้ก็เกิดความกังขาวิตกขึ้น ไม่สามารถจะไปฤๅจะนิ่งอยู่ในที่อันมืดแลเปลี่ยวได้แล้ว ต้องหาเลศอุบายในความที่ว่า ผีไม่มี ฤๅกิจศุขทุกขอันแรงกล้าอันใดอันหนึ่ง มาหักห้ามจิตรดวงนั้น จึ่งสามารถที่จะอยู่ฤๅไปมาในที่ดังกล่าวแล้วนั้นได้ ความอบรมสันดานเปนการสำคัญอย่างยิ่ง จึ่งทำให้คนบางคนมีความสดุ้งในการบางครั้งบางคราว มิใคร่จะเว้นตัว แต่ถ้ารวบรวมเข้าแล้ว คนที่เชื่อถือกลัวผีนั้นมากกว่าคนที่ไม่ถือไม่เชื่อหลายเท่า คือ คนที่ได้เล่เรียนทางบุราณข้างขรัว ๆ เถร ๆ พวกหนึ่ง พวกที่ไม่ได้เล่าเรียนอันใดเลยพวกหนึ่ง คงเชื่อผีทั้งสิ้น พวกที่ได้เล่าเรียนแต่อาจารย์ที่มีความดำริห์ตริตรองมาก ๆ พวกหนึ่ง คนที่เปนผู้ค้นคว้าหาสิ่งที่จริงแท้โดยปัญญาของคนพวกหนึ่งนี้แลจะไม่เชื่อผี แต่ถึงอย่างนั้น ก็คงมีผู้ที่ตัดสินเด็จขาดสักส่วนหนึ่ง เปนพวกที่สงไสยไม่แน่อยู่สักสองฤๅสามส่วน เท่านี้ก็พอแลเห็นได้ว่า คนที่ไม่กลัวไม่เชื่อเพราะความตริตรองนั้นคงมีน้อยกว่าคนที่เชื่อฤๅสงไสยหลายสิบเท่า เพราะคนที่ไม่ได้เล่าเรียนอันใดนั้นมันมีอยู่เปนพวกใหญ่ เปนพื้นเมืองแลเปนผู้อบรมสันดานในการผีมีทุกคนมา แลคนที่เปนคนเลอียดมีวิจารณถ้วนถี่จุกจิกนั้นน้อย คนที่หลงเชื่อคำคนเปนอันมากแลคนมักง่ายนั้นนั้นมีมากหลายเท่า ในการเรื่องผีหลอกนี้เปนอย่างไร ๆ ก็ดี ถ้าจะให้ชอบให้ควรแล้ว อย่ามักง่ายเกินไป ๑ อย่ากลัวเกินไป ๑ อย่าเชื่อคนนัก ๑ เห็นอันใดก็พิจารณาให้ลเอียด ๑ ข่มใจตัวให้คิดช้า ๆ ๑ แล้วคงเห็นได้ว่า ความจริงความเท็จอย่างไร แลจะไม่เสียประโยชน์ ๑๐ ประการที่พระองค์เจ้าไชยันต์มงคลกล่าวไว้นั้นด้วย เราเห็นว่า บางทีจะมีประโยชน์มากกว่าประโยชน์ ๑๐ ประการนั้นอีก

ผีพราย ผีภูต ที่ว่า เกิดมาแต่ผีตายเลว ๆ ซึ่งเรียก ผีตายโหง อย่าง ๑ ผีปอบ อย่าง ๑ ว่า มีฤทธิเดชมากมาย ถึงกับทำลายชีวิตร แลกลับความคิดมนุษย์ คือ ที่รักให้เกลียด กลับเกลียดให้รักได้ก็มี แต่ผีอย่างนี้ว่า เปนไปเพราะอำนาจมนุษย์ผู้ที่เลี้ยงด้วยกลัวเวทมนต์ผู้เปนเจ้าของ จึงทำร้ายทำฤทธิ์กับคนอื่น บางทีญาติของผู้ที่ผีมาสิงมาทำร้ายรู้ก็ไปหาครูหาหมอที่มีวิชาอย่างนั้นมาแก้มารักษา แล้วเอาผีนั้นไปถ่วง สมมุตกันว่า ตาย คือ ตายจากผีอีกทีหนึ่ง ฤๅบางทีก็ให้กลับไปทำร้ายเจ้าของเดิมได้ก็มี บางทีเจ้าของเดิมกลับให้ผีตัวอื่นที่แรงร้ายยิ่งขึ้นไปนั้นกลับมารบหมออีก ใครมีวิชามากเปนชนะ ใช้ผีมารบกันราวกะทหาร ดังนี้ มีชุกชุมในหมู่คนบุราณฤๅชาวสวนชาววัด ๆ เถร ๆ แต่ไม่ใคร่เหมือนเรื่องผีหลอก ยังหาคนที่เปนปานกลางฤๅไม่เชื่อได้มากอยู่

ผีพราย ผีภูต นี้ มักมีหมอเถร ๆ ถือวิชาคาถาเศกเป่านั้นเล่นอุตริไปตัดเอาศีร์ษะกระโหลกฤๅผม ฤๅลนเอาน้ำมันจากผีที่ตายเร็ว ๆ ประจุบัน ที่เรียกว่า ตายโหง คือ ตกต้นไม้ตาย อย่าง ๑ ผู้หญิงออกลูกตาย อย่าง ๑ ผูกฅอตาย ๑ กินยาตาย ๑ กุมารที่ตายในท้องแม่ฤๅที่ออกมาตาย ๑ ผีเช่นนี้เอามาเลี้ยงเศกเป่าคาถาวิชาต่าง ๆ แต่ผีที่ต้องราชทัณฑ์ประหารชีวิตร์ ฤๅถูกใครฆ่าตาย ฤๅเปนโรคประจุบัน อหิวาตกโรคเปนต้น ก็เรียกว่า ตายโหง แต่ตายอย่างนี้ว่า ไม่แรง ไม่เอามาเลี้ยง การที่เอามาเลี้ยงนี้ จำเดิมแต่เลี้ยงมาก็เปนส่วนทุจริตกรรม ไม่เปนกุศล คือ ต้องไปฉกลักซากศพเหล่านี้ซึ่งเจ้าของหวงแหนโดยมาก แลเมื่อเลี้ยงอยู่นั้นก็มีแต่ว่า ไม่ชอบใคร ก็ใช้ไปทำร้าย ไปเข้า ไปทรง บางทีแกล้งปล่อยไปแล้วให้เขามาหาตัวไปแก้บ้าง ที่รับสินบนทำให้ผัวร้างเมีย ๆ อย่าผัวตามแต่จะมีเหตุ ล้วนแต่ส่วนอกุศลจิตร์เจตนาทั้งสิ้น แต่ที่เราว่านี้ ใช่ว่าเราจะเชื่อว่าอำนาจผีเปนไปได้นั้นหาไม่ ถึงผีจะเปนได้ก็ดี ไม่ได้ก็ดี ผู้ทำผู้เลี้ยงมีโทษอันหนัก ในจิตร์เกิดแต่ทุจริตอย่างเดียวเท่านั้น ผีปอบนั้นมาแต่ทางลาวพุงขาวเขมรข่า จะมีวิธีอย่างไรเราไม่รู้ แต่ก็คงเลี้ยงผีเหมือนกัน ปอบนั้นว่า ยัดเข้าท้องทำให้ตาย แลเลี้ยงเปนมรฎกต่อ ๆ กันด้วย ผีทั้ง ๒ อย่างนี้ว่านี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อถือเปนอันขาด เพราะเหตุว่า ธรรมดาสัตว์ที่ดับจิตร์จุติภพแล้ว ถ้ากล่าวตามบุราณสุภาสิตว่า ย่อมปฏิสนธิ ทางที่ว่าปฏิสนธินั้น ก็ว่าหลายอย่าง คือ สวรรค์ มนุษย์ ดิรัจฉาน นรก เปรตอสุรกาย ถึง ๕ สถาน ก็เหตุไฉนชนเราดับจิตร์ทำลายชีวิตร์แล้วก็เรียกผี ๆ ไปหมด แล้วผีนั้นก็ไม่รู้ว่า จะเปนทางจุติด้วย ฤๅไม่ว่าชัด แลมีผู้ยืนยันว่า ตายเปนผีทั้งสิ้นนั้นเลย ก็การที่คนเรามีทางจุติภาพเปนหลายทางเช่นนี้แล้ว เหตุไรใครตายลงคน ๑ ก็กลัวกันเพราะไปเปนผี แลผู้ที่เลี้ยงผีก็ไปเอาของสิ่งนั้น ๆ ในร่างกายมาเลี้ยงว่า เปนผี ใครบอกให้เล่าว่า ผู้นั้นไม่ได้ไปสวรรค์ ไม่ได้ตกนรก ไม่ได้เกิดเปนมนุษย์ เปนดิรัจฉาน เปนเปรตอสุรกาย เมื่อรู้ไม่ได้เช่นนี้แล้ว ไปเอามาเลี้ยงก็ดี ฤๅกลัวก็ดี ฉวยว่า มันไปเกิดเปนเทวดาในสวรรค์ฤๅในสถานต่าง ๆ ซึ่งคนทั้งปวงเชื่อว่า เทวดาให้โทษได้นั้น จะมิมีความโกรธเคืองว่า หมิ่นประมาท จะไม่ลงโทษผู้นั้นฤๅ ฤๅไปเกิดเปนมนุษย์ดิรัจฉานแล้ว การที่ทำไปนั้นจะขลังจะเปนไปได้ตามปราถนาฤๅจะมิป่วยการฤๅ ก็ถ้าไปเกิดเปนสัตว์นรกเปนเปรตซึ่งมีนายเนริยบาลรักษาควบคุมนั้น จะมาอยู่กับผู้เลี้ยงได้ฤๅ เขาจะไม่เอาไปทำโทษตามกรรมกิเลศฤๅ ฤๅว่าถ้าคนตายโหงอย่างที่เลี้ยงกันนั้นไม่สามารถจะไปเกิดเปนเทวดา มนุษย์ ดิรัจฉาน เปรตนรกได้ ถ้าเช่นนั้น ก็เปนน่าสงสารแก่คนพวกที่เจ็บตายในโรคที่เรียกว่า ตายโหง นั้นอยู่บ้าง เพราะว่าไม่ได้มีความผิดอันใดเลยในการที่ออกลูกฤๅตกต้นไม้ตายนั้น เปนไปตามโรคของตนฤๅความพลาดพลั้งเท่านั้น จะต้องตัดมัคผลคติอุบัติที่เปนศุขยิ่งกว่าคนที่ทำกรรมอันหนักนั้นอิก แต่ก็ยังดีกว่าคนเราอิกอย่างหนึ่ง คือ ห้ามอบายมุข ไม่ตกนรกได้เหมือนผู้ที่สำเร็จมัคผลอันดี ถ้ารู้เช่นนั้นแล้ว ทำกรรมอันหนักแต่ในมนุษย์แล้ว เมื่อเจ็บไข้อันใดที่จะไม่หาย ก็พาลกินยาตายให้เปนตายโหงเสีย จะได้ไม่ตกนรกทนความยากอย่างยิ่งนั้นดีกว่า การที่ว่าทั้งปวงนี้เพื่อจะให้เห็นว่า คำบุราณคติโบราณที่โง่ ๆ เถียงกันเอง ไม่ควรที่เราจะเชื่อฟังในการเลี้ยงผีนั้นเลย ที่ว่าข้างต้นนี้ว่าตามคำว่า คนตายแล้วเกิดตามโบราณาจารย์กล่าวต่อ ๆ มา

บัดนี้ จะว่าตามธาตุตามขันธอีกอย่างหนึ่ง คือ คำนักปราชญ์ย่อมกล่าวว่า สังขารแห่งเรานั้นปัจจัยประชุมแต่ง ร่างกายล้วนแล้วแต่ด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ปถวีธาตุ ๒๐ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก ตับ ไต เปนต้น อาโปธาตุ ๑๒ ดี โลหิต เสมห สมอง เหื่อ ใคล น้ำลาย น้ำมูต เปนต้น เตโชธาตุ ๔ สันตับปัคคี ปริทัยหัคคี ปรินามัคคี ชีรนัคคี เปนต้น วาโยธาตุ ๖ คือ อัสสาสวาต ปัสสาสวาต เปนต้น ทั้งปวงนี้เปนส่วนธาตุทั้ง ๔ ประชุมกันแล้วแบ่ง ๕ กอง คือ รูปขันธ ได้แก่ ส่วนที่ฉิบหายไปเพราะเย็นร้อนฤๅมีสีสันวรรณ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทั้งปวงเหล่านี้รูป เวทนาขันธ คือ ศุขกายสบายจิตร ไม่สบายกายแลจิตร อุเบกขา กลาง ๆ ไม่ใช่ทุกขฤๅศุข ส่วนนี้เวทนา สัญญาขันธ คือ ความเสวยอารมณ์ จำได้ จำไว้ จำรูป เสียง กลิ่น รศ สัมผัส อารมณ์ที่รู้ด้วยใจ ความจำ รูป สีเขียว ขาว แดง ดำ กำหนดเวลาเวทนา ศุข ทุกข อุเบกขา จำได้ ทั้งปวงนี้คือสัญญา สิ่งที่ปรุงใจ เกิดขึ้นในจิตร ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งกลาง ๆ ที่เกิดในจิตร ชื่อว่า สังขาร วิญญาณขันธ ส่วนที่รู้สึกในจักษุ หู จมูก ชิวหา กาย ใจ นี้ชื่อวิญญาณ รวมเปน ๕ กอง แต่รูปนั้นคงรูป ๑ แต่อีก ๔ นั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ เปนแต่นาม จึงเรียกว่า รูป ๑ นาม ๑ ก็เมื่อคนเราถึงคราวที่จะตายแล้ว เกิดความเจ็บไข้โรคภัยเบียดเบียนจนสังขารรูปจะทรงสิ่งที่ปัจจัยปรุงให้ประชุมกันอยู่ต่อไปไม่ได้ก็ดี ฤๅถูกสิ่งที่จะแยกเอาธาตุนั้นบีบคั้นเข้าก็ดี ฤๅถูกอาญาใด ๆ ที่ทำให้ตายโดยเร็วพลันก็ดี รูปที่แลเห็นว่า ธาตุทั้งสี่ประสมอยู่นั้นไม่สามารถจะทนอยู่ต่อไปได้ ก็อันตระธาน รูปก็แตกไป ส่วนนาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ดับแตกตามรูปโดยลำดับลง ไม่มีความเวทนา ความรู้ศึกอันใดแล้ว ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ทำลายไป ดินก็ไปตามดิน น้ำก็ไปตามน้ำ ลมก็ไปสู่ลม ไฟก็เข้าสู่ไฟ ดังนี้แล้ว ธรรมชาติอันใดเล่าที่จะเปนผี กระดูก ผม น้ำมัน ที่ผู้เลี้ยงผีทั้งหลายไปตัดไปลนมาจากซากศพของคนที่รูปแตกนามดับนับว่าตายนั้น ก็ล้วนแต่สิ่งที่จะต้องเปนดินฤๅน้ำ เพราะของที่กล่าวทั้ง ๓ อย่างเปนธรรมชาติดินแลน้ำ แล้วความรู้สึกก็ไม่มี ความจำได้จำไว้ก็ไม่มี เวทนาทั้งสามก็ไม่มี สิ่งนั้นจะสามารถมีฤทธิมีเดชได้ด้วยเหตุใด เราไม่รู้ว่า จะถือเอาว่า สิ่งใดอันใดจะมาเปนผี เพราะได้พิจารณาตามคำสั่งสอนของนักปราชญ์ในพุทธสาสนาว่าด้วยธาตุทั้ง ๔ ขันธทั้ง ๕ แตกทำลายนั้นโดยลเอียดแล้ว ยังไม่เห็นมีสิ่งไรจะไปบังเกิดเปนผีฤๅเปนอันใดได้ เพราะการที่ว่าด้วยธาตุแลขันธนี้ก็เปนทางที่แยกโดยลเอียด ควรจะเชื่อฟังได้แล้ว จึ่งเปนการตกลงมิได้ว่า ผีจะเกิดด้วยอันใดได้

ส่วนผีมีตัวนั้น ก็รูปที่แตกจากนามธรรมแล้ว กล่าวคือ คนที่ขาดลมหายใจนั้น คนทั้งปวงเรียกผีทั้งสิ้น ผีอย่างนี้ไม่ใคร่จะมีเหตุอย่างอื่นนอกจากความเกลียด แต่ก็ยังมีกลัวอีกหน่อยหนึ่ง กลัวนั้นก็มิใช่กลัวรูปอันนั้นอย่างเดียว แฝงไปในการกลัวหลอก เพราะถือว่า คนนั้นไม่เปนคนแล้ว เปนผี ผิดกับชาติคน คือ เปนผีไม่เห็นตัวนั้นเอง แต่การอย่างนี้มักจะเปนแต่ผู้หญิงโดยมาก ผู้ชายก็มีบ้าง แต่ที่เปนคนขลาด ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ดูเกินไปในความคิดคนเหล่านั้น

เรื่องผีทั้งปวงนี้เรามีความปราถนา แต่ที่จะหาความจริงให้ได้ จึ่งได้สืบสวนค้นคว้าไป มิได้มีทิฏฐิที่จะโต้ทานถ้อยคำเรื่องผีว่าไม่จริงนั้นหามิได้ เราประสงค์จะเอาความจริงโดยยุติธรรมอย่างเดียว แต่ไม่ปรากฎว่า ผีมีจริงฤๅพบผีจริงเลยสักครั้งหนึ่งคราวเดียว เราจึ่งตกแต่งเรียบเรียงตามที่เราได้พบเห็นได้ยินได้ฟังไว้ เพื่อให้เปนทางดำริห์ตริตรองของคนหนุ่ม ๆ เปนเครื่องเกื้อกูลปัญญาที่จะดำริห์ค้นคว้าเอาความจริงต่อไป ผู้ใดอ่านหนังสือนี้เห็นประการใด จงสืบสวนเอาความจริงความที่ชอบที่ควรต่อไปเทอญ ๚ะ

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ศรีเสาวภางค์, พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้า. (2432). หนังสือว่าด้วยอำนาจผีแลผีหลอก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง. (จำหน่ายในการพระศพพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ งานพระเมรุท้องสนามหลวง รัตนโกสินทร์ศก 108).

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก