หนังสือสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ ศย 026/ว 146

จาก วิกิซอร์ซ
ตราครุฑ
ตราครุฑ
ด่วนที่สุด
ที่ ศย ๐๑๖/ว ๑๔๖
สำนักงานศาลยุติธรรม
ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร
กทม. ๑๐๙๐๐

๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

เรื่อง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ (แก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำให้แท้งลูก)
เรียน หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม
สิ่งที่ส่งมาด้วย ข้อพิจารณาพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ จำนวน ๑ ฉบับ

ตามที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ (แก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำให้แท้งลูก) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๑๐ ก วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ แล้ว และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้น (ตั้งแต่วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) นั้น

สำนักงานศาลยุติธรรมขอเรียนว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในฐานความผิดฐานทำให้แท้งลูก โดยกำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกตามมาตรา ๓๐๑ รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามมาตรา ๓๐๕ ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เพื่อเป็นการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายดังกล่าว สำนักงานศาลยุติธรรมจึงขอแจ้งข้อพิจารณาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอได้โปรดแจ้งให้ผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมในหน่วยงานของท่านโปรดทราบในโอกาสแรกด้วย

  • ขอแสดงความนับถือ
  • พงษ์เดช วานิชกิตติกูล
  • (นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล)
  • เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
  • สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม
  • ส่วนพัฒนากฎหมาย
  • โทร. ๐ ๒๕๑๒ ๘๔๗๑
  • โทรสาร ๐ ๒๕๑๓ ๘๓๗๓

ข้อพิจารณา
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔
มาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๕
เรื่อง การกำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก และการเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ มีผลใช้บังคับวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔)

"มาตรา ๓๐๑ หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

"มาตรา ๓๐๕ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๐๑ หรือมาตรา ๓๐๒ เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

(๑) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไป จะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

(๒) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่า หากทารกคลอดออกมา จะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(๓) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่า ตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(๔) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(๕) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น"

เหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกตามมาตรา ๓๐๑ เดิม ขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากเป็นการมุ่งคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์เพียงอย่างเดียว ทำให้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในการยุติการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ต่อไป การคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์และสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ต้องมีความสมดุล โดยนำอายุครรภ์มาเป็นเกณฑ์การปฏิเสธสิทธิของหญิงโดยปราศจากเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ เดิม จํากัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินความจําเป็น ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน จึงได้มีการแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับ ความผิดฐานทําให้แท้งลูก โดยกําหนดอายุครรภ์สําหรับความผิดฐานหญิงทําให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทําให้แท้งลูกตามมาตรา ๓๐๕ โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้

๑. มาตรา ๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๕) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ เป็นต้นไป ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๐๑ และให้ใช้ความใหม่ ข้างต้นแทน ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒ วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า "ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทําเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทําการนั้นพันจากการเป็นผู้กระทําความผิด และถ้าได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่า ผู้นั้นไม่เคยต้องคําพิพากษาว่าได้กระทําความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง" ดังนั้น เมื่อการที่หญิงทําให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูกก่อนอายุครรภ์ ๑๒ สัปดาห์ จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป หากกรณีดังกล่าว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ศาลจะต้องยกฟ้อง และหากจําเลยรับโทษอยู่ โทษนั้นก็จะต้องลิ้นสุดลง ในกรณีที่หญิงมีอายุครรภ์เกิน ๑๒ สัปดาห์ทําแท้งด้วยตนเองหรือยอมให้ผู้อื่นทําแท้งให้ตนเองโดยไม่มีเหตุให้ทําแท้งได้ตามมาตรา ๓๐๕ เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา ๓๐๑ กําหนดอัตราโทษจําคุกไม่เกิน ๒ เดือนหรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งน้อยกว่าอัตราโทษตามมาตรา ๓๐๑ เดิม ดังนั้น หากเป็นกรณีดังกล่าว และจําเลยถูกจําคุกมาเกิน ๒ เดือน จะต้องปล่อยตัวไป เช่นเดียวกัน หากจําเลยชำาระค่าปรับเกินกว่า ๑๐๐๐๐ บาท และคดียังไม่ถึงที่สุด ศาลย่อมกําหนดโทษปรับใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ และจําเลยสามารถขอคืนค่าปรับในส่วนที่เกินได้

๒. การทําแท้งที่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๕) มีดังต่อไปนี้

 ๒.๑ กรณีอายุครรภ์ไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์ หญิงทําให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแห้งลูก หญิงนั้นไม่มีความผิด ดังนั้น เมื่อหญิงไม่มีความผิด ผู้ใช้ ตัวการ และผู้สนับสนุนให้หญิงทําแท้งขณะอายุครรภ์ไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์ โดยไม่ได้เป็นผู้ทําแท้งให้หญิง ก็ไม่มีความผิดเช่นกัน ยกเว้นกรณีเป็นตัวการร่วมถึงขั้นเป็นผู้ลงมือทําแท้งให้หญิงนั้นเองตามมาตรา ๓๐๒

 ๒.๒ กรณีอายุครรภ์เกิน ๑๒ สัปดาห์ แต่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๐๕ คือ กระทําโดยแพทย์ตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เนื่องจากเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้ หญิงและแพทย์ไม่มีความผิด

 (๑) การตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิง มีข้อควรสังเกตว่า มาตรา ๓๐๕ เดิม กําหนดเหตุยกเว้นความผิดว่า จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากสุขภาพ ของหญิงนั้นเท่านั้น แต่มาตรา ๓๐๕ ที่แก้ไขใหม่ได้ขยายความคําว่า สุขภาพ ว่า รวมถึงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วย

 ดังนั้น หากการตั้งครรภ์ต่อไปจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจิตของหญิง แม้จะไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกาย ก็ยังถือเป็นเหตุยกเว้นความผิด

 (๒) จําเป็นต้องกระทํา เนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่า หากทารกคลอดออกมา จะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

 มีข้อควรสังเกตว่า คําว่า ทุพพลภาพอย่างร้ายแรง นี้ รวมถึงทั้งความทุพพลภาพทางร่างกายและความทุพพลภาพทางสมองด้วย

 (๓) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่า ตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทําความผิดเกี่ยวกับเพศ

 พึงสังเกตว่า มาตรา ๓๐๕ เพียงแต่กําหนดให้หญิงยืนยันกับแพทย์ว่า ตนตั้งครรภ์เนื่องจากถูกกระทําความผิดเกี่ยวกับแพทย์ ก็เพียงพอจะเป็นเหตุยกเว้นความผิดแล้ว หญิงไม่จําเป็น ต้องแสดงหลักฐาน หรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น หากความปรากฏต่อมาว่า หญิงไม่ได้ตั้งครรภ์เพราะการกระทําความผิดเกี่ยวกับเพศ แพทย์ก็ยังได้รับยกเว้นความผิด แต่หญิงอาจมีความผิดตามมาตรา ๓๐๑ ได้

 (๔) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

 กรณีนี้บัญญัติไว้เพื่อยกเว้นความผิดของแพทย์ ส่วนหญิงมีครรภ์ไม่มีความผิดตามมาตรา ๓๐๑ อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ทําแท้งให้หญิงมีครรภ์ แม้จะยังมีอายุครรภ์ไม่เกิน ๑๒ สัปดาห์ และแม้หญิงนั้นจะยินยอม ก็ยังมีความผิดตามมาตรา ๓๐๒

 (๕) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคําปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

 กรณีหญิงตั้งครรภ์เกิน ๑๒ สัปดาห์ หญิงนั้นไม่สามารถทําแท้งด้วยตนเองได้ หากหญิงประสงค์จะทําแท้ง จะต้องผ่านกระบวนการให้คําปรึกษาตามที่กฎหมายกําหนด หลังจากนั้น หากหญิงยังประสงค์จะทําแท้งก็สามารถทําได้แต่จะต้องกระทําโดยแพทย์

 มีข้อสังเกตว่า กรณีอายุครรภ์เกิน ๒๐ สัปดาห์ การทําแท้งจะทําได้เฉพาะมีเหตุตามข้อ (๑)–(๔) เท่านั้น อนึ่ง ปัจจุบันข้อบังคับแพทยสภาปี ๒๕๔๘ ที่กําหนดเงื่อนไขการทําแท้งเพราะเหตุความจําเป็นเนื่องจากสุขภาพหญิงและกรณีหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งสามารถใช้ได้ไปพลางก่อน

๓. การทําแท้งที่เป็นความผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มีดังต่อไปนี้

 ๓.๑ หญิงมีอายุครรภ์เกิน ๑๒ สัปดาห์ทําแท้งด้วยตนเองหรือยอมให้ผู้อื่นทําแท้งให้ ซึ่งเป็นกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๐๕ ไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามมาตรา ๓๐๑

 ๓.๒ ผู้อื่นที่ไม่ใช่แพทย์ทําแท้งให้หญิงโดยหญิงนั้นยินยอม ไม่ว่าหญิงนั้นจะมีอายุครรภ์เท่าใดก็ตาม เช่น สถานพยาบาลที่ไม่ถูกกฎหมายตามมาตรา ๓๐๒

 มีข้อสังเกตว่า หญิงที่ยินยอมให้ทําแท้งยังมีอายุครรภ์ไม่ถึง ๑๒ สัปดาห์ หญิงนั้นไม่มีความผิด แต่ผู้อื่นที่ไม่ใช่แพทย์ยังคงมีความผิด ซึ่งกรณีนี้ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดใด ๆ

 ๓.๓ แพทย์ที่ทําแท้งให้หญิงโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา ๓๐๕ มีความผิดตามมาตรา ๓๐๒

 ๓.๔ ผู้ที่ทําให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงไม่ยินยอม มีความผิดทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๐๓

๔. หญิงหรือผู้อื่นที่พยายามกระทําความผิดตามมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒ ที่ไม่ทําให้หญิงได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความความตาย หญิงและผู้นั้นไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • สำนักงานศาลยุติธรรม. (2564, 10 กุมภาพันธ์). หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ศย 016/ว 146 เรื่อง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 (แก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำให้แท้งลูก). https://jla.coj.go.th/th/file/get/file/20210210a5e00132373a7031000fd987a3c9f87b120055.pdf

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"