หนังสือสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ที่ กห 0207/1589

จาก วิกิซอร์ซ
ตราครุฑ
ตราครุฑ
ด่วนที่สุด
ที่ กห ๐๒๐๗/๑๕๘๙
สำนักนโยบายและแผนกลาโหม
ถนนสนามไชย กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐

๑๑ เมษายน ๒๕๖๓

เรื่อง ผลการประชุมพิจารณาแนวทางการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสนับสนุนการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
เรียน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
อ้างถึง หนังสือสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ด่วนที่สุด ที่ กห ๐๒๐๗/๑๕๐๖ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๓
สิ่งที่ส่งมาด้วย แผนภูมิภาครวมโครงสร้างและการดำเนินการการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสนับสนุนการควบคุมโรค

สำนักนโยบายและแผนกลาโหม ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมขอรายงานผลการประชุมพิจารณาแนวทางการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสนับสนุนการควบคุมโรติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องหลักเมือง ๒ ในศาลาว่าการกลาโหม โดยมี พลเอก รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม/เลขานุการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

๑. วัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในการสนับสนุนการควบคุมโรคติดเชื้อ COVID - 19 ของกระทรวงสาธารณสุข

๒. ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงกลาโหม (สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กรมพระธรรมนูญ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม กรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และ กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้ประกอบการเอกชน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด รวมจำนวน ๓๐ คน

๓. ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงแนวความคิดในการนำข้อมูลทางเทคนิค เช่น ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อมูลการพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) จากกล้องวงจรปิดมาสนับสนุนการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การสอบสวนโรค โดยจะสามารถสนับสนุนการติดตามพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้ติดเชื้อ การพิสูจน์ทราบและติดตามกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ทำให้เป็นข้อจำกัดในการใช้ข้อมูลการพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วยระบบ AI จากข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิด ทำให้การใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีความเป็นไปได้มากกว่า

๔. ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงแนวความคิดในการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่สนับสนุนการควบคุมโรค โดยที่ผ่านมาได้หารือในขั้นต้นกับกระทรวงสาธารณสุขและผู้ประกอบการที่ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (TELCO) แล้ว สรุปได้ว่า การติดตามกลุ่มเสี่ยงจากข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ติดเชื้อจะรวบรวมข้อมูลสถานที่ย้อนหลังของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเป้าหมายจากการใช้อินเทอร์เน็ตและการโทรเข้า - ออก ซึ่งจะทำให้ทราบหมายเลขโทรศัพท์ในบริเวณเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลหมายเลขที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจะมีปริมาณมาก จะดำเนินการโดยส่งแบบฟอร์มคัดกรองความเสี่ยงของกรมควบคุมโรคผ่านทางระบบ SMS ออนไลน์ และ กรมควบคุมโรค จะเป็นผู้พิจารณาเลือกกลุ่มเป้าหมายในการสอบสวนโรคเพิ่มเติมจากผลที่ได้รับ นอกจากนี้สามารถใช้ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการแจ้งเตือนการชุมนุมหรือการรวมกลุ่มในพื้นที่กำหนดไว้ว่าเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (Place of Interest : POI) ที่ไม่ต้องการให้มีประชาชนไปรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก เช่น สนามมวย สนามบันเทิง ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวร่วมกับ กรมควบคุมโรค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

๕. ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางราชการในการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตามยังคงมีความห่วงใยในเรื่องการเปิดเผยข้อมูล โดยต้องการให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการขอรับการสนับสนุนข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมโรค มีหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อประสานงานให้ผู้ให้บริการฯ สนับสนุนข้อมูล

๖. ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือและมีมติเห็นชอบ ดังนี้

 ๖.๑ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาโปรแกรม AI ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวทางในข้อ ๔ และพัฒนาสถาปัตยกรรม (Platform) บนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ดำเนินการไว้บ้างแล้ว เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกรมควบคุมโรค คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และผู้ให้บริการเครือข่าย

 ๖.๒ กรมควบคุมโรคมีหนังสือขอรับการสนับสนุนข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบุคคลเป้าหมายและบุคคลข้างเคียงโดยใช้อำนาจตามมาตรา ๔๕ (๑) ของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๘ ไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อประสานงานกับผู้ให้บริการเครือข่ายในการสนับสนุนข้อมูล

 ๖.๓ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สำนักนโยบายและแผนกลาโหม) มีหนังสือแจ้งผลการประชุมให้ทุกหน่วยที่ร่วมประชุมทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำแผนภูมิภาพตามโครงสร้างและการดำเนินการประกอบตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อโรคติดเชื้อ COVID - 19 ของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยมีแนวทางการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ฯ ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาและมีมติเห็นชอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณา


  • ขอแสดงความนับถือ
  • พลเอก
  • (รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์)
  • ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม/
  • เลขานุการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม


  • สำนักงานกิจการพลเรือน
  • กองนโยบายและแผน
  • โทร./โทรสาร ๐ ๒๒๒๕ ๙๒๖๗

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"