ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:การสิ้นสุดสภาพนอกอาณาเขต - ดิเรก ชัยนาม - ๒๔๗๙.pdf/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๕

จำเลย หรือผู้ต้องหา เป็นคนในบังคับอังกฤษ เอาไปพิจารณาเสียเอง[1] สัญญาฉะบับนั้อัครภาคีแห่งสัญญาเห็นว่ามีผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึ่งตกลงขยายอำนาจศาลชนิดนี้ออกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ในทางเหนืออีก ๘ หัวเมือง คือ เมืองน่าน, แพร่, เถิน, ระแหง, สวรรคโลก, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ แลพิไชย กล่าวโดยย่อ ตามสัญญาฉะบับนี้ ฝ่ายอังกฤษยอมสละสิทธิในการที่จะพิจารณาคดีระวางคนของเขาแลคดีผสมซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา โดยฝ่ายรัฐบาลสยามตกลงให้มีศาลอุทธรณ์สำหรับพิจารณาคดีเหล่านี้ แลยอมให้กงสุลอังกฤษเข้าทำการพิจารณาคดีอุทธรณ์ร่วมกับผู้พิพากษาฝ่ายสยาม ความสามารถของผู้พิพากษาฝ่ายสยามมีเพียงใด ย่อมวัดได้จากจำนวนคดีที่ฝ่ายกงสุลอังกฤษได้ถอนไป ปรากฎว่ามีน้อยที่สุด

ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๘๓ จนถึง ค.ศ. ๑๘๙๘ ฝ่ายเราไม่ได้ทำสัญญากับประเทศใดอีกเลยในเรื่องอำนาจศาลพิเสษ ลุวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๘ กรุงสยามได้เซ็นสัญญากับประเทศญี่ปุ่นฉะบับหนึ่ง ตามสัญญา กรุงสยามยอมให้เจ้าพนักงานกงสุลญี่ปุ่นทำการมีอำนาจศาลเหนือคนในบังคับญี่ปุ่นในกรุงสยามไปจนกว่าจะได้จัดธรรมเนียมใหม่ในตระลาการให้บริบูรณ์แล้ว คือว่า จนถึงเวลาที่ได้ใช้กฎหมายพระธรรมศาสตร์อาชญาโทษ ๑ (ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา) พระธรรมศาสตร์แพ่งพลเรือน (ประมวลกฎหมายแพ่ง) เว้นไว้แต่ลักษณะสามีภริยาและลักษณมฤดก ๑ พระธรรมศาสตร์กระบวนชำระความแพ่ง ๑ (ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง) กับพระธรรมนูญศาลยุตติธรรมทั้งหลาย[2] ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ญี่ปุ่นเพิ่งจะได้สิทธิบริบูรณ์ที่จะพิจารณาคดีคนต่างประเทศทั้งหลายเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๙ ฉะนั้น ตามสัญญาฉะบับนี้จึงเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นในขณะที่ทำสัญญากับประเทศสยามได้สิทธิตั้งศาลกงสุลชำระคดีคนของเขานั้น ญี่ปุ่นเองยังหาได้เลิกสภาพนอกอาณาเขตต์ของตนไม่


  1. สัญญากับอังกฤษ ค.ศ. ๑๘๘๓ ข้อ ๘
  2. ดูบันทึกสัญญาโปรโตโคลระวางประเทศสยามกับญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๘๙๘ (ร.ศ. ๑๑๖)