สรุปความตามสัญญาฉะบับนี้ อังกฤษยอมให้ประเทศสยามมีสิทธิ
๑–พิจารณาคดีคนในบังคับอังกฤษทุกคน โดยให้เป็นหน้าที่ของศาลต่างประเทศ
๒–คดีทุกคดี ถ้าคนในบังคับเป็นจำเลย ทางแพ่งหรืออาชญาก็ดี ต้องมีที่ปรึกษาชาวยุโรปนั่งในศาลชั้นต้น แต่ถ้าคนในบังคับอังกฤษนอกจากชาวเอเซียเป็นคู่ความ ที่ปรึกษาต้องนั่งในฐานเป็นผู้พิพากษาและมีเสียงมากกว่าผู้พิพากษาอื่น
ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า กรุงสยามได้พยามทำนุบำรุงบ้านเมืองเพื่อให้ทัดเทียมอารยะประเทศทั้งหลาย มีการศาลเป็นอาทิ โดยได้เห็นแล้วว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้วิธีจัดการศาลจนเรียบร้อยภายในเวลา ๔๐ ปี ญี่ปุ่นก็เลิกล้มศาลกงสุลเสียได้ ดั่งจะเห็นได้จากพระราชปรารภในประมวลกฎหมายอาชญาปี ร.ศ. ๑๒๗ ความว่า “. . . . . . . . . .ความลำบากด้วยเรื่องอำนาจศาลกงสุลเช่นว่ามานี้ย่อมมีทุกประเทศที่ได้ทำสัญญาโดยแบบอย่างอันเดียวกัน และต่างมีความประสงค์อย่างเดียวกันที่จะหาอุบายเลิกล้างวิธีศาลกงสุลต่างประเทศ ให้คนทั้งหลายไม่ว่าชาติใด ๆ บรรดาอยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้รับประโยชน์อยู่ในอำนาจกฎหมายและอำนาจศาลสำหรับบ้านเมืองแต่อย่างเดียวทั่วกัน ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มริคิดอ่านจัดการเรื่องนี้ก่อนประเทศอื่นโดยวิธีเลือกหาเนติบัณฑิตต่างประเทศที่ชำนาญระเบียบบทกฎหมายฝรั่งมารับราชการเป็นที่ปรึกษาทำการพร้อมด้วยข้าราชการญี่ปุ่น ช่วยกันตรวจชำระกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นจัดเข้าระเบียบเรียงเรียงให้เป็นแบบแผนวิธีทำนองเดียวกับกฎหมายที่ใช้อยู่⟨ใน⟩ประเทศฝรั่งโดยมาก ทั้งจัดการศาลยุตติธรรมให้เป็นไปตามสมควรแก่ปัจยุบันสมัยทั่วไปในประเทศยี่ปุ่น เมื่อประเทศทั้งปวงแลเห็นว่า กฎหมายและศาลของญี่ปุ่นเป็นระเบียบแบบแผนเรียบร้อยดีแล้ว ก็ยอมแก้สัญญายกเลิกอำนาจศาลกงสุลให้คนในบังคับต่างประเทศอยู่ในอำนาจกฎหมายและศาลญี่ปุ่นแต่นั้นมา มีประเทศญี่ปุ่นที่เลิกอำนาจศาลกงสุลต่างประเทศได้ด้วยอุบายที่จัดการดังกล่าวมานี้เป็นปฐม และเป็นทางที่ประเทศอื่น ๆ อันได้รับความลำบากอยู่ด้วยวิธีศาลกงสุลต่างประเทศเข้ามาตั้งในบ้านเมืองจะดำเนินตามให้สำเร็จประโยชน์