หน้า:ข่าว ศาล รธน (๒๕๖๖-๐๕-๑๘).pdf/1

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
   ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์
เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์ 0-2141-7777 โทรสาร 0-2142-9525
www.constitutionalcourt.or.th Line สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ: @occ_th
E-mail: pr@constitutionalcourt.or.th
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓ วรรคสอง บัญญัติว่า "รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม"
ข่าวที่ ๑๖/๒๕๖๖
วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดี จำนวน ๒ เรื่อง มีคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ พ.ศ. ๒๕๖๖ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๒ วรรคหนึ่ง หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ ๑๑/๒๕๖๖)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๙๙ คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ พ.ศ. ๒๕๖๖ ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ แก้ไขเป็น ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นไป โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๒ วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๓ วรรคหนึ่ง

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (๘ ต่อ ๑) ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๓ วรรคสี่ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ พ.ศ. ๒๕๖๖ กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๗๒ วรรคหนึ่ง และให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ๒๕๖๕ พ.ศ. ๒๕๖๖ ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น (วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๓ วรรคสาม


ความรู้ทางกฎหมายเพื่อประโยชน์สังคม: บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓๔ แต่หากเป็นกรณีการแสดงความเห็นในลักษณะของการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่มิได้กระทำโดยสุจริต โดยใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๓๘ และมาตรา ๓๙ และอาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๘
The Government Complex Commemorating His Majesty the King's 80th Birthday Anniversary, Rajaburi Direkriddhi Building
120 Chaengwattana Road, Thung Song Hong Sub-District, Lak Si District, Bangkok 10210 Thailand
Tel. 0-2141-7777 Fax. 0-2143-9525