หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๑๕, ๒๕๖๓-๑๒-๒๕).pdf/1

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๓๐๒ ง

๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓
หน้า ๖๘
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๑๕)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ ๘ จนถึงวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

โดยที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด - 19) มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้ผลดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อปัจจุบันพบการระบาดของโรคระลอกใหม่ขึ้นในบางเขตพื้นที่ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการกระชับและยกระดับบรรดามาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดลุกลามเป็นวงกว้างต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การห้ามใช้หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค ห้ามประชาชนใช้ เข้าไป หรืออยู่ในพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศหรือสั่งตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ของโรค

ข้อ ๒ การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๔๘ พิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและการแพร่ของโรคไว้เป็นการชั่วคราว

ข้อ ๓ การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด