หน้า:ข้อกำหนดตาม ม ๙ (ฉ ๓๔, ๒๕๖๔-๐๙-๒๘).pdf/1

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๒๓๕ ง

๒๙ กันยายน ๒๕๖๔
หน้า ๕
ราชกิจจานุเบกษา

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๓๔)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ นั้น

โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่งในขณะที่จำนวนผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวมาจากการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการและประสานความร่วมมือของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนเพื่อการระดมสรรพกำลังในการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งการบริการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามแผน การตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก การกระจายชุดตรวจเพื่อการตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง และการดำเนินการและกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในระยะยาวตามที่ได้ประกาศไว้แล้ว เช่น มาตรการควบคุมโรคโควิด - 19 แนวใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร ซึ่งฝ่ายสาธารณสุขและหน่วยงานที่รับผิดชอบได้รายงานผลการประเมินสถานการณ์ว่า หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนค่อนข้างมีประสบการณ์และความพร้อม ประกอบกับหน่วยงานและบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยมีศักยภาพ ความชำนาญ และมีประสิทธิภาพครอบคลุมการตรวจคัดกรองและการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย และมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงสามารถปรับมาตรการโดยผ่อนคลายความเข้มงวดบางกรณีให้มีความเหมาะสม โดยกำหนดมาตรการควบคุมเท่าที่จำเป็นตามระดับพื้นที่ของสถานการณ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังจำเป็นต้องติดตามกำกับดูแลทั้งบุคคล สถานที่ การดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในระยะยาว เพื่อการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศในระยะยาว ควบคู่กับการป้องกันและควบคุมโรคอย่างสมดุลและยั่งยืน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้