หน้า:คำพิพากษาฯ รัชกาลที่ 8 - ๒๔๙๘.pdf/695

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๖๔๒

จึงจำต้องออกจากตำแหน่งในราชสำนักไปตั้งแต่ตอนต้น ๆ เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๙ แล้วต่อมา นายเฉลียวก็ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาสืบต่อไป

ส่วนเรือเอก วัชรชัย มิได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ราชองค์รักษ์ตามสมควร ขาดราชการบ่อย ๆ ฝักใฝ่อยู่ทางทำเนียบท่าช้าง ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ภายหลังที่ถูกปลดจากตำแหน่งราชองครักษ์แล้ว ก็ได้เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป

ในระหว่างที่นายเฉลียวเป็นราชเลขานุการในพระองค์ มีข้าราชการในราชสำนักเข้าฝักใฝ่เป็นพรรคพวก ทั้งนายเฉลียวยังได้จัดพรรคพวกของตนเข้ามารับราชการเพิ่มเติมอีก ถึงกับเมื่อคราวที่นายเฉลียวจะพ้นหน้าที่ พวกข้าราชการประเภทที่กล่าวมานี้ มีนายนเรศร์ธิรักษ์ นายกำแพง ตามไทย เป็นหัวหน้า พร้อมใจกันกล้าแสดงออกอย่างเปิดเผย ทำเรื่องราวถึงนายปรีดีคัดค้านว่า ไม่ควรปลดนายเฉลียว ซึ่งเป็นการทะนงจงใจที่จะขัดขวางพระราชประสงค์โดยตรง ถ้าพวกนั้นไม่มีนิสัยหยาบช้า ก็คงไม่กล้าขัดแย้งพระราชประสงค์อันเกี่ยวกับกิจการในราชสำนักของพระองค์ท่านถึงปานนั้น

นายนเรศร์ธิรักษ์ผู้นี้เป็นหัวหน้ากองมหาดเล็ก โดยนายปรีดีเป็นผู้แต่งตั้งให้แทนเจ้าหมื่นสรรเพ็ชรภักดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า เป็นผู้ไม่ได้ราชการ จึงให้ไปทำหน้าที่อื่น ต่อมา นายปรีดีก็จัดให้ไปรับตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป