ในทางปฏิบัติ การยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) นั้น สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนได้ และการยื่นเอกสารดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยไม่มีความยุ่งยากแต่ประการใด เพราะบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ใช้วิธีการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) งบดุลประจำปี ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครทางอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จนถึงปี ๒๕๖๑
ผู้ถูกร้องอ้างว่า นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ชำระเงินค่าหุ้นให้แก่ผู้ถูกร้องด้วยเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนบางนา–ตราด (เซ็นทรัลซิตี้) ขีดคร่อมผู้ถือ (A/C PAYEE ONLY) เลขที่เช็ค ๑๑๓๐๙๙๕๙ ฉบับลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ สั่งจ่าย "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เป็นจำนวนเงิน ๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งปรากฏว่า มีการนำฝากเข้าบัญชีวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ (เอกสารหมาย ถ ๒๗ และ ถ ๒๘) ซึ่งตรงกับวันที่ผู้ร้องได้ส่งคำร้องคดีนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และเป็นระยะเวลานานถึง ๑๒๘ วันหลังจากวันที่ระบุในเช็ค ทั้งที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเช็ค คือ ประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา ๙๙๐ ให้ผู้ทรงเช็คมีหน้าที่ต้องนำเช็คไปยื่นต่อธนาคารตามเช็คเพื่อให้มีการใช้เงินภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน หากเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกันกับเมืองที่ธนาคารตามเช็คที่มีหน้าที่จ่ายเงินตั้งอยู่ หรือภายในระยะเวลา ๓ เดือน หากเป็นเช็คที่ออกต่างเมือง กล่าวคือ สถานที่ที่ออกเช็คและธนาคารตามเช็คอยู่คนละจังหวัดกัน โดยในคดีนี้ ธนาคารตามเช็คที่มีหน้าที่จ่ายเงิน คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนบางนา–ตราด (เซ็นทรัลซิตี้) อยู่ในกรุงเทพมหานคร และเมื่อไม่ระบุสถานที่ออกเช็ค ต้องถือว่า ออกเช็ค ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย คือ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงมีหน้าที่นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินภายในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ แม้ผู้ถูกร้องอ้างว่า มีการนำเช็คเรียกเก็บเงินล่าช้าเช่นนี้เป็นประจำ แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดย้อนหลังไป ๓ ปี พบว่า การเรียกเก็บเงินตามเช็คจำนวนตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไประหว่างปี ๒๕๖๐–๒๕๖๒ นั้น มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คหลังจากวันที่ลงในเช็คประมาณ ๔๒ ถึง ๔๕ วัน กล่าวคือ เช็คลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ มี ๓ ฉบับ ฉบับที่ ๑ จำนวน ๓,๓๖๑,๐๓๗.๕๐ บาท ฉบับที่ ๒ จำนวน ๕,๒๔๖,๒๓๗.๕๐ บาท และฉบับที่ ๓ จำนวน ๕,๓๐๖,๒๓๗.๕๐ บาท เช็คทั้งสามฉบับนำไปเรียกเก็บเงินวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ส่วนเช็คลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ จำนวน ๒,๖๔๓,๗๕๐.๐๐ บาท นำไปเรียกเก็บเงิน