การเสด็จประพาสต้นเมื่อคราว ร.ศ. ๑๒๓ เป็นการสนุกยิ่งกว่าเคยเสด็จไปสำราญพระราชอิริยาบถแต่ก่อนมา ที่จริงอาจกล่าวว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองได้ด้วยอีกสถาน ๑ เพราะเสด็จเที่ยวประพาสปะปนไปกับหมู่ราษฎรเช่นนั้น ได้ทรงทราบคำราษฎรกราบทูลปรารภกิจสุขทุกข์ซึ่งไม่สามารถจะทรงทราบได้โดยทางอื่นก็มาก ด้วยเหตุทั้งปวงนี้ ต่อมาอีก ๒ ปี ถึง ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) จึงเสด็จพระพาสต้นอีกคราว ๑ เสด็จประพาสต้นคราวนี้ หาปรากฎมาแต่ก่อนว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดได้เขียนจดหมายเหตุไว้เหมือนเมื่อคราวเสด็จประพาสต้นครั้งแรกไม่ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ทรงพระปรารภจะใคร่พิมพ์หนังสือประทานตอบแทนผู้ถวายรดน้ำสงกรานต์ ตรัสปรึกษาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี สมเด็จหญิงน้อย พระธิดา ทรงค้นหนังสือเก่าซึ่งได้ทรงเก็บรวบรวมไว้ พบสำเนาจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ โดยดำรัสให้สมเด็จหญิงน้อยทรงเขียนไว้ในเวลาสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายในอยู่ในเวลาเมื่อเสด็จประพาสคราวนั้น จึงประทานสำเนามายังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร และมีรับสั่งมาว่า หนังสือเรื่องนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึง ๑๗ ปีแล้ว ผู้ซึ่งยังไม่ทราบเรื่องเสด็จครั้งนั้นมีมากด้วยกัน ถ้าแห่งใดควรจะทำคำอธิบายหมายเลขให้เข้าใจความยิ่งขึ้นได้ ก็ให้กรรมการช่วยทำคำอธิบายหมายเลขด้วย จึงได้จัดการทำถวายตามพระประสงค์ทุกประการ
หน้า:จมห ประพาสต้น - ๒๔๗๗.pdf/17
หน้าตา