หน้า:นิทานไทย - ชัยศรี ศรีอมร - ๒๕๑๒.pdf/204

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๖๒

เช่นนั้นไม่ถูก พระนางจึ่งทรงค้านว่า "คำที่ท่านกล่าวนั้นไม่ถูก ที่ถูกต้องเป็นดั่งนี้ คือ พ่อค้าที่ได้แก่นจันทน์แล้วเอามาแกะและปลุกเสกเป็นรูปหญิงนั้นควรเป็นบิดา, พ่อค้าคนที่ได้ไปสนทนาปราศรัยกับรูปหญิงนั้น ควรเป็นพี่ชาย, พ่อค้าคนที่ได้แสดงความรักใคร่เชื้อเชิญรูปหญิงนั้นให้นั่งบนเตียงด้วยความยินดีนั้น ควรเป็นมารดา, พ่อค้าคนที่ได้ตกแต่งรูปหญิงนั้นด้วยผ้าและเครื่องประดับต่าง ๆ นั้นแหละ ควรเป็นภัสดา."

ในขณะนั้น พวกอำมาตย์ได้ฟังพระนางตรัสดั่งนั้น ก็ให้ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันเป็นครั้งแรก.

ครั้นถึงมัชฌิมยาม สรรพสิทธิ์กุมารจึงเอาดวงจิตของอำมาตย์นั้นไปวางไว้ที่ขาเตียงบรรทมของพระราชธิดา แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับมา ณ ที่เดิม เริ่มเล่านิยายต่อไป ยังมีพระราชกุมาร ๔ พระองค์พากันไปเมืองตักกศิลาเพื่อเรียนวิชาศิลปศาสตร์ในสำนักทิศาปาโมกข์[1] แห่งหนึ่ง 


  1. ทิศาปาโมกข์ แปลว่า เป็นประธานในทิศ (ถิ่น) หมายความว่า อาจารย์ผู้สอนศิษย์มาจากทิศทั้ง ๔, โดยมากมักเป็นพราหมณ์ และอยู่เมืองตักกศิลา