หน้า:นิราศนครวัด - ดำรงราชานุภาพ - 2468.pdf/28

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗

ของแปลกประหลาทอันใดนัก แต่ฝรั่งเศสเขาจัดการพิพิธภัณฑ์เนื่องกับโรงเรียนเพาะช่าง มีนายช่างฝรั่งเปนผู้อำนวยการ มีนักเรียนทั้งชายหญิงราวสัก ๒๐๐ คน ฝึกหัดหัดถกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่วาดเขียนเปนต้น ตลอดจนวิชาช่างปั้น ช่างทอง ช่างรัก ช่างไม้ จนถึงช่างทอผ้า ผู้อำนวยการเลือกหาแบบอย่างของฝีมือเขมรทั้งอย่างโบราณและอย่างใหม่มาให้นักเรียนทำขึ้นในโรงเรียนแล้วตั้งไว้ขายในห้องพิพิธภัณฑ์สถานตอนหนึ่ง เปนต้นว่า จำลองรูปของโบราณหล่อด้วยทองสำริดบ้าง ทำด้วยปูนปลาสเตอร์บ้าง แม้ตัวของโบราณจริง ๆ ที่เปนชิ้นเล็กน้อย ไม่เปนของดีถึงควรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถาน เขาก็เอาออกขาย ของอย่างใหม่ทำเครื่องเงิน เครื่องหินอ่อน และทำตุ๊กตา หล่อบ้าง ปั้นบ้าง เขียนรูปภาพลงในจานบ้าง เขียนกระถางต้นไม้บ้าง มีจนรูปฉายาลักษณโบราณวัดถุต่าง ๆ และผ้าปูมซึ่งให้นักเรียนทอไว้ขายในพิพิธภัณฑ์สถาน เปนที่หาซื้อสิ่งของเขมรได้ดีกว่าที่อื่น

พระองค์หญิงมาลิการาชธิดาของสมเด็จพระนโรดมซึ่งเคยเข้าไปกรุงเทพฯ ได้คุ้นเคยกันมาแต่ก่อน มาหาที่ที่พักไม่พบ ตามไปพบที่พิพิภัณฑ์สถาน ออกจากพิพิธภัณฑ์สถาน มีเวลาไปเที่ยวขับรถดูภูมิเมือง กลับยังที่พักเวลา ๑๑ นาฬิกา

เวลาเที่ยง กินกลางวันกับเรสิดังสุปีริเอ แล้วพัก ประเพณีที่ในเมืองขึ้นฝรั่งเศสใช้แบบเดียวกันกับพวกฮอลันดาที่ในชวา คือ เวลา