หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๕) - ๒๔๖๒.pdf/51

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๐

พระยาพัทลุง (ทองขาว) เปนหลวงเทพภักดียกระบัตร ตั้งนายศุขบุตรพระยาพัทลุงเปนหลวงรองราชมนตรีผู้ช่วย ออกมารับราชการเมืองพัทลุง ครั้นปีชวด จัตวาศก พ.ศ. ๒๓๙๕ (จ.ศ. ๒๓๑๔) พระยาวรนารถสัมพันธพงษ์ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียนเข้าไปกรุงเทพฯ ป่วยเปนลมบาดจิตรล้มลงก็ถึงแก่กรรมโดยรีบด่วนที่บ้านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ซึ่งเวลานั้นยังเปนพระยามหาอำมาตย์หรือเจ้าพระยาธรรมา แลที่เปนโรงเรียนเสาวภาเดี๋ยวนี้ ครั้นนำความกราบบังคมทูลทรงทราบแล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบอย่างพระยาพานทอง แลโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ เสด็จพระราชทานน้ำอาบศพแทนพระองค์ด้วย ครั้นถึงเวลาคราวจะพระราชทานเพลิง โปรดเกล้าฯ ให้เปนศพหลวง ตั้งการฌาปนกิจณวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) พระราชทานโขนหลวงให้เล่นด้วย แลได้เสด็จไปประทับเรือพระที่นั่งที่สพานน่าวัดทรงจุดชนวนฝักแคพระราชทานเพลิง

ครั้นปีฉลู ยังเปนจัตวาศก พ.ศ. ๒๓๙๕–๖ (จ.ศ. ๑๒๑๔–๕) โปรดเกล้าฯ ตั้งนายน้อยบุตรนายอินข้าหลวงเดิมซึ่งพระยาพัทลุง (จุ้ย) รับมาเลี้ยงเปนบุตรบุญทำนั้นเปนพระวรนารถสัมพันธพงษ์ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียนแทนอา ตั้งนายแต้มบุตรพระยาวรนารถ (พิมพ์) ผู้ว่าราชการเมืองปเหลียนเปนหลวงสุนันทากรปลัดเมืองปเหลียน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ (จ.ศ. ๑๒๒๑) ปีมแม เอกศก พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ เสด็จประพาศเมืองสงขลาแลปัตตานี