หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๒๑) - ๒๔๖๔.pdf/66

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๔

กับพวกกระแซทางข้างฝ่ายเหนือ แต่ก็เปนการเล็กน้อยไม่ใหญ่โตอันใด พิเคราะห์ดูเห็นว่า จะมิใช่เพราะเกรงไทยจะยกกองทัพออกไปตีเมือง พม่าจึงมาชวนเจรจาความเมืองถ่วงไว้เหมือนเมื่อในรัชกาลที่ ๑ คงเปนด้วยเหตุอื่น เหตุอื่นที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับพม่าในตอนนั้น มีเรื่องครัวมอญอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยในปีจอ พ.ศ. ๒๓๕๖ นั้นเปนอันมาก ในพงศาวดารกล่าวว่า เพราะพวกมอญถูกเจ้าเมืองเมาะตะหมะบังคับกดขี่ ทนไม่ไหว จึงพากันอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย สันนิษฐานว่า การที่พม่ามาขอเขรจาความเมืองเมื่อครั้งปีระกา จะเปนด้วยเหตุเรื่องมอญนี้เอง ทำนองพวกมอญจะเกิดกำเริบระส่ำระสายขึ้นเมื่อในปีระกา พระเจ้าปดุงเกรงว่า พวกมอญจะเปนขบถขึ้นเหมือนครั้งพระยาเจ่ง แลจะได้กำลังในเมืองไทยอุดหนุน เพราะมีมอญเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแต่ก่อนแล้วเปนอันมาก ประสงค์จะตัดกำลังมอญมิให้เปนขบถ จึงให้เข้ามาขอเปนไมตรีกับไทย เพื่อจะขู่มอญ เห็นจะเปนด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การที่แต่งให้บุตรจมื่นเสมอใจกับพราหมณ์ครั้งกรุงเก่าเปนทูตเข้ามา ก็แลเห็นได้ว่าตั้งใจจะทำให้ถูกประสงค์ของไทย ดังปรากฎว่าได้บอกไปแต่ก่อนว่า ถ้าพม่าประสงค์จะเปนไมตรีจริง ให้ส่งข้าราชไทยที่พม่าได้ไปจากกรุงเก่ากับพระภิกษุสงฆ์ไทยเข้ามาพูดจา จึงจะเชื่อฟัง แต่เมื่อปีระกานั้นนับเวลาแต่เสียกรุงเก่าได้ถึง ๔๖ ปี เห็นจะหาข้าราชการแลพระสงฆ์ครั้งกรุงเก่าไม่ได้ จึงได้ส่งบุตรข้าราชการครั้งกรุงเก่ากับพราหมณ์ครั้งกรุงเก่าเข้ามาแทน ความประสงค์ของพม่าในครั้งนี้เห็นจะอยากเปนไมตรีจริงเพื่อป้องกันมิให้พวกมอญกำเริบ.