หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๒๔) - ๒๔๖๕.pdf/70

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๔๙

๒ วัน แล้วเดินทางต่อมาถึงเมืองหลวงพระบางเมื่อเดือน ๔ แรมค่ำ ๑ จัดผ่อนสิ่งของในกองทัพส่งลงมา และรอเจ้านายเมืองหลวงพระบาง มีเจ้าราชวงศ์กับเจ้าราชภาคินัยเปนต้น ซึ่งจะคุมตนไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย อิกประการ ๑ แม่ทัพดำริห์ว่าถ้าให้พวกท้าวขุนเมืองหัวพันห้าทั้งหกและสิบสองจุไทย ทั้งหัวน่าพวกฮ่อได้ ลงมาถึงกรุงเทพฯ มาเห็นราชธานีเสียสักครั้ง ๑ การปกครองต่อไป ภายน่าเห็นจะสดวกขึ้น จึงได้เลือกคัดพวกท้าวขุนได้ ๑๕๐ คน กับพวกฮ่อทั้งนายไพร่ ๙๐ คนพาลงมากรุงเทพฯ ด้วย ถึงเดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุญ พ.ศ. ๒๔๓๐ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ยกกองทัพออกจากเมืองหลวงพระบางโดยทางเรือ ล่องแม่น้ำโขงลง มาถึงบ้านปากลายเมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ แล้วเดินทางบกต่อมาถึง เมืองพิไชยเมื่อเดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ลงเรือล่องจากเมืองพิไชยมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๗ แรม ๒ ค่ำ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เลื่อนยศบันดาศักดิ์นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ขึ้นเปนนายพลตรีพระยาสุรศักดิ์มนตรี นายทัพนายกองซึ่งมีบำเหน็จความชอบในราชการปราบฮ่อครั้งนั้น ก็ได้พระราชทานบำเหน็จรางวัลตามสมควรแก่ความชอบทั่วกัน สิ้นเนื้อความเรื่องปราบฮ่อครั้งที่ ๓ เพียงเท่านี้

ยังมีเรื่องปราบฮ่อครั้งที่ ๔ ซึ่งติดเนื่องกับครั้งที่ ๓ นี้อิกครั้ง ๑ แต่จดหมายเหตุที่ได้มา เรื่องราวยังไม่ครบบริบูรณ์ จึงยังมิได้เรียบเรียง ลงไว้ในหนังสือเรื่องนี้