หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๕) - ๒๔๗๓.pdf/9

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

นั้น ในเวลาเมื่อครอเฟิดออกจากอินเดีย พระยานครฯ ยังไม่ได้ยกลงไปตีเมืองไทรบุรี ความปรากฏในคำสั่งครอเฟิดแต่ว่า ข้อความที่จะพูดจากับไทยเรื่องเมืองไทรบุรีจะควรพูดอย่างไร ให้ครอเฟิดมาฟังเรื่องราวและปรึกษาหารือกับเจ้าเมืองเกาะหมากดูเถิด แต่กำชับมาให้ระวังอย่าทำให้อังกฤษต้องเข้าไปได้รับความลำบากอยู่ในระวางไทยกับพวกมะลายูเมืองไทรบุรีด้วยเหตุการณ์เรื่องเมืองไทรบุรีนี้ได้

ครอเฟิดออกมาจากเมืองกาลกัตตาเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน คฤศตศักราช ๑๘๒๑ ตรงกับวันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ พ.ศ. ๒๓๖๔ ตัวนายที่มาด้วย คือ นายร้อยเอกเดนเยอฟิลด์เป็นอุปทูตและเป็นพนักงานทำแผนที่ หมอฟินเลสันเป็นแพทย์และเป็นผู้ตรวจสภาวศาสตร มีทหารซิปอยแขกมาด้วย ๓๐ นายร้อยโทรุเธอฟอดเป็นผู้บังคับ เรือที่มานั้นรัฐบาลอินเดียเช่าเรือชื่อ “ยอนอดัม” เป็นกำปั่นสองเสาครึ่งของพ่อค้า กัปตันมัคดอนเนลเป็นนายเรือ สั่งให้ครอเฟิดมาเมืองไทยก่อน ออกจากเมืองไทยจึงให้ไป เมืองญวน มาร์ควิสเหสติงส์มีอักษรศาสน์ให้ครอเฟิดเชิญมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาฉะบับ ๑ พระเจ้ากรุงเวียดนามฉะบับ ๑

ครอเฟิดใช้ใบมาถึงเกาะหมากเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ตรงกับวันจันทร เดือนอ้าย แรมค่ำ ๑ ภายหลังพระยานครฯ ตีได้เมืองไทรบุรีไม่กี่วัน เวลานั้นเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) หนีไปอาศัยอยู่ที่เกาะหมาก พระยานครฯ มีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองเกาะหมากให้ส่งตัวเจ้าพระยาไทร จึงเป็นเหตุให้เกิดตื่นกันที่เกาะหมากว่า กองทัพไทยจะเลยไปตีเกาะ