หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕) - ๒๔๖๐ reorganised.pdf/252

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๓๙

พวกซึ่งทำความผิดมาดังนี้ ก็มีบุญคุณมาก จึงแต่งให้ท้าวพระยาพานางยอดคำ บุตร ไปยกให้เปนภรรยาพระยาโพธิสาระ ๆ มีบุตรชาย เจ้าเชษฐวงษา ๑ เจ้าทาเรือ ๑ เจ้าวรวังโส ๑ สามคน บุตรหญิง นางแก้วกุมรี ๑ นางคำเหลา ๑ นางคำไป ๑ สามคน รวม ๖ คน อยู่มา พระยาพรหมราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ ถึงแก่กรรม ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่นำความมาแจ้งแก่พระยาโพธิสาระ เจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แลขอเจ้าเชษฐวงษา บุตรพระยาโพธิสาระที่ ๑ ขึ้นไปเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า พระยาไชยเชษฐาธิราช พระยาโพธิสาระครองเมืองได้ ๒๘ ปี รวมอายุ ๔๒ ปี ถึงแก่กรรม

ศักราช ๙๐๖ ปีมะโรง ฉศก พระไชยเชษฐาธิราชจึงมอบเมืองเชียงใหม่ให้ท้าวพระยาอยู่รักษา พระไชยเชษฐาธิราชลงมาครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แล้วเชิญพระแก้วมรกฎเมืองเชียงใหม่ลงมาไว้เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว พระไชยเชษฐาธิราชครองเมืองได้ ๖ ปี ครั้นศักราช ๙๑๒ ปีจอ โทศก พระไชยเชษฐาธิราชจึงแต่งท้าวพระยาถือพระราชสาสนคุมเครื่องราชบรรณาการลงมากรุงศรีอยุทธยาขอพระราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก ทรงนามว่า พระเทพกระษัตรี ขึ้นไปเปนปิ่นสุรางค์กัลยาในเมืองศรีสัตนาคนหุต สมเด็จพระเจ้าช้างเผือกจึงมีพระราชสาสนตอบขึ้นไปว่า ซึ่งเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตมีพระไทยจะร่วมพระราชโลหิตเปนสัมพันธมิตรไมตรีนั้น ก็อนุญาตให้