หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖๑) - ๒๔๗๙.pdf/11

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ไกลกัน ครั้นต่อมาบุตรหลานที่ไปกินเมืองสืบต่อมาก็มักตั้งตนเป็นอิสสระ ไม่ปรองดองรวมกันให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนาเป็นประเทศใหญ่ให้ยั่งยืนขึ้นได้ ช้า ๆ นาน ๆ เกิดผู้มีบุญขึ้นที่เมืองใดเมืองหนึ่ง ผู้มีบุญนั้นก็แผ่อาณาเขตต์ออกไปกว้างขวาง อย่างพระเจ้าพรหมและพระเจ้ามังรายในราชวงศ์เชียงแสนเป็นต้น ครั้นสิ้นผู้มีบุญแล้ว เมือง ต่าง ๆ ในราชอาณาเขตต์ก็กลับแยกกันอีก จะเร็วและช้าก็แล้วแต่เหตุการณ์ เหตุนี้บ้านเมืองในแคว้นลานนาที่แยกกันอยู่เป็นอิสสระเป็นแคว้น ๆ จึงมักเป็นว่านเครือเชื้อชาติเดียวกันมาแต่เดิม อย่างที่เรียกกันเป็นสามัญว่า บ้านพี่เมืองน้องเกี่ยวเนื่องกัน ความสนิทสนมจึงมีอยู่ต่อกัน เช่นพระเจ้าเมงรายแห่งเมืองเชียงแสน ขุนงำเมืองแห่งเมืองพะเยาซึ่งเป็นกษัตริย์มีอานุภาพผู้หนึ่ง และพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย จึงปรากฏในตำนานว่าได้เป็นมหามิตรสนิทสนมกันมาก ทั้งนี้ ก็เพราะมีชาติเชื้อเนื้อไขเป็นไทยด้วยกัน พงศาวดารและตำนานเมืองต่าง ๆ ก็มักมีเรื่องร่วมกันในตอนต้น จะผิดแปลกกันบ้างก็ในส่วนที่เป็นพลความ ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุที่ในชั้นเดิมร่วมวงศ์กันมาด้วยอีกประการหนึ่ง แล้วต่อมาจึงได้แยกเรื่องไปคนละทาง อย่างเช่นพระเจ้าชัยศิริซึ่งเป็นต้นพระวงศ์พระเจ้าอู่ทอง และสืบเชื้อวงศ์ไปจากพระเจ้าพรหม ก็มีเรื่องแยกออกไปจากตำนานเชียงแสน ในพงศาวดารและตำนานเมืองอื่น ๆ ก็เป็นทำนองเดียวกัน

อนึ่ง เป็นการสมควรที่จะกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า เรื่องราวอันเป็น